การป้องกันแผลกดทับ (Bedsore prevention)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตามปกติร่างกายคนเรามีกล้ามเนื้อและระบบผิวหนังปกคลุมร่างกายให้ปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่ง แต่ทว่าเมื่อมีปัจจัยเข้ามาทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ ต้องนอนนิ่งๆเป็นเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เจ็บ ป่วยเรื้อรังต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา/นอนติดเตียง เช่น ไม่รู้สึกตัวหรือเป็นอัมพาต ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เกิดการคั่งของเลือด ร่วมกับการขาดสารอาหารทำให้ซูบผอม ผิว หนังไม่แข็งแรงขาดความยืดหยุ่นจึงมีโอกาสเกิดแผลกดทับ (Bedsore หรือ Pressure sore) ได้ง่ายตามปุ่มกระดูกต่างๆทั่วร่างกาย

ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอการป้องกันแผลกดทับ (Bedsore prevention) เพื่อเป็น แนวทางในการป้องกันการเกิดแผลกดทับในเชิงรุกที่เชื่อว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา เพราะหากปล่อยให้เกิดแผลกดทับแล้ว การดูแลรักษาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากขึ้น ต้องสูญเสียเวลา เสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลแผลกดทับที่อาจกลายเป็นแผลติดเชื้อยุ่งยากในการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยมีความปวดและทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ

การป้องกันแผลกดทับ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและเป็นวิธีง่ายๆที่สามารถดูแลตนเองหรือคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากการเกิดแผลกดทับได้

แผลกดทับคืออะไร?

การป้องกันแผลกดทับ

แผลกดทับ (Bedsore หรือ Pressure sore) คือ การได้รับบาดเจ็บของผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูก เป็นผลจากแรงกด หรือแรงกดร่วมกับแรงเลื่อนไถล แรงเสียดทาน ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกดขาดเลือดไปเลี้ยงจนเกิดเป็นแผล แผลกดทับมักเกิดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก พบบ่อยบริเวณกระดูกก้นกบ, กระดูกสะโพก/กระดูกเชิงกราน, ตาตุ่ม

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ?

แผลกดทับ สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกวัย ผู้มีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ผู้สูงอายุที่มีชั้นไขมันใต้ผิวหนังบางลง ผิวหนังเปราะบางฉีกขาดได้ง่าย และบุคคลที่ต้องนอนพักอยู่บนเตียงนานมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย/นอนติดเตียง และยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดแผลกดทับมีดังนี้

1. ผู้ที่ไม่รู้สึกตัวหรือเป็นอัมพาต นอนอยู่ท่าเดียวเป็นเวลานานไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย

2. ผู้มีการจำกัดการเคลื่อนไหวหรือจำกัดกิจกรรมเช่น ผู้ที่ใส่เฝือก หลังการผ่าตัดใหญ่เช่น ผ่า ตัดช่องท้องรักษาโรคมะเร็ง

3. เป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด ที่ต้องนอนพักบนเตียงนานๆ

4. ผู้ป่วยที่มีความเปียกชื้นจาก เหงื่อ อุจจาระ หรือปัสสาวะราดบ่อย ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดัง กล่าวมีสภาพเป็นด่าง ความสามารถในการต้านเชื้อโรคจากแบคทีเรียลดลง และเนื้อเยื่อได้รับการระคายเคืองเกิดการฉีกขาดได้ง่ายและเกิดแผลกดทับในที่สุด

5. ภาวะขาดสารอาหาร/ทุพโภชนาการทำให้มีระดับสารโปรตีนในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้มีอา การบวมเป็นตัวขัดขวางการไหลเวียนเลือดในการส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดแผลกดทับและจะเกิดแผลได้ง่ายและแผลจะหายช้า จึงเสี่ยงอีกประการต่อการเกิดแผลกดทับได้ง่าย

6. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือผอม ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น มีโอกาสเกิดแผลกดทับได้

7. ภาวะโรคที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด เช่น โรคซีด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคความดันโลหิตต่ำ

8. แรงกดและแรงเสียดทานทำให้เนื้อเยื่อเกิดการบาดเจ็บฉีกขาดได้ง่าย มักพบในรายที่เป็นอัม พาตต้องยกผู้ป่วยบ่อยจึงทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย

9. ภาวะไข้ ที่อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส (Celsius) ทำให้มีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น เป็นปัจจัยเสริมให้เซลล์และเนื้อเยื่อขาดเลือดและเนื้อเยื่อตายได้ง่าย

ตำแหน่งไหนเกิดแผลกดทับได้บ่อย?

ตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับได้บ่อย ได้แก่

1. ท่านอนหงาย: ได้แก่ ท้ายทอย ใบหู ด้านหลังส่วนบน ก้นกบ ข้อศอก ส้นเท้า

2. ท่านอนคว่ำ: ได้แก่ ใบหูและแก้ม หน้าอกและใต้ราวนม หน้าท้อง หัวไหล่ ปุ่มกระดูกสะ โพก หัวเข่า ปลายเท้า

3. ท่านอนตะแคง: ได้แก่ ศีรษะด้านข้าง หัวไหล่ กระดูกก้นกบ ปุ่มกระดูกต้นขา ฝีเย็บ หัวเข่าด้านหน้า ตาตุ่ม

4. ท่านั่ง: ได้แก่ ก้นกบ ปุ่มกระดูกก้นกบ หัวเข่าด้านหน้า กระดูกสะบัก เท้า ข้อเท้าด้านนอก

แผลกดทับมีระดับความรุนแรงอย่างไร?

แผลกดทับมีระดับความรุนแรง ดังนี้

ระดับที่ 1: ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับจะเป็นรอยแดง ไม่มีรอยฉีกขาด แต่สีของผิวหนังอาจเป็นสีแดงคล้ำเพราะมีการคั่งของเลือดจากการกดทับ รอยแดงจะไม่หายไปภายในประมาณ 30 นาทีเมื่อเปลี่ยนท่า

ระดับที่ 2: มีการสูญเสียผิวหนังบางส่วนถึงชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังอาจฉีกขาดหรือไม่ฉีกขาดเช่น รอยถลอก เป็นตุ่มพอง อาจมีน้ำเหลืองบริเวณตุ่มน้ำที่แตกออกหรือเป็นแผลตื้นๆ โดยไม่มีเนื้อตาย

ระดับที่ 3: มีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด เกิดแผลลึกถึงชั้นใต้ผิวหนัง ชั้นพังผืด แต่ไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก อาจเป็นหลุมลึกหรือเป็นโพรง ใต้ขอบแผลอาจพบเนื้อตายบางส่วนของแผล

ระดับที่ 4: มีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด มองเห็นชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น หรือเยื่อหุ้มข้อต่อ พื้นแผลอาจมีเนื้อตายหรือสะเก็ดแข็งปกคลุมบางส่วน และส่วนใหญ่มีโพรงและช่องใต้ขอบแผล

ป้องกันการเกิดแผลกดทับอย่างไร?

บุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับสามารถปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ ดังนี้

1. การจัดท่านอน: ควรเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อลดแรงกดนานเกินไปทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ถ้าเปลี่ยนท่านอนแล้วรอยแดงบริเวณผิวหนังไม่หายภายในประมาณ 30 นาที อาจจะพิจารณาให้เปลี่ยนท่านอนได้บ่อยขึ้น หมุนเวียนเปลี่ยนท่านอนเช่น นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา สลับกันไปทุก 2 ชั่วโมง อาจพลิกตะแคงตัวตามเข็มนาฬิกา เช่น 6.00 น. นอนหงาย, 8.00 น. นอนตะแคงขวา, 10.00 น. นอนตะแคงซ้าย, 12.00 น. นอนหงาย เป็นต้น นอกจากนี้ควรพิจารณาการจัดท่านอนต่างๆ ดังนี้

  • การนอนหงาย: ควรมีหมอนสอดคั่นระหว่างหัวเข่า ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง ขา 2 ข้าง และใช้หมอนรองใต้น่องและขาเพื่อให้เท้าลอยพ้นพื้นไม่กดที่นอน จัดท่านอนศีรษะสูงไม่เกิน 30 องศา แต่ถ้าจำเป็นต้องจัดท่านอนศีรษะสูง 60 - 90 องศาเพื่อให้อาหารป้องกันการสำลักอา หารหลังให้อาหารประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นควรลดระดับให้ศีรษะสูงไม่เกิน 30 องศา
  • การนอนตะแคง: ควรจัดให้นอนตะแคงกึ่งนอนหงาย ใช้หมอนยาวรับตลอดแนวลำ ตัว รวมทั้งบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า ควรทำให้สะโพกทำมุม 30 องศา และใช้หมอนรองตามปุ่มกระดูกและใบหู

2. การใช้อุปกรณ์ลดแรงกด:

  • ใช้อุปกรณ์เสริมช่วยลดแรงกด เลือกให้เหมาะสมกับสภาพของบุคคลนั้นเช่น ใช้ที่นอนฟองน้ำหรือที่นอนลมในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยง ใช้หมอน ผ้านุ่มๆ หรือเจลรองบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆเพื่อลดแรงกดบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆของร่างกายเช่น หัวไหล่ ใบหู ข้อศอก ข้อมือ ส้นเท้า และใช้เบาะรองก้นในผู้ที่นั่งรถเข็น กระตุ้นให้เปลี่ยนถ่ายน้ำหนักตัว ยกก้นลอยพ้นพื้นที่นั่งทุก 15 - 30 นาทีเพราะช่วยลดแรงกดทับบริเวณก้นกบจะช่วยป้องกันการกดทับ
  • ลดแรงเสียดทาน การเคลื่อนย้ายหรือเลื่อนตัวผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ใช้การยกตัวแทนการดึงลากตัว ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนย้ายเช่น ผ้ายกตัว แผ่นรองตัวขณะเคลื่อนย้าย (Pat slide)

