การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด (Labor induction)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง


การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดคืออะไร
?

ในภาวะปกติเมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนด ร่างกายจะมีกลไกทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกว่า เจ็บครรภ์คลอด แล้วคลอดทารกออกมา,  แต่ในบางกรณีที่ไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ หรือ มีเหตุการณ์ที่ต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงก่อนกำหนดเพราะจะมีอันตรายต่อสุขภาพมารดาหรือต่อทารกในครรภ์   แพทย์จะทำการรักษาโดย การชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด หรือ การชักนำให้เกิดการคลอด (Labour/Labor induction หรือ Inducing labour หรือ Induced labour) โดยให้ยากระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้นเรื่อยเหมือนกระบวนการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ แล้วทำให้เกิดการคลอดทารกออกมาทางช่องคลอดตามปกติ

อนึ่ง: การชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด เป็นหัตการทางสูติกรรมที่พบบ่อย โดยในสหรัฐอเมริกา มีรายพบได้ประมาณ 9 - 23% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด

ทำไมต้องมีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด?

สาเหตุที่ทำให้ต้องมีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด  จนเกิดมีการคลอด หรือมีการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์และของมารดา  ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า หากยังคงให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไป จะมีอันตรายทั้งต่อตัวทารกเองและ/หรือต่อชีวิตมารดา

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มใดมีปัจจัยเสี่ยงต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ต้องมีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด ทั่วไปแบ่งเป็น  2 ปัจจัยหลัก  คือ

1. ปัจจัยจากตัวมารดา: เช่น
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มี ความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงจากการตั้งครรภ์(Pre-eclampsiawith severe feature) หรือที่เรียกกันง่ายๆ  ว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษ  ซึ่งหากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป  ความดันโลหิตของมารดาจะสูงขึ้นมาก  จนมารดามีโอกาสเกิดการชักได้ เพราะว่าภาวะครรภ์เป็นพิษนี้เกิดจากภาวะที่มีทารกในครรภ์  ซึ่งหากทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง มารดาก็จะอาการดีขึ้น ซึ่งการชักขณะตั้งครรภ์จะก่ออันตรายทั้งต่อมารดาและต่อทารกในครรภ์ จนเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ทั้งมารดาและทั้งทารกฯ
  • สตรีตั้งครรภ์เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด  หรือโรคเบาหวาน  ขั้นรุนแรง:  ซึ่งจะทำให้มีปัญหาที่เส้นเลือด  ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ ทารกฯจึงอาจเกิดความพิการหรือตายได้
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดเป็นเวลานานเกิน 24 ชั่วโมงแล้วยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด:  หากรอให้เจ็บครรภ์คลอดเอง จะมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทารกฯจนทารกฯอาจถึงตายได้
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำจากสาเหตุอื่นๆ: ซึ่งจะส่งผลเป็นอันตรายต่อทารกฯจนทารกฯอาจถึงตายได้ เช่น จากช่องคลอดอักเสบติดเชื้อ
  • สตรีตั้งครรภ์ที่ตั้งครรภ์เกินกำหนดโดยทั่วไปเมื่อไปฝากครรภ์  แพทย์จะมีการคาดคะเนวันคลอดให้ตามประวัติประจำเดือน และวันคาดคะเนครบกำหนดคลอดจะเป็นวันที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์  หากเลยกำหนดวันคาดคะเนคลอดไปประมาณ 2 สัปดาห์คือคาดคะเนตั้งครรภ์ได้ประมาณ 42 สัปดาห์  จัดเป็น การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post term pregnancy) แล้วยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด  แพทย์ต้องนัดสตรีตั้งครรภ์นั้นมาชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด  เพื่อให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง  เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป การทำงานของ 'รก' จะลดลง ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตทารกในครรภ์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่คลอดไม่เกินกำหนด  ซึ่งปัจจุบัน นิยมนัดมาชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดที่อายุครรภ์ประมาณ 41-42 สัปดาห์
2. ปัจจัยจากทารกในครรภ์: เช่น
  • ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์  เนื่องจากมีพยาธิสภาพที่ตัวทารกเอง  หรือจากตัวรก  หรือ จากมารดาที่มีโรคประจำตัว   ซึ่งหากให้ทารกฯอยู่ในครรภ์ต่อไป จะมีอันตรายมากกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดการคลอดออกมาแล้วมาดูแลทารกฯภายนอกครรภ์
  • ทารกที่มีความพิการมากจนเมื่อคลอดออกมาแล้วทารกไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เช่น ภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะ  หรือ มีความผิดปกติทางโครโมโซมอย่างรุนแรง  จึงไม่มีความจำเป็นให้ทารกฯอยู่ในครรภ์ต่อไป
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงต่อการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงต่อการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด ต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัดเสมอ และหากมีอาการเจ็บครรภ์, หรือเจ็บครรภ์คลอด,  หรือมีความผิดปกติต่างๆ, ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

วิธีในการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดมีอะไรบ้าง?

วิธีในการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด เช่น

1. การใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก: ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน  โดยมียาที่ใช้ในการนี้หลายชนิด เช่น
  • Oxytocin drug: โดยต้องผสมยานี้ในน้ำเกลือแล้วหยดเข้าเส้นเลือดดำมารดา ยานี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูก แล้วมีการคลอดตามมาข้อดีของวิธีนี้ คือ แพทย์สามารถควบคุมการหดรัดตัวของมดลูกได้ และสามารถเพิ่มหรือลดขนาดยาที่ใช้ได้ง่าย
  • Prostaglandins:  ยากลุ่มนี้ มีทั้งรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด และแบบ Gel/เจลใส่ในช่องคลอด,   ยานี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกแล้วมีการคลอดตามมาเช่นกัน, ข้อด้อยของวิธีนี้คือ  เมื่อให้ยาไปแล้วไม่สามารถเอายาออกได้  หากเกิดปัญหามดลูกหดรัดตัวถี่เกินไป ก็จำเป็นที่ต้อมี การผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิลูก
2. การเจาะถุงน้ำคร่ำ(Artificial rupture membrane): สามารถทำได้เมื่อมีการเปิดของปากมดลูกพอประมาณ  โดยแพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อประเมินท่าของทารก และตรวจสอบว่าไม่มีสายสะดือย้อยมาอยู่ต่ำๆ,  จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ใส่เข้าไปในช่องคลอดแล้วสะกิดให้ถุงน้ำคร่ำฉีกขาด/แตก  น้ำคร่ำจะไหลออกมา  เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก ขนาดถุงจะหดเล็กลง และลอกตัวจากผนังมดลูก  ซึ่งจะเป็นกลไกไปกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสารProstaglandin  ออกมา สารนี้จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการหดรัดตัว เพื่อเกิดการคลอดต่อไป  
  • ในบางครั้ง เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว แต่ยังไม่เกิดการเจ็บครรภ์ ก็ต้องพิจารณาให้ยา Oxytocin  เพื่อกระตุ้นมดลูกเพิ่มเติม,   เพราะหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนาน ก็จะมีปัญหาการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำตามมา ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
3. การเซาะเยื่อถุงน้ำคร่ำ (Membrane stripping): แพทย์จะทำการตรวจภายในประเมินความพร้อมของปากมดลูก หากปากมดลูกเริ่มเปิด  แพทย์จะใช้นิ้วทำการเซาะเยื่อหุ้มทารก (Stripping membrane) ส่วนล่างที่อยู่รอบๆปากมดลูก เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสาร Prostaglandins  ที่จะทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกตามมา ซึ่งการหดรัดตัวของมดลูกจะช้าหรือเร็ว ขึ้นกับความพร้อม/การเปิดขยายของปากมดลูก,  แต่ถ้าปากมดลูกยังไม่เปิด ก็ไม่สามารถชักนำการคลอดด้วยวิธีนี้ได้ ต้องใช้การผ่าท้องคลอด
4. การใช้อุปกรณ์ไปถ่างขยายรูปากมดลูกให้กว้างขึ้น(Mechanical cervical dilatation):  อุปกรณ์ขยายรูปากมดลูกนี้จะมีลักษณะเป็นแท่ง เรียกว่า Dilator ขณะที่แท่งนี้แห้ง จะเป็นแท่งเล็กๆ แต่เมื่อสอดเข้าไปในรูปากมดลูก แท่งนี้จะดูดซึมน้ำเข้าไปในแท่งจึงทำให้แท่งขยายขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งจึงไปช่วยถ่างขยายรูปากมดลูกให้กว้างขึ้นๆ นอกจากนั้น บางครั้งอาจใช้กระเปาะของสายสวนปัสสาวะ (Forley balloon) ช่วยขยายปากมดลูกได้,  โดยวิธีใช้อุปกรณ์ถ่างขยายรูปากมดลูกนี้  มักต้องใช้ร่วมกับการให้ยาOxytocin
5. การใช้วิธีทางธรรมชาติ (Natural way to induce labor): เช่น  การกระตุ้นที่หัวนม(Nipple stimulation)ในกรณีที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้วยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด การใช้นิ้วคลึงที่บริเวณหัวนมและที่ลานนมไปมา คล้ายการดูดนมของทารก จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกได้,  ซึ่งควรกระตุ้นที่เต้านมทีละข้าง  ทำข้างละประมาณ 5 นาที แล้วรอดูอาการหลังจากนั้นประมาณ 15 นาที  สังเกตว่าเริ่มมีการหดรัดตัวของมดลูกหรือไม่  แล้วจึงเริ่มทำการกระตุ้นรอบใหม่,  หากมีการหดรัดตัวของมดลูกถี่ขึ้น ต้องหยุดการกระตุ้น  หรือมีการหดรัดตัวของมดลูก ครั้งใน10 นาที ต้องหยุดกระตุ้น, การกระตุ้นนี้จะไปทำให้ร่างกายมีการหลั่งสาร Oxytocin ออกมาจึงทำให้มดลูกหดรัดตัว ทำให้ปากมดลูกขยายตามมา, อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นอาจใช้เวลานาน หรืออาจควบคุมความรุนแรงของการหดรัดตัวของมดลูกไม่ได้ กรณีที่มีเกิดการหดตัวของมดลูกมากเกินไป ก็จะเป็นอันตรายต่อทารกได้ ซึ่งอาจต้องช่วยเหลือทารก ด้วยการผ่าท้องคลอดบุตร

