กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Angiogenesis Inhibitor/ Antiangiogenesis drug)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 20 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยา/เข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?
- กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Angiogenesis Inhibitor หรือ Antiangiogenesis drug) คือ ยาใช้รักษาโรคมะเร็งด้วยการต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่เซลล์มะเร็งใช้เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
*หมายเหตุ: กระบวนการสร้างหลอดเลือด (Angiogenesis) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของเซลล์ต่างๆ โดยร่างกายจะส่งสารสัญญาณเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเจริญเติบโต การสร้าง หรือการซ่อมแซมหลอดเลือด
‘เซลล์มะเร็ง’ มีพฤติกรรมการเติบโตเหมือนเซลล์ปกติทั่วไป แต่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าจึงมีความจำเป็นในการสร้างหลอดเลือดขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการเติบโตเพื่อให้เซลล์มะเร็งได้รับสารอาหารและออกซิเจนที่เพียงพอ ‘ด้วยกระบวนการนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนายาเพื่อต่อต้านการสร้างเซลล์หลอดเลือดใหม่ให้แก่เซลล์มะเร็ง ซึ่งคือ’ยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง’ที่จะกล่าวในบทความนี้
ปัจจุบัน กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายไทย ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: สำหรับรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย: เช่นยา บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)
- มะเร็งปอด: เช่นยา บีวาซิซูแมบ
- มะเร็งสมองชนิดกลีโอบลาสโทมา/ จีบีเอม/ GBM: เช่นยา บีวาซิซูแมบ, และเนื้องอกสมองชนิดซับอีเพนไดมัลไจแอนต์เซลล์แอสโทรไซโทมา (Subependymal Giant Cell Astrocytoma) เช่นยา เอเวอโรไลมัส (Everolimus)
- มะเร็งไต: เช่น ยาโซราฟินิบ (Sorafenib) ยาบีวาซิซูแมบ ยาซูนิทินิบ (Sunitinib) ยาพาโซพานิบ (Pazopanib) ยาเอเวอโรไลมัส
- มะเร็งตับปฐมภูมิชนิดเฮฟาโทเซลลูลาร์คาร์ซิโนมา (Hepatocellular Carcinoma): เช่น ยาโซราฟินิบ
- มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กชนิดเกี่ยวโยงกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/เนื้องอกจิสต์: เช่น ยาซูนิทินิบ
- มะเร็งเต้านมบางชนิด: เช่น ยาเอเวอโรไลมัส
- มะเร็งตับอ่อน ระยะแพร่กระจาย: เช่น ยาเอเวอโรไลมัส
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
การที่เซลล์จะเจริญเติบโตได้จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากเลือดไปหล่อเลี้ยง เซลล์มะเร็งก็เช่นกัน แต่การเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างรวดเร็วและต้องการสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดมาหล่อเลี้ยง ก้อนมะเร็ง/เซลล์มะเร็งจึงต้องสร้างเส้นเลือด/หลอดเลือดใหม่ซึ่งโดยปกติกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่จะมีการส่งสัญญาณจากร่างกายผ่านสารส่งสัญญาณ เช่น Vascular Endothelial Growth Factor (VEGF) มากระตุ้นตัวรับ (Receptor), ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะจับกับสารส่งสัญญาณที่กระตุ้นการเติบโตของเส้นเลือดเลี้ยงมะเร็ง จึงทำให้สัญญาณฯไม่สามารถกระตุ้นตัวรับได้ การส่งสัญญาณเพื่อกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่แก่เซลล์มะเร็งจึงล้มเหลว, จึงลดการเติบโตและ/หรือการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรง เช่น
- ก. ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab): เป็นยาน้ำชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Solution for Infusion) ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร
- ข. ยาโซราฟีนิบ (Sorafenib): เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- ค. ยาซูนิทินิบ (Sunitinib): เป็นยาเม็ดแคปซูลแข็งชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 12.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- ง. ยาพาโซพานิบ (Pazopanib): เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- จ. ยาเอเวอโรไลมัส (Everolimus): เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 0.25, 0.5, 0.75, 1, 2.5, 5 และ 10 มิลลกรัมต่อเม็ด และยาเม็ดชนิดแตกตัวได้เร็วในปาก (Dispersible Tablet) ขนาดความแรง 0.1 และ 0.25 มิลลิกรัมต่อเม็ด
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ขนาดการให้ยากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ขึ้นกับข้อบ่งใช้, ชนิดของมะเร็ง, น้ำหนักตัวและความสูงของผู้ป่วย, สมรรถภาพของตับและ/หรือไต, รวมถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้, ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยในแต่ละกรณี
