ยูริโคซูริก (Uricosuric)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยูริโคซูริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยูริโคซูริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยูริโคซูริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยูริโคซูริกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยูริโคซูริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยูริโคซูริกอย่างไร?
- ยูริโคซูริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายูริโคซูริกอย่างไร?
- ยูริโคซูริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เกาต์ (Gout)
- เกาต์เทียม (Pseudogout)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ยาโรคเกาต์ หรือ ยารักษาโรคเกาต์ (Gout Medication)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยูริโคซูริก (Uricosuric หรือ Uricosuric agent) คือ กลุ่มยาใช้ลดระดับกรดยูริค (Uric acid) ในเลือด เช่น ในโรคเกาต์ และในภาวะกรดยูริคในร่างกายสูงเกิน, รูปแบบยาแผนปัจจุบันมีได้ทั้งยารับประทานและยาฉีด
ยากลุ่มยูริโคซูริกส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ที่ไตในส่วนที่ใช้กรองสารต่างๆที่ เรียกว่า พร็อกซิมอลทิวบูล (Proximal tubule), หากร่างกายมีกรดยูริคมากจนเกินไป จะก่อให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ, ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบของข้อนั้นๆ ที่รวมถึงเกิดการทำลายข้อกระดูกเหล่านั้นที่เรียกว่า 'โรคเกาต์' และการมีกรดยูริกมากในเลือด อาจทำให้เกิดการตกผลึกที่ไต จนเกิดเป็นนิ่วในไต ชนิดที่เกิดจากกรดยูริค/กรดยูริก
อาจจำแนกยาในกลุ่มยูริโคซูริกออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่ม1 ยาไพรมารียูริโคซูริก (Primary Uricosuric): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการขับออกและลดการสังเคราะห์กรดยูริค/กรดยูริก ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา
- Probenecid: มีฤทธิ์ทำให้ไตขับกรดยูริกออกมากับปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น
- Benzbromarone: ออกฤทธิ์เพิ่มการขับเกลือของกรดยูริค คือ Urate ออกทางไต/ทางปัสสาวะ
- Sulfinpyrazone: มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกรดยูริกกลับเข้าสู่กระแสเลือด
2. กลุ่ม 2 ยาเซคคันดารียูริโคซูริก (Secondary uricosuric): เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ลดกรดยูริกในร่างกาย แต่มักเป็นกลุ่มยาแพทย์ที่นำไปรักษาอาการโรคอื่นมากกว่า เช่น ใช้ลดความดันโลหิต ลดไขมันคอเลสเตอรอล, ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา
- Amlodipine: เป็นยาลดความดัน ที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับออกของกรดยูริกไปกับปัสสาวะ
- Lorsartan: ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีน 2 ชนิด คือ
- URAT 1: ซึ่งเป็นโปรตีนช่วยให้กรดยูริกถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกาย
- และ Gluta: เป็นโปรตีนที่คอยปรับสมดุลของสารยูเรท (Urate, เกลือของกรดยูริค) ในกระแสเลือด และจัดเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กรดยูริกในเลือดมีเพิ่มขึ้น
- Atorvastatin: เป็นยาในกลุ่มสแตติน (Statin) ซึ่งใช้เป็นยาลดไขมันในเลือด แต่ยานี้สามารถทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายลดลงได้ด้วย
- Fenofibrate: การใช้ยานี้เพื่อลดไขมันในเลือดนั้น ตัวยาจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารเมตาโบไลท์ (Fenofibrate metabolite) ซึ่งคอยยับยั้งการทำงานของโปรตีน URAT 1 ส่งผลให้มีการดูดกรดยูริกกลับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง
- Adrenocorticotropic hormone (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง): การใช้ฮอร์โมนนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกัน กลับส่งผลที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการรักษา คือ ทำให้กรดยูริกถูกขับออกจากร่างกายไปด้วย
- ยา Cortisone: เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ใช้กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย และยังก่อให้เกิดฤทธิ์ลดระดับกรดยูริกในร่างกาย
อาจสรุปกลไกการลดปริมาณของกรดยูริกจากยาทั้ง 2 กลุ่ม(กลุ่ม1และกลุ่ม2) ดังนี้
- เร่งการขับกรดยูริคออกทางไต โดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
- ลดการดูดกลับของกรดยูริคเข้าสู่กระแสเลือด
