เลโทรโซล (Letrozole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:เอสโตรเจนและเลโทรโซลคืออะไร?

เอสโตรเจนและเลโทรโซล คือ

ก. เอสโตรเจน:

เอสโตรเจน (Estrogen) คือ กลุ่มฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งชนิดย่อยของเอสโตรเจนที่มีบทบาทสำคัญในร่างกาย ได้แก่ เอสตร้าไดออล (Estradiol), เอสไตรออล (Estriol), และเอสโตรน/เอสโทรน (Estrone)

ร่างกายผลิตเอสโตรเจนจากการที่เอนไซม์อโรมาเตส(Aromatase/ เอนไซม์สร้างเอสโตรเจน)เปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen)เป็นเอสโตรเจน (โดยเปลี่ยนแอนโดรสตีนไดโอน/Androstenedione/ฮอร์โมนหนึ่งในกลุ่มแอนโดรเจนไปเป็นเอสโทรน และเปลี่ยนเทสทอสเทอโรน/Testosterone/อีกฮอร์โมนหนึ่งในกลุ่มแอนโดรเจนไปเป็นเอสตร้าไดออล)

นอกจากเอสโตรเจนจะที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเจริญพันธุ์และการแสดงออกของลักษณะเพศหญิงแล้ว ยังมีบทบาทในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมอีกด้วย

การลดปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น หรือ การขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็ง จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด และการรักษาที่จำเพาะต่อเซลล์เป้าหมาย/ยารักษาตรงเป้า(ยามุ่งเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง/Targeted therapy)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สามารถรับการรักษาทางด้านยาต้านฮอร์โมนนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่ผลตรวจ ชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านมพบเซลล์ที่มีตัวรับ(Receptor)ของฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+, Estrogen receptor positive) ซึ่งตัวรับเอสโตรเจนหรือ ER นี้จะมีส่วนช่วยในการทำนายผลการรักษา/การพยากรณ์โรค และช่วยในการเลือกยากลุ่มที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย กล่าวคือ ถ้า ER+ จะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าและโรคจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน แต่ถ้าเซลล์มะเร็งไม่มีตัวรับเอสโตรเจน (ER-, Estrogen receptor negative) การพยากรณ์โรคจะเลวกว่าและโรคไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมน (ใช้ยาต้านฮอร์โมนรักษาไม่ได้ผลดี)

ข. เลโทรโซลคือยาอะไร?

เลโทรโซล (Letrozole) คือ ยาที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการยับยั้งเอนไซม์อโรมาเตสแบบเจาะจง (Selective aromatase inhibitor) ทำให้ระดับเอสตร้าไดออล ลดลงและส่งผลให้การเจริญของเซลล์มะเร็งที่พึ่งพาเอสโตรเจนถูกยับยั้ง

ยาเลโทรโซล ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ทั้งจากที่สร้างจากรังไข่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน(วัยมีประจำเดือน) และจากต่อมหมวกไตในช่วงหลังหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน) แต่เนื่องจากการลดปริมาณเอสโตรเจนในเลือดในสภาวะที่รังไข่ยังทำงานอยู่จะเกิดการส่งสัญญาณให้สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) ซึ่งจะกระตุ้นให้รังไข่สร้างแอนโดรเจนและเอนไซม์อโรมาเตสมากขึ้น (การสร้างเอสโตรเจนจึงจะมากขึ้น) จึงเป็นข้อห้ามใช้ยาเลโทรโซลเพื่อรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่ยังไม่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนคือ ยังมีประ จำเดือน/ยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่

ยาเลโทรโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเลโทรโซล

ยาเลโทรโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกและระยะลุกลามในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก(ER+)
  • นอกจากนี้ยังมีการใช้ยานี้นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ที่ระบุไว้ในฉลากยา (Unlabeled/ Investigational use) เช่น
    • การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ตัวรับ ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แต่ผลการทดสอบ“โปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน/จีน/Gene และสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ในหลายอวัยวะที่เรียกว่า Human epidermal growth factor receptor 2; HER2” ให้ผลเป็นลบ (Her2 -; Her2 negative)
    • การรักษามะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) และโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นบวก (HER2 +)
    • ใช้เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่ (Infertility/ovulation stimulation) ในหญิงที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังจากการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome/โรคพีซีโอเอส/ PCOS)
    • ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่

ฟลูออโรควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเลโทรโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อโรมาเตสแบบเจาะจง (Selective aromatase inhibitor) โดยการแย่งจับกับส่วนประกอบหนึ่งของเอนไซม์อโรมาเตส (Heme group of aromatase) ส่งผลให้การสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ระดับ ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดที่จะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมจึงลดลง

ยาเลโทรโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/การจัดจำหน่ายของยาเลโทรโซล:

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัมโดยเป็นยาเม็ดเคลือบ (Film-coat tablet)

เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนจึงควรหลีกเลี่ยงการหักยา แบ่ง บด เคี้ยวยา หรือทำให้เม็ดยาแตก หากมีความจำเป็นต้องให้ยาผ่านทางสายให้อาหาร (Enteral tube feeding) สามารถบดยาได้ เนื่องจากยาที่ใช้ลักษณะนี้จะอยู่ในรูปแบบที่ปลดปล่อยตัวยาทันที (Immediate release) แต่ผู้ที่เตรียมยาหรือผู้ป้อนยาให้แก่ผู้ป่วยจะต้องสวมถุงมือรวมทั้งผูกผ้าปิดจมูกและปาก/หน้ากากอนามัย และควรทำการบดเม็ดยาในภาชนะที่ปิดสนิท

ยาเลโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเลโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

1. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม: โดยอาจใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา หรือใช้เป็นลำดับต่อมาหลังจากรับการรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งต่อเนื่องกันจนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ

2. การรักษาเสริมการรักษาอื่นในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก(Adjuvant treatment): เช่น หลังการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี แต่หยุดรับประทานเมื่อเกิดการกลับเป็นซ้ำ

3. การรักษาเสริมต่อเนื่องในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกหลังจากการรักษาด้วยยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)เป็นเวลา 5 ปี (Extendedadjuvant treatment): เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี แต่หยุดรับประทานเมื่อเกิดการกลับเป็นซ้ำ

4. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามในหญิงที่ตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แต่ผลการทดสอบโปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน/จีน และสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดเป็นลบ (HER2 negative, HER2 -): เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งร่วมกับยาPalbociclib (ยารักษาตรงเป้า/ยามุ่งเป้า) จน กว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆหรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้

5. การรักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ในหญิงที่ตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) และโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นบวก (HER2 +): เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งร่วมกับยาLapatinib (ยารักษาตรงเป้า) จนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆหรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้

6. เหนี่ยวนำการตกไข่ (Infertility/ovulation stimulation)ในหญิงที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังจากการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ/โรคพีซีโอเอส:เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 - 7.5 มิลลิกรัมต่อวันในวันที่ 3 - 7 ของรอบเดือน โดยสามารถรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 5 รอบเดือน

7. การรักษามะเร็งรังไข่:เช่น

  • รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งฯไปสู่อวัยวะอื่นๆ

8. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของตับบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง

9. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตเสื่อม: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตเสื่อมเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตเสื่อมอย่างรุนแรง

*อนึ่ง :

  • การใช้ยาเลโทรโซลติดต่อกันนานเกิน 5 ปีไม่เกิดประโยชน์และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้ควรให้ยาแคลเซียม (เช่น Calcium carbonate) วันละ 1,200 -1,500 มิลลิกรัม อาจให้ร่วมกับวิตามินดี ในผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเลโทรโซล
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรเป็นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน เช่น ช่วงเช้า เป็นต้น

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลโทรโซล ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัตแพ้ยา เลโทรโซลหรือยาอื่นๆ
  • ใช้หรือกำลังจะใช้ยาอื่นๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง วิตามิน อาหารเสริม และ/หรือสมุนไพร
  • ประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว
  • ควรแจ้งแพทย์หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ไม่ควรวางแผนจะมีบุตรระหว่างได้รับยานี้หรือในระยะหนึ่งหลังจากหยุดใช้ยา (ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงระยะเวลาที่เหมาะสม) ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม (ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ทั่วไปแพทย์มักแนะนำการใช้ถุงยางอนามัยชาย)เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • หญิงให้นมบุตรควรแจ้งแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

สำหรับยาเลโทรโซล อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับ ประทานยาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานยาในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวันเพื่อให้มีระดับยาในเลือดที่คงที่

กรณีลืมรับประทานยาเลโทรโซลให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไปให้รับประทานยามื้อถัดไปเลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จาก นั้นรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ

*อนึ่ง: ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา

ยาเลโทรโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเลโทรโซลมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา /ผลข้างเคียง เช่น

ก. ผลข้างเคียงที่พบบ่อย (พบได้มากกว่า10% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับยานี้): เช่น เหงื่อมาก, ร้อนวูบวาบ, บวมน้ำทั้งตัว, ปวดหัว, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ใบหน้าแดง, อ่อนเพลีย, คอเลสเตอรอลสูงในเลือด, คลื่นไส้, ท้องผูก, ปวดกระดูก, ปวดหลัง

