หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 30 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- หัวใจอยู่ตรงไหนของร่างกาย?
- โครงสร้างของหัวใจเป็นอย่างไร?
- หัวใจทำงานอย่างไร?
- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
บทนำ
หัวใจ (Heart หรือ Cardiac) เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญ คือ สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หัวใจจึงทำให้โลหิตไหลเวียน นำออกซิเจนจากอากาศจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ทุกชนิดของร่างกายทางหลอดเลือดแดง, และนำคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์ฯร่างกายกลับมาทางหลอดเลือดดำเพื่อปล่อยออกไปกับลมหายใจออก, ทั้งนี้หัวใจจะทำหน้าที่ร่วมกับปอดเสมอ
หัวใจอยู่ตรงไหนของร่างกาย?
หัวใจ เป็นอวัยวะที่อยู่ในทรวงอกด้านซ้าย ตั้งอยู่ระหว่างปอดซ้ายและปอดขวาค่อนมาทางด้านซ้าย ขอบขวาของหัวใจอยู่ด้านหลังของกระดูกหน้าอก (Sternum) และขอบซ้ายสุดของหัวใจอยู่ตรงกับแนวกึ่งกลางของกระดูกไหปลาร้าข้างซ้ายตัดกับแนวช่องซี่โครงช่องที่ห้า
โครงสร้างของหัวใจเป็นอย่างไร?
หัวใจเป็นอวัยวะที่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกล้ามเนื้อ(กล้ามเนื้อลาย-กล้ามเนื้อเรียบ) โดยหัวใจมีขนาดประมาณใหญ่กว่ากำปั้นมือของเจ้าของเล็กน้อย น้ำหนักของหัวใจปกติอยู่ในช่วง 200 ถึง 425 กรัมขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายของเจ้าของ มีเยื่อบุเป็นถุงหุ้มรอบเรียกว่า เยื่อหุ้มหัวใจ หรือ ถุงหุ้มหัวใจ (Pericardium) ซึ่งเยื่อนี้จะซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นในติดแน่นกับกล้ามเนื้อหัวใจ ภายในหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้องมีชื่อเรียกดังนี้
- ห้องขวาบน (Right atrium): รับเลือดจากหลอดเลือดดำใหญ่ 2 เส้นคือ Superior vena cava และ Inferior vena cava
- ห้องขวาล่าง (Right ventricle): รับเลือดดำจากหัวใจห้องบนขวาผ่านลิ้นหัวใจชื่อ Tricuspid valve แล้วส่งไปยังปอด โดยผ่านลิ้นหัวใจอีกลิ้นซึ่งชื่อ Pulmonary valve เข้าสู่หลอดเลือดใหญ่ที่เข้าสู่ปอดที่ชื่อ Pulmonary artery
- ห้องซ้ายบน (Left atrium): รับเลือดแดงที่ฟอกแล้วจากปอดซ้ายและขวา
- ห้องซ้ายล่าง (Left ventricle): รับเลือดแดงจากห้องซ้ายบนผ่านทางลิ้นหัวใจชื่อ Mitral valve และบีบตัวส่งเลือดแดงออกเลี้ยงร่างกายโดยผ่านทางลิ้นหัวใจอีกลิ้นที่ชื่อ Aortic valve เข้าไปสู่ท่อเลือดแดงใหญ่ชื่อ Aorta ซึ่งจะแตกแขนงเป็นหลอดเลือดแดงขนาดต่างๆ ไปจนถึงเป็นหลอดเลือดฝอยทั่วร่างกาย ซึ่งหัวใจห้องซ้ายล่างนี้มีผนังหนาที่สุดในหัวใจทั้ง 4 ห้อง
ลิ้นหัวใจ:
ลิ้นหัวใจ คือ แผ่นพังผืด ที่ประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน(Collagen) ลักษณะเป็นแผ่นแบนที่สามารถทนต่อแรงดันสูงเวลาหัวใจบีบตัวโดยไม่ฉีกขาด ซึ่งลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้นได้แก่
- Tricuspid valve: กั้นระหว่าง หัวใจห้องบนขวา กับ ห้องล่างขวามี 3 แผ่นเรียงเป็นวงทำหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดดำจาก ห้องล่างขวาขึ้นไปยังห้องบนขวา
- Pulmonary valve: กั้นระหว่าง หัวใจห้องล่างขวา กับหลอดเลือดปอด Pulmonary artery มี 2 แผ่นเรียงเป็นวงทำหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดจากหลอดเลือดปอด Pulmonary artery กลับมายังหัวใจห้องล่างขวา
- Mitral valve: กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้าย และห้องล่างซ้าย ทำหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดแดงจากห้องล่างซ้ายกลับขึ้นไปยังห้องบนซ้าย
- Aortic valve: กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้าย กับท่อเลือดแดงใหญ่ Aorta ทำหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดจาก Aorta กลับเข้ามายังหัวใจห้องล่างซ้าย
หัวใจทำงานอย่างไร?
หัวใจทำงานโดยการเต้นและบีบตัว โดยหัวใจเต้นและบีบตัววันละ 100,000 ครั้งโดยประมาณ, ปริมาณของเลือดที่หัวใจบีบออกใน 24 ชั่วโมงเท่ากับประมาณ 2,000 แกลลอนหรือ 7,571 ลิตร, การเต้นของหัวใจจะเป็นจังหวะซึ่งเกิดจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าสร้างภายในหัวใจเองจากตำแหน่งที่เรียกว่า SA node (Sinoatrial node) ในผนังห้องหัวใจด้านบน (Atrium) ซึ่งการสูบฉีดโลหิตเข้าไปในท่อเลือดแดงใหญ่ Aorta จะทำให้เกิดแรงดันเลือด/ความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure), ส่วนแรงดันเลือดตัวล่าง (Diastolic blood pressure) จะเกิดขึ้นในขณะที่หัวใจไม่บีบตัวหรือในขณะหยุดพัก
หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ:
หัวใจก็ต้องการเลือดไปเลี้ยงเซลล์ของหัวใจเช่นกัน โดยหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเรียกว่า Coronary artery ซึ่งเป็นแขนงแยกออกมาจากท่อเลือดแดงใหญ่ Aorta, ทั้งนี้ ส่วนต้นของหลอดเลือดหัวใจ จะแยกเป็นสาขา ซ้าย ขวา หน้าหลัง ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของหัวใจ ซึ่งถ้าหลอดเลือดเหล่านี้มีการอุดตัน จะเกิดโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (Myocardial infarction)