มะเร็งเหงือก (Gingival cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งเหงือกมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งเหงือกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งเหงือกมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเหงือกได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งเหงือกมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งเหงือกรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเหงือกอย่างไร?
- โรคมะเร็งเหงือกรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเหงือกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งเหงือกอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งเหงือก(Gingival cancer หรือ Gum cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดกับเหงือก(Gum หรือ Gingiva) ทั้งนี้มะเร็งเหงือกเกิดจากเซลล์ของเหงือกที่จุดใดก็ได้ เกิดกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง คือเซลล์ที่เจริญแบ่งตัวสูงเกินปกติ และที่สามารถรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อตัวมันเองและอวัยวะข้างเคียงรวมถึงลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง /เข้าระบบน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย โดยที่ร่างกายควบคุมการเจริญรุกราน/ลุกลามในลักษณะนี้ไม่ได้
“เหงือก” เป็นเนื้อเยื่อ หรือบางคนเรียกว่าเป็นอวัยวะ ของช่องปาก ส่วนที่ปกคลุมเหนือกระดูกกราม ถ้าปกคลุมกระดูกกรามบน เรียกว่า เหงือบน(Upper gum) ถ้าปกคลุมกระดูกกรามล่าง เรียกว่า เหงือกล่าง(Lower gum) โดยเหงือกมีหน้าที่ ปกป้องกระดูกกรามและรากฟัน และช่วยการยึดเกาะของฟันให้กระชับแน่นกับกระดูกกรามเพื่อช่วยในการคบเคี้ยว
เนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของเหงือก เป็นเยื่อเมือกชนิดเดียวกับเยื่อเมือกของ เนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นของช่องปาก เช่น ลิ้น เป็นต้น แต่จากหน้าที่ของเหงือกที่ต้องมีความแข็งแรงทนทานกว่า จึงทำให้เยื่อเมือกของเหงือก มีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเส้นใยมากกว่าเนื้อเยื่ออื่นของช่องปาก จึงทำให้เหงือกมีความแข็งแรง และมีลักษณะที่แข็งมากกว่า แต่ยืดหยุ่นได้น้อยกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆเหล่านั้น
เหงือก เป็นเนื้อเยื่อที่มีผิวมัน เรียบ ซึ่งในแต่ละจุดของเหงือกจะมีความหนาได้ต่างกัน โดยอยู่ในช่วง 1-5 มิลลิเมตร เหงือกปกติจะมีสีออกชมพู และเซลล์บางชนิดเป็นเซลล์ที่ให้เม็ดสีเช่นเดียวกับที่ผิวหนัง เหงือกจึงเกิดมะเร็งของเซลล์ให้เม็ดสีได้เช่นเดียวกับผิวหนัง เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
มะเร็งหงือก เป็นมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรค เช่น เดียวกับมะเร็งช่องปาก ดังนั้น มะเร็งเหงือก จึงจัดอยู่ในมะเร็งช่องปาก และเนื่องจาก มะเร็งเหงือกพบน้อย การศึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น สาเหตุ ระยะโรค การรักษา ผลการรักษา และสถิติของโรค จึงมักรวมอยู่ใน มะเร็งช่องปาก
มะเร็งเหงือก เกือบทั้งหมด กล่าวคือ ประมาณ 90-98% เป็นมะเร็งชนิด มะเร็ง คาร์ซิโนมา (Carcinoma) ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งเหงือก จึงหมายถึง มะเร็งเหงือกชนิดคาร์ซิโนมา’ ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วยเช่นกัน
มะเร็งเหงือก พบเกิดได้ในทุกตำแหน่งของเหงือก แต่มักพบเกิดกับเหงือกส่วนที่รองรับฟันกรามมากกว่าเหงือกส่วนรองรับฟันหน้า และพบได้ทั้งเหงือกบน และเหงือกล่าง แต่พบเกิดกับเหงือกล่างได้สูงกว่า คือ ประมาณ 70%ของผู้ป่วย
มะเร็งเหงือก เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่วัยกลางคน มักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นๆ พบได้น้อยมากมีเพียงรายงานประปรายในเด็กโต และเป็นมะเร็งพบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย
ดังกล่าวแล้วว่า มะเร็งเหงือก มักรายงานรวมอยู่ในมะเร็งช่องปาก ซึ่งเป็นมะเร็งที่มักพบในประเทศกำลังพัฒนาหรือที่ด้อยพัฒนา ในสหรัฐอเมริกา พบมะเร็งช่องปากประมาณ 37,000 คนต่อปี(New cases) แต่ทั่วโลกพบได้ประมาณ 640,000 คนต่อปี(New cases) ส่วนในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2553 - 2555 รายงานจากทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ. 2558 รายงานมะเร็งเหงือกรวมอยู่ในมะเร็งช่องปาก(ที่ไม่นับรวม มะเร็งริมฝีปาก และมะเร็งลิ้น) โดยพบในผู้ชาย 2.2 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคน และพบในผู้หญิง 1.5 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
โรคมะเร็งเหงือกมีกี่ชนิด?
