ยาลดกรด (Antacids)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 20 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- ยาลดกรดคือยาอะไร?
- ยาลดกรดมีกี่ชนิด?
- ยาลดกรดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- ยาลดกรดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาลดกรดอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรดอย่างไร?
- การใช้ยาลดกรดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดกรดในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดกรดอย่างไร
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- กระดูกน่วม โรคกระดูกอ่อน (Osteomalacia)
- ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction)
ยาลดกรดคือยาอะไร?
ยาลดกรด (Antacid) คือ ยาช่วยปรับความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารให้อยู่ในสมดุล โดยตัวยามีสภาวะเป็นด่าง ออกฤทธิ์ลดกรดโดยการสะเทิน (ทำให้เป็นกลาง) กับกรดในทางเดินอาหาร เมื่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลงจึงทำให้อาการปวดท้องหรือแสบท้องบรรเทาลงได้, เป็นยาที่มักใช้ร่วมกับยาระบบทางเดินอาหารในกลุ่มอื่นๆ เช่นกับยาRanitidine, และยังเป็นยาที่ใช้กันมานาน ราคาถูก วางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปที่สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ที่เรียกว่า ยา Over-the-counter drug ย่อว่า OTC drug
ยาลดกรดมีกี่ชนิด?
ยาลดกรดมีหลายชนิด ดังต่อไปนี้ เช่น
- อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide)
- แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า มิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia, MOM)
- โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) หรือโซดามิ้นท์ (Sodamint)
- บิสมัทซับซาลิซิเลต (Bismuth subsalicylate)
- แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate)
ยาลดกรดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยาลดกรดมีรูปแบบจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาเจล (Gel, Jelly)
ยาลดกรดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ยาลดกรดมีข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากแผลที่ทางเดินอาหาร (Ulcer dyspepsia) เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
- บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลที่ทางเดินอาหาร (Functional or Non – ulcer dyspepsia)
- บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากกรดไหลย้อน ชนิดไม่ก่อให้เกิดแผลที่หลอดอาหาร (Non–erosive gastro–esophageal reflux)
- บรรเทาอาการปวดท้อง, อาการแสบร้อนกลางอก และใช้เคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
อนึ่ง: ข้อบ่งใช้อื่นๆ เช่น
- ยา Aluminium hydroxide: ใช้ลดฟอสเฟต(Phosphate)ในผู้ป่วยที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง
- Magnesium hydroxide: ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หากต้องการใช้เป็นยาลดกรด จะต้องใช้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับ Aluminium hydroxide หรืออาจใช้ลดกรดในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย
- Sodium bicarbonate: ใช้รักษาภาวะกรดเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นกรด (Acidosis)
มีข้อห้ามใช้ยาลดกรดอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาลดกรด เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
- ห้ามใช้ยา Aluminium hydroxide ในทารกแรกเกิด, ผู้มีภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำหรือในภาวะไตวาย
- ห้ามใช้ยา Magnesium hydroxide ในผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้มีภาวะด่างเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นด่าง (Alkalosis), ภาวะโซเดียมในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดสูง และภาวะปอดบวมน้ำอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยา Bismuth subsalicylate ในผู้เคยมีประวัติเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยา Calcium carbonate ในผู้เป็นโรคนิ่วในไต หรือเคยมีประวัติเป็นโรคนิ่วในไต, ผู้มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และฟอสเฟตในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรด เช่น
- ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง, และระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้ที่ต้องจำกัดเกลือแกง (เกลือโซเดียม) ในอาหาร ภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ภาวะร่างกายบวมน้ำ
- ระวังการใช้ยาลดกรดร่วมกับยาอื่นๆที่กรดมีผลต่อการดูดซึมยาเหล่านั้น เพราะอาจทำให้ตัวยาเหล่านั้นถูกดูดซึมได้น้อยลง เช่น ยาต้านเชื้อรา (เช่นยา Itraconazole, Ketoconazole) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Norfloxacin, Ciprofloxacin) หากต้องการรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาดังกล่าว ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง
- ยาลดกรดชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อให้ตัวยาที่ตกตะกอนอยู่ผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
การใช้ยาลดกรดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
ยาลดกรด มีความปลอดภัยในทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น, ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว, ยกเว้นยา Bismuth subsalicylate ที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์7–9 เดือน) เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือเกิดความพิการที่ทำให้เสียชีวิตหลังคลอดได้
การใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น
- ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้สูงอายุ: เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่กระดูกไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อกระดูกได้มากขึ้น เช่น กระดูกพรุน, โรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน (Osteomalacia)
- ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้สูงอายุที่ท้องผูกเป็นประจำ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีอาการท้องผูกได้ง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากการทำงานของลำไส้ลดลงไปตามวัยและรับประทานอาหารได้น้อยลงกว่าวัยอื่นๆ
- ระวังการใช้ Magnesium hydroxide ในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้เกิดพิษจาก Magnesium คือเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางได้
การใช้ยาลดกรดในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาลดกรดในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ควรเป็น ดังนี้ คือ ไม่ควรใช้ยาลดกรดในเด็ก เพราะยังมีข้อมูลทางคลินิกด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาลดกรดในผู้ป่วยเด็กไม่มากเพียงพอ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดกรดอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาลดกรด เช่น
- ยา Aluminium hydroxide:
- ทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด อาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน/ลำไส้อุดกั้นจากก้อนอุจจาระ หรือโรคริดสีดวงทวาร
- หากใช้ยานี้นานเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิด โรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน
- ยา Magnesium hydroxide: ทำให้คลื่นไส้อาเจียน เกิดภาวะขาดน้ำ
- ยา Sodium bicarbonate: ทำให้เกิดภาวะด่างเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นด่าง อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยหอบ/หายใจลำบาก โซเดียมในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ
- ยา Bismuth subsalicylate: ทำให้เกิดอาการท้องผูก เป็นพิษต่อระบบประสาท
- ยา Calcium carbonate: ทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืด เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะด่างเกินในกระแสเลือด ไตวาย
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลดกรด) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติเล่ม 1 ยาระบบทางเดิน. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national [2022,Aug20]
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
- https://www.drugs.com/cons/antacid.html [2022,Aug20]