วัคซีนอหิวาตกโรค หรือ วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค (Cholera Vaccine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: อหิวาตกโรคคือโรคอะไร? มีวัคซีนป้องกันกี่ชนิด? เป็นวัคซีนจำเป็นไหม?

อหิวาตกโรค (Cholera) คือ โรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่เคยมีประวัติการแพร่ระบาดในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ‘วิบริโอ โคเลอรี (Vibro Cholerae)’ ในบริเวณลำไส้ ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดอาการท้องเสีย ซึ่งบางรายจะมีอาการท้องเสียที่รุนแรงมากจนอาจถึงตายได้ อาเจียน  และปวดขา   

 อหิวาตกโรค เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม รวดเร็ว, อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาและมีอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะเกิดการสูญเสียน้ำอย่างมากจนร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรง จนอาจเกิดอันตรายถึง  ตายได้

“วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค หรือ วัคซีนอหิวาตกโรค (Cholera vaccine)” ได้รับการพัฒนามานานแล้ว แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคยังไม่ยืนยาว กล่าวคือ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคร้อยละประมาณ 85 (85%) ในช่วง 6 เดือนแรก และลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 (50%) หลังการรับวัคซีนไปแล้ว 2 ปี

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค 2 ชนิด คือ ชนิดรับประทาน, และชนิดฉีดแต่ความนิยมการใช้วัคซีนชนิดฉีดลดลง เนื่องจากประสิทธิภาพด้อยกว่าชนิดรับประทาน  

ประเทศไทย 'ไม่ได้กำหนด' ให้วัคซีนอหิวาตกโรคเป็นวัคซีนจำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะประเทศเราพบโรคนี้น้อยลงมาก และปัจจุบันโรคนี้ไม่ได้มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในบ้านเราแล้ว     

ในบ้านเรา วัคซีนนี้ จึงเป็นเพียงวัคซีนแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปใน บริเวณ/ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกได้จัดให้วัคซีนอหิวาตกโรคนี้ เป็นหนึ่งในวัคซีนที่ควรมีอยู่ในบัญชียา/วัคซีนจำเป็นในระบบสาธารณสุขมูลฐานของทุกประเทศ

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมีกลไกการทำงานอย่างไร?

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมีกลไกการทำงานโดย ตัววัคซีนจะมีฤทธิ์ที่กระตุ้น ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่อต้านตัวแบคทีเรียและทอกซิน (Toxin, สารชีวพิษ) ที่สร้างโดยแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี ที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค โดยสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันอหิวาตกโรคนั้น จะสร้างที่บริเวณลำไส้เท่านั้น

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมีข้อบ่งใช้อย่างไร? มีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไร?

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค มีข้อบ่งใช้เพื่อ: ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ‘วิบริโอ โคเลอรี’   

โดยปัจจุบันมีวัคซีนนี้ใน 2 รูปแบบคือ ชนิดรับประทาน, และชนิดฉีด  อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดฉีดนั้นต่ำมาก และไม่สามารถป้องกันโรคในระยะเวลานานได้ จึงมีการผลิตลดลง อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดรับประทานในการป้องกันอหิวาตกโรคเท่านั้น  ดังนั้นบทความนี้ จึงขอกล่าวถึง’วัคซีนอหิวาตกโรคเฉพาะชนิดรับประทาน’เท่านั้น

การรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทาน ควรเว้นระยะเวลาจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาใดๆ ก่อนและหลังการเข้ารับวัคซีน อย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ก. วัคซีนดูโครัล (Duloral®): เป็นวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยทั่วไปแนะนำให้แก่ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น  

วัคซีนดูโครัลได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีขนาดบรรจุ 3 มิลลิลิตร

สำหรับบุคคลทีมีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: บริหารโดยเจือจางวัคซีนนี้กับน้ำสะอาดให้ได้ปริมาตร 150 มิลลิลิตร,   ต้องเข้ารับวัคซีน 2 ครั้ง โดยต้องให้ห่างกันอย่างน้อย 7 วัน, แต่ไม่เกิน 6 สัปดาห์    

ในเด็กอายุตั้งแต่ 2-5 ปี: ให้เจือจางวัคซีนให้ได้ 75 มิลลิตร, บริหารโดยการรับประทานทั้งสิ้น 3 ครั้ง, โดยแต่ละครั้งต้องให้ห่างกันอย่างน้อย 7 วัน, แต่ไม่เกิน 6 สัปดาห์