มะเร็งเหงือก พบได้ทั้งชนิด มะเร็งคาร์ซิโนมา และมะเร็งซาร์โคมา เช่นเดียวกับ มะเร็งช่องปาก
ก. มะเร็งคาร์ซิโนมา พบได้ประมาณ 90-98% ของมะเร็งเหงือกทั้งหมด ซึ่งชนิดพบบ่อยที่สุด ประมาณ 90-95% จะเป็นมะเร็งของเยื่อเมือกชนิด สความัส (Squamous cell carcinoma) ชนิดอื่นๆที่เหลือ คือ มะเร็งของเซลล์ชนิดต่างๆที่มีอยู่ในเงือก เช่น มะเร็งต่อมน้ำลาย (เช่น Mucoepidermoid carcinoma, Adenocarcinoma), มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่เกิดจากเซลล์เม็ดสีที่มีอยู่ในเหงือก, ดังนั้น ดังกล่าวแล้วในบทน้ำ เมื่อกล่าวถึง “มะเร็งเหงือก” จึงหมายถึง ‘มะเร็งในกลุ่มคาร์ซิโนมา’นี้
ข. มะเร็งซาร์โคมา พบได้น้อย ประมาณ 2-5% ของมะเร็งที่พบที่เหงือก เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเหงือก(ธรรมชาติของโรค จะเช่นเดียวกับ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป), มะเร็งกล้ามเนื้อลาย เป็นต้น ซึ่งมะเร็งในกลุ่มนี้ จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้
โรคมะเร็งเหงือกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งเหงือก แต่พบปัจจัยเสี่ยง ที่เช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งได้แก่
- การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ซึ่งถ้าทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุราร่วมกัน ปัจจัยเสี่ยงจะสูงขึ้นมากขึ้นเป็นทวีคูณ
- การเคี้ยวหมาก เคี้ยวเมื่ยง/ใบยาสูบ
- การขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน เกลือแร่ ต่างๆ
- การติดเชื้อเรื้อรังของเหงือก
- การติดเชื้อเอชพีวี (โรคติดเชื้อเอชพีวี) ของช่องปาก
- การเกิดฝ้าขาวที่เหงือก
- การเกิดฝ้าแดงที่เหงือก
- แผลเรื้อรังที่เหงือกที่เกิดจากใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี
โรคมะเร็งเหงือกมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งเหงือก แต่เป็นอาการของมะเร็งโดยทั่วไป ซึ่งอาการหลักจะเหมือนกับอาการของมะเร็งช่องปาก คือ พบมีก้อนเนื้อ หรือมีแผล หรือ มีการอักเสบเรื้อรังที่เหงือก ที่ก้อน/แผลโตขึ้นเรื่อยๆ รักษาไม่หาย โดยแผลมักมีเลือดออกได้ง่าย และจะเจ็บได้ถ้ามีการติดเชื้อที่แผลหรือเมื่อแผลลุกลามเข้าเส้นประสาท
และอาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น
- ต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ใต้ขากรรไกรล่าง และ/หรือที่คอ โต คลำได้ ไม่เจ็บ ต่อมน้ำเหลืองมักโตมากกว่า 1 เซนติเมตร และโตขึ้นเรื่อยๆ อาจคลำพบเพียงข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง ซ้าย -ขวา และอาจมีต่อมเดียว หรือหลายๆต่อม
- มีกลิ่นปากเรื้อรัง
- ในระยะท้ายๆของโรค มัก
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ซีดจากแผลที่เงือกมีเลือดออกเรื้อรัง และจากภาวะขาดอาหาร
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเหงือกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเหงือกได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก โดยวินิจฉัยจาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เข่น ประวัติอาการ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ประเภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจช่องปากและเหงือก การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองต่างๆในส่วนลำคอ
- แต่การวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อน/แผล/รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ทั้งนี้ เมื่อผลชิ้นเนื้อระบุเป็นโรคมะเร็ง จะมีการตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรคมะเร็ง และสุขภาพผู้ป่วย เช่น
- เอกซเรย์ภาพปอด ดูโรคปอด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่แพร่กระจายสู่ปอด
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอช่องปากและลำคอ ดูการลุกลามของโรคในช่องปากและต่อมน้ำเหลืองต่างๆบริเวณลำคอ
