แองจิโออีดีมา (Angioedema)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

แองจิโออีดีมา (Angioedema) คือ โรค/ภาวะที่มีการบวมน้ำในเนื้อเยื่อชั้นลึกของ หนังแท้ (Deep dermis), ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous tissue), และชั้นใต้เนื้อเยื่อเมือกต่างๆ (Submucosal tissue), จากมีของเหลวรั่วออกมาจากเส้นเลือด โดยมักสังเกตเห็นการบวมได้ตามบริเวณ ริมฝีปาก รอบตา ใบ หน้า อย่างไรก็ตามการบวมสามารถเกิดได้ในบริเวณอื่นๆของร่างกาย รวมถึงเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจและในระบบทางเดินอาหาร, โดยหากเกิดการบวมในบริเวณทางเดินหายใจ ลิ้น และในหลอดลม จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่ง*ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเพราะผู้ป่วยอาจตายได้

ประชากรโดยทั่วไปประมาณ 10% จะเคยมีภาวะแองจิโออีดีมาอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต โดยจะพบเกิดในผู้หญิงได้มากกว่าในผู้ชาย สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยคือช่วง 30 - 60 ปี

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแองจิโออีดีมา?

แองจิโออีดีมา-01

โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยภาวะแองจิโออีดีมานั้น มักหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงไม่พบเรียกว่า ‘Idiopathic angioedema’

อย่างไรก็ตามสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าอาจทำให้เกิดภาวะแองจิโออีดีมา เช่น

  • ภาวะการแพ้ (Allergic angioedema): ได้แก่ การแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย แพ้วัตถุกันเสีย โดยมักจะพบมีผื่นลมพิษร่วมด้วย และอาจมีภาวการณ์แพ้แบบรุนแรง/แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ร่วมด้วยได้โดยผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ความดันเลือด/ความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หมดสติ
  • การได้รับยาบางอย่าง: เช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิด เอ็นเสด/NSAIDs, สารทึบแสง (Intravenous contrast media ที่ใช้ฉีดในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน), ยาลดความดันกลุ่ม ACEI (Angiotensin converting enzyme inhibitor)
  • โรคแองจิโออีดีมาโดยกำเนิด (Hereditary angioedema): เกิดจากการขาดหรือมีความผิดปกติของเอนไซม์ C1 inhibitor (เอนไซม์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรั่วของของเหลวจากเส้นเลือด)
  • กลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง/ โรคโอโตอิมมูน (Autoimmune disease), หรือ โรคที่มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟไซต์ (Lymphoproliferative disorder) เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด
  • ปัจจัยทางกายภาพต่างๆ: เช่น ความร้อน ความเย็น การสั่นสะเทือน รังสียูวี

ภาวะแองจิโออีดีมาติดต่อหรือไม่?

ภาวะแองจิโออีดีมา ไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่ติดต่อทางใดๆทั้งสิ้น เช่น การคลุกคลี การสัมผัสผู้ป่วย หรือการสัมผัสผื่นผิวหนังหรือเนื้อเยื่อส่วนที่บวมของผู้ป่วย

ภาวะแองจิโออีดีมามีอาการอย่างไร?

ทั่วไป อาการที่สามารถสังเกตได้ง่ายและพบบ่อยของภาวะแองจิโออีดีมา คือ การบวมตามเปลือกตา/หนังตา ริมฝีปาก ใบหน้า มือ เท้า หรือบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือแสบๆร้อนมากกว่าที่จะรู้สึกคัน และผิวหนังที่ปกคลุมบริเวณที่บวมอาจมีลักษณะปกติ แต่บ่อยครั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะแองจิโออีดีมานั้นจะพบมีผื่นลมพิษร่วมด้วย

ภาวะนี้สามารถเกิดได้ในบริเวณระบบทางเดินอาหารโดยผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หรือ

ถ้าเกิดบริเวณระบบทางเดินหายใจ กล่องเสียง ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก เสียงเปลี่ยน/ เสียงแหบ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะหากเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจแบบสมบูรณ์จากการบวมของหลอดลม ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้และอาจถึงตายได้อย่างรวดเร็ว

ในบางครั้งภาวะแองจิโออีดีมา เป็นอาการแสดงหนึ่งของการแพ้แบบรุนแรงที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วม เช่น อาการหายใจลำบาก ความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ ซึ่งเป็นการแพ้ที่รุนแรงและเฉียบพลัน แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจถึงตายได้

แพทย์วินิจฉัยภาวะแองจิโออีดีมาได้อย่างไร?

