โรคโบทูลิซึม (Botulism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคโบทูลลิซึมคืออะไร?

โบทูลิซึม (Botulism) คือ โรคผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการได้รับพิษ ชื่อ Botulinum toxin จากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Clostridium botulinum โดยพิษชนิดนี้ถือเป็นพิษที่มีความรุนแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากหากเทียบปริมาณโดยน้ำหนักกับพิษชนิดอื่นๆ พิษชนิดนี้ใช้ปริมาณน้อยที่สุด ในการทำให้ร่างกายเกิดอาการ (คือใช้น้อยกว่า 1 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม) ซึ่งอาการสำคัญคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ถ้าเกิดกับกล้ามเนื้อใช้ในการหายใจจะส่งผลให้ตายได้จากร่างกายหายใจไม่ได้

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคโบทูลิซึม?

โรคโบทูลิซึม

โรคโบทูลิซึม เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบอยู่ได้ทั่วไป ตามพื้นดิน ในน้ำจืด และในน้ำทะเล เมื่อมีสภาวะที่เหมาะสม คือในสภาพอากาศที่ไม่มีออกซิเจน แบคทีเรียจะแบ่งตัวสร้างสปอร์ (Spore) และปล่อยพิษออกมา เรียกพิษว่า Botulinum toxin

สารพิษชนิดนี้ ปัจจุบันพบว่ามีอยู่ 8 ชนิดย่อย

  • โดยชื่อชนิดย่อยคือ A, B, C-1, C-2, D, E, F, และ G
  • โดยที่ชนิดย่อย A, B, E, และ F ทำให้เกิดโรคในคน
  • ส่วนชนิด C และ D ทำให้เกิดโรคในสัตว์ต่างๆ

นอกจากนี้พบว่า มีแบคทีเรียชนิด Clostridium butyricum และ Clostridium baratii ที่สามารถสร้างพิษ Botulinum toxin ได้เช่นกัน

การที่เราจะได้รับพิษจากแบคทีเรียชนิดนี้เกิดขึ้นได้หลายทาง แบ่งออกเป็น

ก. จากการกินอาหารที่ปนเปื้อน ’สารพิษ Botulinum toxin นี้’ เข้าไป (Food-borne botulism): เนื่องจากแบคทีเรียมีอยู่ทั่วๆไปตาม พื้นดิน พื้นน้ำ และน้ำทะเล การปนเปื้อนแบคทีเรียจึงเกิดได้ไม่ยากนัก แต่แบคทีเรียจะไม่แบ่งตัว หากอยู่ในสภาวะที่มีออกซิเจน หรือในสภาวะที่ความเป็นกรดด่าง (ค่า pH)ต่ำกว่า 4.6 หรือมีค่าความเข้มข้นของเกลือแกง/เกลือโซเดียม (Sodium) มากกว่า 3 % เมื่อแบคทีเรียนี้ไม่แบ่งตัวสร้างสปอร์ พิษก็จะไม่เกิด ดังนั้นการเกิดพิษ จึงมักเกิดในอาหารที่ถูกทำให้อยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และมีค่าความเป็นกรด ด่าง มาก กว่า 4.6 เช่น ในอาหารหมัก อาหารดองต่างๆ โดยเฉพาะหน่อไม้ดองในปี๊บ, อาหารกระป๋อง เป็นต้น แล้วคนได้รับพิษ โดยที่พิษปนอยู่ในอาหารที่บริโภค ซึ่งกรณีนี้พบได้บ่อยในบ้านเรา ตามที่เป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ

อนึ่ง เมื่ออาหารปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และมีสภาวะที่เหมาะสมให้แบคทีเรียแบ่งตัวสร้างสปอร์ได้แล้ว หากนำอาหารไปผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 116 องศาเซลเซียส (Celsius) ร่วมกับการเพิ่มความกดอากาศ (ประมาณ 10-15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที สปอร์จะถูกทำลายและไม่ผลิตพิษออกมา

สำหรับตัวพิษ Botulinum toxin เองนั้น หากโดนความร้อน 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 นาที พิษก็จะไม่ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวข้างต้น ก็จะปลอดภัย หากนำไปผ่านความร้อนสูงๆ

