ต้อกระจก (Cataract)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 25 กันยายน 2554
- Tweet
สารบัญ
- โรคต้อกระจกคือโรคอะไร?
- ต้อกระจกเป็นเฉพาะในคนสูงอายุหรือ? ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกก่อนวัยมีอะไรบ้าง?
- อาการของต้อกระจกมีอะไรบ้าง?
- ต้อกระจกรักษาได้อย่างไร?
- เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัดต้อกระจก?
- โรคต้อกระจกป้องกันได้ไหม?
- ควรพบแพทย์ตรวจต้อกระจกเมื่อไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อลม (Pinguecula)
- สายตายาว (Farsighted)
- สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)
- สายตาสั้น (Nearsighted)
- การผ่าตัดสลายต้อกระจกและการแก้ไขสายตาหลังผ่าตัด
โรคต้อกระจกคือโรคอะไร?
แก้วตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา (มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้าน หน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้าแบนกว่าด้านหลัง มีความหนาประมาณ 5 ม.ม. เส้นผ่าศูนย์ กลาง 9 ม.ม. ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา จึงทำให้เกิดการมองเห็น
แก้วตายังสามารถเปลี่ยนกำลังการหักเหได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถโฟกัสภาพในระยะต่างๆได้ชัดขึ้น นั่นคือ ในคนปกติจะมองเห็นชัดทั้งไกลและใกล้ ด้วยความสำคัญอันนี้ ธรรมชาติจึงสร้างแก้วตาให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยอยู่ในใจกลางของดวงตาเพื่อไม่ให้ได้รับภยันตรายใดๆโดยง่าย
เมื่อแก้วตาเสื่อม แทนที่จะใสกลับขุ่น แก้วตาที่ขุ่นลงนี้ ส่งผลให้กำลังหักเหของแสงผิดไป ตลอดจนขัดขวางไม่ให้แสงเข้าตา ผู้นั้นจึงมองเห็นภาพไม่ชัด นั่นคือโรคที่เรียกกันว่า “ต้อกระจก”
ต้อกระจกเป็นเฉพาะในคนสูงอายุหรือ? ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกก่อนวัยมีอะไรบ้าง ?
ทุกท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “คนแก่ตาก็พร่ามัวลงเป็นธรรมดา” การที่คนแก่ ตามัวลง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคต้อกระจกนี่เอง แทบจะกล่าวได้ว่า คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มักพบแก้ว ตาขุ่นเล็กๆน้อยๆ หรือเป็นต้อกระจกระยะต้นๆ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ต้อกระจกเกิดในคนสูงอายุพร้อมๆกันกับผิวหนังที่เหี่ยวย่นและผมที่เริ่มหงอก โดยประมาณ 80% หรือมากกว่าของคนเป็นต้อกระจก เกิดเนื่องจากวัยชรา ที่เหลือประมาณ 20% อาจพบจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่จากวัยชรา เช่น
- ต้อกระจกชนิดเกิดแต่กำเนิดที่รู้จักกันทั่วไปคือ ในเด็กทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งเป็นหัดเยอรมันในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตลอดจนโรคต้อกระจกแต่กำเนิดชนิดกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ และโรคต้อกระจกในเด็กที่มีภาวะทุโภชนาการ (ขาดอาหาร)
- ในวัยรุ่น หรือ วัยหนุ่มสาว อาจเป็นต้อกระจกจากได้รับผลกระทบกระเทือนบริเวณลูกตาอย่างแรง เช่น จากการเล่นกีฬา อาทิ โดนลูกขนไก่ ลูกเทนนิสพุ่งเข้าตา หรืออุบัติ เหตุจากของมีคมทิ่มแทง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วถูกระจกทิ่มแทงในตา หรือ เศษเหล็กกระเด็นเข้าตาในคนงานโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น อาการเหล่านี้ แม้ว่าจะให้การรักษาอุบัติเหตุระยะต้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่อาจเป็นต้อกระจกได้ใน 2 - 3 ปีต่อมา
- วัยกลางคน อาจเป็นต้อกระจกเนื่องจากมีโรคอื่นๆในร่างกาย ที่สำคัญคือ โรคเบา หวาน โดยเป็นที่รู้กันดีว่า หากพบวัยกลางคนที่เป็นต้อกระจก ต้องถามประวัติและตรวจดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่เสมอ
โรคอื่นๆในลูกตาก็เป็นสาเหตุของต้อกระจกได้ เช่น ม่านตาอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้ยาบางตัวเป็นประจำในการรักษาโรคทางกายบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งนิยมใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไต และโรคข้อ ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มนี้เป็นประ จำ พึงระวังว่า ตนเองอาจเป็นต้อกระจกก่อนวัยอันสมควรได้ โดยมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วซื้อยารับประทานเอง นานๆเข้าตามัวลงๆจากโรคต้อกระจก ซึ่งต้อกระจกที่เกิดจากการใช้ยาดังกล่าว หากหยุดใช้ยา แม้ว่าต้อที่เป็นแล้วจะไม่หาย แต่ก็สามารถระงับไม่ให้ลุกลามรวดเร็วได้
อาการของต้อกระจกมีอะไรบ้าง?