การเตรียมตัวก่อนทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดมีอย่างไรบ้าง?

ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดเฉพาะวิธีใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เพราะเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยการเตรียมตัวก่อนทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด  คือ แพทย์จะนัดมารดาให้ไปนอนพักที่โรงพยาบาล และพิจารณาเลือกใช้ยาชักนำการเจ็บครรภ์คลอดตามดุลพินิจของแพทย์  อาจเป็นยาที่ผสมในน้ำเกลือแล้วหยดเข้าเส้นเลือด  หรือใช้เป็นยาเหน็บในช่องคลอด,  การชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดอาจใช้เวลาหลายวัน ขึ้นอยู่กับสภาพปากมดลูกพร้อมที่จะคลอดหรือไม่  หากปากมดลูกพร้อม(ปากมดลูกเปิด) การชักนำการคลอดมีโอกาสสำเร็จสูง ใช้เวลาไม่นานก็เกิดการเจ็บครรภ์และเกิดการคลอด  แต่หากสภาพปากมดลูกไม่พร้อม มีโอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวในการชักนำการเจ็บครรภ์คลอดสูง, หากชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดให้เกิดการคลอดทางช่องคลอดไม่สำเร็จ ก็ต้องทำการผ่าตัดคลอด

ข้อดีของการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด เช่น

  • ในกรณีที่มีถุงน้ำคร่ำแตกนานแล้วแต่ยังไม่มีการคลอด  การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
  • ลดความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ หรืความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ที่จะมีอันตรายต่อทั้งมารดาและต่อทารกในครรภ์
  • ทารกมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยกว่าการให้คลอดออกมาหากสภาพในครรภ์ไม่เหมาะสมต่อทารกในครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือ ทารกฯมีความผิดปกติทางโครโมโซม

ข้อด้อยหรือภาวะแทรกซ้อนของการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดมีอะไรบ้าง?

ข้อด้อยหรือภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ของการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด เช่น

  • หากมดลูกหดรัดตัวถี่เกินไป จะทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ จึงอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หากมดลูกหดรัดตัวถี่เกินไป อาจเกิดภาวะมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์  โดยเฉพาะสตรีที่มีแผลผ่าตัดที่กล้ามเนื้อมดลูก เช่น กรณีเคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูก หรือ เคยผ่าท้องคลอด
  • อาจทำให้เกิดการคลอดแบบรวดเร็วเกินไป จนแพทย์/พยาบาลควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดการฉีกขาดของช่องทางคลอด เช่น  ปากมดลูก  และ/หรือ ผนังช่องคลอด
  • การที่ทำให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตก สามารถทำให้เกิดภาวะสายสะดือย้อยได้   หรือ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ หากถุงน้ำคร่ำแตกนานเกินไป
  • เกิดภาวะน้ำคร่ำไปอุดตันที่ปอด (ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด) ทำให้มารดาถึงตาย ได้
  • เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด จากการที่มดลูกหดรัดตัวแรง ทารกฯจึงอาจเกิดอันตรายได้
  • มีโอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดได้เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี   เพราะการให้ยาชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดเป็นเวลานานๆ  จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกล้า จนหดรัดตัวไม่ดี
  • เพิ่มอุบัติการณ์ของการผ่าท้องคลอดบุตร เนื่องจากปากมดลูกขยายตัวไม่ดี,  หรืออาจเกิดจากมดลูกที่หดรัดตัวมากเกินไป, ทำให้ทารกอยู่ในภาวะอันตรายต้องรีบผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยชีวิตทารก

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มใดที่ไม่ควรหรือห้ามชักนำให้เกิดเจ็บครรภ์คลอด?