กลไกทั้ง 2 ขั้นตอน ล้วนแล้วแต่ทำให้อาการโรคเกาต์ หรือภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเกินปรับตัวไปในแนวทางที่ดีขึ้น, ยังมียาในกลุ่มยายูริโคซูริก อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้ยกมากล่าวอ้าง, การเลือกใช้ยาใดนั้น ต้องขึ้นกับแพทย์เป็นผู้พิจารณา ด้วยสรรพคุณของยาแต่ละชนิดและสภาพร่างกายของผู้ป่วยมีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง
ยูริโคซูริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยายูริโคซูริก มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคเกาต์
- บำบัดภาวะกรดยูริคในร่างกายสูงเกิน
ยูริโคซูริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยายูริโคซูริกทั้งในกลุ่ม Primary และ Secondary uricosurics มีกลไกการออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะโดยขึ้นกับคุณสมบัติและโครงสร้างทางเคมีกล่าวคือ
- เร่งการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
- ลดการดูดกรดยูริคกลับคืนสู่กระแสเลือด
ทั้งนี้แต่ละกลไกล้วนแล้วส่งผลให้ลดระดับกรดยูริกและทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ
ยูริโคซูริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยายูริโคซูริก มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ชนิดรับประทาน และ
- ยาฉีด
ยูริโคซูริกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มยูริโคซูริก มีหลากหลายรายการ ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน, ขนาดการใช้ยาเหล่านี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ยูริโคซูริก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายูริโคซูริก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยายูริโคซูริก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยายูริโคซูริก ตรงเวลา
ยูริโคซูริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ขอยกตัวอย่างเรื่องผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยายูริโคซูริก: เช่น
- ยา Probenecid: เช่น ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย เป็นแผลที่เหงือก วิงเวียน ผิวหนังอักเสบ ตับอักเสบ โลหิตจาง
- ยา Fenofibrate: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก เจ็บคอ
- ยา Sulfinpyrazone: เช่น ท้องเสีย แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก อึดอัด/หายใจลำบากช่องปากเป็นแผล
มีข้อควรระวังการใช้ยูริโคซูริกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยายูริโคซูริก: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มยูริโคซูริก
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- *หากพบอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- *กรณีใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การจะรับประทานยาอื่นหรือใช้ยาอื่นใดร่วมกับยากลุ่มยูริโคซูริก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ด้วยอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกันได้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มยูริโคซูริกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยูริโคซูริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยายูริโคซูริก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มยูริโคซูริก ร่วมกับยาบางตัวที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามกัน หรือยาที่ทำให้ระดับกรดยูริคในร่างกายสูงขึ้น เช่นยา Pyrazinoate(ยาลดกรดยูริคในเลือด), Pyrazinamide, Ethambutol, Diclofenac, Aspirin, ฯลฯ
ควรเก็บรักษายูริโคซูริกอย่างไร?
ควรเก็บยายูริโคซูริก: เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยูริโคซูริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยูริโคซูริกที่ ยาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Benacid (เบนาซิด) | Chew Brothers |
Bencid (เบนซิด) | Pharmaland |
Benecid (เบเนซิด) | Chew Brothers |
Benemid (เบเนมิด) | MSD |
Atorsan (อะโทแซน) | Lek |
Atorvastatin Sandoz (อะโทวาสแตติน แซนดอซ) | Sandoz |
Chlovas (คลอวาส) | Millimed |
Lipitor (ลิปิเตอร์) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Uricosuric [2022,Nov12]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB01138 [2022,Nov12]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20075570/ [2022,Nov12]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10727684/ [2022,Nov12]
- https://www.drugs.com/sfx/sulfinpyrazone-side-effects.html [2022,Nov12]