- การตรวจเลือด ดูการทำงานของไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC), ของ ตับ ไต, และดูค่าเกลือแร่ต่างๆ
- การตรวจปัสสาวะ ดูการทำงาน และโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจภาพสะแกนกระดูก ดูโรคแพร่กระจายสู่กระดูก
อนึ่งการตรวจดูการแพร่กระจายของโรค ใน 2 วิธีหลัง มักตรวจเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่โรคลุกลามมาก โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
โรคมะเร็งเหงือกมีกี่ระยะ?
มะเร็งเหงือกมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ(ทั่วไปนิยมแบ่งระยะโรคตามคำแนะนำขององค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา/ American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) และจะเช่นเดียวกับมะเร็งช่องปาก โดยแต่ละระยะยังอาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น A, B, C ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเป็นแนวทางในวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร(ซม.) และโรครุกราน/ลุกลามลงลึกไม่เกิน 5 มิลลิเมตร(มม.)
- ระยะที่ 2: ได้แก่
- ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน2ซมก้อนแต่รุกรานลงลึกมากกว่า 5 มม.
- และ/หรือ ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร และโรครุกรานลึกไม่เกิน10มม.
- ระยะที่ 3: ได้แก่
- ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน4ซม. แต่โรครุกรานลึก มากกว่า 10มม.
- และ/หรือ ก้อนมะเร็งโตเกิน4ซม. แต่โรคลุกลามลึกไม่เกิน10มม.
- และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อมที่ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.และอยู่ข้างเดียวกับรอยโรค
- ระยะที่ 4: แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A: ได้แก่
- ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า4ซม.และรุกรานลึกมากกว่า10มม.
- และ/หรือ ลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือกระดูก และ/หรือ โพรงไซนัส
- และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอคอ 1 ต่อมด้านเดียวกับรอยโรคแต่มีขนาดโตกว่า 3 แต่ไม่เกิน6ซม.
- และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอหลายต่อม, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง
- และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเฉพาะด้านตรงข้าม
- แต่ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อมโตไม่เกิน6ซม.
- ระยะ4B: ได้แก่
- ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูกฐานสมอง
- และ/หรือเข้ากล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหาร
- และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
- และ/หรือต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6 ซม.
- ระยะ4C: ได้แก่
- โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ หรือ ช่องอก หรือขาหนีบ
- และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต)ไปทำลายอวัยวะอื่นๆได้ทั่วตัว ที่พบได้บ่อยคือ ปอด ตับ และกระดูก
- ระยะ4A: ได้แก่
อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(Stage0) หรือ Carcinoma in situ (CIS) แพทย์ทางโรคมะเร็งยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non-invasive)ออกนอกชั้นเยื่อบุผิวหรือชั้นเยื่อเมือก จึงยังไม่มีโอกาสที่จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสโลหิต และโอกาสรักษาหายจากการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวสูงถึง 95-100% แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งเหงือกระยะนี้พบน้อยมากเพราะผู้ป่วยมักคิดว่าเป็นรอยโรคที่ไม่ร้ายแรงจึงยังไม่มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
โรคมะเร็งเหงือกรักษาอย่างไร?
