กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Gaba receptor antagonist)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Gaba receptor antagonist) คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์  ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในระบบประสาทที่มีชื่อว่า GABA (Gamma-aminobu tyric acid, สารที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อและการตื่นตัวของร่างกาย) นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ของสารกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ออกเป็นหมวดย่อยดังนี้

  • GABAA receptor antagonists: ประกอบด้วยสารต่างๆหลายชนิดเช่น Bicuculline,  Gabazine, Hydrastine, Pitrazepin, Sinomenine, Thiocolchicoside
  • GABAA-rho receptor antagonists: ประกอบด้วยสารต่างๆหลายชนิดเช่น Bilobalide, Gabazine, Gaboxadal, Isonipecotic acid, Loreclezole, Picrotoxin
  • GABAB receptor antagonists: ประกอบด้วยสารต่างๆหลายชนิดเช่น Homotaurine, Phaclofen, Saclofen

 สารต่างๆที่กล่าวข้างต้นมีบางตัวที่ถูกนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคของมนุษย์ บางตัวนำไปเป็นสารเคมีของงานวิจัย บ้างก็เป็นสารที่พบในสมุนไพรที่นำมารักษาโรคข้อรูมาตอยด์

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เด่นสำหรับยาในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ความเหมาะสมของการคัดเลือกยากลุ่มนี้และนำมาใช้กับผู้ป่วยจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองและเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

กาบา-รีเซปเตอร์-แอนตาโกนิสต์

ยาในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาถอนพิษในผู้ป่วยที่ได้รับยาเบนโซไดอะซิปีนเกินขนาด เช่นยา Flumazenil
  • ใช้กระตุ้นประสาทหรือสมองหลังเข้ารับการผ่าตัด เช่นยา Flumazenil,
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่นยา Sinomenine
  • ใช้ลดอาการพิษของแอลกอฮอล์ เช่นยา Phaclofen
  • รักษาอาการอัลไซเมอร์ เช่นยา Homotaurine

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะเข้าแข่งขันกับสารสื่อประสาท กาบา (GABA) โดยเข้าจับกับตัวร้บ (Receptor)/กาบารีเซปเตอร์ (GABA receptor) ที่อยู่ในเซลล์ประสาท และออกฤทธิ์ตามธรรมชาติของยาแต่ละตัวจึงทำให้เกิดสรรพคุณในการรักษา

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

          ยา/สารในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาฉีด
  • เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาหรือการบริหารยาของยากลุ่ม กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย, และรวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการตามโรค, และที่มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

         เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์  พยาบาล  และเภสัชกร เช่น   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • วิงเวียน
  • ตาพร่า
  • ปวดหัว
  • ใบหน้าแดง
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • มีอาการหวาดกลัว
  • อาจพบอาการชักซึ่งมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับพิษอย่างรุนแรงจากยาลดอาการซึมเศร้า Tricyclic and related antidepressants, กลุ่มยา TCA)
  • ยาบางตัวในกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ยากลุ่มนี้อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานๆ
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยด้วยโรคทางจิตเวช
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากาบา แอนตาโกนิสต์ เช่นยา Flumazenil ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) จะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเบนโซไดอะซีปีนลดน้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษากาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

 ควรเก็บยากลุ่มกาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิด
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่ม กาบา รีเซปเตอร์ แอนตาโกนิสต์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anexate (อะเนเซท) Roche
Lanexat (แลนีแซท) Roche
Romazicon (โรมาซิคอน) Roche

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/GABA_receptor_antagonist  [2022,March5]
  2. http://www.druglib.com/activeingredient/picrotoxin/  [2022,March5]
  3. https://ocw.mit.edu/courses/experimental-study-group/es-s10-drugs-and-the-brain-spring-2013/handouts/MITES_S10S13_AlcohAntagow6.pdf   [2022,March5]
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/2556616/  [2022,March5]
  5. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1251/homotaurine  [2022,March5]