ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 25 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- ยากันชักหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
- ยากันชักมีกี่ประเภท?
- ยากันชักมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- ยากันชักมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามการใช้ยากันชักใช้อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากันชักอย่างไร?
- การใช้ยากันชักในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยากันชักในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยากันชักในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากันชักอย่างไร?
- ข้อควรจำ
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- ไข้ชัก (Febrile seizure)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging)
- การเช็ดตัวลดไข้ (Tepid sponge)
ยากันชักหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
ยากันชัก หรือ ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs) คือ ยาที่ใช้รักษาและป้องกันอาการชักแบบต่างๆทั้งจากโรคลมชักเอง, หรือจากภาวะอื่นๆ เช่น ในผู้ที่มีอาการถอนสุรา (ถอนยา), เสียสมดุลเกลือแร่ เช่น โซเดียม แคลเซียม และแมกนีเซียมในร่างกาย, โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, มีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด, มีการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) และ/หรือที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ), มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ, หรือใช้สารเสพติด, หรือไข้สูงในเด็ก (ไข้ชัก), รูปแบบยามีหลากหลาย ทั้งยากิน และยาฉีด
อนึ่ง: ชื่ออื่นของ ยาแก้ชัก เช่น ยารักษาอาการชัก, Antiepileptic drugs, Antiseizure drugs
ยากันชักมีกี่ประเภท?
ประเภทของยากันชัก/ ยาต้านชัก: เช่น
ก. ยากันชักกลุ่มมาตรฐาน (Standard antiepileptic drug): เป็นยาที่ใช้คุมอาการชักได้ดี มีการใช้มานาน แต่มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงและมีปฏิกิริยา ระหว่างยาสูง, และการปรับขนาดยาของแพทย์สำหรับผู้ป่วยแต่ละคนค่อนข้างยาก
ยากลุ่มนี้ เช่นยา
- เฟนิโทอิน (Phenytoin)
- ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)
- ไพรมิโดน (Primidone)
- คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
- อีโทซูซิไมด์ (Ethosuximide)
- วาลโปรเอท (Valproate) หรือ กรดวาลโปรอิก (Valproic acid)
ข. ยากันชักกลุ่มใหม่ (New antiepileptic drug): คือกลุ่มยาที่ผลิตเป็นรุ่นต่อมาจากรุ่นกลุ่มยามาตรฐาน โดยเป็นกลุ่มยาที่จะมีความปลอดภัยมากกว่ายากลุ่มมาตรฐาน เพราะมีอาการไม่พึงประสงค์จากยาและปฏิกิริยาระหว่างยาน้อยกว่า รวมถึงแพทย์สามารถปรับขนาดยาสำหรับ ผู้ป่วยแต่ละคนได้ง่าย แต่ข้อเสียคือยามีราคาค่อนข้างสูง
ยากลุ่มนี้ เช่นยา
- ลาโมทริจีน (Lamotrigine)
- เฟลบาเมท (Felbamate)
- โทพิราเมท (Topiramate)
- กาบาเพนติน (Gabapentin)
- ไทอะกาบิน (Tiagabin)
- ไวกาบาทริน (Vigabatrin)
- อ็อกซ์คาบาซีปีน (Oxcarbazepine)
- ลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam)
- ฟอสเฟนิโทอิน (Fosphenytoin)
ยากันชักมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยากันชักมีรูปแบบจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ด
- ยาแคปซูล
- ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
- ยาน้ำเชื่อม
- ยาน้ำแขวนตะกอน
- ยาน้ำสารละลาย (Solution)
- ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection: IV)
- ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection: IM)
ยากันชักมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยากันชัก เช่น รักษา
- อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence seizure)
- อาการชักแบบสะดุ้ง/กระตุก (Myoclonic), ชักแบบเนื้อตัวอ่อน (Atonic), ชักแบบ ชักเกร็ง (Tonic)
- อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic - clonic seizure)
- อาการชักเฉพาะส่วน (Partial seizure)
- อาการชักในเด็กแรกเกิด (Neonatal seizure)
- อาการเกร็งในทารก (Infantile spasm)
มีข้อห้ามการใช้ยากันชักใช้อย่างไร?