3. การดูแลผิวหนัง:

  • การประเมินผิวหนังผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันและช่วยเหลือก่อนที่จะเกิดแผลกดทับ
  • การดูแลผิวหนังในรายที่ผิวหนังแห้งควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น หลังทำความสะอาด ร่างกายควรทาครีม ทาโลชั่น หรือน้ำมันมะกอก วันละ 3 - 4 ครั้งเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นป้องกันผิวแห้งและฉีกขาด
  • ผู้ที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่ายและซับให้แห้ง พร้อมใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum jelly)/วาสลีน (Vaseline) ทาให้หนาๆบริเวณรอบๆปากทวารหนัก และแก้มก้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันการระคายผิวหนังจากความเปียกชื้น ในรายที่ไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระควรให้แผ่นรองก้น (Blue pad) แทนการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพราะมีโอกาสเกิดการอับชื้นได้ง่ายและเกิดแผลกดทับตามมา
  • ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดการอับชื้นของผิวหนัง
  • ดูแลผ้าปูที่นอนให้สะอาดแห้งและเรียบตึงเสมอเพื่อลดความเปียกชื้นและลดแรงเสียดทาน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีไม่คับแน่นเกินไป จัดเสื้อผ้าให้เรียบ หลีกเลี่ยงการนอนทับตะ เข็บเสื้อและปมผูกต่างๆเพื่อลดแรงกดบริเวณผิวหนัง

4. ภาวะโภชนาการ: การดูแลให้ร่างกายได้รับอาหารครบตามหลักโภชนาการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินซี และดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงและผิวหนังยืดหยุ่นมีความชุ่มชื้น เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแผลกดทับได้

อะไรคือสิ่งควรหลีกเลี่ยงที่อาจทำให้เกิดแผลกดทับ?

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ควรหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่อไปนี้ เช่น

1. หลีกเลี่ยงการนวดปุ่มกระดูกโดยเฉพาะที่มีรอยแดงเพราะทำให้ผิวหนังถูกทำลายเพิ่ม ขึ้น

2. หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบบริเวณผิวหนังที่มีความรู้สึกน้อยหรืออ่อนแรง

3. ไม่ควรใช้สบู่ที่มีความเข้มข้นหรือใช้สารเคมีเช่น น้ำหอม กับบริเวณมีรอยแดง/รอยกดทับ เพราะจะทำให้ผิวหนังส่วนนั้นเกิดการระคายเคืองเป็นแผลได้ง่าย ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวเช่น สบู่เด็กอ่อน กับผิวหนังที่มีรอยแดง/บริเวณที่ถูกกดทับ

4. ไม่ใช้ห่วงยางเป่าลมรองบริเวณปุ่มกระดูกเพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดีทำให้เกิดแผลได้ และไม่ควรใช้ถุงมือยางใส่น้ำรองบริเวณปุ่มกระดูกเพราะอาจแพ้ยางจากถุงมือฯ จนทำให้เกิดแผลกดทับได้

สรุป

แผลกดทับเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันการเกิดแผลกดทับโดยใช้หลัก

  • ลดการกดทับบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ
  • เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย การพลิกตะแคงตัว การจัดท่านั่ง ท่านอนที่เหมาะสม
  • ดูแลรักษาที่นอนแห้งสะอาด เรียบตึง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดจนเหงื่อออกเปียกชื้น
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
  • ดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้น
  • เมื่อต้องเคลื่อนย้ายตัวใช้การยกตัวแทนการลากและดึง

ดังนั้น เมื่อนำหลักการดังกล่าวข้างต้นไปปฏิบัติด้วยตนเองหรือนำไปใช้กับคนในครอบครัว ก็จะห่างไกลจากการเกิดแผลกดทับได้

บรรณานุกรม

  1. พัทนัย แก้วแพง และโศรดา จันทเลิศ. (2555). ผลของการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. สงขลานครินทร์เวชสาร. 30(6),331-341.
  2. สายฝน ไทยประดิษฐ์ วิภา แซ่เซี้ย และเพลินพิศ ฐานิวัฒนานนท์. (2556)ผลของโปรแกรมควบคุมความเป็นกรดด่างของผิวหนัง ต่ออุบัติการณ์ การเกิดแผลกดทับ ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ บทความวิจัยเสนอในการประชุมหาดใหญ่วิชาการ ครั้งที่ 4 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 (701).
  3. สุปราณี เสนาดิสัย และวรรณภา ประไพพานิช.(บรรณาธิการ).(2554).การพยาบาลพื้นฐาน:แนวคิดและการปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 13).กรุงเทพฯ: จุดทอง.
  4. 4. Laune,S.C & Ladner,P.K.(2011). Fundamentals of Nursing: Standards & Practice. (4th ed) New York: Delmar Cengage Learning.
  5. Lewis,S.L. et .al. (2014). Medical-Surgical Nursing: Assessment and management of clinical problems. (9thedition). St. Louis: Elsevier Mosby.