การดูแลแผลกดทับ (Taking care of bed sore)
- โดย ผศ.ดร.มนสภรณ์ วิทูรเมธา
- 14 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: ความหมาย อาการ และเหตุที่ต้องดูแลต่างจากแผลชนิดอื่นๆ
- ดูแลแผลกดทับอย่างไร?
- การดูแลเพื่อส่งเสริมการหายของแผลกดทับ
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การป้องกันแผลกดทับ (Bedsore prevention)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- วิตามินซี (Vitamin C or Ascorbic acid)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
บทนำ: ความหมาย อาการ และเหตุที่ต้องดูแลต่างจากแผลชนิดอื่นๆ
แผลกดทับ(Bed sore) คือ แผลเรื้อรังที่เกิดกับผิวหนังส่วนถูกแรงกด/เบียดทับต่อเนื่องเป็นเวลานานๆซึ่งจะกด/เบียดทับหลอดเลือดเลี้ยงส่วนนั้นๆให้ตีบไปด้วย ส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยงจึงเกิดการเน่าตายตามมา มักพบในผู้มีการนอนบนเตียงต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ/ผู้ป่วยนอนติดเตียง, มีการเคลื่อนไหวได้น้อยหรือเคลื่อนไหวไม่ได้จากมีข้อจำกัดทางร่างกายจากโรคต่างๆ, หรือไม่ค่อยได้พลิกตัว(นอนท่าเดิมๆ), หรือต้องใช้รถเข็นเกือบตลอดเวลา
แผลกดทับเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วน แต่มักพบบ่อย/เกือบทั้งหมดในตำแหน่งที่ปกคลุม/อยู่ติดกับกระดูก เช่น ส่วนอยู่เหนือกระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกก้นกบ กระดูกสะโพก และตามข้อพับต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า
อาการหลักของแผลกดทับ คือ ผิวส่วนนั้นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง/ชมพู แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ/ม่วง บวม อาจอุ่น เจ็บทั้งความรู้สึกและกดเจ็บ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา ผิวฯจะเริ่มแตกเป็นแผลมีน้ำเหลือง ต่อมาจะเกิดหนอง และแผลจะกินลงใต้ผิวหนังลึกลงเรื่อยๆจนกินลึกเข้าเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่ใต้ผิวหนัง เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูกในที่สุด
การดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดแผลกดทับแล้วจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดูแลแผล เพราะแผลจะ หายช้า หายยาก มักลุกลามขยายเป็นแผลขนาดใหญ่ขึ้น แผลลึกมากขึ้น และบ่อยครั้งอาจเกิดการติดเชื้อที่แผลกดทับตามมา การดูแผลกดทับจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้
- การทำแผลเพื่อดูแลแผลให้สะอาด
- พร้อมทั้งดูแลเรื่องอาหารเพื่อช่วยให้แผลหายได้เร็ว
- รวมถึงการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยบ่อยๆ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นในการดูแลเมื่อเกิดแผลกดทับแล้ว เพื่อช่วยลดการกดทับและช่วยให้มีการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น ลดการลุกลามของแผลกดทับ
ในบทความนี้ มุ่งเน้นการดูแลเมื่อเกิดแผลกดทับแล้ว(Taking care of bed sore) เพื่อให้ดูแลแผลกดทับได้ถูกต้องจนแผลหาย และเพื่อป้องกันการลุกลาม และการติดเชื้อของแผลกดทับ อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียง การป้องกันการเกิดแผลกดทับยังคงเป็นสิ่งที่ดีสุดที่สามารถดูแลตนเองได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การป้องกันแผลกดทับ”
อนึ่ง: ชื่ออื่นของแผลกดทับ เช่น Decubitus ulcer, Pressure sore, Pressure ulcer
ดูแลแผลกดทับอย่างไร?
