ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง


บทนำคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? และนิยามไซนัส

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) คือ โรคเกิดจากไซนัส (โพรงอากาศที่อยู่ข้างๆโดยรอบของจมูก/Paranasal sinusเกิดอักเสบ ที่มักเป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของเยื่อบุโพรงไซนัสซึ่งมักเกิดร่วมกับการอักเสบติดเชื้อในจมูก เรียกโรคจากการอักเสบนี้ว่า โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) หรือโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Paranasal sinusitis)

ไซนัสอักเสบพบบ่อยทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ, พบทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ, ทั่วไป มากกว่า 0.5% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัด มีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบตามมา, ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้หูคอจมูก/เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือโรคหืดจะมีไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40-50%, ในสหรัฐอเมริกามีรายงานแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 24-31 ล้านคน และประมาณ 12.5% เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง 

นิยามไซนัส:

ไซนัส หรือโพรงอากาศข้างจมูก คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกส่วนใบหน้า มีทั้งหมด 4 คู่ (ข้างซ้าย และข้างขวา) คือ  

  • ไซนัสแมกซิลลา (Maxillary sinus): เป็นโพรงอากาศในกระดูกโหนกแก้ม เป็นไซนัสขนาดใหญ่ที่สุด และเกิดอักเสบบ่อยที่สุด
  • ไซนัสเอธมอยด์ (Ethmoid sinus): เป็นโพรงอากาศที่อยู่ระหว่าเบ้าตาและด้านข้างของจมูก
  • ไซนัสฟรอนตัล (Frontal sinus): เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกส่วนหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง
  • และไซนัสสฟีนอยด์ (Sphenoid sinus): เป็นโพรงอากาศอยู่ใกระดูกส่วนที่เป็นฐานสมอง

ทั้งนี้ ทุกๆไซนัสจะมีรูเปิดเข้าพรงจมูกตรงด้านข้างของโพรงจมูกด้านเดียวกับไซนัสนั้นๆ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาค ไซนัส)

ไซนัสอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ไซนัสอักเสบ

 

การอักเสบติดเชื้อของไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูก ถ้าเกิดขึ้นและรักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เรียกว่า การอักเสบเฉียบพลัน’, แต่ถ้ามีการอักเสบเรื้อรังนานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป เรียกว่า ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของ 'ไซนัสอักเสบเฉียบพลันโดยทั่วไปก่อน'ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังจะเป็นผลตามมาหลังเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันอีกที, สาเหตุที่พบได้เช่น

  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน: ระยะแรกเกิดจากเชื้อไวรัสโรคหวัด ซึ่งจะไปทำให้เยื่อจมูกอักเสบ และอาจอักเสบต่อเนื่องเข้าไปถึงในไซนัส, ต่อมาอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปก็จะหายได้เป็นปกติ
    • แต่ถ้าการติดเชื้อนั้นรุนแรง อาจมีการทำลายของเยื่อจมูกและเยื่อบุไซนัส ทำให้มีการบวมและมีพังผืด, เกิดการอุดตันของรูเปิดระหว่างไซนัสกับโพรงจมูก ร่วมกับการที่เซลล์ขน(Cilia/ที่มีหน้าที่ผลักดันสารคัดหลั่งในไซนัส)ไม่ทำงาน ก็จะทำให้การอักเสบกลายเป็น 'การอักเสบเรื้อรัง' ได้
  • ารติดเชื้อของฟัน: โดยเฉพาะฟันกรามน้อยและฟันกรามแถวบน โดยทั่วไปพบว่า ประมาณ 10% ของการอักเสบของไซนัสแมกซิลลจะมีสาเหตุจากฟันผุ (เพราะผนังด้านล่างของไซนัสแมกซิลลาจะติดกับรากฟันดังกล่าว) บางรายจะแสดงอาการชัดเจนภายหลังที่ไปถอนฟันแล้วเกิดรูทะลุระหว่างไซนัสแมกซิลลาและเหงือก (Oroantral fistulaขึ้น
  • โรคติดเชื้ออื่นๆของระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคไอกรน
  • การว่ายน้ำ ดำน้ำ: ซึ่งอาจเกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและในไซนัสได้ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคเข้าไปด้วย ทำให้เกิดการอักเสบได้, นอกจากนี้ สารคลอรีน (Chlorine) ในสระว่ายน้ำ ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุไซนัสได้
  • การกระทบกระแทกอย่างแรงบริเวณใบหน้า: อาจทำให้ไซนัสโพรงใดโพรงหนึ่งแตกหัก ช้ำบวม หรือมีเลือดออกภายในโพรง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้
  • มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก: เช่น เมล็ดผลไม้ จึงก่อการอุดตันโพรงจมูก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อทั้งในโพรงจมูก และในไซนัส
  • จากการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบๆตัวทันที (Barotrauma หรือ Aero sinusitis):เช่น ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด และการดำน้ำลึก เป็นต้น, ถ้ารูเปิดของไซนัสขณะนั้นบวมอยู่ เช่น กำลังเป็นหวัด หรือโรคภูมิแพ้หูคอจมูกกำเริบ จะส่งผลให้เยื่อบุบวมมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการหลั่งของเหลว/สารคัดหลั่งออกมา หรือมีเลือดออกได้ จึงก่อการอักเสบขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยที่ไซนัสรอนตั

