รังไข่อักเสบ (Oophoritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

รังไข่อักเสบคืออะไร?

รังไข่อักเสบ (Oophoritis) คือ โรคที่มีการอักเสบเกิดที่รังไข่ ทั้งนี้รังไข่เป็นอวัยวะในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานสตรี มีลักษณะเป็นก้อนกลมรี ขนาด 1 x 2 x 3 ซม. (เซนติเมตร) อยู่ที่ใกล้ปลายท่อนำไข่ข้างซ้ายและขวา ข้างละรังไข่ ซึ่งการอักเสบของรังไข่สามารถเกิดขึ้นที่รังไข่ข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ส่วนมากมักไม่ได้อักเสบที่รังไข่เดี่ยวๆ แต่มักอักเสบร่วมกับท่อนำไข่ ที่เรียกว่า ‘ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingo-oophoritis หรือ Adnexitis)’ และ/หรืออักเสบร่วม กับมดลูกด้วยที่รวมเรียกว่า‘การอักเสบในอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)’

สาเหตุของรังไข่อักเสบคืออะไร?

รังไข่อักเสบ

สาเหตุรังไข่อักเสบแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

  1. Infectious oophoritis: เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของรังไข่อักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ ส่วน มากจากติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น จากเชื้อ Chlamydia trachomatis, Neisseria gonorrhea, ซึ่งมักทำให้เกิดโรคท่อนำไข่อักเสบและมดลูกอักเสบร่วมด้วย

 นอกจากนี้พบว่า การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคคางทูม สามารถมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดการอักเสบที่รังไข่ได้ (Mumps oophoritis) แต่ที่พบบ่อยกว่าคือ ในเด็กผู้ชายที่เป็นคางทูมแล้วมีการอักเสบที่อัณฑะร่วมด้วย(Mumps orchitis)

  1. Autoimmune oophoritis: พบได้น้อยมาก โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจาก ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายตนเอง โดยจัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น ในสตรีที่เป็น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี/SLE(Systemic lupus erythematosus), ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต, โรคแอดดิสัน, (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคเหล่านี้ได้จากเว็บcom) ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบทำลายเซลล์ในรังไข่ด้วย ทำให้มีพังผืดในรังไข่ รังไข่ฝ่อไป ไม่ทำงานก่อนระยะเวลาอันควรได้ (Ovarian failure)

รังไข่อักเสบมีอาการอย่างไร?

รังไข่เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนเพศที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ อาการของรังไข่อักเสบที่พบ ได้แก่

  • ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • อาจมีไข้ได้
  • ประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งกรณีที่รังไข่สูญเสียการทำงานอย่างมากสามารถทำให้รังไข่ล้ม เหลวจนลด/หยุดทำงานก่อนระยะเวลาอันควร (Premature ovarian failure) อาจเริ่มจากประจำเดือนออกน้อย, ประจำเดือนนานๆมาครั้ง, จนไม่มีประจำเดือน, อาจมีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด เหมือนสตรีวัยหมดประจำเดือนได้
  • หากมีการอักเสบร่วมของท่อนำไข่และมดลูก จะมีตกขาวผิดปกติได้
  • เกิดภาวะมีบุตรยากหากมีพังผืดมากที่รังไข่หรือรังไข่ทำงานไม่ปกติ
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรังหากมีพังผืดมากในช่องท้องน้อย

ใครที่เสี่ยงต่อรังไข่อักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อรังไข่อักเสบ ได้แก่

  1. สตรีที่มีเพศสัมพันธ์
  2. มีคู่นอนมีการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์
  3. สตรีที่มีคู่นอนหลายคน
  4. การสวนล้างช่องคลอด
  5. ไม่ใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  6. สตรีที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน, โรคลูปัสฯ, โรค ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต

แพทย์วินิจฉัยรังไข่อักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยรังไข่อักเสบได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ได้แก่ จากอาการ มีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง บางครั้งอาจมีไข้หรือมีตกขาวผิดปกติได้หากมีการอักเสบของมดลูกและท่อรังไข่ร่วมด้วย และรวมถึงประวัติการเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น เคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, หรือมีการสวนล้างช่องคลอด เป็นต้น

ข. การตรวจร่างกาย: หากอาการไม่มากจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ แต่ถ้าโรครุนแรงสามารถตรวจพบว่ามีไข้ได้ และมีอาการกดเจ็บตำแหน่งที่มีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง หรือรวมทั้งบริเวณเหนือหัวหน่าวด้วย

ค. การตรวจภายใน: อาจพบตกขาวผิดปกติในช่องคลอด ซึ่งเมื่อโยกปากมดลูกจะมีอาการเจ็บบริเวณปีกมดลูกด้านที่มีการอักเสบของรังไข่ และหากมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้าง เคียง) เป็นก้อน ฝี/หนอง จะคลำพบก้อนได้ที่ปีกมดลูก

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น

  • การตรวจเลือดซีบีซี/CBC อาจพบมีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวมากขึ้น
  • การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดมักไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวรังไข่ในกรณีที่รังไข่มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ยกเว้นหากมีภาวะแทรกซ้อนที่มีก้อนฝี/หนองจะตรวจพบก้อนฝี/หนองที่ปีกมดลูก

อนึ่ง:  กรณีที่ไม่มีประจำเดือนมาเลยหรือมีอาการคล้ายสตรีวัยหมดประจำเดือน จำเป็น ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายเพื่อช่วยวินิจฉัย

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ อาการ หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับ ประทานเอง เพราะอาจไม่ครอบคลุมโรค หรือรับประทานยาไม่ครบระยะเวลา ทำให้รักษาไม่หายขาดหรืออาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

รักษารังไข่อักเสบอย่างไร?

