โรคสมองขาดเลือดมาเลี้ยงชั่วคราว หรือ โรคทีไอเอ (TIA: Transient Ischemic Attack)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

สมองขาดเลือดมาเลี้ยงชั่วคราว/สมองขาดเลือดชั่วคราว ย่อว่า โรคทีไอเอ (TIA:  Transient ischemic attack) หรือคนทั่วไปเรียก ‘โรคอัมพฤกษ์’ คือ โรคที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางสมองแล้วหายเองได้, ซึ่งเป็นอาการ ไม่ใช่โรค, ปัจจุบันถือ ‘เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด หรือโรคอัมพาต’

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค TIA เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ TIA หลายประเด็น ส่งผลต่อการรักษาและอาจก่อให้เกิดความพิการหรือแม้กระทั่งถึงแก่ความตายตามมาได้

TIA คือโรคอะไร?

 

โรค TIA/ทีไอเอ หรือ โรคอัมพฤกษ์ คือ โรคที่เกิดจากสมองสูญเสียหน้าที่ชั่วคราว โดยเกือบทั้งหมดเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียงชั่วคราว, มีส่วนน้อยมากที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก, ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะผิดปกตินานประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง โดยทุกคนจะหายเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโม

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรค TIA?

สาเหตุของโรคทีไอเอ คือ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเป็นการชั่วคราว โดยมักเกิดจากหลอดเลือดสมองที่แข็งตัว หรือตีบแคบ (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง), ร่วมกับมีการไหลเวียนของเลือดที่ลดลงชั่วคราว, และ/หรือเกิดจากมีลิ่มเลือดขนาดเล็กจากหัวใจ หลุดมาอุดหลอดเลือดในสมอง, ส่วนน้อยมากๆที่เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กในสมองแตก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดสมองขาดเลือดชั่วคราว?

ปัจจัยเสี่ยงของโรคทีไอเอ คือ ปัจจัยเสี่ยงเดียวกับการเกิดโรคอัมพาต, ทั่วไปได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • คนที่ไม่ออกกำลังกาย

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจาก TIA มีอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติที่พบจากโรคทีไอเอ ก็เหมือนอาการของโรคหลอดเลือดสมองทั่วไป ได้แก่

  • แขน ขา อ่อนแรง ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • ปากเบี้ยว
  • หลับตาไม่สนิท
  • พูดไม่ชัด, พูดลำบาก, นึกคำพูดไม่ออก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • เดินเซ
  • มองเห็นภาพซ้อน

โรค TIA มีอันตรายหรือไม่?

ถึงแม้ว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ อาการฯ' จะหายได้เอง, แต่เป็นโรคนี้อันตรายอย่างยิ่ง เพราะประมาณ 15%-30% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง/ โรคอัมพาตจะมีอาการโรคทีไอเอ/TIAนำก่อน โดยโรคหลอดเลือดสมองมักเกิดตามภายใน 1 เดือนหลังจากเกิดโรคทีไอเอ/TIA

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็น TIA?

ด้วยโรคทีไอเอนั้น มีโอกาสเกิดเป็นอัมพาตตามมาได้สูง และที่สำคัญ คือ ในขณะที่มีอาการนั้น เราไม่ทราบว่าจะเป็นโรคทีไอเอ หรือ จะกลายเป็นโรคอัมพาต, การรักษาโรคอัมพาตปัจจุบันนั้นที่เป็นมาตรฐาน คือ ควรต้องรักษาภายใน 270 นาทีหลังเกิดอาการ (หรือที่เรียกว่า นาทีชีวิต หรือ Stroke Fast Track) ซึ่งถ้าผู้ป่วยรอสังเกตอาการ ว่าจะหายหรือไม่หาย ถ้าไม่หายค่อยมาพบแพทย์ก็อาจมาช้าเกินไป, *ดังนั้น ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ก็ควรต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็น TIA?

