ต้อกระจก (Cataract) – Update
- โดย ปวีณ์พร โสภณ
- 6 สิงหาคม 2567
- Tweet
- เกริ่นนำ
- อาการ และอาการแสดงของต้อกระจก
- สาเหตุ
- สาเหตุจากอายุ
- สาเหตุจากการบาดเจ็บ
- สาเหตุจากการแผ่รังสี
- สาเหตุจากพันธุกรรม
- สาเหตุจากโรคผิวหนัง
- สาเหตุจากการสูบบุหรี่
- สาเหตุจากการขาดวิตามินซี
- สาเหตุจากยา
- สาเหตุจากการผ่าตัด
- สาเหตุจากการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBOT)
- สาเหตุจากโรคอื่นๆ
- การวินิจฉัย
- การจัดประเภท
- การป้องกัน
- การรักษา
- การผ่าตัด
- การพยากรณ์โรค
- การดูแลหลังการผ่าตัด
- ภาวะเเทรกซ้อน
- ระบาดวิทยา
- ประวัติศาสตร์
- ที่มาของชื่อ
- การวิจัย
เกริ่นนำ
ต้อกระจก (Cataract) คือ การขุ่นมัวในเลนส์ตา (เลนส์ตาเป็นอวัยวะที่ใช้หักเหแสง ให้แสงตกกระทบที่จอตาจนเกิดเป็นภาพขึ้นมา) ซึ่งทำให้การมองเห็นเเย่ลง ต้อกระจกเกิดขึ้นอย่างช้าๆและสามารถเกิดขึ้นได้ที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ อาการเกิดขึ้นได้ทั้งมองเห็นสีเลือนลาง, ตาพร่ามัว, เห็นภาพซ้อน, เห็นรัศมีรอบเเสง, มีปัญหากับแสงจ้า, และมองเห็นยากในตอนกลางคืน อาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาในการขับรถ อ่านหนังสือ หรือการจดจำใบหน้าคน การมองเห็นที่แย่ลงก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและการเกิดภาวะซึมเศร้า ต้อกระจกเป็นสาเหตุ 51% ของตาบอดทั้งหมด และความบกพร่องในการมองเห็น 33% จากทั่วโลก
ต้อกระจกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากวัยชรา แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บหรือการได้รับรังสี, เกิดขึ้นตั้งเเต่เเรกเกิด, หรือเป็นผลกระทบจากการผ่าตัดอื่น ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก ได้แก่ โรคเบาหวาน การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ การสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน และการดื่มแอลกอฮอล์ กลไกที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการสะสมของกระจุกโปรตีน หรือเม็ดสีเหลืองน้ำตาลในเลนส์ซึ่งลดการส่งผ่านเเสงไปยังจอประสาทตา (Retina:ทำหน้าที่รับแสงและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้มองเห็นภาพต่างๆได้) ที่ด้านหลังของเวงตา การวินิจฉัยทำได้โดยการเข้ารับการตรวจตา
การสวมเเว่นกันแดดและหมวกปีกกว้าง การรับประทานผักที่เป็นใบและผลไม้ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่สามารถช่วยลดวามเสี่ยงการเกิดต้อกระจก หรือทำให้การเกิดต้อกระจกช้าลง อาการแรกเริ่มอาจทำให้ดีขึ้นโดยการสวมแว่นตา แต่ถ้าไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออกและเปลี่ยนเป็นเลนส์เทียม เป็นการรักษาวิธีเดียวที่ได้ผล การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและโดยทั่วไปแล้วส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามการผ่าตัดต้อกระจกยังไม่สามารถทำได้ในหลายประเทศ และการผ่าตัดจำเป็นเฉพาะในกรณีที่ต้อกระจกก่อให้เกิดปัญหา
ประมาณ 20 ล้านคนทั่วโลกตาบอดเพราะต้อกระจก ต้อกระจกเป็นสาเหตุให้ชาวสหรัฐอเมริกากว่า 5% ตาบอด และเกือบ 60% ของประชาชนบางส่วนในแอฟริกาและอเมริกาใต้ตาบอดเเพราะต้อกระจกเช่นกัน การตาบอดจากต้อกระจกเกิดขึ้นในเด็กประมาณ 10 ถึง 40 คน ใน 100,000 คน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้อกระจกมักเกิดขึ้นตามอายุ ในสหรัฐอเมริกา ต้อกระจกเกิดขึ้นใน 68% ของผู้ที่มีอายุเกิน 80 ปี นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และพบน้อยในคนเชื้อสาย Hispanic และคนผิวดำ
อาการ และอาการแสดงของต้อกระจก
อาการ และอาการแสดงของต้อกระจกขึ้นอยู่กับชนิดของต้อกระจกที่เป็น แม้ว่าจะเป็นหลายชนิดพร้อมกัน ผู้ป่วยที่เป็น Nuclear sclerotic cataracts หรือ Brunescent cataracts มักเริ่มรับรู้อาการได้จากการมองเห็นที่ลดลง ต้อกระจกชนิดนิวเคลียร์ (nuclear cataract) มักทำให้การมองเห็นระยะไกลบกพร่องมากกว่าการมองเห็นในระยะใกล้ ส่วนผู้ที่เป็นแบบ posterior subcapsular cataracts มักเห็นแสงสะท้อนเมื่อมองแสงจ้าเป็นอาการหลัก
ความรุนเเรงของต้อกระจกที่ไม่มีอาการของโรคตาอื่นๆ ทราบได้จากการวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity test) เป็นหลัก อาการอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ และเห็นรัศมีสีบ่อยครั้งเกิดจากความชุ่มชื้นของเลนส์