หากผู้รับวัคซีนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปยังอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของ อหิวาตกโรคหลังจากการรับวัคซีนไปแล้วภายในช่วง 2 ปี ควรได้รับวัคซีนนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้ง,  แต่หากนานเกิน 2 ปีไปแล้ว ควรเริ่มรับวัคซีนนี้ใหม่ทั้งหมด

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี: ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกๆ 6 เดือนหากยังอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค, หากระยะเวลาตั้งแต่การรับวัคซีนเดิมเกิน 6 เดือนไปแล้ว ควรเริ่มรับวัคซีนนี้เหมือนการรับวัคซีนนี้เป็นครั้งแรก

ข. วัคซีนแชนโคล (Shancol®): เป็นวัคซีนชนิดรับประทานเช่นกัน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศอินเดีย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป บริหารโดยการรับประทาน, โดยให้ 2 ครั้ง, ห่างกัน 14 วัน,  สำหรับวัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันนั้น แนะนำสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค, โดยอาจได้รับ 1 หรือ 2 ครั้ง ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแล ภายหลังจากการได้รับรับวัคซีนครั้งแรกไปแล้ว 2 ปี

*อนึ่ง: ในการจะเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค ควรได้รับวัคซีนนี้ครบถ้วนล่วงหน้า อย่างน้อย 1 สัปดาห์

กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค?

โดยทั่วไป  วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคไม่ได้เป็นวัคซีนแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวเนื่องจากพบว่า โอกาสการติดเชื้ออหิวาตกโรคระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวมีน้อยมาก  

อย่างไรก็ดี หากเป็นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะเข้าไปทำงานในถิ่นทุรกันดารที่มีเชื้อโรคนี้เป็น เชื้อประจำถิ่น และผู้ที่เข้าไปทำงานในค่ายสำหรับผู้ลี้ภัย ควรได้รับวัคซีนชนิดนี้ก่อนเข้าไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค โดยควรต้องได้รับวัคซีนนี้ครบถ้วนล่วงหน้า 1 สัปดาห์

มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค?

โดยทั่วไป วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมีความปลอดภัย เว้นแต่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้  ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนนี้ รวมไปถึงการให้วัคซีนนี้กับผู้ที่กำลังป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน

ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดด้านความปลอดภัยของวัคซีนนี้แก่หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร,  การรับวัคซีนในช่วงภาวะเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์เป็นกรณีๆไป

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคก่ออาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่ไม่รุนแรง เช่น  ปวดท้อง  ท้องเสีย  คลื่นไส้อาเจียน

*อาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงพบได้น้อยมาก เช่น อาการแพ้วัคซีน ได้แก่ มีผื่นคันขึ้นตามตัว, ใบหน้า ลำคอ บวม, หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง หลังการรับวัคซีนนี้  *หากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร?

โดยทั่วไป วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius) โดยเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มากับผู้ผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด/แสงสว่างส่องโดยตรง    

อย่างไรก็ดี แต่ละสถานพยาบาลอาจมีนโยบายการเก็บรักษายา/วัคซีนที่แตกต่างกันออกไป จึงควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงวิธีการเก็บรักษาวัคซีนนี้ที่ถูกต้อง

ติดต่อขอเข้ารับวัคซีนได้อย่างไร?

ผู้มีความประสงค์ที่จะเข้ารับวัคซีนอหิวาตกโรค  สามารถปรึกษาแพทย์ได้ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน,  และคลินิกสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและให้คำปรึกษาแนะนำผู้เดินทางและนักท่องเที่ยว สถานเสาวภาฯ

บรรณานุกรม

  1. Weekly epidemiological record. Cholera vaccines: WHO position paper. World Health Organization. 2010, 85, 117–128.
  2. https://www.cdc.gov/cholera/vaccines.html [2022,Oct1]
  3. https://www.nhs.uk/conditions/cholera/ [2022,Oct1]
  4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/publications/healthy-living/canadian-immunization-guide-part-4-active-vaccines.html?page=3#p4c2a10 [2022,Oct1]
  5. https://www.thaitravelclinic.com/th/Knowledge/recommended-vaccine-for-thai-travelers.html
  6. https://dukoralcanada.com/  [2022,Oct1]