ชักเฉพาะที่แบบมีสติ (Simple partial seizure)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 16 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติคืออะไร?
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีลักษณะ/อาการอย่างไร?
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติคล้ายอาการผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่?
- แพทย์วินิจฉัยการชักเฉพาะที่แบบมีสติได้อย่างไร?
- สาเหตุของการชักเฉพาะที่แบบมีสติคืออะไร?
- ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่?
- รักษาอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติอย่างไร?
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีอันตรายหรือไม่?
- ผู้มีการชักเฉพาะที่แบบมีสติควรปฏิบัติตนอย่างไร?
- ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดกรณีใดบ้าง?
- ผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติควรงดกิจกรรมใด?
- ผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติต้องงดขับรถหรือไม่?
- การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการทำอย่างไร?
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันโรคลมชักเฉพาะที่แบบมีสติได้อย่างไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ลมชัก (Epilepsy)
- ลมชักชนิดเหม่อ
- ชักเกร็งกระตุก (Generalised tonic-clonic seizures)
- ลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
- ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในโรคลมชัก (Common misunderstood in epilepsy)
- อุบัติเหตุที่เกิดจากโรคลมชัก (Accidents and Epilepsy)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
อาการชัก/โรคลมชักมี 2 รูปแบบหลักคือ การชัก/ลมชักเฉพาะที่ (Partial seizure หรือ Focal seizure) และการชัก/ลมชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized seizure หรือ Generalized tonic-clonic seizure )
‘การชักเฉพาะที่’มี 3 ชนิดคือ
- การชักเฉพาะที่แบบมีสติ (Simple partial seizure หรือ Simple focal seisure)
- การชักเฉพาะที่แบบขาดสติ (Complex partial seizure) และ
- การชักเฉพาะที่ตามด้วยการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Partial seizure secondarily to generalized tonic-clonic seizure)
การชักเฉพาะที่แบบมีสตินั้น คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จัก เพราะเข้าใจว่าการชักนั้นต้องหมด สติ ซึ่งการชักเฉพาะที่แบบมีสตินั้นมีสาเหตุจากอะไร อันตรายหรือไม่ ต้องรักษานานเท่าไหร่ รัก ษาแตกต่างจากการชักแบบขาดสติหรือไม่ ท่านควรรู้ครับ เพื่อนำความรู้ที่ได้นั้นไปช่วยแนะนำต่อผู้ที่มีการชักเฉพาะที่แบบมีสติ ดังนั้นท่านควรอ่านบทความนี้เพื่อความเข้าใจที่ดีและถูกต้อง
การชักเฉพาะที่แบบมีสติคืออะไร?
การชักเฉพาะที่แบบมีสติคือ การเกิดความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งของสมอง และไม่มีการกระจายของกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกตินี้ไปยังส่วนอื่นๆของสมอง ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติเฉพาะที่ของร่างกายเช่น เฉพาะแขนซ้าย ขาขวา หรือมุมปากขวา เป็นต้น
การชักเฉพาะที่แบบมีสติเป็นโรคพบได้ไม่บ่อย ในสหรัฐอเมริกาพบได้ประมาณ 20 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน พบได้ใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้น้อยในเด็กโดยเฉพาะในอายุต่ำกว่า 1 ปี
การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีลักษณะ/อาการอย่างไร?
การชักเฉพาะที่แบบมีสติจะมีลักษณะอาการผิดปกติเป็น 2 แบบหลักคือ
- อาการกระตุกเกร็ง หรือ
- อาการชา ปวด
โดยอาการเหล่านี้จะเป็นเฉพาะที่ของร่างกายเท่านั้นเช่น แขนข้างใดข้างหนึ่ง ขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาการกระตุกที่พบบ่อย อาการที่เกิด ขึ้นจะเป็นอยู่ไม่นานประมาณ 30 - 60 วินาที อาจเป็นได้วันละหลายครั้ง ซึ่งลักษณะสำคัญคือ เกิดเฉพาะที่ของร่างกาย และในขณะเกิดอาการไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรู้สึกตัว สติดีตลอดเวลาที่มีอาการ
การชักเฉพาะที่แบบมีสติคล้ายอาการผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่?
อาการผิดปกติอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและต้องแยกออกจากการชักเฉพาะที่แบบมีสติคือ
- การเคลื่อนไหวผิดปกติเช่น การสั่น (Tremor) ของมือ แขน ขา เท้า
- การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบการเกร็งกระตุก(Dystonic tremor)
- อาการชาเฉพาะที่ของร่างกายจากโรคเส้นประสาท เป็นต้น
ลักษณะสำคัญที่ต้องใช้แยกโรคคือ ระยะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่นๆนั้นมักเกิดในขณะที่มีกิจกรรม และการชาก็มักจะเป็นตลอดเวลาหรือเมื่อมีกิจกรรม ส่วนการชักเฉพาะที่แบบมีสตินั้นจะเกิดเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อ อาการ และเกิดเวลาใดก็ได้
แพทย์วินิจฉัยการชักเฉพาะที่แบบมีสติได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการชักเฉพาะที่แบบมีสติได้โดยใช้ข้อมูล/ประวัติทางการแพทย์คือ
- อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ร่วมกับการตรวจร่างกายว่า มีความผิดปกติเข้าได้กับอาการอื่นๆหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอาการชักฯนั้นมักจะตรวจไม่พบความผิดปกติอื่น และขณะมาพบแพทย์ก็มักจะไม่มีอาการชักฯ ดังนั้นถ้าสามารถถ่ายคลิปอาการที่เกิดขึ้นมาให้แพทย์ดูด้วยก็จะดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถแยกอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้นั้น และแพทย์สงสัยว่าจะเป็นอาการชัก แพทย์จะมีการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อให้การวินิจฉัยที่แน่ชัด
สาเหตุของการชักเฉพาะที่แบบมีสติคืออะไร?
สาเหตุของการชักเฉพาะที่แบบมีสติที่พบได้นั้น เช่น
- ผู้ป่วยมักจะมีรอยโรคขนาดเล็กๆในสมองที่ธรรมชาติของโรคเป็นแบบไม่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกสมองแบบไม่ร้ายแรง (Benign tumor) ที่เกิดบริเวณสมองใหญ่ส่วนนอก (Cerebral cortex)
- นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติทางเมตะบอลิก (Metabolic, กระบวนการใช้พลังงานของร่างกาย) เช่น ในโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำหรือสูง เกลือโซเดียมในเลือดต่ำหรือสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น
ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่?
เนื่องด้วยการชักเฉพาะที่แบบมีสตินั้นมักจะมีรอยโรคในสมอง ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายแพทย์ มักส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)สมองหรือเอมอาร์ไอสมอง ยกเว้นกรณีที่มีสาเหตุการชักจากน้ำตาลในเลือดสูง (Non-ketotic hyperglycemic induced seizure) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการลักษณะเฉพาะคือ การชักเฉพาะที่แบบมีสติ มีการชักบ่อยครั้งมาก หลายสิบครั้งต่อวัน เป็นนานหลายวันติดต่อกัน โดยที่ผู้ป่วยไม่มีการชักรูปแบบอื่นๆร่วมด้วย
รักษาผู้ป่วยชักเฉพาะที่แบบมีสติอย่างไร?
การรักษาการชักเฉพาะที่แบบมีสติคือ การรักษาสาเหตุในสมอง, การให้ยากันชัก, และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมของผู้ป่วย
ก.การรักษาสาเหตุ: จะต่างกันในแต่ละสาเหตุเช่น การผ่าตัดสมองกรณีสาเหตุจากเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง หรือการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อสาเหตุเกิดจากมีน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น
ข.การให้ยากันชัก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก : แพทย์จะพิจารณาชนิดและขนาดยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้การรักษา/การกินยากันชักต้องใช้เวลานานประมาณ 3 ปีเช่นเดียวกับในโรคลมชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
ค. การปฏิบัติตนที่เหมาะสมของผู้ป่วย: คือ การปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล ที่ดูแลรักษา แนะนำ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ การปฏิบัติตน)
การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีอันตรายหรือไม่?