- แนวทางการรักษาหลักของมะเร็งเหงือก เช่น
ก. โรคระยะที่ 1 ถึงต้นระยะที่3: คือ การผ่าตัด ซึ่งหลังผ่าตัดแพทย์จะตรวจก้อนเนื้อจากการผ่าตัด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำหรือแพร่กระจาย เพื่อหาข้อบ่งชี้ในการรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด
ข. โรคในระยะลุกลามรุนแรง: เช่น ระยะท้ายของระยะที่3 และระยะที่4 ชนิดยังไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น การรักษาหลัก คือ รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด
ค. ส่วนโรคในระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว การรักษาหลัก คือ ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือ การรักษาประคับประคองตามอาการ
*อนึ่ง:
- การจะรักษาด้วยวิธีใด นอกจากขึ้นกับ ระยะโรคแล้ว ยังขึ้น กับอายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย
- ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเหงือกอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเหงือกขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่
ก. การผ่าตัด : เช่น การสูญเสียอวัยวะ คือ เหงือกส่วนที่เกิดโรค ซึ่งอาจผ่าตัดออกเพียงบางส่วน หรืออาจต้องผ่าตัดออกทั้งกระดูกกรามข้างที่เกิดโรคที่เหงือก ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรคและตำแหน่งที่เกิดโรค นอกจากนั้น คือ การเสียเลือด แผลผ่าตัดไม่ติด และ/หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ
ข. รังสีรักษา/ การฉายรังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อช่องปาก (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
ค. ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และอาจมีเลือดออกได้ง่ายจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ง. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางตัวอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้
*อนึ่ง:
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งเหงือก ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน (เช่น ผ่าตัด + รังสีรักษา หรือ รังสีรักษา + ยาเคมีบำบัด)
- ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
- ในผู้สูงอายุ
โรคมะเร็งเหงือกรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งเหงือก เป็นโรคมะเร็งมีการพยากรณ์โรคหรือความรุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย โดยโอกาสรักษาหายขึ้นกับ ระยะโรค อายุ การเคยสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสุขภาพผู้ป่วย
ทั่วไปอัตรารอดที่ห้าปี คือ
- โรคระยะที่ 1 ประมาณ 70 - 75%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 60 - 65%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 20 - 50%
- ระยะที่ 4 เมื่อยังไม่มีโรคแพร่กระจายประมาณ 0 - 20%
- ระยะที่ 4 เมื่อมีโรคแพร่กระจายแล้วประมาณ 0 - 5%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเหงือกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเหงือก ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การสังเกตความผิดปกติของเหงือก เมื่อมีแผลเรื้อรังหรือมีก้อนเนื้อ หรือมีการอักเสบ ที่ไม่หายภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรคและเพื่อได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น
ป้องกันโรคมะเร็งเหงือกอย่างไร?
วิธีป้องกันโรคมะเร็งเหงือก ให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของโรค ที่แน่ชัด แต่มีวิธีลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเหงือก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปากและโรคมะเร็งอื่นๆลงได้อีกด้วยเช่น มะเร็งคอหอย มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ คือ
- การไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์เมื่อบริโภค อยู่
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชพีวีในช่องปากจากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปากเสมอ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งเหงือกจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆมากขึ้น เช่น เจ็บก้อน/แผลมะเร็งมากขึ้นจนยาแก้ปวดที่แพทย์ให้ไว้ใช้ไม่ได้ผล
- มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
- สายให้อาหาร หลุด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมาก
- กังวลในอาการ
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual, 8th.ed
- Choi, J. et al. (2011). Asian Pac J Cancer Prev. 12, 2649-2652
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Simonnoska, R. et al. (2012). J Clin Oncol. 30. (suppl;abstr 5536) 2012 ASCO Annual Meeting
- http://www.jisponline.com/article.asp?issn=0972-124X;year=2012;volume=16;issue=1;spage=104;epage=107;aulast=Koduganti [2019,Nov9]
- https://emedicine.medscape.com/article/1075729-overview#showall [2019,Nov9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oral_cancer [2019,Nov9]
- https://www.nidcr.nih.gov/research/data-statistics/oral-cancer/survival-rates[2019,Nov9]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Gingiva[2019,Nov9]