ต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital cataracts) สามารถทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia:ผู้ป่วยมีการมองเห็นผิดปกติ จากการที่สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง) ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุ
สาเหตุจากอายุ
อายุเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของต้อกระจก เมื่อเวลาผ่านไป โปรตีนเลนส์ตาจะเสื่อมสภาพและสลายตัวลง การเกิดกระบวนการนี้จะถูกเร่งด้วยโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสารพิษ รังสี และเเสงอัลตราไวโอเลต ปัจจัยเหล่านี้จะสะสมและเกิดผลกระทบในระยะยาว ซึ่งการสูญเสียการป้องกันและสูญเสียกลไกการฟื้นฟูเนื่องจากความผิดปกติของการแสดงออกของยีน (Gene) และ กระบวนการทางเคมีต่างๆภายในดวงตา ทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น
ต้อกระจกในวัยชรา (Senile Cataract) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลนส์ตาที่ลดลง โดยกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดต้อกระจกในวัยชราเกิดขึ้นเมื่อภาวะ Oxidative stress ข้องเกี่ยวกับปฏิกิริยา Lipid peroxidation
ภาวะ Oxidative stress คือ ภาวะที่ร่างกายขาดความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยมีอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก
ส่วนปฏิกิริยา Lipid peroxidation คือ ปฏิกิริยาที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งมีไขมัน (Lipid) เป็นส่วนประกอบสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของ Oxidative stress ในเลนส์ตา หรือความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระประเภท Reactive Oxygen Species (ROS) ลดลง ทำให้เลนส์ตามีความขุ่นมากขึ้น
สาเหตุจากการบาดเจ็บ
การบาดเจ็บจากการกระทบหรือกระแทก (Blunt trauma) ทำให้เส้นใยเลนส์ (Lens fibre) เกิดอาการบวม หนา และขาวขึ้น อาการบวมจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่สีขาวอาจยังคงอยู่ ในการบาดเจ็บจากการกระแทกอย่างรุนแรงหรือทะลุผ่านดวงตา ถุงหุ้มเลนส์ (Lens capsule) สามารถเกิดความเสียหายได้ ความเสียหายนี้ทำให้ของเหลวจากส่วนอื่นๆของดวงตาไหลเข้าสู่เลนส์ตาอย่างรวดเร็ว ส่งผลใหเกิดอาการบวมและเกิดสีขาว และขวางกันเเสงไม่ให้เข้าถึงจอประสาทตา (Retina) ที่อยู่ด้านหลังดวงตา ต้อกระจกอาจเกิดขึ้นใน 0.7% - 8% ของผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้า การบาดเจ็บจากการกระทบกระแทกสามารถส่งผลให้เกิดต้อกระจกรูปดาว หรือดอกไม้ (Star- (stellate) or Petal-Shaped Cataracts.)
สาเหตุจากการแผ่รังสี
ต้อกระจกสามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับรังสีประเภทต่างๆ รังสีเอกซ์ซึ่งเป็นรังสีไอออไนซ์รูปแบบหนึ่ง อาจทำลาย DNA ของเซลล์เลนส์ได้ แสงอัลตราไวโอเลต โดยเฉพาะ UVB ทำให้เกิดต้อกระจก การใส่แว่นกันแดดตั้งแต่อายุยังน้อยสามารถชะลอการพัฒนาของต้อกระจกในบั้นปลายได้ รังสีไมโครเวฟเป็นรังสีชนิดไม่มีประจุแต่อาจก่อให้เกิดอันตรายโ ดยการทำลายเอนไซม์ป้องกัน (เช่น กลูตาไธโอน เปอร์ออกซิเดส) โดยการออกซิไดซ์หมู่โปรตีนไทออล (ทำให้เกิดการรวมตัวของโปรตีน) หรือโดยการทำลายเซลล์เลนส์โดยการขยายตัวการยืดหยุ่นเชิงอุณหภูมิ (Thermoelastic expansion) การแข็งตัวของโปรตีนที่เกิดจากการบาดเจ็บจากไฟฟ้าและความร้อนจะทำให้เลนส์ขาวขึ้น กระบวนการเดียวกันนี้คือสิ่งที่ทำให้ไข่ขาวใสของไข่กลายเป็นสีขาวและทึบแสงในระหว่างการปรุงอาหาร
สาเหตุจากพันธุกรรม
องค์ประกอบทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการเกิดต้อกระจก โดยสวนใหญ่มักผ่านกลไกปกป้องและรักษาเลนส์ตา ต้อกระจกที่ปรากฏในวัยเด็กหรือช่วงต้นๆของชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มอาการเฉพาะ ตัวอย่างของความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome abnormalities) ที่เกี่ยวข้องกับต้อกระจก ได้แก่ 1q21.1 deletion syndrome, Cri-du-chat syndrome, Down syndrome, Patau's syndrome, Trisomy 18 (Edward's syndrome), และ Turner's syndrome นอกจากนี้ในผู้ที่เป็นท้าวแสนปมชนิด 2 (Neurofibromatosis type2) สามารถเกิดต้อกระจกในวัยเด็กและวัยรุ่น (Juvenile Cataract)ได้ นอกจากนี้ต้อกระจกยังสามารถเกิดในผู้ที่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเดี่ยว (Single Gene Disorder) ซึ่งได้แก่ โรคความผิดปกติที่มีความเสียหาย ที่หลอดเลือดฝอยในไต (Alport's syndrome), Conradi's syndrome, โรคกล้ามเนื้อพิการคือที่หน้าและคอลีบ (Myotonic dystrophy), Cerebrotendinous xanthomatosis, และ Oculocerebrorenal syndrome (หรือ Lowe syndrome).