ข. ผลข้างเคียงที่พบบ่อยปานกลาง (พบได้ประมาณ 2 - 10% ): เช่น เจ็บหน้าอก, ความดันโลหิตสูง, บวมน้ำส่วนปลาย (คือ มื้อ เท้า ขา แขน), ง่วงซึม, นอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, วิตกกังวล, ผมร่วง, เจ็บเต้านม, แคลเซียมในเลือดสูง, ภาวะช่องคลอดแห้งและระคายเคือง, ความหนาแน่นมวลกระดูกลดลงหรือกระดูกพรุน

ค. ผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย (พบได้น้อยกว่า 2%): เช่น ยานี้จะกระตุ้นความอยากอาหาร, ผิวแห้ง, มองภาพไม่ชัด, โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต/ Stroke), สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด, ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ก่อให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโทรโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโทรโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลระหว่างการใช้ยาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุน ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูก (การตรวจหาความหนาแน่นมวลกระดูก) ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • ควรติดตาม/การตรวจเลือดดู ภาวะความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count; CBC /ซีบีซี), ระดับแคลเซียมในเลือด, ภาวการณ์ทำงานของตับ, รวมทั้งสังเกตภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และการตรวจเต้านมเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ (เช่น การตรวจภาพรังสีเต้านม)ระหว่างการใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเลโทรโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเลโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • เนื่องจากยาเลโทรโซลมีการเปลี่ยนแปลงตัวยาที่ตับ โดยเอนไซม์ CYP 2A6 (Cytochrome P450, family 2, subfamily A, polypeptide 6) และในขณะเดียวกันก็มีคุณสม บัติในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงยาชนิดอื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงยาที่ตับโดยเอนไซม์ CYP 2A6 เช่นกันเช่น Valproic acid (วาโปรอิก แอซิด) ซึ่งเป็นยาต้านชัก/ ยากันชัก จึงอาจทำให้ระดับยาวาโปรอิก แอซิดในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาวาโปรอิก แอซิดเพิ่มขึ้น อย่าง ไรก็ตามยาวาโปรอิก แอซิดเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงยาที่ตับโดยเอนไซม์ดัง กล่าว จึงอาจจะไม่ส่งผลต่อระดับยาวาโปรอิก แอซิดในเลือดมากนัก
  • การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Methadone (เมทาโดน) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) อาจทำให้ระดับยาเมทาโดนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประ สงค์ของยาเมทาโดน เช่น ง่วงซึม ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
  • การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Tamoxifen (ทาม็อกซิเฟน) อาจทำให้ระดับยาเลโทรโซลในเลือดลดลงทำให้ลดประสิทธิผลในการรักษาของยาเลโทรโซล จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านมได้
  • การใช้ยาเลโทรโซลร่วมกับยา Tegafur-Uracil (เทกาเฟอร์-ยูราซิล) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะมะเร็งระบบทางเดินอาหาร จะทำให้ระดับยาทีกาเฟอร์ที่ไปออกฤทธิ์ได้ลดลง ทำให้ลดประสิทธิผลในการรักษาของยาทีกาเฟอร์จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งนั้นๆได้

ควรเก็บรักษายาเลโทรโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโทรโซล: เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดภาชนะให้สนิท
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
  • ไม่เก็บยาในบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง
  • ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกชื้น เช่น ในห้องน้ำ
  • ไม่เก็บยาในรถยนต์
  • ควรทิ้งยานี้เมื่อหมดอายุ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)

ยาเลโทรโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทใดบ้าง?

ยาเลโทรโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า รูปแบบและขนาด บริษัทผู้ผลิต/จำหน่าย
Femara (เฟมารา)
Loxifen (โลซิเฟน)
Dracenax (ดราซิแน็ก)
ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
Trozet (โทรเซ็ท) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทเฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด
Letrozole Tablets USP (ยาเม็ดเล็ทโทรโซล) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม องค์การเภสัชกรรม
Etrokline (อีโทรไคล์น) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด
Letov (เลทอฟ) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทฟาร์มาแลนด์ (1982) จำกัด
Letero (เลเทอโร) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทเฮทเทอโร (ไทยแลนด์) จำกัด
Letrozole Alvogen (เลโทรโซล อัลโวเจน) ยาเม็ดเคลือบขนาด 2.5 มิลลิกรัม บริษัทอัลโวเจน (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR , Wells BG, Posey LM. Pharmacotherap : a pathophysiologic approach. 8th edition.McGraw-Hill ; 2011.
  2. Charles F. Lacy , Lora L. Armstrong , Morton P. Goldman , et al. Drug Information Handbook International.23thed. Lexi–Comp Inc,Ohio ,USA.
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013.
  4. https://www.uptodate.com/contents/evaluation-and-management-of-aromatase-inhibitor-induced-bone-loss [2021,Oct16]
  5. https://www.drugs.com/mtm/letrozole.html [2021,Oct16]