แผลริมอ่อน (Chancroid)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 11 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- แผลริมอ่อนคืออะไร?พบบ่อยไหม?
- แผลริมอ่อนมีความสำคัญอย่างไร? ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร?
- แผลริมอ่อนมีอาการอย่างไร?
- โรคอะไรบ้างที่มีลักษณะคล้ายกับแผลริมอ่อน?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีแผลริมอ่อน?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคแผลริมอ่อนได้อย่างไร?
- มีแนวทางการรักษาโรคแผลริมอ่อนอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลริมอ่อนมีอะไรบ้าง?
- แผลริมอ่อนรักษาหายขาดหรือไม่?
- ป้องกันเกิดแผลริมอ่อนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เจ็บเมื่อร่วมเพศ หรือ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
แผลริมอ่อนคืออะไร?พบบ่อยไหม?
แผลริมอ่อน (Chancroid หรือ Soft chancre) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘Haemophillus ducreyi’ ทำให้เกิดเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ บางครั้งเรียกว่า“โรคซิฟิลิสเทียม” เนื่องจากทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน ต่างกันตรงที่ แผลริมอ่อนจะ’มีอาการเจ็บ/ปวด,และขอบแผลจะนิ่ม/อ่อน’ แต่แผลซิฟิลิสจะ’ไม่มีอาการปวดและขอบแผลจะแข็ง’
แผลริมอ่อน เป็นโรคพบบ่อยในประเทศที่สาธารณสุขยังไม่เจริญและมีการติดเชื้อเอชไอวีสูง, ในปีค.ศ. 1997 องค์การอนามัยโลกรายงานพบโรคนี้ประมาณ6ล้านคนต่อปี, โดยมักพบร่วมในผู้ป่วยโรคเอชไอวี, ซิฟิลิส, และ/หรือ เริมอวัยวะเพศ, พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายสูงกว่า, มักพบในกลุ่มรักร่วมเพศ, อายุเฉลี่ยโรคนี้ประมาณ30ปี
อนึ่ง: ชื่ออื่นของแผลริมอ่อน เช่น Ulcus molle, Weicher Schanker
แผลริมอ่อนมีความสำคัญอย่างไร? ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร?
โรคแผลริมอ่อนเกิดทั้งในหญิงและชาย มีการติดต่อกันง่ายมาก อาการเด่น คือ ทำ ให้มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ,และมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตและเจ็บ (อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างซ้ายขวา), หรืออาจเกิดแผลบริเวณอื่นๆ เช่น ช่องปาก หรือ ก้น/ปากทวารหนัก ตามวิธีการที่มีเพศสัมพันธ์
ในเพศชายที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บ/ปวดแผลมาก, ส่วนฝ่ายหญิงมักไม่ค่อยเจ็บ/ปวดแผลจึงไม่ค่อยรู้ตัวจึงทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ง่าย, และในทุกผู้ป่วย หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา
นอกจากนั้น อาจมีผลพวงจากการเป็นแผลที่มีการติดเชื้อชนิดอื่นๆซ้ำได้แม้จะรักษาครบแล้ว ทำให้เกิดเป็น รอยแผลเป็น, แผลดึงรั้ง, ส่งผลให้อาจเกิดอาการปวด/เจ็บเมื่อร่วมเพศ,
และ*ยังพบว่า การมีแผลริมอ่อนทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคเอดส์/เอชไอวีได้ง่ายขึ้นด้วย
แผลริมอ่อนมีอาการอย่างไร?