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะแองจิโออีดี จาก

  • ประวัติของอาการและอาการแสดง (ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’)ของผู้ป่วยเป็นหลัก, ประวัติอาการฯมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคอย่างยิ่ง เช่น ประวัติการเกิดภาวะแองจิโออีดีมา, การมีผื่นลมพิษร่วมด้วย, ประวัติการเกิดภาวะนี้ในอดีต, อาหารหรือยาที่รับประทาน, การถูกแมลงกัดต่อย, หรือมีสิ่งกระตุ้นต่างๆที่เป็นไปได้, ประวัติครอบครัวที่เคยเกิดภาวะนี้โดยเฉพาะในรายที่เป็นครั้งแรก, ประวัติของอาหารและยา, แมลงกัดต่อย, หรือการสัมผัสสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ, เป็นสิ่งที่แพทย์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
  • ในผู้ป่วยมีผื่นลมพิษร่วมด้วย: แพทย์ก็จะทำการตรวจเพื่อการสืบค้นโรคตามแนวทางการรักษาโรคผื่นลมพิษ
  • แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะแองจิโออีดีมาเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการเป็นซ้ำ จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น
    • ตรวจเลือด ดูเม็ดเลือด (ซีบีซี/CBC)
    • ตรวจเลือดดูระดับสารคอมพลีเมนต์ (Complement testing, การตรวจเลือดหาสารโปรตีนชนิดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย) ในเลือด
  • การตรวจหาโรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะแองจิโออีดีมา (ดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’) ควรรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการและรักษา

หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก หรือมีอาการของการแพ้แบบรุนแรงที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิสร่วมด้วย เช่น ความดันเลือดตก/ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด หมดสติ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

รักษาและป้องกันได้อย่างไร?

การรักษาผู้ป่วยภาวะแองจิโออีดีมาในขั้นต้น คือ การประเมินระบบทางเดินหายใจ และ ประเมินว่ามีการแพ้แบบรุนแรงแอแนฟิแล็กซิสร่วมด้วยหรือไม่ หากมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจ แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

นอกจากนั้นคือ การใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาอะดรีนาลีน (อีกชื่อคือ อีพิเนฟฟรีน) (Adrenaline/Epinephrine), ยาต้านอีสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine), และยากลุ่ม สเตียรอยด์ ซึ่งยาเหล่านี้อาจถูกให้เพื่อทำให้อาการดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะแองจิโออีดีมามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสาเหตุของโรค/ของภาวะนี้เป็นหลัก ดังนั้นในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นซ้ำ แพทย์จะมีการตรวจเพื่อการสืบค้นหาสาเหตุของโรค และอาจมีการปรึกษาแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เช่น แพทย์ผิวหนัง (Dermatologist) หรือแพทย์ด้านภูมิแพ้ (Immunologist) เพื่อการร่วมดูแลผู้ป่วย

ภาวะแองจิโออีดีมามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะแองจิโออีดีมามีความหลากหลายขึ้นกับสาเหตุ ภาวะแองจิโออีดีมาที่เกิดจากการแพ้ในผู้ป่วยส่วนมาก มักจะไม่ได้มีความรุนแรงมากหรือทำให้ถึงแก่ชีวิต มักหายได้ภายใน 1 - 3 วัน

อย่างไรก็ตาม จะพบการเกิดเป็นซ้ำของภาวะนี้ได้บ่อย และความรุนแรงในแต่ละครั้งมีความหลากหลาย และทำนายไม่ได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่ ดังนั้นหากทราบสาเหตุ การหลีกเลี่ยงสาเหตุจึงเป็นสิ่งจำเป็น

หากภาวะแองจิโออีดีมาเกิดจากโรคทางพันธุกรรม การรักษาตลอดชีวิตตามแพทย์แนะนำเป็นสิ่งที่จำเป็น

หากภาวะแองจิโออีดีมาเกิดจากภาวะโรคร่วม เช่น โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับภาวะโรคร่วมเหล่านั้นด้วย

ภาวะแองจิโออีดีมาก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากภาวะแองจิโออีดีมาที่อาจพบได้ เช่น

  • ภาวะอุดกั้นของทางเดินระบบหายใจจากอาการบวมของระบบทางเดินหายใจ
  • และการแพ้แบบรุนแรง/แอแนฟิแล็กซิสซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่สำคัญเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดมีภาวะแองจิโออีดีมา เช่น

  • หากทราบสาเหตุสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ที่แน่ชัด ให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ หากมีอาการ อาจรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ในกรณีที่อาการเป็นรุนแรง ควรมีนามบัตรเขียนถึงสิ่งที่แพ้และโรคที่เป็นวีธีรักษาเมื่อมีอาการ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉินไว้กับตัวเสมอ เพื่อการดูแลและการติดต่อกรณีฉุกเฉิน
  • หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องหัดใช้ยาอิพิเนฟฟริน(Epinephrine) ฉีดแบบพกพา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความจำเป็นของผู้ป่วยเป็นรายๆไป
  • เนื่องจากการเกิดภาวะแองจิโออีดีมามีได้จากหลายสาเหตุและการดูแลตนเองมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ผู้ป่วยจึงควรมีการศึกษาถึงโรคที่เป็นสาเหตุ และสอบถามจากแพทย์ผู้ทำการรักษาถึงโรคของตนเองที่รวมถึงการดูแลตนเองที่เหมาะสมด้วย

บรรณานุกรม

  1. Burns, T., & Rook, A. (2010). Rook's textbook of dermatology (8th ed.). Chichester, West Sussex, UK; Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.
  2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill.
  3. https://dermnetnz.org/topics/angioedema [2022,July30]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/135208-overview#showall [2022,July30]
  5. https://www.nhs.uk/conditions/angioedema/ [2022,July30]