สาเหตุจากโรคผิวหนัง
ผิวหนังและเลนส์ตามีต้นกำเนิดจากตัวอ่อนเหมือนกันและยังสามารถได้รับผลกระทบจากโรคที่คล้ายกันได้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า (Eczema) ซึ่งสามารถมีภาวะแทรกซ้อนเป็นต้อกระจกแบบเยื่อบุตาอักเสบ โรคหนังเกล็ดปลา (Ichthyosis) คือ โรคที่เกิดจากยีนด้อยเกี่ยวข้องกับต้อกระจกรูปลิ่ม (Cuneiform cataracts) และ ต้อกระจกบริเวณนิวเคลียส (Nuclear sclerosis) นอกจากนี้ มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma และโรคตุ่มน้ำพอง (Pemphigus) มีความสัมพันธ์ที่คล้ายกัน
สาเหตุจากการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของต้อกระจกที่เกิดขึ้นอายุ และต้อกระจกชนิดนิวเคลียร์ (Nuclear cataract)
สาเหตุจากการขาดวิตามินซี
ภาวะขาดวิตามินซีมีความสัมพันธ์กับการเกิดต้อกระจกที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้อาหารเสริมวิตามินซีไม่ได้แสดงให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน
สาเหตุจากยา
ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือเรียกสั้นๆว่า ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ไม่ว่าจะเเบบกิน แบบใช้ภายนอก หรือแบบสูดดม สามารถเพิ่มความเสี่ยงต้อการเกิดต้อกระจก ยาสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่แล้วปกติจะก่อให้เกิดต้อกระจกเกิดที่ชั้นเลนส์ที่อยู่รอบนอกสุดติดกับเยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลัง (Posterior subcapsular cataracts) ยา Triparanol ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงอีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) มักมีปัจจัยเสี่ยงของเลนส์ตาที่ขุ่นมัว (Lens opacity) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโภชนาการที่ไม่ดี ยารักษาโรคจิตรุ่นที่สองไม่น่าจะมีส่วนทำให้เกิดต้อกระจกได้ ยารักษาโรคจิตรุ่นแรกเป็นที่รู้จักในชื่อยารักษาโรคจิตทั่วไป ส่วนยารักษาโรคจิตรุ่นที่สองคือยารักษาโรคจิตผิดปกติ
สาเหตุจากการผ่าตัด
เกือบทุกคนที่ได้รับการผ่าตัดการผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) โดยไม่เคยได้รับการผ่าตัดต้อกระจกมาก่อน จะประสบกับการลุกลามของต้อกระจกชนิด Nuclear sclerosis หลังการผ่าตัด เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่ใส่แทนวุ้นตา แตกต่างจากวุ้นตาเดิมตามธรรมชาติ สิ่งที่ใช้เเทนวุ้นตา เช่น BSS Plus ซึ่งวุ้นตาธรรมชาติมี Ascorbic acid หรือวิตามินซีที่สามารถช่วยต่อต้านความเสียหายจากอนุมูลอิสระต่อเลนส์ตา แต่สิ่งที่ใช้แทนวุ้นตาไม่มีวิตามินซี ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เข้ารับการนำเลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาโดยไม่ได้มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออกจำเป็นต้องมีการผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy) ร่วมด้วย จึงกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นที่จักษุแพทย์จะเสนอการผ่าตัดน้ำวุ้นตา ร่วมกับ การผ่าตัดต้อเชิงป้องกัน (Prophylactic cataract surgery) เพื่อป้องกันการเกิดต้อกระจก
สาเหตุจากการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBOT)
การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง คือ การให้ออกซิเจน 100% ที่ความดันมากกว่าความดันสัมบูรณ์ในบรรยากาศเดียว (1 ATA) เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงหลายประการ รวมถึงการเกิดต้อกระจกในระยะยาว อย่างไรก็ตาม มักเกิดขึ้นได้ยากและเกี่ยวข้องกับการทำ HBOT หลายครั้งในระยะเวลานาน เนื่องจากปกติจะไม่แสดงอาการในระหว่าง HBOT จึงมักไม่มีใครรู้จักและมีรายงานที่น้อย หลักฐานปรากฎว่าปริมาณอายุของออกซิเจนสามารถเป็นปัจจัยเร่งการพัฒนาการเกิดต้อกระจกแบบตามอายุ (Age-related cataracts) ส่วนต้อกระจกชนิดนิวเคลียร์ (Nuclear cataract) ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นระยะสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงสายตาสั้นที่มีความดันก๊าซมากกว่าปกติ
สาเหตุจากโรคอื่นๆ
- โรคที่เกิดจากระบบเผาผลาญและสารอาหาร (Metabolic and nutritional diseases)
- Aminoaciduria ปัสสาวะมีปริมาณกรดอะมิโนสูงผิดปกติ
- Lowe syndrome เป็นโรคที่เกดผลกระทบต่อ ตา สมอง และไต โดยส่วนมาเกิดกับเพศชาย โดยทารกที่มีภาวะนี้จะมีเลนส์ตาขุ่นทั้งสองข้าง หรือ ต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital cataracts )
- Cerebrotendinous xanthomatosis เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมไขมัน (Lipid) ผิดปกติในหลายพื้นที่ของร่างกาย ผู้ที่มีความผิดปกตินี้ไม่สามารถสลายไขมันบางชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้นไขมันเหล่านี้จึงสะสมในร่างกายในรูปของก้อนไขมันสีเหลืองที่เรียกว่าแซนโทมา ผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีปัญหาทางระบบประสาททางสมองในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- Fabry disease (โรคแฟเบรย์) เป็นโรคทางพันธุกรรม ที่มีการถ่ายทอดทางโครโมโซม X เกิดจากการขาดเอนไซม์ Alpha-galactosidase A ซึ่งทำให้ Globotriaosylceramide สะสมในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
- กาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดเอนไซม์ในการย่อยเปลี่ยนน้ำตาลกาแลคโตสเป็นน้ำตาลกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลกาแลคโตสในเลือดสูงมีผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด และทำให้เกิดต้อกระจก
- Homocystinuria มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย มักมีระดับ Homocysteine สูงเกินไปและมีอาการที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะปัญญาอ่อน, การยึดเลนส์ตาไม่มั่นคง, กระดูกแขนขายาว และลิ่มเลือดอุดตันที่รุนแรงทั้งในหลอดเลือดดำและแดง
- Hyperparathyroidism เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ที่อยู่บริเวณคอผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ
- ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ (Hypoparathyroidism)
- Hypervitaminosis D อาการเป็นพิษเนื่องจาก ได้รับวิตามินดีเกิน
- Hypothyroidism คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายHypocalcemia ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
- Mucopolysaccharidoses เป็นกลุ่มของโรคทางเมตาบอลิซึมที่สืบทอดมาซึ่งเกิดจากการไม่มีหรือทำงานผิดปกติของเอนไซม์บางชนิดที่ร่างกายต้องการเพื่อสลายโมเลกุลที่เรียกว่า Glycosaminoglycans
- Wilson's disease หรือภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากระบบการทำงานของตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงส่วนเกินออกไปได้ ทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุทองแดงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เป็นโรคตับแข็ง หรือมีปัญหาด้านระบบประสาทและความผิดปกติที่ดวงตา
- เกิดแต่กำเนิด (Congenital)
- ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital syphilis)
- Cytomegalic inclusion disease โรคร้ายแรง โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่เกิดจากไซโตเมกาโลไวรัส
- โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยคนส่วนใหญ่จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหรือบางรายจะไม่แสดงอาการของโรคเลย แต่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงต่อทารกในครรภ์ เช่น ต้อกระจก
- Cockayne syndrome เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก โดยมีรูปร่างเตี้ย ศีรษะเล็กผิดปกติ (Microcephaly) และความผิดปกติของระบบประสาทที่อาจนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่ได้รับผลกระทบอาจมีผิวหนังที่ไวต่อแสง (ไวแสง) การอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลายความผิดปกติของการมองเห็นรวมทั้งต้อกระจก
- กลุ่มอาการทางพันธุกรรม (Genetic syndromes)
- กลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เป็นภาวะโครโมโซมผิดปกติ และเป็นโรคพันธุกรรมที่เกิดจากการมีโครโมโซม 21 เกินมาทั้งอันหรือบางส่วน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการล่าช้า มีโครงสร้างทางใบหน้าที่โดดเด่นชัดเจน เช่น หน้าแบน หัวเล็ก หูเล็ก ตาเรียว หางตาเฉียงขึ้น มีจุดสีขาวอยู่ที่ตาดำ
- Patau's syndrome หรือ Trisomy 13 หรือ กลุ่มอาการพาทัว เป็นความผิดปกติในการแบ่งโครโมโซมระหว่างการพัฒนาของทารกในครรภ์ โดยมีโครโมโซมคู่ที่ 13 เกินมา 1 แท่ง ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติของใบหน้า ร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ เช่นมีรูปร่างที่ผิดปกติ ลูกตาเล็ก อาจมีลูกตาข้างเดียวหรือไม่มีทั้งสองข้าง ม่านตามีช่องโหว่ ตาชิดกันหรืออาจจะรวมกันเป็นตาเดียว ทำให้มีปัญหาด้านการมองเห็น
- Edward’s syndrome หรือ Trisomy 18 เป็นโรคทางพันธุกรรมในเด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซม โดยเกิดขึ้นเมื่อโครโมโซมคู่ที่ 18 มีจำนวนเกินจากปกติมา 1 แท่ง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตหรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเด็กและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- การติดเชื้อ (Infection):
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cysticercosis)
- โรคเรื้อน (Leprosy)
- โรคเนื้องอกในสมอง (Onchocerciasis)
- โรคไข้ขี้แมว (Toxoplasmosis) เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในเซลล์ ซึ่งระยะไข่มักพบบ่อยในอุจจาระของสัตว์ตระกูลแมว ปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และเชื้อยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ มักส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือเกิดการแท้งบุตร สำหรับทารกที่รอดชีวิตมีแนวโน้มจะพบปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา รวมถึงการติดเชื้อที่ดวงตาอย่างรุนแรง
