ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลำไส้แปรปรวน หรือเรียกย่อว่า โรคไอบีเอส (IBS, Irritable bowel syndrome หรือ อาจเรียกว่า Spastic colon หรือ Functional gastrointestinal disorder) ได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดอาการ ปวดท้อง ท้องเสียสลับท้องผูก เป็นๆหายๆ โดยแพทย์มักตรวจไม่พบพยาธิสภาพ(สิ่งผิดปกติ)ของอวัยวะต่างๆในระบบทางเดินอาหาร (กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่)

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งประมาณ 10%-20%ของประชากรทั่วโลก แต่ความชุกของโรคในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน มีรายงานพบได้ประมาณ 6% ของประชากรแคนาดา ไปจนถึงประมาณ 46% ของประชากรเม็กซิโก

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคพบในผู้ใหญ่ พบได้สูงกว่าเมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาว โดยประมาณ 50% เกิดในอายุก่อน 35 ปี และมักพบน้อยมากที่อาการเกิดหลังอายุ40ปี มักพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า เช่น ในประเทศทางตะวันตก แต่บางประเทศพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง เช่น ในประเทศอินเดียที่ 70-80% ของโรคนี้พบเกิดในผู้ชาย

โรคลำไส้แปรปรวนเกิดได้อย่างไร?

โรคลำไส้แปรปรวน

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน แต่จากการศึกษา มีได้หลายสมมุติฐาน เช่น

  • กล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน ซึ่งรวมทั้งกล้ามเนื้อลำไส้ อาจทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น(สิ่งเร้า)ผิดปกติ โดยถ้าลำไส้ตอบสนองมากเกินไปต่ออาหาร/เครื่องดื่มที่บริโภค จะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น จึงเกิดท้องเสีย แต่ถ้าลำไส้เคลื่อนไหวลดลง จะเกิดท้องผูก ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ มักมีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของสมมุติฐานว่า อาจมีการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในต่างๆ
  • เยื่อบุลำไส้ อาจตอบสนองไวต่ออาหาร/เครื่องดื่มบางชนิดสูงกว่าคนปกติ จากการกระตุ้นด้วยอาหาร/เครื่องดื่มบางชนิด เช่น กาเฟอีน จึงส่งผลให้เกิดท้องเสียเมื่อกิน/ดื่ม อาหารที่มีสารตัวกระตุ้นเหล่านี้, ส่วนบางคนก็ไวเกินต่ออาหารที่มีใยอาหารสูง, ในขณะที่บางคนไวต่ออาหารที่ใยอาหารต่ำ
  • มีตัวกระตุ้นสมองให้หลั่งสารบางชนิด เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ร่วมกับอาการท้องเสีย เช่น ปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล
  • อาจจากร่างกายสร้างสารต้านการติดเชื้อของลำไส้ เพราะในผู้ป่วยบางราย พบเกิดโรคนี้ตามมา ภายหลังมีการอักเสบติดเชื้อของลำไส้/โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
  • อาจจากสมองทำงานแปรปรวน จึงส่งผลต่อการแปรปรวนของลำไส้
  • อาจจากการทำงาน หรือมีปริมาณแบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora แบคทีเรียที่มีประจำในลำไส้ มีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยการดูดซึมและสร้างวิตามิน เกลือแร่ บางชนิด)ในลำไส้ผิดปกติ

โรคลำไส้แปรปรวนมีอาการอย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้น?

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น อาการต่างๆจึงมักเป็นๆหายๆ บางครั้งอาการอาจดีขึ้น ไม่มีอาการเป็นหลายๆเดือน แล้วกลับมามีอาการใหม่อีก โดยอาการพบบ่อยของโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่

  • *ปวดท้องเรื้อรัง แบบปวดบีบ โดยอาการปวดท้องมักดีขึ้นหลังขับถ่าย หรือผายลม ซึ่งจัดเป็นอาการสำคัญที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคนี้
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสียโดยเฉพาะ หลังกินอาหาร หรือเมื่อตื่นนอนต้องรีบขับถ่าย หรือ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย เป็นๆหายๆ บ่อยครั้งอุจจาระคล้ายมีมูกปน แต่ไม่มีเลือดปน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม (แก๊ส/ก๊าซ) มากในท้อง
  • มีอาการคล้ายถ่ายอุจจาระไม่หมด/ไม่สุด
  • กลั้นอุจจาระไม่อยู่ เมื่อปวดอุจจาระต้องเข้าห้องน้ำทันที

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน มักเกิดอาการ และ/หรืออาการรุนแรงขึ้นเมื่อมีตัวกระตุ้น/มีปัจจัยกระตุ้นต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล ซึ่งควรต้องสังเกตด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ /ให้อาการรุนแรง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • กินอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น นม เครื่องดื่มกาเฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคลา) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต และ/หรือ ผัก ผลไม้ บางชนิด
  • บางคนการกระตุ้นอาการเกิดจากินอาหารมีใยอาหารสูง ขณะบางคนตัวกระตุ้น คือ อาหารใยอาหารต่ำ
  • กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก
  • ช่วงมีประจำเดือน
  • ช่วงมีความเครียด ความวิตกกังวล

แพทย์วินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างไร?

