ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ริดสีดวงจมูกเกิดได้อย่างไร?
- ริดสีดวงจมูกมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ริดสีดวงจมูกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยริดสีดวงจมูกอย่างไร?
- รักษาริดสีดวงจมูกอย่างไร?
- ริดสีดวงจมูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ริดสีดวงจมูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันริดสีดวงจมูกอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- ซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ริดสีดวงจมูก(Nasal polyp) คือ โรคที่มีก้อนเนื้อที่ 'ไม่ใช่มะเร็ง' เกิดผิดปกติในโพรงจมูก และ/หรือในไซนัส(Paranasal sinus,โพรงอากาศที่อยู่รอบๆจมูก) มีลักษณะรูปร่างคล้ายผลองุ่นหรือหยดน้ำตา นุ่ม และผิวเรียบ ที่มีขนาดได้ต่างๆตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซ็นติเมตร อาจพบมีก้อนเดียว หรือหลายก้อน มักพบเกิดในโพรงจมูก/โพรงไซนัสทั้ง2ข้างพร้อมกัน แต่พบเกิดด้านเดียวได้ โดยทั้งด้านซ้ายและด้านขวา มีโอกาสเกิดได้เท่ากัน ซึ่งก้อนเนื้อนี้เกิดจากการบวมเรื้อรังจากการอักเสบเรื้อรัง(อาจอักเสบจากติดเชื้อและ/หรือไม่ติดเชื้อก็ได้)ของเนื้อเยื่อเมือกบุโพรงจมูกและ/หรือบุไซนัส และยังไม่มีรายงานว่าก้อนเนื้อนี้กลายเป็นมะเร็ง
ริดสีดวงจมูก พบทุกเชื้อชาติ ทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบน้อยในเด็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 10 ปี มักพบในผู้ใหญ่ช่วงอายุมากกว่า40ปี สถิติเกิดทั่วโลกใกล้เคียงกัน ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบในเด็ก ประมาณ 0.1% ของเด็กทั้งหมด และพบในผู้ใหญ่ประมาณ 0.2-28% ในผู้ใหญ่พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง ประมาณ2-4เท่า แต่ในเด็กพบในเด็กหญิงและเด็กชายใกล้เคียงกัน
ริดสีดวงจมูกเกิดได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบกลไกที่แท้จริงของการเกิดริดสีดวงจมูก แต่เชื่อว่าอาจเกิดได้จาก 3 กลไกหลัก
ก. จากมีการอักเสบเรื้อรังที่อาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง เช่นจาก แบคทีเรีย หรือ โรคเชื้อรา หรือการอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้หูคอจมูก ที่ส่งผลให้เกิดการบวมเรื้องรังของเนื้อเยื่อเมือกบุโพรงจมูกและบุโพรงไซนัส ซึ่งการอักเสบบวมเรื้อรังนี้จะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อเมือกฯทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อของเนื้อเยื่อเมือกฯขึ้น
ข. จากการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดของเยื่อเมือกในโพรงจมูกและในไซนัส ส่งผลให้มีของเหลวไหลออกจากหลอดเลือด ส่งผลต่อเนื่องถึงการบวมเรื้อรังของเนื้อเยื่อเมือกในโพรงจมูกและ/หรือในไซนัสจนเกิดเป็นก้อนเนื้อของเยื่อเมือกฯตามมา
ค. จากมีการไหลเวียนอากาศ/ลมในโพรงจมูกและในไซนัสที่ผิดปกติจากการตีบแคบของทางเดินอากาศในอวัยวะทั้งสอง จึงส่งผลให้เกิดการบวมอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเมือกโพรงจมูกและของไซนัส จนเกิดเป็นก้อนเนื้อเยื่อเมือกฯตามมาในที่สุด
ริดสีดวงจมูกมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวงจมูก ได้แก่ สาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบ การบวม เรื้อรัง ของเนื้อเยื่อเมือกบุโพรงจมูกและ/หรือบุไซนัส เช่น
- โรคหืด
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะจากโรคเชื้อรา
- การแพ้ยา Aspirin
- โรคทางพันธุกรรมบางโรคที่มีการผิดปกติในการทำงานของเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะต่างๆที่รวมถึง โพรงจมูก และไซนัส เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)
- อาจจากพันธุกรรมผิดปกติชนิดที่ทำให้เนื้อเยื่อเมือกไว/ตอบสนองต่อสารต่างๆง่ายกว่าคนทั่วไป เนื้อเยื่อเมือกจึง อักเสบ บวม เรื้อรัง ได้ง่าย
ริดสีดวงจมูกมีอาการอย่างไร?