- โรคอีสุกอีใส (Chickenpox, varicella) หากในช่วง 3 เดือนแรกของหญิงตั้งครรภ์เป็นโรคนี้ อาจส่งผลให้เด็กพิการ และเป็นต้อกระจกได้
- ต้อกระจกที่เกิดรองจากโรคตาอื่นๆ
- โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity: ROP)
- ภาวะไม่มีม่านตา (Aniridia)
- ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis)
- จอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก (Retinal detachment)
- โรคจอประสาทตามีสารสี (Retinitis pigmentosa)
การวินิจฉัย
การจัดประเภท
ต้อกระจกสามารถเป็นได้บางส่วนหรือเป็นทั้งหมด, แบบอาการคงที่หรือลุกลาม, และเป็นแบบเข็งหรือแบบอ่อน ในทางจุลพยาธิวิทยาประเภทหลักของต้อกระจกที่เกิดขึ้นตามอายุ (Age-related cataracts) คือ ต้อกระจกบริเวณนิวเคลียส (Nuclear sclerosis), ต้อกระจกชนิดคอติคอล (Cortical cataract), และต้อกระจกชนิด Subcapsular ที่เกิดด้านหลัง (Posterior subcapsular)
ต้อกระจกบริเวณนิวเคลียส (Nuclear sclerosis) มักพบได้บ่อย ซึ่งเกิดขึ้นตรงกลางหรือส่วนที่เป็นใจกลางของเลนส์ตา โดยสุดท้ายแล้วจะเเข็งหรือแข็งหนา เนื่องจากการรวมตัวบนเลนส์ชั้นใน (Lens nucleus) และการทับถมของเม็ดสีน้ำตาลภายในเลนส์ตา ในขั้นสูงของต้อกระจกบริเวณนิวเคลียสเรียกว่า ต้อกระจกที่สุก (Brunescent or mature cataract) ในระยะแรกที่ความเเข็งเพิ่มขึ้นสามารถสาเหตุให้ดัชนีการหักเหของเลนส์ตาเพิ่มขึ้นด้วย นี้เป็นเหตุให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นซึ่งลดอาการสายตายาวและช่วยให้ผู้มีสายตายาวตามอายุเห็นในระยะใกล้ได้โดยไม่ต้องใส่เเว่น แต่นี้เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้นซึ่งเรียกว่าการมองเห็นครั้งที่สอง
ต้อกระจกชนิดคอติคอล (Cortical cataracts) เกิดขึ้นเนื่องจากเนื้อเลนส์ชั้นนอกเริ่มขุ่น สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของของเหลวที่อยู่ขอบเลนส์ทำให้เกิดรอยแยก ต้อกระจกชนิดนี้มีลักษณะคล้ายซี่ล้อสีขาวเมื่อมองผ่านเครื่องตรวจส่องภายในลูกตาหรืออุปกรณ์อื่นๆที่ตรวจสอบ อาการมักเกี่ยวกับปัญหาแสงจ้าและการกระเจิงของเเสงในเวลากลางคืน
ต้อกระจกชนิด subcapsular ที่เกิดด้านหลัง (Posterior subcapsular) เป็นอาการขุ่นมัวด้านหลังของเลนส์ตาที่อยู่ติดกับถุงหุ้มเลนส์ การที่จุดรวมของแสงเปลี่ยนไปกลายเป็นด้านหลังของเลนส์ตา ทำให้เกิดอาการไม่เป็นสัดส่วนของขนาดเลนส์ตาได้
ระยะก่อนต้อสุก (Immature cataract) ยังมีโปรตีนที่โปรงใส่อยู่บ้าง แต่เมื่อยู่ในระยะต้อสุก (Mature cataract) โปรตีนของเลนส์ตาทั้งหมดจะขุ่น ในต้อกระจกที่สุกมาก (Hypermature cataract) หรือ Morgagnian cataract โปรตีนในเลนส์ตาจะกลายเป็นของเหลว
ต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital cataract) ที่สามารถพบได้ในวัยผู้ใหญ่ มีการจัดชนิดที่แตกต่างรวมถึง Lamellar cataracts, Polar cataracts, และ Sutural cataracts
ต้อกระจกสามารถแบ่งประเภทจากการใช้ระบบ The LOCS III (The Lens Opacities Classification System III) ในระบบนี้ต้อกระจกจะถูกจัดประเภทตามชนิดเป็น ตรงกลาง (Nuclear), ที่เป็นชั้นนอก (Cortical) หรือส่วนหลัง (Posterior) และยังสามารถจำแนกเพิ่มเติมได้ตามความรุนแรงจากระดับ 1 ถึง 5
การป้องกัน
ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสัมผัสเเสง UVB และการสูบบุหรี่ แม้การป้องกันการเกิดต้อกระจกไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่การสวมแว่นตากันแดดที่ป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตสามารถทำให้การเกิดต้อกระจกช้าลง ขณะที่การบริโภควิตามินเอ ซี และอีอย่างเหมาะสมอาจป้องกันความเสี่ยงต้อกระจก แต่การทดลองทางคลินิกไม่แสดงคุณประโยชน์จากอาหารเสริมเลย นอกจากนี้ ผลการป้องกันของสาร Carotenoids, Lutein และ Zeaxanthin ต่อต้อกระจกเป็นไปได้เพียงเล็กน้อย
การรักษา
การผ่าตัด
ความเหมาะสมของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความต้องการด้านการทำงานและการมองเห็นของแต่ละบุคคล และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ การกำจัดต้อกระจกสามารถทำได้ทุกระยะที่เกิดต้อและไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นต้อกระจกที่สุกแล้ว การผ่าตัดมักทำโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยประมาณ 9 ใน 10 รายสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างถูกต้องที่ 20/40 หรือดีกว่าหลังได้รับการผ่าตัด