การดูแลแผลกดทับ สามารถแบ่งการดูแลได้ตามประเภท/ระยะ/ระดับความรุนแรงของแผลกดทับเป็น 4 ระยะ จากระยะที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงระยะที่มีความรุนแรงมากที่สุด ดังนี้
ก. แผลกดทับระยะที่ 1:
แผลกดทับระยะที่1: ผิวหนังบริเวณถูกกดทับจะเป็นรอยแดง แต่ยังไม่มีรอยฉีกขาด โดยสีของผิวหนังจะแตกต่างจากผิวหนังปกติบริเวณข้างเคียง กล่าวคือ มักเกิดเป็นรอยแดงๆที่เมื่อลดการกดทับ รอยแดงเหล่านี้ที่ผิวหนังจะไม่หายไปภายในประมาณ30 นาที และรอยแดงนี้จะไม่หายไปเมื่อมีการขยับ หรือ เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ พลิกตะแคงตัวผู้ป่วย
การดูแลผู้ป่วยในระยะที่มีรอยแดงบริเวณผิวหนัง ที่สำคัญ ควรปฏิบัติดังนี้
- การเปลี่ยนอิริยาบถผู้ป่วยจากท่าเดิม ใช้การพลิกตะแคงตัวบ่อยๆ เปลี่ยนจากท่านอนหงายอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ร่วมกับจัดผ้าปูที่นอนให้เรียบตึง แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ เพราะรอยย่นของผ้าปูที่นอนจะทำให้ผิวหนังที่แดงแล้วเกิดเป็นแผลกดทับได้ง่าย ส่วนการดูแลผ้าปูที่นอนให้แห้ง สะอาด จะช่วยลดการติดเชื้อ
- ห้ามนวดหรือประคบด้วยความร้อนบริเวณผิวหนังที่มีรอยแดง เพราะการนวดหรือการประคบด้วยความร้อน จะเพิ่มการอักเสบของผิวหนังส่วนนั้น เสี่ยงต่อการฉีกขาดของผิวหนัง และทำให้เกิดแผลที่นำไปสู่การเกิดแผลกดทับ’ระยะที่2’
- ขจัดสาเหตุการกดทับหรือสาเหตุสิ่งเสริมอื่นๆ เช่น ผิวหนังเปียกชื้นจากการถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระรดที่นอน ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย
- ดูแลผิวหนังให้สะอาด ไม่ให้เกิดผิวแห้ง ใช้โลชั่นหรือครีมทาผิวหนังบ่อยๆและทุกครั้งหลังการทำความสะอาดผิวหนัง เพื่อช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น
- ใช้หมอน หรือผ้านุ่มๆ รองบริเวณข้อต่างๆ(เช่น หัวไหล่ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า) และกระดูกส่วนต่างๆ(ดังกล่าวในบทนำฯ) ที่จะเกิดแผลกดทับได้ง่าย
ข. แผลกดทับระยะที่ 2:
แผลกดทับระยะที่ 2 นี้ มีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด เกิดแผลลึกถึงชั้นใต้ผิวหนัง ชั้นพังผืด แต่ยังลึกไม่ถึงชั้น กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก แผลที่เกิดในระยะนี้อาจเป็นหลุมลึก หรือเป็นโพรงเซาะใต้ขอบแผล อาจพบเนื้อตาย แต่เนื้อตายยังไม่ปกคลุมแผลทั้งหมด
แผลกดทับระยะที่ 2 นี้ เป็นระยะที่มีการทำลายของเนื้อเยื่อชั้นผิวหนังถึงหนังกำพร้ามากขึ้นจนเกิดเป็นตุ่มน้ำพอง และ/หรือเป็นแผลเปิด ในระยะนี้จำเป็นต้องให้การดูแลผิวหนังและแผลมากขึ้น ด้วยการทำแผลโดยใช้น้ำเกลือนอร์มัล (0.9% NSS/Normal saline solution)ทำความสะอาดรอบแผลและภายในแผล, แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ (Gauze), ตามด้วยปิดพลาสเตอร์ให้ติดผิวหนังส่วนที่ยังปกติด้านข้างรอบๆแผลเพื่อป้องกันผ้าก๊อซเลื่อนหลุด
ควรทำแผลทุกวัน อย่างน้อยวันละ1ครั้ง, แต่หากมีสารคัดหลั่งจากแผล(เช่น น้ำเหลือง) ซึมเปื้อนผ้าก๊อส ควรทำแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อซให้บ่อยขึ้น
สิ่งสำคัญของการทำแผลกดทับ คือ ใช้หลักปลอดเชื้อของอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ทำแผล(ปรึกษาพยาบาลในเรื่องการทำแผล),และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังการทำแผล
ควรพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดการกดทับแผลที่จะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงแผลกดทับได้สะดวกขึ้น
ผู้ป่วยควรต้องได้รับอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบถ้วนทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะ อาหารโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และได้รับ วิตามินซีอย่างเพียงพอจากผลไม้ เช่น ส้ม ฝรั่ง เพื่อช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
ค. แผลกดทับระยะที่ 3:
แผลกดทับระยะที่3นี้ มีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด มองเห็นชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น และ/หรือเยื่อหุ้มข้อต่อ พื้นแผลอาจมีเนื้อตาย หรือสะเก็ดแข็งปกคลุมบางส่วน และส่วนใหญ่มีโพรงและช่องเซาะใต้ขอบแผล
การดูแลแผลกดทับในระยะนี้ คือ ทำความสะอาดแผลและปิดผ้าก๊อซชุบด้วยน้ำเกลือนอร์มัล (0.9% NSS), และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ วันละ1-2 ครั้ง, หรือปิดแผลด้วยวัสดุที่เหมาะสม เช่น Absorbment, Foam dressing, Hydrofiber , Silver Nanocrystalline, Calcium Alginate(ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ) ที่เมื่อใช้วัสดุทำแผลเหล่านี้ จะทำแผลได้ทุก 3-5 วัน หรือตามสภาพของแผล, พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อ เช่น มีไข้ แผลมีสิ่ง/สารคัดหลั่งเป็นหนอง มีเนื้อตายที่มีกลิ่นเหม็น