อาการโรคริดสีดวงจมูก คือ อาการจากก้อนริดสีดวงอุดกั้นทางเดินลมหายใจโดยอาการพบบ่อย เช่น
- มองเห็นมีก้อนเนื้อ ผิวเรียบ ค่อนข้างกลมหรือคล้ายหยดน้ำ นิ่ม สีออกเหลือง หรือเทา หรือ ชมพู อยู่ในโพรงจมูก อาจมองเห็นจากรูจมูกด้านหน้าหรือด้านหลังของโพรงจมูกที่เปิดออกในลำคอ และ/หรือมีก้อนเนื้อในไซนัส
- แน่น คัดจมูก เรื้อรัง
- มีน้ำมูก ข้นเหนียวเรื้อรัง อาจขาวข้นถ้าไม่มีการติดเชื้อ แต่อาจมีสีเขียว เหลือง หรือสีอื่นๆ ร่วมกับมีกลิ่น เมื่อมีการติดเชื้อร่วมด้วย
- เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น หรือมีน้ำมูกมาก จะทำให้หายใจทางจมูกลำบาก จึงมักหายใจทางปากร่วมด้วย
- จมูกได้กลิ่นลดลง หรือไม่ได้กลิ่น
- ปวดศีรษะเรื้อรัง
- มีเลือดเกาเดาบ่อย จากมีเลือดออกที่ก้อนเนื้อ
- นอนกรน
- มีน้ำมูกไหลลงคอ โดยเฉพาะถ้าก้อนเนื้อเกิดด้านหลังของโพรงจมูก
- บางคนอาจมีเสียงแหบเป็นๆหายๆเรื้อรังจากกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังจากน้ำมูกที่ไหลลงคอ
- ลมหายใจมีกลิ่น กรณีมีการติดเชื้อเรื้อรัง
- มีอาการของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยริดสีดวงจมูกอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคริดสีดวงจมูกได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย และ การตรวจทางหูคอจมูก
- ส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกและ/หรือในโพรงไซนัส และอาจมี
- การสืบค้นเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์, เอกซเรยคอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ จมูกและไซนัส รวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อฯเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาริดสีดวงจมูกอย่างไร?
การรักษาริดสีดวงจมูกมีหลายวิธี ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและขนาดก้อนเนื้อ ทั้งนี้ จะเลือกวิธีใดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งวิธีรักษาต่างๆ เช่น
- ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดยาพ่นจมูก หรือ ชนิดยาหยอดจมูก กรณีก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก และผู้ป่วยมีอาการไม่มาก
- กินหรือฉีดยาสเตียรอยด์ กรณีก้อนเนื้อโต หรือ การรักษาด้วยการพ่นยาไม่ได้ผล
- ผ่าตัดก้อนเนื้อออกด้วยวิธีผ่าตัดทั่วไป/วิธีธรรมดา (Simple surgery) แพทย์มักเลือกใช้เมื่อการใช้ยาไม่ได้ผล
- ผ่าตัดผ่านกล้อง (Endoscopic sinus surgery) กรณีผ่าตัดด้วยวิธีธรรมดาแล้วโรค ย้อนกลับเป็นซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยยาอื่นๆตามอาการผู้ป่วย เช่น ยาแก้แพ้, ยาปฏิชีวนะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรากรณีมีโรคเชื้อรา และยาแก้ปวดบรรเทาอาการปวดหัว เป็นต้น
ที่สำคัญอีกประการ คือ ถ้าหาปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุได้ การรักษาจะต้องรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงนั้นๆควบคู่ไปด้วย เช่น รักษาโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้หูคอจมูก
ริดสีดวงจมูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค คือ
- ริดสีดวงจมูกเป็นก้อนเนื้อที่’ไม่ใช่มะเร็ง’ และยังไม่มีรายงานว่า กลายเป็นมะเร็ง
- เป็นโรคที่ไม่ทำให้ถึงตายถ้าไม่เกิดผลข้างเคียงจากติดเชื้อที่รุนแรงจนลุกลามเข้าสมอง
- เป็นโรคที่เป็นๆหายๆ
- และมักกลับเป็นซ้ำได้เสมอถึงแม้จะผ่าตัดรักษาแล้วก็ตาม, แต่การดูแลตนเองตามแพทย์แนะนำ ร่วมกับการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ จะช่วยให้เกิดโรคกลับเป็นซ้ำได้ช้าลง
ริดสีดวงจมูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากโรคริดสีดวงจมูก เช่น
- นอนกรน
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ และ
- อาจมีการติดเชื้อรุนแรงที่ลุกลามเข้าเบ้าตา และ/หรือ เยื่อหุ้มสมอง (เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) หรือเข้าสมอง(เกิดสมองอักเสบ)ได้ เพราะโพรงจมูกและไซนัส เป็นอวัยวะที่มีช่องทางติดต่อเข้าสู่เบ้าตาและเข้าสู่สมองได้
- นอกจากนี้ ริดสีดวงจมูก ยังอาจเป็นสาเหตุให้ควบคุมโรคหืดได้ยาก หรือ ทำให้โรคหืดกำเริบได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นริดสีดวงจมูก ทั่วไปได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- รักษา ควบคุมโรค ที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หูคอจมูก หรือสารก่อการระคายเคืองจมูก เช่น ฝุ่นละออง ควัน สารระเหย เกสรดอกไม้
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยริดสีดวงจมูก ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการที่ผิดไปจากเดิม
- อาการต่างๆแย่ลง
- เลือดกำเดาออกบ่อยขึ้น หรือเลือดฯออกปริมาณมาก หรือ เลือดฯออกแล้วหยุดยาก หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันริดสีดวงจมูกอย่างไร?
การป้องกันโรคริดสีดวงจมูกให้ได้เต็มร้อย เป็นไปได้ยาก เพราะยังไม่ทราบกลไก เกิดโรคที่แน่นอน แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น
- รักษา ควบคุม โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หูคอจมูก หรือสารต่างๆที่ก่อการระคายเคืองจมูก
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
บรรณานุกรม
- ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม. ริดสีดวงจมูก.สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย. https://allergy.or.th/2016/php?id=107 [2023,Jan21]
- Osguthorpe,D. (2001). Am Fam Physician. 63, 69-76.
- https://emedicine.medscape.com/article/994274-overview#showall [2023,Jan21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nasal_polyp [2023,Jan21]
- https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/nasal-polyps [2023,Jan21]