การประเมินล่าสุดหลายครั้งพบว่าการผ่าตัดต้อกระจกสามารถตอบสนองความคาดหวังได้ก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขความบกพร่องทางการทำงานที่สำคัญที่เกิดจากต้อกระจก การประมาณค่าการทำงานของการมองเห็น เช่น VF-14 พบว่า ให้การประมาณที่สมจริงกว่าการทดสอบการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ มีแนวโน้มที่จะใช้การผ่าตัดต้อกระจกมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวัง
การผ่าตัดสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) เป็นที่นิยมในการรักษาต้อกระจกในประเทศพัฒนาแล้ว วิธีนี้จะใช้คลื่นอัลตราโซนิคในการรักษา โดยทั่วไปแล้ววิธีนี้มี 6 ขั้นตอน:
- ยาชา (Anaesthetic) – แพทย์จะทำการฉีดยาชาใต้ตา หรือยาชาแบบหยอดตา ในอดีตยังช่วยให้กล้ามเนื้อตาหยุดการทำงาน
- การเปิดกระจกตา (Corneal incision) – มีการเปิดสองครั้งที่ขอบของกระจกตาใสเพื่อให้สามารถสอดเครื่องมือเข้าไปในดวงตาได้
- Capsulorhexis or continuous curvilinear capsulotomy (CCC) - การเปิดช่องรูปวงกลมในถุงเลนส์ตาด้านหน้า เพื่อให้สามารถเห็นนิวเคลียสของเลนส์ตาหรือสลายต้อกระจกของนิวเคลียสของเลนส์ตาได้
- การผ่าตัดสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) - ใช้เครื่องมือปล่อยคลื่นอัลตราโซนิกเพื่อแยกและทำให้เลนส์กลายเป็นของเหลว ของเหลวที่ได้จะถูกดูดออกไป
- การล้างและการดูดออก (Irrigation and aspiration) - เลนส์ตาชั้นนอก (Lens cortex) ซึ่งเป็นชั้นนอกที่นุ่มของต้อกระจกจะถูกดูดออกไป ของเหลวที่ถูกดูดออกจะถูกแทนที่ด้วยน้ำเกลืออย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการยุบตัวของโครงสร้างของห้องหน้าลูกตา (Anterior chamber) หรือส่วนหน้าของดวงตา
- การใส่เลนส์ – เลนส์พลาสติกแบบพับได้จะถูกใส่เข้าไปในถุงแคปซูลที่แต่เดิมบรรจุเลนส์ธรรมชาติ ศัลยแพทย์บางรายยังฉีดยาปฏิชีวนะเข้าตาเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ขั้นตอนสุดท้ายคือการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในแผลที่กระจกตาและปิดแผล
ข้อมูลจาก Cochrane review พบว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการมองเห็นรอยกรีดที่ทำขึ้นเพื่อสลายต้อกระจกในช่วงตั้งแต่ ≤ 1.5 มม. ถึง 3.0 มม. Extracapsular cataract extraction (ECCE) หรือการผ่าตัดเอาเลนส์ตาออกเหลือแต่เปลือกหุ้มเลนส์ตาด้านหลัง (Posterior Capsule) แต่ไม่ทำให้ถุงเลนส์ตาส่วนใหญ่เสียหาย แผลที่เปิดขณะผ่าตัดมีขนาด 10 ถึง 12 มม. ซึ่งปิดด้วยการเย็บเมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด การทำ ECCE ถูกใช้งานน้อยกว่าการผ่าตัดสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) แต่มีประโยชน์เมื่อต้องรับมือกับต้อกระจกที่แข็งมากหรือสถานการณ์อื่นๆ ที่การสลายต้อกระจกเป็นปัญหา การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กด้วยมือ (MSICS) มีวิวัฒนาการมาจาก ECCE ใน MSICS เลนส์จะถูกนำออกผ่านช่องที่เจาะผ่านเยื่อหุ้มลูกตาขาวที่สามารถปิดตัวเองได้ ซึ่งตามหลักการแล้วคือสามารถกันน้ำได้และไม่จำเป็นต้องเย็บ แม้ว่าแผลจะเล็ก แต่แผลยังคงมีขนาดใหญ่กว่าแผลในการสลายสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) อย่างเห็นได้ชัด การผ่าตัดแบบ MSICS ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งการเข้าถึงการสลายต้อกระจกยังมีจำกัด
Intracapsular cataract extraction (ICCE) : การลอกต้อกระจกโดยเอาเลนส์ออกทั้งลูก เป็นวิธีที่พบได้ไม่บ่อย เลนส์ตาและถุงหุ้มเลนส์ตาจะถูกเอาออกในหนึ่งชิ้นผ่านแผลขนาดใหญ่ขณะที่ จะเกิดความดันที่พังผืดวุ้นตา (Vitreous membrane) การผ่าตัดมีอัตราภาวะแทรกซ้อนสูง
การพยากรณ์โรค
การดูแลหลังการผ่าตัด
ระยะเวลาการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (หลังจากเอาต้อกระจกออก) มักจะสั้น โดยปกติผู้ป่วยจะเดินได้ในวันที่ทำการผ่าตัด แต่ควรเคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการออกแรงตึงหรือการยกของหนักเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน โดยปกติแล้วจะมีการใช้ผ้าปิดตาหลังการผ่าตัดหนึ่งวัน และมักจะแนะนำให้ใช้ครอบตาในเวลากลางคืนเป็นระยะหนึ่งหลังการผ่าตัด
ในการผ่าตัดทุกประเภท เลนส์ต้อกระจกจะถูกถอดออกและแทนที่ด้วยเลนส์เทียมที่เรียกว่าเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งจะอยู่ในดวงตาอย่างถาวร เลนส์แก้วตาเทียมมักเป็นแบบโมโนโฟคอล (Monofocal) ซึ่งช่วยแก้ไขการมองเห็นทั้งระยะไกลและใกล้ เลนส์หลายชั้นอาจได้รับการปลูกฝังเพื่อปรับปรุงการมองเห็นในระยะใกล้และระยะไกลไปพร้อมๆ กัน แต่เลนส์เหล่านี้อาจเพิ่มโอกาสในการมองเห็นที่ไม่น่าพึงพอใจ
ภาวะเเทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของการผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่ จอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) และการติดเชื้อภายในลูกตา (Endophthalmitis) ทั้งสองกรณี ผู้ป่วยจะสังเกตว่าการมองเห็นของตัวเองลดลง ในการติดเชื้อภายในลูกตา (Endophthalmitis) ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวด ส่วนผู้ป่วยจอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก (Retinal detachment) มักมีข้อบกพร่องด้านการมองเห็นข้างเดียว การมองเห็นที่พร่ามัว แสงวูบวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือจุดลอย
ความเสี่ยงของจอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก (Retinal detachment) อยู่ที่ประมาณ 0.4% ภายใน 5 ปีครึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับอิทธพลตามธรรมชาติ กับการศึกษาเก่ารายงานความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างมาก ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะคงอยู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปีหลังจากการรักษา ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะ ได้แก่ อายุน้อยลง เพศชาย ความยาวขึ้นของกระบอกตา และภาวะเเทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดของผู้ป่วย การเกิดจอประสาทตาหลุดออกหลังผ่าตัดต้อกระจก (Pseudophakic retinal detachment) สามารถเกิดขึ้นได้กว่า 20% ความเสี่ยงการติดเชื้อภายในลูกตา (Endophthalmitis) หลังผ่าตัดน้อยกว่าหนึ่งในหนึ่งพัน
กระจกตาบวมน้ำ (Corneal edema) และจุดรับภาพบวม (cystoid macular edema) มีความรุงแรงน้อยกว่าสองอาการที่กล่าวไปข้างต้น แต่เกิดขึ้นบ่อยกว่า โดยที่ กระจกตาบวมน้ำ (Corneal edema) เกิดจากการบวมซ้ำๆที่ด้านหน้าของดวงตา ส่วนอาการดรับภาพบวม (cystoid macular edema) เกิดจากการบวมซ้ำๆที่ด้านหลังของดวงตา ทั้งสองอาการปกติจะเป็นผลมาจากการอักเสบมากเกินไปหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นภาพเบลอและเหมือนมีหมอกหนา โดยปกติจะดีขึ้นตามเวลาและด้วยการใช้ยาหยอดต้านการอักเสบ ความเสี่ยงต่อการเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งคือประมาณหนึ่งใน 100 ยังไม่ชัดเจนว่า NSAIDs หรือ corticosteroids มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบหลังการผ่าตัดหรือไม่
ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น Posterior capsule opacification หรือ PCO เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลายเดือนหรือหลายปีหลังการผ่าตัดต้อกระจก การมองเห็นแย่ลง หรือปัญหาแสงจ้าและการกระเจิงของแสงเกิดขึ้นอีก มักเกิดจากการที่ถุงหุ้มเลนส์ด้านหลังหรือด้านหลังหนาขึ้นรอบเลนส์ที่ปลูกถ่าย การเจริญเติบโตของเซลล์เลนส์ธรรมชาติที่เหลืออยู่หลังจากถอดเลนส์ธรรมชาติออกอาจเป็นสาเหตุ และยิ่งผู้ป่วยอายุน้อย โอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งมากขึ้น การรักษาจะต้องตัดวงกลมเล็กในถุงหุ้มเลนส์ด้านหลังด้วยเลเซอร์ที่เรียกว่า Nd:YAG laser capsulotomy ตามประเภทของเลเซอร์ที่ใช้ เลเซอร์สามารถเล็งได้อย่างแม่นยำมาก และส่วนเล็กๆ ของถุงหุ้มเลนส์ที่ถูกตัดจะตกลงไปที่ด้านล่างของดวงตาโดยไม่เป็นอันตราย ขั้นตอนนี้จะปล่อยให้ถุงหุ้มเลนส์เพียงพอที่จะยึดเลนส์ให้อยู่กับที่ แต่จะดึงออกมากพอที่จะให้แสงผ่านไปยังเรตินาได้โดยตรง ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเกิดขึ้นได้ยากการทึบแสงด้านหลังเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด 1 ใน 4 ครั้ง แต่อัตราเหล่านี้จะลดลงเมื่อมีการนำเลนส์แก้วตาเทียมสมัยใหม่มาใช้ ร่วมกับการทำความเข้าใจสาเหตุได้ดีขึ้น
Vitreous wick syndrome หรือ Vitreous touch syndrome คือ การพังของบาดแผลร่วมกับอาการห้อยยานของวุ้นตาที่พัฒนาอย่างสังเกตได้เป็นเส้นเหมือนไส้ตะเกียง
ระบาดวิทยา
ต้อกระจกตามอายุ (Age-related cataracts) มีส่วนทำให้ตาบอดทั่วโลกถึง 51% หรือประมาณ 20 ล้านคนทั่วโลก ต้อกระจกทำให้เกิดความพิการระดับปานกลางถึงรุนแรงในจำนวน 53.8 ล้านคน (พ.ศ. 2547) โดย 52.2 ล้านคนอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
ในหลายประเทศ บริการผ่าตัดไม่เพียงพอ และต้อกระจกยังคงเป็นสาเหตุหลักของการตาบอด แม้ว่าจะมีบริการผ่าตัดก็ตาม การมองเห็นเลือนลางที่เกี่ยวข้องกับต้อกระจกก็อาจยังคงพบเห็นได้ทั่วไปอันเป็นผลมาจากการรอคอยเป็นเวลานาน และอุปสรรคในการผ่าตัด เช่น ค่าใช้จ่าย การขาดข้อมูล และปัญหาการขนส่ง
ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานการเปลี่ยนแปลงเลนส์ที่เกี่ยวข้องกับอายุ 42% ระหว่างอายุ 52 ถึง 64 ปี 60% ระหว่างอายุ 65 ถึง 74 ปี และ 91% ระหว่างอายุ 75 ถึง 85 ปี ต้อกระจกส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันเกือบ 22 ล้านคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่ออายุ 80 ปี ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นต้อกระจก ค่ารักษาพยาบาลโดยตรงสำหรับการรักษาต้อกระจกอยู่ที่ประมาณ 6.8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ต้อกระจกเป็นสาเหตุของการตาบอดมากกว่า 51% การเข้าถึงการดูแลสุขภาพตาในหลายประเทศในภูมิภาคนี้มีจำกัด ต้อกระจกที่เกี่ยวข้องกับวัยเด็กเป็นสาเหตุของการตาบอดในวัยเด็กทั่วโลกถึง 5-20%
การสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากต้อกระจกเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เพิ่มโอกาสหกล้มและอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน และจากผลเสียต่อคุณภาพชีวิตทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ประวัติศาสตร์
การผ่าตัดต้อกระจกได้รับการอธิบายครั้งแรกโดยแพทย์อายุรเวช Suśruta (ประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช) ในเมือง Sushruta Samhita ในสมัยอินเดียโบราณ วิธีการส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงเน้นเรื่องสุขอนามัย การรักษาติดตามผล ได้แก่ การพันผ้าตาและปิดตาด้วยเนยอุ่นๆ
ในกรุงโรมโบราณยังพบในคริสต์ศักราช 29 ยังพบการอ้างอิงถึงต้อกระจกและการรักษาใน De Medicinae ซึ่งเป็นงานของนักสารานุกรมภาษาละติน Aulus Cornelius Celsus หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการผ่าตัดตาในสมัยโรมันก็มีอยู่เช่นกัน
ประมาณคริสตศตวรรษที่ 2 ใน Pergamon, Galen เป็นแพทย์ ศัลยแพทย์ และนักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชื่อเสียง ได้ดำเนินการผ่าตัดคล้ายกับการผ่าตัดต้อกระจกสมัยใหม่ Galen พยายามใช้เครื่องมือรูปเข็มเพื่อถอดเลนส์ตาที่เป็นโรคต้อกระจกออก
จักษุแพทย์ชาวมุสลิม Ammar Al-Mawsili เขียนไว้ในหนังสือ The Book of Choice in Ophthalmology ของเขาซึ่งเขียนขึ้นราวปี ค.ศ. 1000 โดยเขียนถึงการประดิษฐ์กระบอกฉีดยาและเทคนิคการสกัดต้อกระจกขณะทำการทดลองกับผู้ป่วย
ในปี ค.ศ. 1468 Abiathar Crescas แพทย์ชาวยิวและโหราจารย์แห่งมงกุฎแห่ง Aragon ได้ทำการถอดต้อกระจกของพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่ง Aragon ออก เพื่อฟื้นฟูสายตาของเขา
ที่มาของชื่อ
"Cataract หรือ ต้อกระจก" มาจากภาษาละติน Cataracta แปลว่า "น้ำตก" และจากภาษากรีกโบราณ καταρράκτης (katarrhaktēs) "ไหลลง" จาก καταράσσω (katarassō) แปลว่า "พุ่งลง" (จาก กะตะ-, "ลง"; arassein, "ตี, รีบ"). เมื่อน้ำไหลอย่างรวดเร็วเปลี่ยนเป็นสีขาว คำนี้จึงอาจถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่ออธิบายลักษณะที่คล้ายคลึงกันของความขุ่นของตาเมื่อโตเต็มที่ ในภาษาละติน ต้อกระจกมีความหมายอีกทางหนึ่งว่า "portcullis" และชื่อนี้อาจจะส่งต่อผ่านภาษาฝรั่งเศส จนกลายเป็นภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า "โรคตา" (ต้นศตวรรษที่ 15) โดยมีแนวคิดเรื่อง "การอุดตัน" แพทย์ชาวเปอร์เซียในยุคแรกเรียกคำว่า นาซุล-อี-อา หรือ "การลงของน้ำ" ซึ่งมีลักษณะเป็นโรคน้ำตกหรือต้อกระจก โดยเชื่อว่าการตาบอดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเทอารมณ์ขันที่เสื่อมทรามเข้าไปในดวงตา
การวิจัย
ยาหยอด N-Acetylcarnosine ได้รับการตรวจสอบเพื่อใช้รักษาโรคต้อกระจกได้ เชื่อกันว่าหยดจะทำงานโดยการลดความเสียหายจากการเกิด oxidation และ glycation ในเลนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการเชื่อมขวางของผลึกคริสตัลลิน (crystallin crosslinking) ประโยชน์บางประการแสดงให้เห็นในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมซึ่งสนับสนุนโดยผู้ผลิตรายย่อย แต่ยังจำเป็นต้องมีการยืนยันเพิ่มเติมโดยอิสระอีก
การใช้ Femtosecond laser ด้วยเทคนิค mode-locking ซึ่งใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก แต่เดิมใช้เพื่อตัที่แม่นยำและคาดเดาได้ในการผ่าตัดเลสิค และถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก แผลที่รอยต่อของตาขาวและกระจกตาและรูในถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างการผ่า Capsulorhexis หรือการทำให้เกิดการฉีกขาดเป็นวงกลมอย่างต่อเนื่องในถุงเลนส์ตาด้านหน้าระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก เพื่อให้สามารถเห็นนิวเคลียสของเลนส์ตา ซึ่งแต่เดิมใช้ใบมีด เข็ม และคีมแบบมือถือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทักษะและประสบการณ์ของศัลยแพทย์ การใช้ภาพสามมิติที่ซับซ้อนของดวงตาสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางของเลเซอร์ในการทำแผลเหล่านี้ได้ เลเซอร์ Nd:YAG ยังสามารถสลายต้อกระจกได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดสลายต้อกระจก (Phacoemulsification)
เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells) ถูกใช้ในการทดลองทางคลินิกโดยได้ผลลัพธ์ในปี 2014 และเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2016 สำหรับการฟื้นฟูเลนส์ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบจำนวน 12 คนที่มีต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิด ดำเนินการโดยการติดตามเด็กๆ เป็นเวลา 6 เดือน ดังนั้นจึงไม่ทราบผลลัพธ์ระยะยาว รวมถึงผลลัพธ์ในผู้ที่มีอายุมากกว่า
อ่านตรวจทานโดย นพ. ธัชชัย วิจารณ์
แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Cataract [2024, August 6] โดย ปวีร์พร โสภณ