*อนึ่ง: การที่ 'ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน' จะกลายเป็น 'ไซนัสอักเสบเรื้อรัง' ได้นั้น จะต้องมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อ, ปัจจัยเกี่ยวกับการถ่ายเทของสารคัดหลั่งในไซนัส,  ปัจจัยที่เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้, และปัจจัยที่เกี่ยวกับการรักษา

1. ปัจจัยที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น

  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ย่านโรงงาน หรือ ชุมชนแออัด
  • ความต้านทานของร่างกายไม่ดี เช่น ขาดอาหาร มีภาวะโลหิตจาง หรือ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง

2. ปัจจัยเกี่ยวกับการถ่ายเทของสารคัดหลั่งในไซนัส: เช่น

  • โรคหรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส เช่น
    • เยื่อบุจมูกบวม เนื่องจากโรคภูมิแพ้หูคอจมูก
    • แกน/ผนังกั้นระหว่างรูจมูกซ้ายและขวาเอียง (Deviated nasal septum)หรือมีเดือย/กระดูกงอกที่แกน/ผนังกั้นจมูก (Septal spur)
    • ผนังด้านข้างของโพรงจมูกโค้งงอผิดรูป (Paradoxical turbinate)
    • มีเซลล์ผิดปกติขนาดใหญ่ในผนังด้านข้างของจมูก เรียกว่า เซลล์อากาศ (Air cell) ทำให้ผนังดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จนก่อให้เกิการอุดตันรูเปิดของโพรงอากาศ
    • โรคริดสีดวงจมูก หรือ เนื้องอกในโพรงหลังจมูก
    • ต่อมอะดีนอยด์โต หรือ มีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเด็กเป็นเวลานานๆ เช่น เมล็ดผลไม้ต่างๆ
    • ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใส่สายให้อาหารทางจมูก อยู่เป็นเวลานาน
  • โรคหรือภาวะที่ทำให้เซลล์ขน(Cilia) ซึ่งเป็นเซลล์ผลักดันสารคัดหลั่งออกจากไซนัสเสียไป จึงเกิดการคั่งของสารคัดหลั่งในไซนัส จึงเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ เช่น ในภาวะหลังเป็นโรคหวัด

3. ปัจจัยที่เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้: จะส่งผลให้เกิดการบวมของเยื่อจมูก เยื่อบุไซนัส และรูเปิดไซนัสบวม จึงมีสารคัดหลั่งคั่งในไซนัส ก่อการติดเชื้อได้

4. ปัจจัยที่เกี่ยวกับการรักษา: เช่น การที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เพียงพอในขณะที่เป็นไซนัสอักเสบระยะเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเองขาดการรักษาต่อเนื่อง

ไซนัสอักเสบเกิดได้อย่างไร?

กลไกการเกิดไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ:

  • เริ่มจากระยะอักเสบเฉียบพลัน: โดยแบคทีเรีย จะก่อให้เกิดการอักเสบ บวม ของเยื่อบุไซนัส และเกิดการบวมตีบตันของรูเปิดจากไซนัสเข้าโพรงจมูก ทำให้มีภาวะออกซิเจนต่ำเกิดขึ้นภายในไซนัส ทำให้มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเพิ่มขึ้น
  • นอกจากนี้ในภาวะออกซิเจนต่ำ ประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ต่อต้านแบคทีเรีย ยิ่งลดลง จึงส่งผลให้เซลล์ขนไม่ทำงาน และถูกทำลาย การกำจัดสารคัดหลั่งออกจากไซนัส จึงทำได้ยาก
  • ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะเกิดเป็น 'การอักเสบเรื้อรัง'
    • เยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัสจะบวมเรื้อรัง และเกิดเป็นพังผืด กลายเป็นก้อนเนื้อที่เรียกว่า ริดสีดวงจมูก และ/หรือ ริดสีดวงไซนัสได้ ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส และในโพรงไซนัส
    • ดังนั้นในการรักษา 'ไซนัสอักเสบเรื้อรัง' จึงต้องผ่าตัดเอาริดสีดวงและเยื่อบุที่เสียออก ร่วมกับทำทางระบายสารคัดหลั่งจากไซนัสเข้าโพรงจมูก
  • ใน 'การอักเสบเฉียบพลัน' ของไซนัส มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด,
  • แต่เมื่อเป็น 'การอักเสบเรื้อรัง':
    • มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Streptococci, Staphylococ cus, Haemophilus influenzae, Klebsiella pneumoniae, Bacteroidesmelaninogenicus,
    • แต่ส่วนน้อย อาจจากการติดเชื้อราได้ เช่น Aspergillus และ Dematiaceous fungi

ไซนัสอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ เช่น

  • มีน้ำมูกข้นในจมูก, หรือมีน้ำมูก/สารคัดหลั่งไหลลงคอ, จัดเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของ 'ไซนัสอักเสบเรื้อรัง' น้ำมูกบางครั้งอาจมีสีเหลืองเขียว หรือ เป็นสีน้ำตาลก็ได้ มักจะมีกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นคาวด้วย น้ำมูกข้นที่ไหลลงคอนี้ ผู้ป่วยอาจให้ประวัติว่าเป็นเสมหะและมักพบมากหลังตื่นนอนเช้า
  • คัดจมูก: เกิดจากการบวม หรือหนาตัวของเยื่อจมูก, หรืออาจเกิดจากการที่มีหนองข้นค้างอยู่ในโพรงจมูก, หรืออาจมีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย
  • จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นลดลง
  • เจ็บคอ ระคายคอ ไอ และเสียงแหบ: เกิดจากการที่หนอง/สารคัดหลั่งไหลผ่านลงไปในคอเป็นประจำต่อเนื่อง ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุลำคอ กล่องเสียง และหลอดลม, ผู้ป่วยบางรายจึงมีโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย ทำให้มีอาการไอ เสมหะมาก จนอาจบดบังอาการของไซนัสอักเสบที่เป็นต้นเหตุได้
  • อาการปวดหัว: พบบ่อยใน 'การอักเสบชนิดเฉียบพลัน' โดยปวดในตำแหน่งของไซนัส แต่ ในไซนัส สฟีนอยด์อักเสบเฉียบพลัน จะปวดที่กลางกระหม่อม
  • อาการทางหู: เช่น ปวดหู หูอื้อ พบได้ในบางราย เป็นผลจากการอุดตันของท่อยูสเตเชียน (ท่อเชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับลำคอ)ซึ่งเกิดตามมาจากลำคออักเสบ มักพบบ่อยในเด็ก