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพรทุกชนิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
- ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็นหรือที่กำลังดำเนินอยู่อาทิ โรคความดันโลหิตสูง มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือด โรคหัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอก ประวัติโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคที เรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ประวัติการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) โรคตับ โรคไต หรือ โรคมะเร็งในส่วนอื่นๆ และประวัติการใช้รังสีรักษา
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร ผู้ป่วยชายที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรด้วยเช่นกันเพราะยากลุ่มนี้อาจปนมาในน้ำอสุจิได้
- ประวัติการเข้ารับการผ่าตัดรวมไปถึงการผ่าตัดในช่องปากหรือทันตกรรม หากมีนัดหมายเข้ารับการผ่าตัดใดๆในอนาคตควรแจ้งให้แพทย์และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่ม นี้อยู่
หากลืมรับประทานยา/เข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้วหากลืมรับประทานยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้, แต่หากใกล้มื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป แล้วทานมื้อยาถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า, แต่ยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีวิธีการรับประทานยาพิเศษ จึงควรสอบถามจากเภสัชกร/แพทย์ระหว่างการรับยานี้ทุกครั้ง
สำหรับชนิดยาฉีด หากไม่ได้รับยาตามนัดหมายให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุด
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประ สงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) *ซึ่งหากเกิดอาการดังจะกล่าวต่อไป ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด
อาการต่างๆ เช่น
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ผมร่วง
- ผิวแห้ง ผิวลอก หรือมีผื่นแดง คัน
- ปากคอแห้ง
- ความอยากอาหารลดลง
- การรับรสเปลี่ยนไป
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- ปวดข้อ
- ชาหรือปวดแปลบบริเวณ มือและเท้า
- ปวดหัว
- เสียงเปลี่ยนไป
*นอกจากอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอย่างรุนแรง เช่น
- มีอาการเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น มีจ้ำเลือด/ห้อเลือดเกิดขึ้นตามผิวหนัง อุจจาระมีสีดำเข้มและเหนียวหรือมีเลือดปน ปัสสาวะมีสีเข้ม อาเจียนสีเหมือนกาแฟ อาจปวดหัวรุนแรง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก หรือเป็นลม อาจเกิดอาการ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก และหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการเหมือนติดเชื้อบ่อยครั้ง มีแผลในช่องปาก หรือมีอาการเหมือนโรคดีซ่าน (คือตาขาวและผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) ปวดกรามอย่างรุนแรง มีอาการชาครึ่งซีก
- รวมไปถึงอาจมีอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว มีหนังตา/เปลือกตา ริมฝีปากเกิด อาการบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
- *หากเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมานี้ต้องเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยากลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายากลุ่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้ รับยากลุ่มนี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้าง เคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบไปโรงพยาบาลรีบด่วน/ทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันนัดหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เช่น
- ไม่ใช้ยากับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมโดยควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีขึ้นไปร่วมกันเพื่อป้องกันการตั้ง ครรภ์ให้ได้ 100%
- เมื่อแพทย์ให้หยุดทานยานี้แล้ว ฤทธิ์ของยานี้อาจอยู่ในร่างกายอีกระยะหนึ่ง ผู้ป่วยยังควรคุมกำเนิดต่อไป ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงระยะที่ยังจำเป็นต้องคุมกำเนิดภายหลังการ หยุดยานี้ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของยา
- หลีกเลี่ยงการผ่าตัดขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ปรึกษาแพทย์และแจ้งให้ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ก่อนการผ่าตัดใดๆ ทุกครั้งเนื่องจากแผลการผ่าตัดอาจหายได้ช้ากว่าปกติ
- ยานี้บางชนิดอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำขณะใช้ยานี้
- ยาซูนิทินิบอาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีผมจางลงซึ่งเป็นสีจากยาโดยไม่ ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด และสีผิว/สีผมจะกลับมาปกติหลังหยุดยานี้แต่อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือนนับจากหยุดยานี้
- ยาในกลุ่มนี้อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนแล้วหรือกำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จึงควรต้องรับการตรวจ จากแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
- แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนในปัสสาวะระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดรวมยากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้หลายชนิด เช่น
- การใช้ยาในกลุ่มนี้ฯโดยทั่วไปไม่ควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเดียวกัน หรือหากใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเดียวกัน หรือกับยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ และ/หรือกับยากดภูมิคุ้มกัน อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาต่างๆเพิ่มขึ้น
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine, วัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตแต่นำมาทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้ในภาวะร่างกายปกติ เช่น วัคซีนโรคหัด โรคหัดเยอรมัน คางทูม) ขณะได้รับยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นๆด้อยลงหรือผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆได้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาในกลุ่มที่อาจทำให้เกิดการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หัวใจ/EKG ที่เรียกว่า คิวทียาว (QT Prolongation) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งแสดงออกทางการเต้นของหัวใจ อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น ยาลีฟลูโนไมด์ (Leflunomide) ซึ่งเป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
- ยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้อีก ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์และ เภสัชกรทราบในขณะรับยากลุ่มนี้ว่ากำลังมีการใช้ยาอื่นๆอะไรอยู่บ้าง และเคยมีการใช้ยาอื่นๆชนิด ใดบ้างในอดีตในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมาเพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา
ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งอย่างไร?
ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง: เช่น
- ยาบีซาซิซูแมบซึ่งเป็นยาฉีด:
- ควรเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสงสว่าง/แสงแดด
- ควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายา
- ส่วนยากลุ่มนี้ชนิดเม็ดรับประทาน: โดยทั่วไป เช่น
- ควรเก็บในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในตู้เย็น เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาไม่ให้ถูกแสงแดด
*อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรสอบถามจากเภสัชกรทุกครั้งถึงวิธีการเก็บรักษายากลุ่มนี้ที่เหมาะสม เนื่องจากยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีวิธีการเก็บพิเศษที่แตกต่างออกไป
กลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็งมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาในกลุ่มยายับยั้งการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเซลล์มะเร็ง มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ ผลิตหรือจัดจำหน่าย เช่น
ชื่อสามัญทางยา | ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย |
---|---|---|
บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) | อวาสติน (Avastin) | บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด |
โซราฟีนิบ (Sorafenib) | เน็กซาวาร์ (Nexavar) | บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด |
ซูนิทินิบ (Sunitinib) | ซูเทนต์ (Sutent) | บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด |
พาโซพานิบ (Pazopanib) | โวเทรียนท์ (Votrient) | บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
เอเวอโรไลมัส (Everolimus) | เซอร์ทิแคน (Certican) และ แอฟินิเทอร์ (Afinitor) | บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Bevacizumab, Sunitinib, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;253-6,1993-6:2014.
- Gotink KJ, Verheul HM. Anti-angiogenic tyrosine kinase inhibitors: what is their mechanism of action? Angiogenesis 2010; 13(1):1–14.
- Phioanh (Leia) Nghiemphu, et al. Safety of anticoagulation use and bevacizumab in patients with glioma. Neuro Oncol (June 2008) 10 (3): 355-360.
- https://go.drugbank.com/ [2022,Aug20]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/125085s0169lbl.pdf [2022,Aug20]