เชื้อ Haemophillus ducreyi จะอยู่ที่บริเวณผิวหนังรวมทั้งผิวหนังของอวัยวะเพศ เมื่อผิว หนังมีแผลจากการมีเพศสัมพันธ์, เชื้อจะเข้าไปในร่างกาย, หลังจากนั้นอาการมักเกิดขึ้นเร็วหลังมีเพศสัมพันธ์และได้รับเชื้อประมาณ 3 - 5 วัน, โดยอาจมีไข้ต่ำๆและปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมกับ
- อาการที่อวัยวะเพศ: จะเริ่มต้นเป็นตุ่มนูน และมีอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ, หลังจากนั้น
- จะเกิดเป็นแผลเล็กๆบริเวณแคมเล็กฝ่ายหญิง,หรือบริเวณปลายองคชาติฝ่ายชาย, อาจเกิดเป็นหลายแผลแล้วรวมเป็นแผลใหญ่
- โดยที่ก้นของแผลจะมีหนอง
- ขอบแผลจะนูนไม่เรียบ
- มีแผลเล็กๆและจะรวมกันเป็นแผลใหญ่, อาจมีหลายแผลหรือแผลเดี่ยว, แต่จะมีอาการเจ็บมาก
- แผลจะดูแฉะ, ไม่สะอาด, มีเนื้อเยื่อเละๆที่ก้นแผล
- แผลในผู้ชายมักจะเจ็บปวดมาก,แต่ในผู้หญิงมักจะไม่ค่อยเจ็บปวดจึงทำให้บางครั้งเพศหญิงไม่ทันสังเกตว่ามีแผลจึงเป็นเหตุให้เกิดการแพร่โรคออกไป
- เพศหญิง: มีตกขาวมาก,และมีกลิ่นเหม็น
- มีอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโต, อาจข้างเดียวหรือทั้งสองข้างซ้ายขวา, กดเจ็บ บางครั้งแตกเป็นแผลได้
โรคอะไรบ้างที่มีลักษณะคล้ายกับแผลริมอ่อน?
แผลริมอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกับแผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ เช่น
- โรคซิฟิลิส: ในระยะที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ แต่ลักษณะแผลของซิฟิลิสจะขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ
- โรคเริมอวัยวะเพศ: ลักษณะจะเป็นแผลตุ่มน้ำเล็กๆหลายๆแผล, มีลักษณะเจ็บ
- โรคฝีมะม่วง(Lymphogranuloma venereum): จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโต อาจข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง, แต่มักไม่มีแผลที่อวัยวะเพศ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีแผลริมอ่อน?
เมื่อมีแผลที่อวัยวะเพศ/อวัยวะสืบพันธุ์ควรต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง, ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง, เพราะดังกล่าวแล้วว่าแผลบริเวณนี้เกิดได้จากหลายโรค ซึ่งอาจต้องใช้ยาต่างชนิดกัน, ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง’โรคอาจไม่หายและเกิดเชื้อดื้อยา’ได้
*ส่วนในการดูแลตนเองเบื้องต้นคือ รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณแผล,ร่วมกับ รับประทานยาแก้ปวด,และรับประทานยาลดไข้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตจำเป็นต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ, ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากการเป็นแผลที่อวัยวะสืบพันธุ์เกิดจากหลายสาเหตุ อาจซื้อยาผิดรับประทานทำให้โรคไม่หายหรือเชื้อดื้อยา
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลริมอ่อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลริมอ่อนได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์: เช่น สอบถามเกี่ยวกับลักษณะของแผล ระยะเวลาที่เกิดแผล มีอาการปวดหรือไม่ ประวัติเพศสัมพันธ์ ฯลฯ
- การตรวจร่างกาย: แพทย์จะตรวจลักษณะของแผล, ตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: แพทย์จะป้ายบริเวณแผลไปย้อมสีแกรม(Gram stain) เพื่อตรวจหาเชื้อสาเหตุ (ซึ่งเชื้อ Haemophillus ducreyi จะติดสีแดง ลักษณะเป็นแท่งสั้นๆ, และอยู่รวมเป็นกลุ่มดูคล้ายฝูงปลาว่ายตามกันไปเรียกว่า “School of Fish”), หรือ ส่งหนองหรือน้ำจากแผลไปเพาะเชื้อ
นอกจากนั้นแพทย์จะแนะนำตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคซิฟิลิส, โรคไวรัสตับอักเสบบี, และโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
มีแนวทางการรักษาโรคแผลริมอ่อนอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคแผลริมอ่อน คือ
ก. การรักษาทั่วไป: เช่น
- ดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ/แผล
- รับประทานยาแก้ปวด
- งดมีเพศสัมพันธ์ขณะมีแผลจนกว่าแผลจะหายปกติแล้ว
- งดดื่มสุรา-เบียร์เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดสติ เพิ่มโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด
ข. การรักษาแบบเฉพาะ: สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้หลายชนิด เช่นยา
- Azithromycin รับประทาน 1 กรัมครั้งเดียว
- Ceftriaxone ขนาด 250 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว
- Erythromycin รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งนาน 7 วัน
- Ciprofloxacin รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน (ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร)
- ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตมากจนเป็นหนอง แพทย์อาจต้องใช้เข็มดูดหนองออก, หรือทำการผ่าฝีหนองออก
***** อนึ่ง ที่สำคัญที่สุด’ต้องรักษาคู่นอน’ควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้โรคเกิดซ้ำอีก
ค. การตรวจติดตาม: หลังการรักษา 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาตรวจประเมินอาการ
ซ้ำ, ดูลักษณะของแผล, โดยทั่วไปแผลจะดีขึ้นมากภายในประมาณ 3 วันและหายภายในประมาณ 7 วัน
หากแผลไม่หาย ต้องคิดว่าอาจวินิจฉัยโรคผิดหรือเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ทำให้ผลการรักษาไม่ดี
ส่วนอาการบวมปวดที่ขาหนีบ (ต่อมน้ำเหลืองบวม) อาจหายช้ากว่าแผลที่อวัยวะเพศ โดยต่อมฯมักจะค่อยๆยุบลงช้าๆ
นอกจากนั้นแพทย์จะดูผลเลือดที่ได้ตรวจ เพื่อค้นหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และหากผลการตรวจคัดกรองโรคเอดส์ครั้งแรกเป็น’ผลลบ’ ต้องพิจารณาตรวจเลือดซ้ำอีกประมาณ 3 เดือนต่อมาเพื่อยืนยันการเป็น’ผลลบจริง’
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลริมอ่อนมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคแผลริมอ่อนที่อาจพบได้ เช่น
- มีโอกาสติดเชื้อโรคเอชไอวี/เอดส์ ง่ายขึ้น
- เกิดเป็นแผลเป็น แผลดึงรั้ง พังผืด บริเวณอวัยวะเพศ อาจส่งผลต่อการร่วมเพศเพราะจะก่อให้เกิดอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ
- หนังหุ้มปลายองคชาติตีบตัน (Phimosis)จึงเปิดไม่ขึ้น ทำให้ทำความสะอาดยากจนส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่ปลายองคชาติที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายได้
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบแตกเป็นแผล เมื่อแผลหายอาจเกิดเป็นแผลเป็น
- มีทางทะลุ (Fistula) คือมีท่อและมีหนองไหลตลอดเวลาติดต่อระหว่างอวัยวะที่ติดโรค /เป็นแผล เช่น ช่องคลอดกับทวารหนัก หรือ ท่อปัสสาวะกับผิวหนัง
แผลริมอ่อนรักษาหายขาดหรือไม่?
แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้หากรับประทานยาปฏิชีวนะครบตามคำสั่งแพทย์ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำซาก, ทั้งนี้ต้องรักษาทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายคู่กันเสมอ
*อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะกลับมาติดเชื้อฯซ้ำได้เสมอเมื่อได้รับเชื้อฯใหม่ ซึ่งการติดเชื้อซ้ำสามารถเกิดได้ทันทีหลังได้รับเชื้อฯใหม่ทั้งๆที่เพิ่งครบยารักษาโรคครั้งก่อน
ป้องกันเกิดแผลริมอ่อนอย่างไร?
การป้องกันโรคแผลริมอ่อนเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรค ที่สำคัญ เช่น
- การป้องกันการเกิดโรคฯเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีโรคหรือมีแผลที่อวัยวะเพศ, และใช้*ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
- ไม่สำส่อนทางเพศ
- รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศหลังมีเพศสัมพันธ์
- ออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
บรรณานุกรม
- Mutua FM, M'imunya JM, Wiysonge CS. Genital ulcer disease treatment for reducing sexual acquisition of HIV. Cochrane Database Syst Rev. 2012 Aug 15; 8:CD007933.
- Roett MA, Mayor MT, Uduhiri KA. Diagnosis and management of genital ulcers. Am Fam Physician 2012;85:254-62.
- https://emedicine.medscape.com/article/781520-overview#showall [2022,June11]
- https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/chancroid.htm [2022,June11]