หลักการในการรักษารังไข่อักเสบได้แก่

หากเกิดจากการติดเชื้อ รักษาเหมือนภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือในปีกมดลูกอักเสบ คือ

 ก. กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาเป็นผู้ป่วยนอก โดยให้ยาปฎิชีวนะ  เช่นยา Ceftriaxone 250 มก.(มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับให้รับประทานยา Doxycycline 100 มก. หลังอาหารเช้าและเย็นนาน 2 สัปดาห์

ในกรณีที่มีไข้ มีก้อนหนองที่ท่อนำไข่ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฎิชีวนะ เหมือนการรักษาผู้ป่วยในที่มีภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานแบบเฉียบพลัน

         อนึ่ง: การรักษาร่วมอย่างอื่นคือ การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด  ยาลดไข้ การประคบร้อน/อุ่นที่หน้าท้อง เป็นต้น

ข. สำหรับการรักษาภาวะรังไข่ไม่ทำงานจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเป็นการให้ฮอร์โมนเพศทดแทนคล้ายการรักษาในสตรีวัยหมดประจำเดือน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีรังไข่อักเสบ?

การดูแลตนเองเมื่อมีรังไข่อักเสบได้แก่

  1. ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  2. รับประทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบตามแพทย์แนะนำ ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  4. งดมีเพศสัมพันธ์ช่วงที่กำลังรักษา
  5. ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์

เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลงเช่น ปวดท้องมากขึ้น/รุนแรง และ/หรือตกขาวมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่ได้รักษาหายไปแล้วเช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น มีไข้ หรือคลำก้อนได้ในท้อง หรือมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะเช่น ปัสสาวะบ่อยร่วมกับปวดแสบเมื่อปัสสาวะ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ภาวะแทรกซ้อนของรังไข่อักเสบมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของรังไข่อักเสบที่อาจพบได้เช่น

  1. ทำให้ท่อนำไข่และ/หรือมดลูกอักเสบร่วมด้วย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บท ความเรื่อง ท่อนำไข่อักเสบ และเรื่อง เยื่อบุมดลูกอักเสบ)
  2. ทำให้เกิดเป็นก้อนฝี/หนองที่ปีกมดลูก(Tubo-ovarian abscess) ที่อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  3. ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรังจากการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย
  4. มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก(ท้องนอกมดลูก) สูงขึ้น
  5. สูญเสียการทำงานของรังไข่ก่อนวัยอันควร

รังไข่อักเสบสามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่?

ภาวะรังไข่อักเสบติดเชื้อ สามารถกลับเป็นซ้ำได้ หากรังไข่มีการติดเชื้อซ้ำอีกหลังรักษาหายแล้ว ส่วนรังไข่อักเสบจากโรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเองมักเป็นการสูญเสียการทำงานของรังไข่ถาวร

รังไข่อักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป การอักเสบของรังไข่จากการติดเชื้อมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาหายได้ แต่การพยากรณ์โรคขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ การรักษาที่ทันท่วงที, การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามคำ แนะนำของแพทย์พยาบาล, การรับประทานยาปฏิชีวนะครบตามแพทย์แนะนำ, ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคมีโอกาสหายมากขึ้น การพยากรณ์โรคดีขึ้น โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง

ส่วนการพยากรณ์โรคของรังไข่อักเสบจากโรคออโตอิมมูน เป็นภาวะที่ควบคุมรักษาได้ด้วยการดูแลรักษาเช่นเดียวกับในวัยหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้การพยากรณ์โรคในภาพรวมจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หรือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ  

หลังรักษาหายแล้วเมื่อต้องการตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร? และควรตั้งครรภ์เมื่อไหร่?

การอักเสบของรังไข่ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งคู่นอนควรได้รับการตรวจรักษาด้วยเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ

ช่วงที่กำลังรับประทานยารักษาโรค ควรต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปสักระยะก่อนหรือต้องใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หลังรักษาโรคหายแล้วไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ แต่เพื่อให้สุขภาพฝ่ายหญิงกลับมาแข็งแรง ฝ่ายชายควรจะใช้ถุงยางอนามัยชายไปประมาณ 2 - 3 เดือน

ป้องกันรังไข่อักเสบอย่างไร?

ป้องกันรังไข่อักเสบติดเชื้อได้โดย

  1. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยชาย
  2. งดมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
  3. ไม่สวนล้างช่องคลอด
  4. ฉีดวัคซีนป้องกันการเป็นคางทูม (วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์) ซึ่งโดยปกติจะฉีดตั้งแต่เด็กแล้ว
  5. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลที่เป็นโรคคางทูมเนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย

บรรณานุกรม

  1. Jacob S, Koc M. Autoimmune oophoritis: a rarely encountered ovarian lesion. Indian J Pathol Microbiol 2015; 58:249-51.
  2. https://www1.cgmh.org.tw/intr/intr5/c6700/OBGYN/f/web/Oophoritis/index.htm [2022,May21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Autoimmune_oophoritis [2022,May21]