ในเมื่อต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก อาจมีปู่ ย่า ตา ยาย คนใดคนหนึ่งในบ้านกำลังเป็นอยู่ มาดูกันซิว่าอาการอะไรที่เกิดในผู้สูงอายุที่เตือนให้เรารู้ว่าพวกท่านเริ่มเป็นต้อกระจกแล้ว
- อาการเด่นของต้อกระจกคือ ตาค่อยๆมัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด หรือ ตาแดงแต่อย่างไร อาการตามัวจะเป็นมาขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า เช่น เมื่อออกแดด แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ เนื่องจากเมื่ออยู่ในที่แจ้งม่านตาจะหดแคบลง ทำให้แสงสว่างที่จะเข้าตาเข้ายากขึ้น ตรงกันข้ามกับเมื่ออยู่ในที่มืด ซึ่งม่านตาจะขยายทำให้แสงเข้าตาได้มากขึ้น จึงเห็นชัดขึ้นในที่มืด
- บางคนอาจสังเกตว่า การมองเห็นผิดไป เช่น ตอนกลางคืนเห็นพระจันทร์สองดวง หรือ หลายดวง แม้ดูด้วยตาข้างเดียวก็ยังเห็น 2 ดวง ทั้งนี้เพราะแก้วตาที่ขุ่นมัว มีการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน
- ผู้สูงอายุเวลาอ่านหนังสือต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ๆกับพบว่าอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น อย่าเพิ่งดีใจว่าท่านมีสายตาดีขึ้น นั่นเป็นอาการจากเริ่มมีการเสื่อมของแก้วตาทำให้การหักเหแสงเปลี่ยน จึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่ (Secondary myopia) ถ้าท่านมีอาการเช่นนี้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าเริ่มเป็นต้อกระจกหรือไม่
- เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตาในผู้ที่ต้อกระจกสุกเต็มที่แล้ว
ต้อกระจกรักษาได้อย่างไร?
ประการแรกไม่ควรตกใจกลัว เพราะต้อกระจกไม่ใช่โรคร้ายแรง ส่วนใหญ่จะค่อยเป็นค่อยไป มีเวลาตั้งตัว จัดเป็นโรคที่รอได้ แต่ก่อนอื่นท่านควรไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ว่า ใช่ต้อกระจกหรือไม่ เพราะอาการตามัวในคนสูงอายุ อาจเกิดจากต้อหินซึ่งร้ายแรงกว่าต้อกระจกหลายเท่าก็เป็นได้
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจกแล้ว แพทย์จะบอกท่านเองว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ในบางครั้งถ้าผู้ป่วยอายุน้อย อาจต้องตรวจร่างกายทั่วไปเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของโรคต้อด้วย ส่วนใหญ่หากตรวจพบโรคต้อกระจก แพทย์จะแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อ ดังนี้ คือ
- ต้อที่ยังเป็นน้อยอยู่หรือเพิ่งเริ่มเป็น สมควรรอให้ต้อแก่กว่านี้ จึงค่อยพิจารณาทำผ่า ตัด โดยระหว่างนี้ ให้มารับการตรวจเป็นระยะๆตามแพทย์นัด ซึ่งหากมีความผิดปกติ เช่น ตาแดง ปวดตา ตามัวมากอย่างรวดเร็วให้รีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด ระหว่างที่รอ หากรู้สึกตามัวเวลาออกที่แจ้ง ให้ใช้แว่นกันแดดช่วย หรือบางคนอาจลองตัดแว่นสายตาและใช้แว่นสายตาชั่วคราวไปก่อน
สำหรับยาละลายต้อ หรือ เร่งให้ต้อสุก หรือ ชะลอต้อสุก ยังให้ผลไม่แน่นอน เท่า ที่มีอยู่ในท้องตลาด ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าได้ผลแน่นอน