ข้อห้ามการใช้ยากันชัก เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆหรือแพ้ยาที่มีโครงสร้างคล้ายกัน เช่น หากผู้ป่วยมีอาการ แพ้ยา Phenytoin ก็อาจมีอาการแพ้ยา Fosphenytoin ได้
- ห้ามใช้ยา Valproate และยา Phenytoin ในสตรีตั้งครรภ์ เพราะยาทำให้เกิดความ ผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ (Teratogenicity)
- ห้ามใช้ Valproate ในผู้ที่มีภาวะตับทำงานบกพร่อง (Hepatic impairment) หรือ เป็นโรคตับ (Hepatic disease)
- ห้ามใช้ Valproate ในผู้ที่มีภาวะบกพร่องในการสร้างสารยูเรีย (Urea cycle defects)
- ห้ามใช้ยา Carbamazepine ในผู้ที่มีภาวะไขกระดูกถูกกด/ทำงานต่ำ (Bone mar row depression) รวมทั้งห้ามใช้ Carbamazepine ร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors: MAOI)
- ห้ามใช้ยา Phenobarbital ในผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน (Airway obstruction)
มีข้อควรระวังการใช้ยากันชักอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากันชัก เช่น
- ระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ยา Phenytoin ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวิตามินเค (Vitamin K) ร่วมด้วย เพราะยา Phenytoin ทำให้เกิดอาการขาด Vitamin K ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
- หากใช้ยากันชักต่อไปนี้คือ Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ระดับของยาเม็ดคุมกำเนิดในร่างกายต่ำลง อาจส่งผลให้การคุมกำเนิดด้วยการใช้ฮอร์โมนวิธีต่างๆทั้งการรับประทานยาคุมกำเนิด การใช้ฮอร์โมนชนิดฉีด ฝังใต้ผิวหนัง และชนิดห่วงไม่ได้ผล ส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรต้องใช้ถุงยางอนามัยชายควบคู่ไปด้วยเสมอ
- ยากันชักเป็นยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) กับยาอื่นหลายชนิดได้เช่น
- ยาที่ทำให้ระดับยากันชักในเลือดลดลงเช่น ยาสเตียรอยด์, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) รวมทั้งการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
- ยาที่ทำให้ระดับยากันชักในเลือดเพิ่มขึ้นเช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น อิริโทมัยซิน (Erythromycin), ไอโซไนอะซิด (Isoniazid), หรือ ยากันเลือดแข็งตัว เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) เป็นต้น
*****อนึ่ง: ที่สำคัญ ผู้ป่วยควรใช้ยากันชักอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่มขนาดยาลดขนาดยา หรือหยุดยาเอง โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ การหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดอาการชักรุนแรงได้
การใช้ยากันชักในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะยากันชักหลายชนิดมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ (Teratogenicity), ดังนั้นควรเลือกใช้ยากันชักที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เช่น ยา Carbamazepine หรือ Lamotrigine, ควรใช้ยากันชักเพียงตัวเดียว, ในขนาดที่ต่ำที่สุด, ไม่แนะนำให้เปลี่ยนยา, หยุดยาหรือลดขนาดยากันชักเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ควรรับประทานยากรดโฟลิก (Folic acid) เสริมเพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์เช่นกัน
ผู้ป่วยที่ใช้ยากันชักต่อไปนี้ เช่นยา Carbamazepine, Phenytoin, Valproate, Lamotrigine สามารถให้นมบุตรได้, แต่ควรระวังการใช้ยา Phenobarbital ซึ่งเป็นยาที่ผ่านทางน้ำนมได้ ยาจะทำให้เด็กหลับนานเกินไป ดังนั้นหากใช้ยานี้ควรให้นมแม่สลับกับการใช้นมชนิดอื่นแทน
การใช้ยากันชักในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีโรคประจำตัว และมักต้องใช้ยาหลายชนิด จึงส่งผลให้ผู้ป่วยสูงอายุมักเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ยากันชักในผู้สูงอายุรวมทั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักที่ขับออกทางตับเป็นหลัก เช่น Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital และ Valproate ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักที่ขับออกทางไตเป็นหลักเช่น Gabapentin, Pregabalin, Levetiracetam และ Topiramate ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักที่มีผลต่อข้างเคียงต่อสมองเช่น Phenobarbital และ Topiramate เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยสูงอายุมีอาการสับสน ซึม หรือหลงลืมมากยิ่งขึ้น
- ระวังการใช้ยากันชักกลุ่มที่จับกับ*สารอัลบูมินในเลือดได้มากเช่น Phenytoin, Carbama zepine และ Valproate เพราะหากผู้ป่วยสูงอายุมีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจส่งผลให้ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำลงกว่าปกติมาก จะทำให้มียาอยู่ในร่างกายมากเกินไปจนอาจเกิดพิษจากยาได้
*อัลบูมิน (Albumin) คือโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือด - ระวังการใช้ยากันชักที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเช่น Valproate, Carbamazepine และ Gabapentin
- ผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยา Phenytoin, Carbamazepine และ Phenobarbital ควรได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีเสริมด้วยเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
การใช้ยากันชักในเด็กควรเป็นอย่างไร?
เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ยังมีการเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมบูรณ์ ขนาดและวิธีการใช้ยากันชักจึงแตกต่างกับผู้ใหญ่ ในผู้ป่วยเด็กเองยังแบ่งการใช้ยาออกได้ในหลายช่วงอายุ คือผู้ป่วยแรกคลอด/เด็กแรกเกิด (ทั้งคลอดก่อนกำหนดและคลอดครบกำหนด), ผู้ป่วยเด็กทารก (อายุ 1 - 12 เดือน), ผู้ป่วยเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 6 ปีโดยเฉพาะที่น้อยกว่า 2 ปี) และผู้ป่วยเด็กโต
ในเด็กที่มีไข้สูงอาจมีอาการชักได้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้ปกครองพบว่าเด็กมีไข้สูงควรลดไข้โดยใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol), ร่วมกับการเช็ดตัว (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความ เรื่องวิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ และเรื่อง การเช็ดตัวลดไข้), *แต่หากเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที ควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจรักษาโดยให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ทางหลอดเลือดดำหรือทางทวารหนักเพื่อระงับอาการชัก
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากันชักอย่างไร?
ขอยกตัวอย่างอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้ของยากันชักที่ใช้บ่อย เช่น
- Carbamazepine: คลื่นไส้ ซึม เดินเซ เห็นภาพซ้อน น้ำหนักตัวเพิ่ม เม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia: อาการเช่น อ่อนเพลียมาก ซึม ชัก)
- Gabapentin: ง่วงนอน ซึม เวียนศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม
- Lamotrigine: มึนงง เห็นภาพซ้อน เดินเซ
- Levetiracetam: ซึม มึนงง
- Oxcarbazepine: มึนงง ง่วงซึม เดินเซ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
- Phenobarbital: ในผู้ใหญ่จะทำให้ง่วงซึม อ่อนเพลีย เครียด บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ส่วนในเด็กยาจะส่งผลต่อไอคิว (IQ: Intelligence quotient) ของเด็กได้ โดยจะทำให้เด็กซุกซนมากกว่าปกติ อยู่ไม่สุข ก้าวร้าว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
- Phenytoin: ตากระตุก (Nystagmus) วิงเวียนเหมือนบ้านหมุน (Vertigo) เห็นภาพซ้อน (Diplopia) ซึม เดินเซ (Ataxia) คลื่นไส้อาเจียน และ เหงือกบวม (Gingival hyperplasia) ขนดก กระดูกบาง น้ำตาลในเลือดสูง
- Valproate: มือสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ
- Topiramate: มึนงง เดินเซ ความคิดช้า การพูดผิดปกติเช่น ทำให้คนไข้นึกคำไม่ออกหรือใช้ คำผิดพลาด น้ำหนักลด นิ่วในไต ต้อหิน เหงื่อออกน้อย
*****อนึ่ง: อาการไม่พึงประสงค์ฯที่ต้องระวังอย่างมาก คือ ผื่นแพ้ยารุนแรง (Stevens-Johnson syndrome) จากการใช้ยา Carbamazepine, Oxcarbazepine, Phenobarbital, Phenytoin, และ Lamotrigine โดยเฉพาะคนที่เกิดผื่นคันได้ง่ายอยู่แล้วจะยิ่งมีโอกาสเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ข้อควรจำ
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากันชักด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- วีรศักดิ์ เมืองไพศาล. การใช้ยากันชักในผู้สูงอายุ. สงขลานครินทร์เวชสาร 23 (กรกฎาคม – สิงหาคม) : 267-277.
- สถาบันประสาทวิทยา. แนวทางเวชปฏิบัติโรคลมชักสำหรับแพทย์ (Clinical Practice Guidelines for epilepsy). http://thaiepilepsysociety.com/wp-content/uploads/2013/07/CPG_guidelines-for-epilepsy_Edited-at-page-55_Nov-2018.pdf [2023,March25]
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Anticonvulsant [2023,March25]