ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 19 ธันวาคม 2564
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- เด็กโรคหืด (Childhood asthma)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
สารบัญ
- ยาขยายหลอดลมทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
- ทางเภสัชแบ่งยาขยายหลอดลมมีกี่ประเภท?
- ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
- การใช้ยาในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- บรรณานุกรม
ยาขยายหลอดลมทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) เป็นยาที่มีฤทธิ์ป้องกันและรักษาอาการหดเกร็งของ หลอดลม (Bronchospasm)
ทางเภสัชแบ่งยาขยายหลอดลมเป็นประเภทใดบ้าง?
ทางเภสัชแบ่งยาขยายหลอดลมเป็นประเภทต่างๆดังนี้
- Beta 2-agonist (เบต้าทู อะโกนิส) หรือ Beta 2 adrenergic agonist (เบต้าทู แอดรีเนอร์จิก อะโกนิส) เป็นยาที่ไปกระตุ้นตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ Beta adrenergic receptor ที่กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลมทำให้กล้ามเนื้อเรียบบริเวณนี้คลายตัว หลอดลมจึงขยายตัว ซึ่งแบ่งยากลุ่มนี้ตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ประเภท/ชนิดได้แก่
- ชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short-acting beta 2-agonist): ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เร็วภายในระยะเวลาประมาณ 5 นาทีและมีระยะเวลาออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้นานประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงเช่น ยา Salbutamol (ซาลบูทามอล), Terbutaline (เทอร์บิวทาลีน)
- ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน (Long-acting beta 2-agonist): ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า ภายในระยะเวลาประมาณ 20 นาทีและมีระยะเวลาออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้นานอย่างน้อย 12 ชั่วโมงเช่น ยา Salmeterol (ซัลมีเทอรอล), Formoteral (ฟอร์โมเทอรอล)
- Methyl xanthines (เมธิลแซนทีน): เป็นสารที่พบในธรรมชาติเช่น ชา, กาแฟ และช็อกโกแลต สารนี้ที่นำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลมเช่น Aminophylline (อะมิโนฟิลลีน) และ Theophylline (ทีโอฟิลลีน) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phos phodiesterase) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร cAMP (Cyclic adenosine monophos phate) จึงส่งผลให้ระดับ cAMP เพิ่มขึ้น ซึ่ง cAMP นี้เป็นตัวส่งสัญญาณที่สื่อให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมคลายตัว
- Anticholinergics (ยาต้านโคลิเนอร์จิก) หรือ Antimuscarinic: เป็นยาที่ไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่มีตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม ส่งผลให้หลอดลมขยาย ยากลุ่มนี้แบ่งตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ประเภท/ชนิดได้แก่
- ชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short-acting antimuscarinic agent): เช่น Ipratropium (ไอพราโทรเพียม)
- ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน (Long-acting antimuscarinic agent): เช่น Tiotropium (ไทโอโทรเพียม)
ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบจำหน่ายดังนี้ เช่น
- ยาฉีด เช่นยา Aminophylline, Salbutamol และ Terbutaline
- ยาเม็ดรับประทาน เช่นยา Salbutamol และ Terbutaline
- ยาสูดพ่น เช่นยา Salmeterol และ Formoteral นอกจากนี้ยังมียาสูดพ่นในรูปของยาผสมระหว่าง Inhaled Corticosteroids (ICS) ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นกับยา Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์ยาว/นาน เช่นยา Salmeterol ผสมกับ Fluticasone และ Formoteral ผสมกับ Budesonide
มีข้อบ่งใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีข้อบ่งใช้ดังนี้ เช่น
1. เป็นยาควบคุมอาการ (Controller) และเป็นยาบรรเทาอาการ (Reliever) ในผู้ป่วยโรคหืด (Asthma)
- ยาควบคุมอาการ จะมีฤทธิ์แก้อักเสบ ลดการบวมของผนังหลอดลม เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะควบคุมอาการของโรครวมทั้งลดการกำเริบ (Asthma exacerbation) ได้
- ยาบรรเทาอาการ จะเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว โดยไม่ลดการอักเสบที่เกิดในผนังหลอดลม ยากลุ่มนี้จะใช้รักษาอาการโรคหืดที่กำเริบเฉียบพลัน
2. ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ยาวช่วยคุมอาการผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดเวลากลางคืน (Nocturnal asthma) หรือมีอาการหอบหืดขณะที่ออกกำลังกาย (Exercise-induced asthma)
3. ใช้เป็นยาบรรเทาอาการ ลดความถี่และความรุนแรงของการกำเริบของอาการ รวม ทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/COPD/โรคซีโอพีดี (Chronic Obstructive Pulmonary Disease)
มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดลมดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆและ
- ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta 2-agonist ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia), หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia)
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมดังนี้ เช่น
- ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์สั้นเป็นยาเดี่ยวๆเพื่อบรรเทาอาการต่อเนื่องนานเกินไป เพราะร่างกายอาจตอบสนองต่อการใช้ยาได้ลดน้อยลง (Tolerance) แต่ควรใช้ ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นควบคู่กันไปเพื่อควบคุมอาการด้วย
- ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta 2 -agonist ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักมีโรคหัวใจร่วมด้วย การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)ได้แม้จะใช้ยาในขนาดปกติก็ตาม
- ห้ามบดหรือเคี้ยวยาเม็ด Theophylline ชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/นาน (Sustained-release theophylline) แต่สามารถแบ่งใช้เม็ดยาได้
- Theophylline เป็นยาที่มี *ดัชนีการรักษาแคบ มีประวัติการสูบบุหรี่และการใช้ยาอื่นๆ เพราะอาจส่งผลให้ระดับเอนไซม์ตับซึ่งทำหน้าที่ขจัดยาออกจากร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ควบคุมระดับการใช้ยานี้ในแต่ละบุคคลได้ค่อนข้างยาก
*อนึ่ง “ดัชนีการรักษา (Therapeutic index)” คือ ช่วงของการรักษาที่บ่งบอกถึงความปลอด ภัยของยา โดยถ้าดัชนีการรักษาแคบหมายความว่า ยากลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผล ข้างเคียง) จากการใช้ยาสูงและอันตราย กล่าวคือ ขนาดของยาที่ใช้เพื่อให้ได้ผลในการรักษากับ ขนาดยาที่ก่อให้เกิดพิษนั้นใกล้เคียงกันมาก
*****ข้อสำคัญ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขยายหลอดลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
การใช้ยาในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
ในหญิงตั้งครรภ์มีการใช้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดพ่นมากกว่ายาฉีดหรือยาเม็ดรับประ ทาน แพทย์มักเลือกใช้ยา Beta 2-agonist ชนิดออกฤทธิ์สั้น เช่นยา Salbutamol หรือ Terbuta line เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีการศึกษาและมีการใช้ยาเหล่านี้มานานแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์พอควร ส่วนการใช้ยา Theophylline จะต้องปรับระดับยาให้เหมาะสม และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในทารกแรกคลอดที่มารดาได้ยา Theophylline ในระดับที่สูงผิด ปกติเช่น หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ มีอาการสั่น (Jitteriness) หงุดหงิด ขี้รำคาญ/กระสับกระส่าย (Irritability) เป็นต้น
การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาขยายหลอดลมในผู้สูงอายุจะเลือกใช้ยาสูดพ่น Beta 2-agonist หลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ดรับประทานเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดจากยาเช่น หัวใจเต้นผิดปกติเพราะเป็นอาการที่พบมากในผู้ป่วยสูงอายุอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยสูงอายุมักใช้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายชนิด จึงอาจเพิ่มผลข้างเคียงที่เกิดจากยาเหล่านั้นเช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia, อาการเช่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดปกติ)
การใช้ยา Theophylline ในผู้ป่วยสูงอายุอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าวัยอื่น เพราะอวัยวะในร่างกายเช่น ตับหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจทำให้ระดับยา Theophylline ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยเด็กควรใช้ยาขยายหลอดลมในการรักษาให้น้อยที่สุด สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่ตัวผู้ป่วยเองและแก่ครอบครัว สอนวิธีการใช้ยาพ่นที่ถูกต้องร่วมกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระเปาะพักยา (Spacer) หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาการกำเริบ ตามแพทย์พยาบาลแนะนำ และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ยาขยายหลอดลมมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีผลข้างเคียง/ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ดังนี้เช่น
- ยา Beta 2- agonist: มีผลข้างเคียง เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มือสั่น กระวนกระวาย ปวดหัว นอนไม่หลับ และถ้าใช้ยามากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ได้ ซึ่งการใช้ยาสูดพ่นจะพบผลข้างเคียงเหล่านี้น้อยกว่ายากิน
- ยา Methyl xanthines: มีผลข้างเคียงเช่น ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ (Gastro intestinal distress) เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และอาการอื่นๆเช่น มือสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตต่ำ โดยถ้าได้รับยาขนาดสูงมากๆอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตเพราะผู้ป่วยอาจชัก หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยา Anticholinergics: มีผลข้างเคียง เช่น ปากคอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง/ไม่ถ่ายปัสสาวะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่า
บรรณานุกรม
- http://thaipediatrics.org/attchfile/cpg_11-05-23.pdf [2021,Dec18]
- http://eac2.easyasthma.com/site_data/dbregistry_eac/1/NHSO_1_COPD_Guideline.pdf [2021,Dec18]
- http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Asthma-Guideline_2560.pdf [2021,Dec18]
- Cazzola, et al. Pharmacology and Therapeutics of Bronchodilators. Pharmacological Reviews 3 (2012) : 451-504
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.