ถ้าแผลกดทับมี เนื้อตาย หรือ แผลมีขนาดกว้างขึ้น หรือ มีสิ่งคัดหลั่งดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาที่แพทย์มักจำเป็นต้องตัดเนื้อตายเหล่านั้นออกไป และผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมด้วยตามแผนการรักษาของแพทย์
ง. แผลกดทับระยะที่ 4:
การดูแลแผลกดทับในระยะที่4 นี้ เป็นระยะที่มีความลึกของแผลลุกลามเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ มักพบแผลมีการติดเชื้อ การดูแลแผลกดทับระยะนี้เหมือนในระยะที่ 3 และมีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลแผลที่เหมาะสม ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ในการรักษาแผลกดทับ
การดูแลเพื่อส่งเสริมการหายของแผลกดทับ
การดูแลเพื่อส่งเสริมการหายของแผลกดทับ ได้แก่
ก. การดูแลด้านอาหาร: นอกเหนือจากการทำแผลให้สะอาดเพื่อลดจำนวนเชื้อโรคจากแผลลงแล้ว ยังควรต้องส่งเสริมการหายของแผลด้วยการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเสริมอาหารโปรตีนจาก ไข่ นม และเสริมอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ผักสด ผลไม้ หรืออาหารเสริมสำเร็จรูป(ปรึกษาแพทย์ พยาบาล และ/หรือโภชนากร)
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารเองได้น้อย หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้ แพทย์ มักพิจารณาให้อาหารทางสายให้อาหาร/สายยาง(สายให้อาหารผ่านทางจมูกหรือผ่านทางหน้าท้อง) สูตรอาหารที่ให้ทางสายยางควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เพิ่มไข่ขาวในอาหารแต่ละมื้อ ไข่ขาวจะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น หรือให้สารน้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดดำทดแทน ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
นอกจากนั้น หากผู้ป่วยแผลกดทับมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ดูแลผู้ป่วยควรต้องเลือกอาหารที่เหมะสมกับโรคนั้นๆด้วย เช่น ลดอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล ในผู้ที่เป็นเบาหวาน, หรือลดเกลือ ไขมัน ในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หลักการสำคัญของอาหารที่ส่งเสริมการหายของแผลกดทับ ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ร่วมกับมี วิตามนซี และสังกะสี อย่างพอเพียง
ข. การให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับน้ำเพียงพอ: ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000-3,000 มิลลิลิตรในผู้ป่วยรายที่ไม่มีข้อจำกัดในการได้รับน้ำดื่ม เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ทำให้สารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงแผลได้ดี ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น และน้ำยังช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ผู้ป่วยจะสดชื่นขึ้น และช่วยลดอาการผิวแห้งได้
ค. การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย: ถือว่าเป็นสิ่งหลักและจำเป็นต่อการหายของแผลกดทับ เพราะการพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง ช่วยลดการเกิดแผลกดทับที่กว้างขึ้น และยังช่วยให้แผลกดทับที่ตื้นขึ้นแล้ว หายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ง. การนอนหลับเพียงพอ: การนอนหลับอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการส่งเสริมการหายของแผลกดทับ เพราะช่วงกำลังนอนหลับนั้น ร่างกายจะมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ในรายที่มีแผลกดทับ แผลก็จะตื้นขึ้น และแผลจะหายในที่สุด
สรุป
การดูแลเมื่อเป็นแผลกดทับแล้ว มีหลักสำคัญคือ
- ดูแลแผลกดทับไม่ให้มีการลุกลามของแผลกดทับมากขึ้น และ
- ส่งเสริมการหายของแผลกดทับ
การดูแลแผลกดทับ จะเป็นการดูแลตามระยะของการเกิดแผลกดทับ ตั้งแต่การพลิกตะแคงตั, การทำแผลให้สะอาด ใช้หลักปลอดเชื้อขณะทำแผล, การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง วิตามินซีสูง จะช่วยส่งเสริมการหายของแผล
แต่หากแผลกดทับ ลุกลามเพิ่มขึ้น หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ พยาบาล ให้การรักษาดูแลที่เหมาะสมต่อไป
บรรณานุกรม
- พัทนัย แก้วแพง และ โศรดา จันทเลิศ (2555) ผลของการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. สงขลานครินทร์เวชสาร. 30( 6) : 311-341
- National Pressure Ulcer Advisory Panel, European Pressure Ulcer Advisory Panel and Pan Pacific Pressure Injury Alliance.(2014). Prevention and Treatment of Pressure Ulcers: Quick Reference Guide. 2nd edition. Perth: Cambridge Media.
- https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/bedsore [2022,May14]
- https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000740.htm [2022,May14]