ข. จากมีแผลที่ติดเชื้อแบคทีเรียนี้ แล้วแบคทีเรียนี้สร้างพิษออกมา (Wound botulism): ทั้งนี้บาดแผลตามผิวหนังมีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าไปได้ง่าย หากบาดแผลมีสภาวะที่เหมาะสม ได้แก่ บาดแผลที่ลึกแต่ปากของบาดแผลแคบ ทำให้อากาศเข้าไปไม่ถึง แบคทีเรียก็จะสามารถแบ่งตัวสร้างสปอร์และผลิตพิษออกมาได้ นอกจากนี้พบมีรายงานว่าเกิดจากแผลผ่าตัดคลอดได้ด้วย รวมถึงในสมัยก่อน มักพบจากแผลรูเข็มแทงในผู้ที่ฉีดสารเสพติดเฮโรอีนชนิดผสม (Black-tar heroin)

ค. การกิน ’ตัวเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้’ เข้าไปแล้วแบคทีเรียปล่อยพิษออกมา(Intestinal botulism): โดยทั่วไป หากคนกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียนี้ซึ่งยังไม่ผลิตสปอร์เข้าไป กรดและน้ำย่อยชนิดต่างๆ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติในลำไส้ของเราสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum นี้ได้

  • แต่ในเด็กทารก โดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน พัฒนาการของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แบคทีเรียนี้ซึ่งเข้าสู่ทางเดินอาหารได้แล้ว จึงสามารถแบ่งตัวสร้างสปอร์ และปล่อยพิษออกมาได้ เพราะในลำไส้ของคนเราอยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบบนี้ มาจากน้ำผึ้ง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีกินน้ำผึ้ง เว้นแต่จะนำไปปรุงและผ่านความร้อน
  • นอกจากนี้ในผู้ใหญ่ที่มีโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, หรือได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้, หรือได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ, ก็จะมีโอกาสเกิดโรคนี้หากกินอาหาร/สิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้เช่นเดียวกับในเด็กทารก

ง. การสูดหายใจเอาพิษเข้าไป: โดยปกติธรรมดาแล้ว เราจะไม่ได้รับพิษมาจากธรรมชาติโดยวิธีนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลจงใจปล่อยพิษสู่อากาศ ซึ่งถือเป็นอาวุธเชื้อโรค (Bioterrorism and biologic warfare) ชนิดหนึ่ง ปริมาณของพิษที่จะสูดหายใจเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการ จะมากกว่าปริมาณที่ได้รับจากอาหารประมาณ 3 เท่า

โรคโบทูลิซึมมีพยาธิสภาพการเกิดโรคอย่างไร?

โบทูลิซึม มีพยาธิสภาพเกิดโรคได้โดย เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนพิษ Botulinum toxin หรือทารกที่กินตัวแบคทีเรียนี้ แล้วแบคทีเรียปล่อยพิษออกมาในลำไส้ หรือพิษที่ผลิตอยู่ในบาดแผลก็ตาม พิษเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในที่สุด และเดินทางต่อไปยังปลายเส้นประสาทชนิดที่ผลิตสารสื่อประสาทชื่อ Acetylcholine ซึ่งได้แก่ ปลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ, ปลายเส้นประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติ, รวมถึงปมประสาทส่วนปลายด้วย พิษก็จะออกฤทธิ์ต่อปลายเส้นประสาทเหล่านี้ โดยการไปยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาท Acetylcholine ผู้ป่วยจึงเกิดอาการจากการที่เส้นประสาทเหล่านี้ไม่ทำงาน และอาการจะหายได้ก็ต่อเมื่อเส้นประสาทมีการสร้างปลายประสาทขึ้นมาใหม่ และเนื่องจากพิษชนิดนี้ไม่เข้าสู่สมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการของระบบประสาทส่วนกลางเกิดขึ้น

โรคโบทูลิซึมมีอาการอย่างไร?

ระยะเวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ร่างกายได้รับพิษ Botulinum toxin จนแสดงอาการ จะประมาณ

  • จากอาหารจนกระทั่งแสดงอาการคือ ประมาณ 12 - 36 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับ โดยอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 4 ชั่วโมงหรืออาจนานถึง 8 วัน
  • สำหรับพิษที่เกิดขึ้นในบาดแผล ระยะเวลากว่าที่จะแสดงอาการจะนานกว่า โดยเฉลี่ยคือ 10 วัน
  • สำหรับพิษที่ได้รับจากการหายใจ มักแสดงอาการภายใน 1-3 วัน

อาการและอาการแสดงจะเริ่มจากความผิดปกติที่เกิดจากปมประสาทส่วนปลายไม่ทำงานก่อน ได้แก่

  • ตาพร่า/ตามัว
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • รูม่านตาขยาย
  • พูดไม่ชัด
  • กลืนลำบาก
  • หนังตาตก
  • ต่อมาปลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อจะเริ่มไม่ทำงาน ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาจเล็กน้อย หรือถึงขั้นเป็นอัมพาตก็ได้ โดยจะเริ่มจากส่วนบนของร่างกายไปสู่ส่วนปลาย คือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อคอ ตามด้วยกล้ามเนื้อส่วนอกและแขน แล้วกล้ามเนื้อขา จึงอ่อนแรงตามลำดับ อาการอ่อนแรงจะเป็นเหมือนๆกันทั้งร่างกายซีกซ้ายและซีกขวา
    • การที่กล้ามเนื้อส่วนอกและกล้ามเนื้อกะบังลม ซึ่งใช้ในการหายใจเกิดอ่อนแรงนั้น หากรุนแรง ก็จะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
  • ส่วนอาการที่เกิดจากปลายเส้นประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติไม่ทำงาน ได้แก่
    • กระเพาะอาหารและลำไส้หยุดเคลื่อนไหว เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก
    • กระเพาะปัสสาวะขยายตัว ปัสสาวะไม่ออก/ ปัสสาวะขัด
    • เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืนได้
  • สำหรับอาการอื่นๆที่อาจพบได้ ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้ อาจเป็นอาการนำก่อนที่จะเกิดอาการต่างๆดังกล่าวข้างต้น หรือเกิดตามภายหลังก็ได้ เช่น
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • ปากคอแห้ง
    • เจ็บคอ

*อนึ่ง:

  • เนื่องจากพิษชนิดนี้ไม่เข้าสู่สมอง ผู้ป่วยจึงยังมีประสาทรับรู้ที่ปกติ ไม่ซึม และไม่สับสน ไม่มีอาการชัก และประสาทรับสัมผัสอื่นๆ เช่น ความเจ็บปวด ร้อนหนาว ก็ยังคงเป็นปกติ
  • เนื่องจากโรคนี้เกิดจากพิษ Botulinum toxin ของแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ผู้ป่วยจึงไม่มีไข้ ยกเว้นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากบาดแผล อาจมีไข้ได้จากการที่แผลติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆที่เข้าสู่บาดแผลร่วมกัน

แพทย์วินิจฉัยโรคโบทูลิซึมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคโบทูลิซึม โดยอาศัยจาก

  • อาการ และอาการแสดงในเบื้องต้นของผู้ป่วยเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะได้รับพิษ Botulinum toxin และ
  • การพิสูจน์เพื่อยืนยันสาเหตุ เช่น
    • การตรวจหาสารพิษ Botulinum toxin จากเลือดของผู้ป่วย หรือ
    • ในผู้ป่วยที่มีประวัติกินอาหารที่น่าสงสัยว่าจะปนเปื้อนพิษฯ อาจใช้การตรวจหาสารพิษ ในอุจจาระ, ในน้ำล้างจากกระเพาะอาหาร, รวมทั้งในอาหารเอง, ก็ช่วยในการยืนยันการวินิจฉัยได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเก็บอาหารมาให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ด้วย และหากเป็นอาหารที่วางขายตามท้องตลาด จะได้เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นบริโภคต่อไป
  • นอกจากนี้ การตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum จากการเพาะเชื้อจากอุจจาระ หรือจากน้ำล้างจากกระเพาะอาหาร ก็เป็นการพิสูจน์สาเหตุได้เช่นกัน
    • แต่การตรวจพบเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนี้ในอาหารไม่เพียงพอที่จะบ่งว่า อาหารชนิดนั้นๆเป็นสาเหตุ เพราะเชื้อแบคทีเรียฯอาจไม่ได้สร้างสปอร์และผลิตพิษฯออกมาก็ได้ และ
    • ในผู้ป่วยที่มีบาดแผล การเพาะเชื้อและตรวจพบเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนี้โดยตรวจไม่พบสารพิษก็เช่นกัน คือไม่ได้เป็นการยืนยันว่าอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เกิดจากพิษของ Botulinum toxin

รักษาโรคโบทูลิซึมอย่างไร?