การชักเฉพาะที่แบบมีสติไม่ค่อยมีอันตราย เพราะมีความผิดปกติเฉพาะจุดของสมอง และ ธรรมชาติของโรคที่เป็นสาเหตุก็ไม่ร้ายแรง ผลกระทบที่เกิดจากการชักก็ไม่รุนแรง เพราะผู้ป่วยรู้ตัวตลอดเวลาไม่มีการเสียการทรงตัว ไม่ล้ม จึงไม่เกิดอุบัติเหตุจากการชัก
ผู้มีการชักเฉพาะที่แบบมีสติควรปฏิบัติตนอย่างไร?
การปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมของผู้มีการชักเฉพาะที่แบบมีสติคือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด ซึ่งที่สำคัญคือ
- การทานยากันชักสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชักเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายที่พอดีกับสุขภาพ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา/เบียร์
- ไม่สูบบุหรี่
- จดบันทึกอาการต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำมาแจ้ง/ปรึกษาแพทย์เมื่อพบแพทย์
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดกรณีใดบ้าง?
ผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
- อาการชักรุนแรงมากขึ้น และ/หรือเปลี่ยนรูปแบบเช่น เปลี่ยนเป็นชักเกร็งกระตุก
- มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเพิ่มเติมเช่น แขน-ขาอ่อนแรง อาการชามากขึ้นกว่า เดิม หรือชาตลอดเวลา
- สงสัยว่าจะแพ้ยาหรือมีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยากันชัก เช่น ขึ้นผื่น, ปวดหัวมากหลังกินยา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ยากันชัก)
ผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติควรงดกิจกรรมใด?
เนื่องจากผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติจะรู้สติดี ไม่ล้ม ไม่เสียกำลังกล้ามเนื้อ จึงไม่จำ เป็นต้องงดกิจกรรม ยกเว้นมีอาการบ่อยมากๆเกือบตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุขณะมีอา การได้ง่ายขึ้น จึงอาจต้องควบคุมอาการให้ดีก่อน ค่อยกลับไปทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ทั้ง นี้ถ้ามีข้อกังวลสงสัยควรปรึกษาแพทย์รักษา
ผู้มีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติต้องงดขับรถหรือไม่?
ถึงแม้การชักเฉพาะที่แบบมีสติจะเกิดอุบัติเหตุน้อยมากๆ แต่การขับรถนั้นเป็นกิจกรรมที่ควรงดอย่างน้อย 3 - 6 เดือนหลังได้รับการรักษาโดยนับจากการชักครั้งสุดท้าย เพราะโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีการชักในรูปแบบอื่นๆที่รุนแรงขึ้นก็เป็นไปได้ และการขับรถนั้นเป็นกิจกรรมที่เกิดอุบัติ เหตุได้ง่ายและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้คนที่อยู่บนท้องถนนร่วมไปด้วย จึงไม่ควรมีความเสี่ยง ใดๆ
การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการทำอย่างไร?
การช่วยเหลือผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่แบบมีสติอาจไม่จำเป็น เพราะอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยรู้ตัวดีและการชักเป็นระยะเวลาสั้นๆ หยุดได้เองจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไร?
การชักเฉพาะที่แบบมีสติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การชักเฉพาะที่แบบมีสติเป็นการชักที่มีการพยากรณ์โรค/ผลการรักษาดีมาก ถ้าพบผู้ที่มีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรแนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาด้วยครับ เพื่อให้หายขาดจากการชักดัง กล่าว ยิ่งพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เร็ว ผลการรักษาก็ยิ่งดีขึ้น โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้น
ป้องกันโรคลมชักเฉพาะที่แบบมีสติได้อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุการชักเฉพาะที่แบบมีสติเป็นอาการที่ป้องกันไม่ได้ ยกเว้นเมื่อเกิดโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุเช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้) หรือมี เกลือแร่/แร่ธาตุในร่างกายผิดปกติ (เช่น ท้องเสียรุนแรง) ต้องดูแลรักษาโรค/ภาวะเหล่านั้นให้ได้ผลดีเพื่อป้องกันการเกิดอาการชักดังกล่าว
นอกจากนั้น ถ้าเป็นโรคลมชักชนิดนี้อยู่ การกินยากันชักต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา ก็จะช่วยป้องกันการเกิดการชักซ้ำได้เป็นอย่างดี