สตรีตั้งครรภ์กลุ่มที่ไม่ควร หรือที่ห้ามชักนำให้เกิดเจ็บครรภ์คลอด เช่น

  • สตรีที่เคยผ่าตัดคลอด และ/หรือสตรีที่เคยผ่าตัดที่กล้ามเนื้อมดลูก  เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดมดลูกแตก เนื่องจากมีแผลที่มดลูก  ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบริเวณนั้นมีความอ่อนแอ
  • สตรีผู้ที่มีรูปร่างมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด เช่น มีโพรงมดลูก 2 โพรง(ปกติจะมีโพรงเดียว) เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดมดลูกแตก เนื่องจากมีผนังมดลูกอ่อนแอ มดลูกจึงมีโอกาสแตกได้ง่าย
  • สตรีที่มดลูกมีการขยายตัวมากผิดปกติ  เช่น ในกลุ่มสตรีที่ตั้งครรภ์แฝด  หรือ ผู้ที่มีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์,   กล้ามเนื้อมดลูกที่ขยายมาก จึงมีความอ่อนแอ จึงเกิดมดลูกแตกได้ง่าย
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้  เช่น   ทารกท่าขวาง หรือ ทารกท่าก้นที่มีขายื่นลงมา หรือทารกท่าหน้า
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ   เพราะจะทำให้เลือดออกจากมดลูกมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตมารดา และ/หรือต่อทารกฯได้
  • สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลาม เพราะจะเกิดการอุดกั้นช่องทางทารกคลอดจากตัวก้อนเนื้อมะเร็ง จนอาจเกิดมดลูกแตก และ/หรือ เป็นอันตรายต่อทารกฯได้
  • ทารกในครรภ์มีภาวะเครียดของทารกในครรภ์ จึงอยู่ในภาวะอันตราย คับขัน ต้องรีบช่วยชีวิต โดยการผ่าตัดคลอด

ทารกที่เกิดจากการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดจะมีปัญหาหรือไม่?

ทารกที่เกิดจากการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดโดยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา จะเหมือนทารกคลอดปกติทั่วไป, ยกเว้นกรณีที่ทารกมีการขาดออกซิเจนนานเกินไป ก็จะเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น ทารกมีการพัฒนาล่าช้า เป็นต้น

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดอีกหรือไม่?

หากสตรีตั้งครรภ์ไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัญหาต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ  ก็สามารถคลอดตามปกติ ไม่ต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด

ดูแลตนเองอย่างไรหลังการคลอดจากการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด?

การดูแลตนเองหลังคลอดภายหลังจากมีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด จะเหมือนการดูแลตนเองหลังคลอดทั่วไป ขึ้นกับว่า เป็นการคลอดทางช่องคลอด หรือคลอดโดยการผ่าตัดคลอด/การผ่าท้องคลอดบุตร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com, 2 บทความ คือ บทความ เรื่อง ภาวะหลังคลอด และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร)

หลังคลอดควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

หลังคลอดด้วยการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด ทั่วไป ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ  หากมีอาการผิดปกติต่างๆ  เช่น

  • มีไข้สูง
  • หนาวสั่น  
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น และ/หรือ
  • น้ำคาวปลาออกมาก
  • ปริมาณน้ำคาวปลาไม่ค่อยๆลดน้อยลง

ป้องกันไม่ให้มีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดได้อย่างไร?

ทั่วไปสามารถป้องกันไม่ให้มีการชักนำการเจ็บครรภ์คลอดจากการใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก หรือใช้อุปกรณ์ขยายปากมดลูก หรือ การเจาะถุงน้ำคร่ำ ได้โดย เมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้วยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์:  

  • แพทย์มักตรวจภายในเพื่อประเมินความพร้อมของปากมดลูก
  • ในบางครั้ง หากปากมดลูกเริ่มเปิดเล็กน้อยแพทย์จะใช้นิ้วทำการเซาะเยื่อหุ้มทารก (Stripping membrane) ที่อยู่ส่วนล่างรอบๆปากมดลูก เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสาร Prostaglandins ที่จะทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกตามมา ซึ่งจะเกิดช้าหรือเร็ว ขึ้นกับความพร้อมของปากมดลูก  
  • นอกจากนั้น แพทย์จะแนะนำการใช้วิธีทางธรรมชาติที่กล่าวมาแล้ว คือ การกระตุ้นหัวนม

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดอีกหรือไม่?

หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือ ไม่มีปัญหาต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ สตรีตั้งครรภ์สามารถคลอดได้ตามปกติเช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปควรเป็นเมื่อใด?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป หลังมีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด ขึ้นอยู่กับว่า เป็นการคลอดทางช่องคลอด,  หรือการผ่าท้องคลอดบุตร,  อย่างไรก็ตามควรเว้นระยะมีบุตรไปประมาณ 2 ปี  เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูบุตรคนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ และเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ของมารดา

บรรณานุกรม