- ต้อที่เป็นในระยะปานกลาง จะผ่าตัดก็ได้ หรือ จะรอก่อนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพและการใช้สายตาของคนไข้ ถ้ายังทำงานได้ก็รอไปก่อน ถ้าทำงานด้วยความลำบากหรือ มีอาชีพต้องใช้สายตามากก็ควรจะรับการผ่าตัด
- สมควรที่จะผ่าตัด/ลอกตาต้อเมื่อเป็นมากแล้ว เรียกว่าต้อแก่แล้ว หรือ สุกแล้ว แต่ถ้ายังไม่รีบมาก หากมีธุระหรืองานด่วนก็ไปทำเสียก่อน แล้วค่อยกลับมานัดหมายวันผ่า ตัด แต่ถ้าพร้อมที่จะผ่าตัดก็ทำได้เลย
- สมควรลอกตาต้อ และควรทำทันที เมื่อมารับการตรวจในระยะที่ต้อแก่มากแล้ว และมีแนวโน้มจะมีโรคแทรกซ้อนอื่น หรือกำลังมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว เช่น เกิดโรคต้อหิน หรือ มีม่านตาอักเสบร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดตาบอดถาวรรักษาไม่ได้
เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัดต้อกระจก?
โดยทั่วไปเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรผ่าตัด แพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียด รวมทั้งวัดความดันตาและตรวจประสาทตา ให้แน่ใจว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าประสาทตายังดีอยู่ หลังผ่าตัดก็จะมองเห็นได้ดี แต่ถ้าประสาทตาเสียแล้ว การผ่าตัดก็ไม่ช่วยให้ตาเห็นดีขึ้น
นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วๆไป เพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆอันจะเป็นอุปสรรคในระหว่าง หรือหลังผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งโรคที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคปอด ซึ่งเมื่อเป็นโรคดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อนจึงค่อยทำผ่าตัด
ยังมีหลายคนที่เข้าใจว่า เป็นโรคเบาหวานผ่าตัดต้อไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเบาหวานก็ทำผ่าตัดได้ แต่ต้องควบคุมเบาหวานให้ดีก่อน เพื่อแผลผ่าตัดจะได้ไม่มีการอักเสบติดเชื้อ อันจะทำให้การผ่าตัดนั้นไม่ได้ผล
อีกประการหนึ่ง หากมีการอักเสบบริเวณตา เช่น กุ้งยิง หรือ ถุงน้ำตาอักเสบ ก็ต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน เพราะดวงตาติดเชื้อได้ง่ายจากความต้านทานต่อการติดเชื้อมีน้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นหากมีการติดเชื้อใกล้เคียงกับบริเวณแผลผ่าตัด จะทำให้เกิดการอักเสบภาย ในดวงตาได้ง่าย ซึ่งยากแก่การรักษาและมักทำให้สูญเสียสายตาในที่สุด
โรคต้อกระจกป้องกันได้ไหม?
ไม่สามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้เต็มร้อยเพราะเป็นโรคเสื่อมตามวัย แต่สามารถป้อง กันโรคต้อกระจกก่อนวัย และชะลอให้โรคเกิดช้าลงได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดัง กล่าวแล้ว
ควรพบแพทย์ตรวจต้อกระจกเมื่อไร?
โดยทั่วไป จักษุแพทย์แนะนำให้ทุกคนควรตรวจสุขภาพดวงตาประจำปี เช่นเดียวกับในการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยเริ่มเมื่ออายุประมาณ 18 ปี แต่ถ้ามีอาการก็สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในวัยที่มีอาการเลย ซึ่งรวมทั้งในวัยเด็ก หลังจากนั้น ความถี่ในการตรวจขื้นกับจักษุแพทย์แนะนำ
updated 2014, March 22