ผู้ป่วยที่อาการและอาการแสดงน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคโบทูลิซึม จะต้องได้รับการรักษาล่วงหน้าไปก่อนได้รับวินิจฉัยยืนยันว่า อาการเกิดจากโรคนี้ เนื่องจากการรอผลการตรวจหาพิษ Botulinum toxin เพื่อยืนยันใช้เวลามากกว่า 1 วัน หากรักษาล่าช้า จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสตายได้ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น

  • การให้ยาต้านพิษ Botulinum toxin
    • ในผู้ป่วยที่ไม่ใช่เด็กทารก จะให้สารต้านพิษ Botulinum toxin ซึ่งผลิตจากเซรุ่มที่ได้จากม้า (Equine antitoxin) แต่
    • สำหรับเด็กทารก แพทย์จะให้ยาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) ซึ่งผลิตจากเซรุ่มของคน (Human botulism immune globulin) เนื่องจากการให้ Equine antitoxin พบว่าไม่สามารถรักษาได้
  • การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ก็พบว่า ไม่มีประโยชน์เช่นกัน
  • การรักษาแผล: โดยจะรักษาในผู้ป่วยที่มีบาดแผล ปากของบาดแผลที่แคบจะต้องถูกเปิดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปสัมผัสกับบาดแผลให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เชื้อนี้ไม่ผลิตพิษฯขึ้นมาอีก และให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียนี้ในผู้ป่วยที่มีบาดแผลด้วย แม้ว่าประโยชน์ที่ได้รับยังไม่ชัดเจนก็ตาม
  • การรักษาตามอาการ: โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเฝ้าติดตามระบบการหายใจ โดยหากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ
    • ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือการสวนทวารช่วย หรือ
    • หากมีอาการ ท้องอืด แน่นท้อง ก็ต้องใช้ยาลดอาการ หรือใส่สายให้อาหารและดูดเอาอากาศและน้ำย่อยออกมา หรือ
    • ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก ก็ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ

อนึ่ง พิษ Botulinum toxin จะไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องแยกห้อง ยกเว้นในกรณีของอาวุธเชื้อโรค ที่จะต้องจำกัดบริเวณของผู้ป่วย จนกว่าจะอาบน้ำสระผมให้สะอาด เพื่อกำจัดพิษที่อาจติดอยู่ตามผิวหนังและเส้นผม ซึ่งบุคคลอื่นที่เข้าใกล้อาจหายใจเอาพิษเข้าไปได้ รวมทั้งเสื้อผ้า สิ่งของ ของใช้ผู้ป่วย ต้องถูกห่อในถุงพลาสติกให้มิดชิด จนกว่าจะนำไปซักด้วยผงซักฟอกให้สะอาดด้วยเช่นกัน

ผลข้างเคียงจากโรค/ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคโบทูลิซึมเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรค/ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค ของโรคโบทูลิซึม ได้แก่

  • ระยะเวลาของอาการป่วยจากพิษชนิดนี้ค่อนข้างยาวนาน คือประมาณ 30-100 วัน เนื่องจาก พิษที่เข้าไปยังปลายหรือปมประสาทได้แล้วนั้นจะอยู่อย่างถาวร ดังนั้นเส้นประสาทจึงต้องสร้างปลายประสาทขึ้นมาใหม่ ซึ่งปกติการซ่อมแซมเซลล์ประสาทจะช้ากว่าเซลล์ชนิดอื่นๆ การหายจากอาการจึงต้องใช้เวลา ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของปลายเส้นประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติไม่ทำงานหลงเหลืออยู่บ้างได้นานถึง 1 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อหายสนิทดีแล้ว จะไม่เกิดความพิการหลงเหลืออยู่
  • อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับพิษฯจากอาหารคือ ประมาณ 5-10% โดย
    • ผู้สูงอายุมีโอกาสตายมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย
    • ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากบาดแผล อัตราการตายจะมากกว่า คือประมาณ 15-17% และ
    • สำหรับในเด็กทารก โอกาสตายจากโรคโบทูลิซึมจะน้อย คือน้อยกว่า 1%