แพทย์วินิจฉัยไซนัสอักเสบได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบได้จาก

ก. ประวัติอาการ: ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ

ข. การตรวจร่างกาย: เช่น

  • การตรวจในโพรงจมูก: มักพบว่าเยื่อบุจมูกบวมแดง อาจพบมีหนองหรือมูก บางรายอาจพบหนองตามตำแหน่งที่มีรูเปิดของไซนัส
  • อาการเจ็บ: โดยเมื่อกดลงบนใบหน้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ
    • จุดกดเจ็บของไซนัสแม็กซิลล่า อยู่ที่ผนังด้านหน้าชิดกับจมูก
    • จุดกดเจ็บของไซนัสฟรอนตัอยู่ที่ใต้หัวคิ้วใกล้กับดั้งจมูก หรืออาจจะเคาะเบาๆที่บริเวณหน้าผากซึ่งถ้ามีการอักเสบจะรู้สึกเจ็บ
    • จุดกดเจ็บของไซนัสเอธมอยด์อยู่ที่บริเวณหัวตา
    • ส่วนไซนัสสฟีนอยด์ไม่สามารถตรวจได้เนื่องจากอยู่ลึกมาก
  • แต่ทั้งนี้ ในไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการกดเจ็บอย่างชัดเจน ยกเว้นแต่มีการอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน
  • การตรวจในช่องปาก:
    • อาจพบมี 'หนอไหลจากโพรงหลังจมูกลงมาบนผนังลำคอ เรียกว่า 'Postnasal drip' ซึ่งเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัย 'ไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ค่อนข้างจะแน่นอนอย่างหนึ่ง
    • อาจพบผนังลำคอเป็นตุ่ม ขรุขระ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อน้ำเหลืองในช่องคอโตขึ้น จากต้องทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับหนองจากไซนัส ซึ่งไหลลงมาในลำคอเป็นประจำ แต่ลักษณะขรุขระนี อาจจะพบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หูคอจมูก, คอหอยอักเสบ/คออักเสบ, และผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมทอนซิล,
    • และอาจพบมีฟันผุโดยเฉพาะฟักรามบน  

. การตรวจพิเศษ: เช่น

  • ตรวจเพื่อดูการผ่านทะลุของแสง (Transillumination test) ใช้ช่วยการวินิจฉัยการอักเสบของ ไซนัสแม็กซิลล่า และของไซนัสฟรอนตั ถ้าไซนัสไม่มีแสงสว่างผ่านลอดไปได้เลยจะช่วยบอกว่ามีโรคได้อย่างแม่นยำ, แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 10ปี วิธีนี้มักไม่ได้ประโยชน์เพราะเยื่อบุและผนังกระดูกเด็กที่ล้อมไซนัส มักจะหนากว่าผู้ใหญ่ แสงจึงมักผ่านไม่ได้  
  • การถ่ายภาพไซนัสด้วยเอกซเรย์
  • การตรวจด้วยการส่องกล้องโพรงจมูก (Nasal endoscopy)
  • การถ่ายภาพไซนัสด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน: เป็นวิธีดีที่สุดในการตรวจหาพยาธิสภาพของไซนัสในปัจจุบัน แต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างสูง
  • การถ่ายภาพไซนัสด้วยเอมอาร์ไอ: ใช้แยกก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำออกจากของเหลว
  • การตรวจภาพไซนัสด้วยอัลตราซาวด์: สามารถตรวจหาหนองในโพรงไซนัสได้ดี
  • การเจาะไซนัส (Antral proof puncture): ใช้ตรวจไซนัสแมกซิลลา
  • Sinuscopy/การส่องกล้องตรวจในไซนัส: ปัจจุบันเกือบจะเข้ามาแทนที่วิธีเจาะไซนัส Antral proof puncture โดยทำต่อจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดาของไซนัสสำหรับผู้ป่วย 'ไซนัสแม็กซิลล่าอักเสบเรื้อรัง' ถ้าพบหนองก็สามารถเก็บตัวอย่างส่งเพาะเชื้อ และล้างหนองได้ในคราวเดียวกัน, ถ้าพบเป็นถุงน้ำ หรือ ริดสีดวงขนาดเล็กก็จะตัดออกผ่านทางกล้องส่องได้, นอกจากนี้ การเห็นพยาธิสภาพและการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุและของรูเปิดไซนัสด้วยตาโดยตรง ทำให้สามารถวินิจฉัยและวางแผนให้การรักษาไซนัสอักเสบที่เหมาะสมต่อไปได้อย่างเหมาะสม