ทั่วไป แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคทีไอเอ จาก

  • ประวัติผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ
  • การตรวจวัดสัญญาณชีพ (ความดันโลหิต การตรวจจับชีพจร อัตราการหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย)
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ร่วมกับ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว โดยอาการผิดปกตินั้นเป็นนานประมาณ 30-60 นาที ถ้านานกว่านั้นก็ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  • และอาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผิดปกติของผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือด และ/หรือค่าไขมันในเลือด
    • การตรวจภาพสมองและ/หลอดเลือดสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ

มีวิธีรักษาโรค TIA อย่างไร?

การรักษาโรคทีไอเอ คือ การให้ทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือ ยาสลายลิ่มเลือด/         ยาละลายลิ่มเลือด ขึ้นอยู่กับสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค รวมทั้งให้การรักษาปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง’ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาควบคุมโรคเบาหวาน เป็นต้น

ผู้ป่วยโรค TIA คนไหนที่มีโอกาสเป็นโรคอัมพาต?

จากเครื่องมือคัดกรองที่เรียกว่า ABCD2 Score มีการทำนายได้ค่อนข้างแม่นยำว่า ใครที่เมื่อเกิดอาการจากโรคทีไอเอ/TIA แล้ว มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิด 'อัมพาต' ซึ่งเครื่องมือคัดกรองนี้ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • Age: อายุ มากกว่า 60 ปี
  • Blood pressure: ความดันโลหิตสูง มากกว่า 140/90 มม.ปรอท
  • Clinical sign/อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น: มีความผิดปกติทางระบบประสาท คือ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดลำบาก
  • Duration: ระยะเวลาที่มีอาการนานเท่าไหร่ ยิ่งมีอาการอยู่นาน ปัจจัยเสี่ยงยิ่งสูง
  • Diabetes: เป็นโรคเบาหวาน

ทั้งนี้โดย:

  • อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีค่า 1 คะแนน
  • ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท มีค่า 1 คะแนน
  • ความผิดปกติทางระบบประสาท:
    • แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง มีค่า 2 คะแนน
    • พูดไม่ชัด พูดลำบาก และ ไม่อ่อนแรง มีค่า 1 คะแนน
    • อื่นๆ มีค่า 0 คะแนน
  • ระยะเวลาที่เกิดอาการ
    • ถ้าสั้นกว่า 10 นาที มีค่า 0 คะแนน
    • 10 – 59 นาที มีค่า 1 คะแนน
    • ตั้งแต่ 60 นาที มีค่า 2 คะแนน

*ซึ่งเมื่อรวมคะแนนทั้งหมดแล้ว ค่าคะแนนสูง โอกาสเกิดโรคอัมพาตยิ่งสูง

หลังจากไปพบแพทย์แล้วปกติดี ควรดูแลสุขภาพอย่างไร?

การดูแลสุขภาพในผู้ป่วย TIA เหมือนกับการดูแลผู้ป่วยเป็นอัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) เลยครับ ทั่วไป คือ

  • ต้องตรวจสุขภาพประจำปีต่อเนื่องทุกปี หรือ บ่อยตามคำแนะนำของแพทย์
  • ดูแล รักษา ควบคุม โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • ไม่ควรสูบบุหรี่, ถ้าสูบอยู่ควรต้องเลิกสูบ
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์, ถ้าดื่มอยู่ควรต้องค่อยๆเลิก และเลิกดื่มในที่สุด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ

ต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือไม่?

ในโรคทีไอเอ  จำเป็นต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อลดโอกาสเกิดอาการซ้ำ, และลดโอกาสเกิดอัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง)

ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันประสิทธิภาพยาแอสไพริน (Aspirin) คู่กับยาโคลพิโดเกล (Clopidogrel) โดยใช้ยานานประมาณ 90 วันนับจากเกิดอาการ และหลังจากนั้นทาน ‘ยาแอสไพริน ขนาด 81 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด’  ตลอดไป

* เมื่อท่านทราบอย่างนี้แล้ว อย่านิ่งนอนใจนะครับ ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที

ป้องกันโรค TIA ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคทีไอเอ คือ การควบคุมดูแลรักษาปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นใน  ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ให้ดี, และ*เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ต้องรีบมาโรงพยาบาลพบแพทย์ด่วน/ทันที/ฉุกเฉิน

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Transient_ischemic_attack   [2023, March18]