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคโบทูลิซึมอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคโบทูลิซึม คือ

  • ไม่แนะนำให้เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี บริโภคน้ำผึ้ง ยกเว้นจะนำไปปรุงเป็นอาหารที่ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 116 องศาเซลเซียส ร่วมกับการเพิ่มความกดอากาศขณะปรุง เช่น การตุ๋น หรือการอบ เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อโรคโบทูลิซึมที่อาจปนเปื้อน
  • หลีกเลี่ยงการหมัก การดองทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เนื้อปลาต่างๆ ด้วยตน เอง หากต้องการทำ ควรเตรียมอาหารและภาชนะที่จะใส่ ให้สะอาด ใส่กรดมะนาวที่ความเข้ม ข้นมากกว่า 0.65% หรือใส่เกลือแกงให้เข้มข้นมากกว่า 3% และเก็บรักษาอาหารไว้ในตู้เย็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารหมักดองที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หากจะบริโภค จะต้องนำของหมักดองเหล่านั้นไปต้มให้เดือด 100 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อทำลายพิษที่อาจมีอยู่
  • สำหรับการซื้ออาหารกระป๋อง รวมถึงนมผง หรืออาหารสำเร็จรูปที่พร้อมทาน ต้องเลือกจากบริษัทผลิตที่เชื่อถือได้ และดูจากฉลากว่ามีเครื่องหมาย อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่ชัดเจน บริโภคก่อนวันหมดอายุที่ระบุบนฉลาก และไม่เลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีรอยบุบ รอยแตก รอยรั่ว บวม โป่ง เป็นสนิม
  • มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันพิษ Botulinum toxin ซึ่งสามารถป้องกันพิษชนิดย่อย A ถึง E แต่ประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจน และอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ (เช่น การแพ้ยา) การให้วัคซีนจึงจำกัดให้เฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้เท่านั้น เช่น ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับพิษชนิดนี้ หรือในกรณีมีการปล่อยอาวุธเชื้อโรคที่เป็นพิษชนิดนี้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง (แม้จะดื่มน้ำเยอะก็ตาม) กลืนอาหารลำ บาก พูดไม่ชัด ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที่ โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติกินอาหารหมักดอง หรือ อาหารกระป๋อง

อื่นๆ

ปัจจุบันมีการนำพิษ Botulinum toxin มาใช้ประโยชน์ทางด้านการเสริมความงามของร่างกาย เรียกว่าการทำโบทอก (Botox) ได้แก่ การนำพิษมาฉีดเข้าสู่ปลายประสาทของกล้าม เนื้อบนใบหน้า เพื่อให้กล้ามเนื้อที่หนาตัวขึ้นจากการแสดงสีหน้าต่างๆ จนทำให้เกิดเป็นริ้วรอยของผิวหนัง เกิดการอ่อนแรง คลายตัวและมีขนาดเล็กลง ริ้วรอยก็จะหายไป หรือนำไปฉีดเข้าปลายประสาทของกล้ามเนื้อบริเวณมัดกล้ามเนื้อที่ใหญ่ เช่น บริเวณต้นแขน เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรง คลายตัวแล้วก็จะมีขนาดเล็กลง ทำให้บริเวณนั้นดูเล็กเพรียวลงได้ แต่ผลของการทำโบทอกนี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว คือประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากปลายประสาทมีการสร้างขึ้นมาใหม่ทดแทนได้ ทั้งนี้การทำโบทอกต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการทำ เพราะหากฉีดเกินขนาดก็อาจเกิดผลข้างเคียงคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้

บรรณานุกรม

  1. วินัย วนานุกูล. Thai J Toxicology 2008; 23(2): 19-24 http://www.thaitox.org/media/upload/file/Journal/2008-2/10%20Symposium%202%20paper%201.pdf [2019,Dec21]
  2. Elias Abrutyn, Botulism, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition,Braunwald ,Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  3. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/botulism [2019,Dec21]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Clostridium_botulinum [2019,Dec21]
  5. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/clostridium-botulinum.html [2019,Dec21]