ต้องวินิจฉัยแยกโรคไซนัสอักเสบจากโรคอะไรบ้าง?

ไซนัสอักเสบ/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบมีอาการคล้ายกับหลายโรค แพทย์จึงต้องวินิจฉัยแยกจากโรคเหล่านั้น เช่น

  • โรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการโรคหวัดเรื้อรัง: เช่น โรคภูมิแพ้หูคอจมูก, และริดสีดวงจมูก, เป็นต้น
  • โรคที่ทำให้เกิดอาการปวหัว และ/หรือปวดบริเวณจมูกและใบหน้า เช่น
    • โรคของฟัน เช่น ฟันผุ โรคของรากฟัน และ/หรือโรคของเหงือก เช่น เหงือกอักเสบ
    • โรคของข้อขากรรไกร (Temporomandibular joint syndrome หรือ Costen’s syndrome): ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เคี้ยวอาหารแข็งเสมอ ข้อเคลื่อน ข้อเสื่อมตามอายุ หรือจากอุบัติเหตุของข้อ
    • โรคของประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigeminal neuralgia หรือ Tic douloureauxซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าเส้นประสาทเส้นนี้อาจถูกรบกวน หรือถูกกดเบียดทับจากเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น หลอดเลือด
    • ปวดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ที่ดูแลารทำงานของลิ้นและคอหอย (Glossopharyngeal neuralgia): ทำให้ปวดในช่องปากแล้วร้าวไปหู โดยมีจุดกระตุ้นให้เกิดการปวด (trigger point) อยู่ที่ผนังคอ, ต่อมทอนซิล,หรือเพดานอ่อน, และอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้จากการหาว ดื่มน้ำเย็น หรือการถูกสัมผัสโดยตรง, ซึ่งการกระตุ้นนั้นทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้จากประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ (Vagal-mediated bradyarrhythmias) แต่อาการปวดจะต่างจากปวดจากโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ
    • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองที่ทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ โดยเฉพาะหลอดเลือดของศีรษะ/หลอดเลือดขมับอักเสบ (Temporal arteritis)
    • โรคปวดศีรษะไมเกรน  
    • โรคปวดศีรษะจากเครียด(Tension headache)
    • โรคตา: ที่พบบ่อยคือ ภาวะกล้ามเนื้อตาล้าหลังใช้สายตามากและอาจมีภาวะสายตาผิดปกติร่วมด้วย
    • เนื้องอก หรือ มะเร็งสมอง หรือ มะเร็งโพรงหลังจมูก
    • โรคติดเชื้อทั้งจากไวรัสและ/หรือแบคทีเรีย ซึ่งทำให้ มีไข้ และปวดหัว และบางชนิดอาจทำให้มีอาการเยื่อจมูกอักเสบร่วมด้วย เช่น โรคหัด และโรคไทฟอยด์เป็นต้น
  • โรคที่ทำให้เกิดการบวมที่ใบหน้า: เช่น อาการแพ้จากแมลงกัดต่อย, เนื้องอก และโรคภูมิต้านตนเองบางชนิด เป็นต้น

รักษาไซนัสอักเสบอย่างไร?

หลักในการรักษาไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบโดยเฉพาะอักเสบเรื้อรังมี ประการ คือ  

  • รักษาการติดเชื้อ
  • ทำให้การระบายของโพรงอากาศดีขึ้น
  • รักษาโรคหรือสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

แต่ในทางปฏิบัติ อาจแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธี คือ การรักษาแบบอนุรักษ์, และการรักษาแบบถอนรากถอนโคน

ก. การรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative treatment): คือการรักษาด้วยยา และอาจใช้หัตถการเล็กน้อย/การผ่าตัดเล็กร่วมด้วย มักใช้ในรายที่เป็น ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หรือรายที่เป็นเรื้อรัง ที่ไซนัสยังไม่บาดเจ็บเสียหายมาก จึงอาจฟื้นกลับคืนเป็นปกติได้ การรักษาประกอบด้วย

  • การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ: เช่น
    • กลุ่ม Penicillin และ Cephalosporin เช่น Amoxycillin, Amoxycillin + clavulanate
    • กลุ่ม Macrolide เช่น Erythromycin,   Clindamycin
    • กลุ่ม Tetracycline เช่น Doxycycline
    • กลุ่ม Sulfonamide เช่น Trimethoprim + Sulfamethoxazole
    • กลุ่ม Quinolone ไม่ควรใช้ในเด็ก และในแม่ที่กำลังให้นมบุตร

อนึ่ง: ในการให้ยาต้านจุลชีพต้องให้ขนาดสูงพอและให้ต่อเนื่อง นาน   พอที่จะทำให้เชื้อโรคถูกกำจัดหมดไป โดยทั่วไปให้นานประมาณ 3-4 สัปดาห์

  • ยาลดบวม แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    • ยาหดหลอดเลือด: ได้แก่ ยาในกลุ่ม Decongestants ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อลดบวม มีทั้งชนิด กิน พ่น และหยอดจมูก,
      • มีข้อเสีย เช่น ถ้าใช้ต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื้อเยื่อจะกลับมาบวมอีกได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้พ่น,
      • ในรายไซนัสอักเสบเฉียบพลัน แนะนำให้ใช้ยาพ่นใน 2-3 วันแรกเท่านั้น
    • ยาต้านการอักเสบ (Antiinflammatory agents) เช่น
      • เอนไซม์ (Enzymes) ชนิดต่างๆ, ชนิดกิน เช่น Alpha Chymotrypsin, Papase และ Lysozyme มีฤทธิ์ลดการบวมรวมทั้งช่วยในการละลายมูกหนองหรือเสมหะให้เหลว,
      • และยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids) โดยเฉพาะในรูปแบบของยาเฉพาะที่ เพราะเชื่อว่าช่วยลดการบวมอักเสบของเยื่อบุได้เร็วโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาและการติดเชื้อ, เพื่อให้การบวมอักเสบของเยื่อบุลดลงทำให้ร่างกายขับของเสียโดยใช้การขนส่งทาง Mucocillia ได้ตามปกติซึ่งทำให้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านจุลชีพ
  • ยาละลายมู: มีฤทธิ์ละลายมูกโดยตรง เช่นยา Bromhexine, และ Ambroxol hydro chloride เชื่อว่านอกจากจะช่วยละลายมูกและหนองให้ไหลออกง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การหลั่งมูกลดลงจนเป็นปกติด้วย
  • ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ยาต้านฮิสตามีน(Antihistamines)/ยาแก้แพ้: ใช้ในรายที่มีโรคภูมิแพ้หูคอจมูก อยู่ด้วยเท่านั้น, เพราะการให้ยาต้านฮิสตามีนอาจมีผลเสีย เช่น ทำให้น้ำมูกแห้งเหนียว จนทำให้เซลล์ขนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • การผ่าตัดเล็ก: มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
    • ช่วยแก้การอุดตัน: เพื่อให้การถ่ายเทอากาศและของเสียจากไซนัสเข้าสู่พรงจมูกดีขึ้น และช่วยล้างหนองในไซนัส เช่น การเจาะล้างไซนัส, การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกที่คด, การผ่าตัดริดสีดวงจมูก, การผ่าตัดเอากระดูกจมูกที่โตมากออกบางส่วน, เป็นต้น
    • ช่วยแก้ไขแหล่งติดเชื้อ: เช่น ถอนฟันที่ผุ, ผ่าตัดต่อมทอนซิล, และ/หรือผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ที่อักเสบเรื้อรัง