ดังกล่าวแล้วว่า เป็นโรคที่มีแต่อาการ แต่ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ ดังนั้น แพทย์จึงวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวนโดยตรวจแยกโรคอื่นๆของระบบทางเดินอาหารออกไป ซึ่งเมื่อ ตรวจทุกอย่างไม่พบโรคอื่นๆ จึงสรุปว่า เป็นโรคลำไส้แปรปรวน

โดยทั่วไป อาการของโรคลำไส้แปรปรวน คล้ายกับอาการของโรคลำไส้อักเสบ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น การวินิจฉัยโดยทั่วไป คือ

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วย ที่ได้แก่
    • มีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ อย่างน้อย 1ครั้งต่อสัปดาห์ตลอดระยะเวลา 3เดือนที่ผ่านมา
    • อาการดังกล่าวที่เกิดครั้งแรกไม่เกิน6เดือนมาแล้ว
    • อาการดังกล่าวที่สำคัญ คือ ปวดท้อง แบบปวดบีบเรื้อรัง ที่อาการปวดดีขึ้นด้วยการถ่ายอุจจาระ หรือ ผายลม
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ (เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ, โรควิตกกังวล, มะเร็งลำไส้ใหญ่, โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่(ในสตรี), เนื้องอกของต่อมหมวกไต/ Pheochromocytoma, โรคลำไส้ใหญ่เป็นแผลเรื้อรัง) ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งการตรวจสืบค้นฯ เช่น
    • อาจตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์สวนแป้ง
    • อาจตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง
    • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือ
    • อาจตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง
    • การตรวจเลือดต่างๆ เช่น ซีบีซี

รักษาโรคลำไส้แปรปรวนอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่

  • การรักษาตามอาการโดยการใช้ยา: เช่น
    • กินยาแก้ท้องเสียเมื่อท้องเสียต่อเนื่อง
    • ใช้ยาแก้ท้องผูก เมื่อท้องผูกต่อเนื่อง
    • ยาลดการบีบตัวของลำไส้เมื่อปวดท้องแบบปวดบีบมาก
    • ยาคลายเครียด
    • ยาต้านสารซีโรโทนิน
    • ยาอื่นๆด้านจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการเครียด เช่น ยาต้านเศร้า
  • การปรึกษาโภชนากรเพื่อปรับเปลี่ยนประเภท/ปริมาณ และ/หรือพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น/ปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรง ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการ/ปัจจัยกระตุ้นฯ’ ที่สำคัญที่ต้องใช้การสังเกตด้วยตนเอง เช่น
    • ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม อาจต้องปรึกษาโภชนากร
    • สุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล
    • การพักผ่อน
    • การออกกำลังกาย
    • การปรึกษาแพทย์ด้านจิตเวช

โรคลำไส้แปรปรวนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง และเกี่ยวข้องกับการขับถ่าย จึงมักส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ผลข้างเคียง:

ในส่วนผลข้างเคียง โรคลำไส้แปรปรวน มัก

  • ไม่มีผลข้างเคียงแทรกซ้อน
  • ไม่ทำให้อุจจาระเป็นเลือด
  • ไม่เปลี่ยนเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง(Ulcerative colitis)
  • ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ
  • และที่สำคัญ ไม่เปลี่ยน/ ไม่เป็นเป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเอง เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’ คือ การปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะดังกล่าวแล้วว่า เป็นอาการคล้าย โรคลำไส้อักเสบ หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเหล่านั้น

และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ‘โรคลำไส้แปรปรวน’ การดูแลตนเอง การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • เข้าใจในโรค ยอมรับความจริงของชีวิต รักษาสุขภาพจิต
  • สังเกต อาหาร และเครื่องดื่ม ต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพื่อการหลีกเลี่ยง หรือจำกัดปริมาณ อาหาร/เครื่องดื่มเหล่านั้น
  • กินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง กินอาหารที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด
  • อาจลองกินอาหารในกลุ่ม โปรไบโอติก (Probiotic) เช่น โยเกิร์ต เพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้
  • ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มกว่าเดิม ประมาณอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียจากท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และเพื่อป้องกันท้องผูก
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการกินยาแก้ท้องเสียในลักษณะที่เป็นการป้องกันไว้ก่อน
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพราะแสดงว่า อาจมีโรคอื่นๆเกิดขึ้น เช่น ลำไส้อักเสบ หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อ
    • มีไข้สูง
    • อุจจาระเป็นเลือด หรือ เป็นมูกเลือด
    • ซีด
    • ปวดท้องมากผิดปกติ หรือลักษณะปวดท้องผิดไปจากที่เคยเป็น

ป้องกันโรคลำไส้แปรปรวนอย่างไร?

ดังกล่าวแล้วว่า โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ การป้องจึงเป็นไปได้อยาก วิธีที่ดีที่สุด คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างดังที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ เช่น อาหาร เครื่องดื่มบางประเภท ความเครียดต่างๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น
  • การเข้าใจโรค และ รักษาสุขภาพจิตเพื่อผ่อนคลายความเครียด
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆของทางเดินอาหาร

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Hadley, S., and Gaarder, S. (2005). Treatment of irritable bowel syndrome. Am Fam Physician. 72, 2501-2508.
  3. https://www.fascrs.org/patients/disease-condition/irritable-bowel-syndrome-0 [2019.April20]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Irritable_bowel_syndrome [2019.April20]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/180389-overview#showall [2019.April20]