*****หมายเหตุ การใช้ยาทุกชนิดในการรักษาโรคไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะ 'ยาปฏิชีวนะ' ควรต้องเป็นการรักษาจากแพทย์เท่านั้น เพื่อการได้ชนิดยา,ปริมาณยา, วิธีใช้ยา, และระยะเวลาใช้ยา, ที่เหมาะสมกับโรค เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

ข. การรักษาแบบถอนรากถอนโคน (Radical treatment): คือการผ่าตัดเปิดเข้าไปในไซนัสที่อักเสบเรื้อรังนั้น ถ้าพบพยาธิสภาพ เช่น เยื่อบุหนามาก มีหนองขัง มีการบวมจนเกิดเป็ริดสีดวงขึ้น หรือเกิดการอุดตันของต่อมสร้างน้ำมูกเกิดเป็นถุงเมือกต่างๆ เช่นที่เรียกว่า Mucocele ต้องผ่าตัดเอาออกทั้งหมด และขยายรูเปิดของไซนัสให้กว้างขึ้น ซึ่งการผ่าตัดมีหลายเทคนิค ทั้งการผ่าตัดโดยไม่ใช้กล้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง, ทั้งนี้การจะใช้เทคนิคใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ป้องกันไซนัสอักเสบเกิดซ้ำได้อย่างไร?

การป้องกันไซนัส/พรงอากาศข้างจมูกอักเสบเกิดซ้ำ ทั่วไปคือ การพยายามแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้อีก โดยมุ่งตามประเด็นต่อไปนี้ เช่น

  • ปัจจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อ: เช่น แนะนำผู้ป่วยให้ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี, พักผ่อนให้เพียงพอ, กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบถ้วนทุกวัน, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ถ้ามีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจตอนบน เช่น โรคหวัด คออักเสบ หรือฟันผุ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว
  • ปัจจัยเกี่ยวกับการถ่ายเทระบายสารคัดหลั่งของไซนัส: โดยการรักษาแก้ไขให้เหมาะสม เช่น โรคภูมิแพ้หูคอจมูก ริดสีดวงจมูก แกนจมูกเอียง เป็นต้น

ไซนัสอักเสบมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ เช่น

  • คออักเสบและ/หรือกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง จากการที่หนองไหลลงลำคอต่อเนื่อง
  • การกระจายของการติดเชื้อไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น
    • กระดูกส่วนที่เป็นผนังของไซนัส: ก่อให้เกิดกระดูกอักเสบติดเชื้อ
    • การอักเสบอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้า: เกิดเนื้อเยื่ออักเสบ หรือเกิดเป็นฝีได้
    • อาจอักเสบทะลุมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นช่องติดต่อระหว่างผิวหนังกับไซนัสได้
    • หรืออาจอักเสบติดเชื้อลุกลามเข้ากะโหลกศีรษะ ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบได้
  • โรคแทรกซ้อนที่เกิดบริเวณฟัน: มักเกิดตามหลังการถอนฟันกรามน้อย โดยเกิดรูทะลุเข้าไปในไซนัส ทำให้มีหนองระบายออกมาที่รูที่ถอนฟัน
  • เกิดเป็นถุงเมือกต่างๆในไซนัส (Mucocele และ Pyocele): เมื่อถุงนี้มีขนาดใหญ่จะดันผนังของไซนัสส่วนที่ไม่แข็งแรงให้โป่งออกช้าๆ, พบบ่อยที่ 'ไซนัสฟรอนตัล' ส่งผลให้ลูกตาถูกดันออกไปอยู่ผิดที่ คือไปอยู่ ด้านล่างและด้านข้าง
  • โรคแทรกซ้อนที่เกิดกับตา เช่น หนังตาบวม, การอักเสบติดเชื้อของหนังตาและของเนื้อเยื่อรอบๆลูกตา

เมื่อมีอาการไซนัสอักเสบควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการของไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ ดังกล่าวแล้วใน 'หัวข้อ อาการฯ' ทั่วไปควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

  • มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเกิน 10 วัน โดยเฉพาะหากน้ำมูกเปลี่ยนสีจากใสเป็นขาวขุ่น หรือเหลือง หรือเขียว หรือสีต่างๆ
  • หายใจได้กลิ่นน้อยลง หรือหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดฟันบนซี่ใน (ฟันกรามน้อย และ/หรือฟันกราม)
  • ไอเรื้อรัง มีเสมหะ/สารคัดหลั่งไหลลงคอ

ไซนัสอักเสบรักษาหายไหม? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้โรครุนแรง?

ไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ รักษาหายได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และเพื่อการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคไซนัสอักเสบรุนแรง:

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคไซนัสอักเสบรุนแรง คือ การมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ' (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) แต่โดยสรุป คือ

  • ปัจจัยที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ: เช่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ย่านโรงงาน หรือ ชุมชนแออัด, หรือมีภูมคุ้มกันต้านทานโรคไม่ดี เช่น ขาดอาหาร เป็นต้
  • ปัจจัยเกี่ยวกับการถ่ายเทระบายสารคัดหลั่งของไซนัส: เช่น
    • มีโรคหรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส เช่น เยื่อบุจมูกบวมเนื่องจากโรคภูมิแพ้หูคอจมูก
    • ต่อมอะดีนอยด์โต หรือ มีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเป็นเวลานานๆ เช่น เมล็ดผลไม้
    • ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือ ใส่สายให้อาหารทางจมูก อยู่เป็นเวลานาน
    • โรคหรือภาวะที่ทำให้เซลล์ขนเสียหาย เช่น ในภาวะหลังโรคหวัด
  • ปัจจัยที่เกี่ยวกับมีโรคภูมิแพ้ทุกกลุ่ม
  • ปัจจัยที่เกี่ยวกับการรักษา: เช่น การที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เพียงพอในขณะที่เป็นการอักเสบระยะเฉียบพลัน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นไซนัส/โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ ที่สำคัญ เช่น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก
  • อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่ออาการแพ้
  • หลีกเลี่ยงควัน และกลิ่นที่ผิดปกติ
  • ไม่ว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ ขณะที่มีการติดเชื้อในช่องจมูก
  • ทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัด: เมื่อ
    • ใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น 
    • หรือ อาการแย่ลง เช่น หลังรักษาแล้ว 3 วัน ยังมีไข้ น้ำมูกข้น เหนียว ไอมากขึ้น
    • หรือ มีอาการปวดตามตำแหน่งของโพรงอากาศข้างจมูก
    • และ มีอาการของภาวะผลข้างเคียงแทรกซ้อน ดังกล่าวแล้วใน  'หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ' เช่น ตาบวมแดงข้างเดียวกับที่มีไซนัสอักเสบ, หรือ มีการมองเห็นลดลง เป็นต้น

ป้องกันไซนัสอักเสบได้อย่างไร?

เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเกิดไซนัส/โพรงากาศข้างจมูกอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงได้ที่สำคัญ เช่น

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ  
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่ออาการแพ้ 
  • หลีกเลี่ยงควัน และกลิ่นที่ผิดปกติ
  • อย่าให้ร่างกายต้องปรับเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเกินไป เช่น การเข้าๆ ออกๆห้องปรับอากาศ หรือ อยู่ในรถยนต์ที่ตากแดดร้อนๆ เป็นต้น 
  • ลด หรือ งดการดื่มสุรา เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มอื่นที่มีแอลกอฮอล  
  • ไม่สูบบุหรี่, เลิกบุหรี่
  • ไม่ว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ ขณะที่มีการติดเชื้อในช่องจมูก 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sinusitis   [2023,March11]