ปวดฟัน (Toothache)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

คำจำกัดความของปวดฟัน

ปวดฟัน (Toothache) หมายถึง อาการปวดรอบฟันและ/หรือรอบขากรรไกร ซึ่งความปวด (Ache) เป็นภาวะรับรู้ของร่างกายที่มีต่อการทำลายหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกายและส่งผ่านเส้นประสาทไปรับรู้ยังสมอง   ซึ่งปวดฟันอาจเป็นผลมาจากสภาพฟันผุ ,ฟันแตก, ฟันสึก, เหงือกอักเสบ, หรือ กระดูกรอบฟันอักเสบ, ทำให้เกิดอาการปวดที่เรียกว่า "อาการปวดฟัน"

แต่บางครั้ง อาการปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากฟันหรือกรามที่ปวดรอบๆฟันและขากรรไกร แต่เป็นอาการปวดจากโรคอวัยวะอื่นๆแล้วทำให้เจ็บ-ปวดร้าวส่งต่อมายังฟัน ส่งผลให้ดูเหมือนปวดฟัน เช่นจาก โรคไซนัสอักเสบ, โรคหู, และโรคหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ)

อะไรเป็นสาเหตุทำให้ปวดฟัน?

 

ปวดฟันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

  • ฟันผุ
  • การอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน
  • ปลายรากฟันอักเสบ
  • โรคเหงือกอักเสบ
  • โรคปริทันต์ (โรคของเนื้อเยื่อรอบๆฟัน)
  • ฟันแตกหรือฟันร้าว
  • ฟันคุด
  • ฟันสึก
  • นอนกัดฟัน
  • ฟันได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก
  • การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า (Cranial nerve V) ซึ่งเป็นเส้นประสาทของฟันและเหงือก
  • เจ็บ-ปวดร้าวที่มาจากอวัยวะอื่นดังกล่าวแล้ว

ทันตแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปวดฟันอย่างไร?

การวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุ:  

  • ทันตแพทย์จะเริ่มต้นโดย
    • สอบถามคำถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการปวดฟันซี่ใด ปวดเวลาใด เคาะฟันเจ็บหรือไม่ รวมทั้งชนิดของอาหารที่ทำให้ปวดฟัน ความไวต่ออุณหภูมิร้อนหรือเย็นของน้ำ/อาหารที่บริโภค
    • ปวดมากหรือน้อย, ลักษณะการปวดแบบปวดตุบๆ หรือปวดจิ๊ดๆ
  • นอกจากนั้น ทันตแพทย์จะตรวจดูในช่องปากและฟันของผู้ป่วย
    • ดูอาการบวม
    • ตรวจหารอยแยกของฟันและของขอบวัสดุอุดฟัน (ถ้าอุดฟันไว้)
    • ดูว่าฟันร้าวหรือไม่
    • และอาจถ่ายภาพเอกซ์เรย์ช่องปาก/ฟันเพื่อช่วยหาหลักฐานของ การสลายตัวของกระดูกฟัน, ความผิดปกติระหว่างซี่ฟัน, และ/หรือ ฟันแตก/ร้าว
  • แต่บางครั้ง อาการปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากฟันหรือกรามที่ปวดรอบๆฟันและขากรรไกร แต่เป็นความปวดที่มาจากอวัยวะอื่นที่ผู้ป่วยรับรู้ว่าปวดบริเวณฟัน(เจ็บ-ปวดร้าว) ซึ่งการวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุจะโดยทันตแพทย์และอาจร่วมกับแพทย์จะช่วยการวินิจฉัยโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟันได้แม่นยำขึ้น

รักษาปวดฟันอย่างไร? รักษาหายไหม?

การใช้ยาแก้ปวดและยาปฎิชีวนะจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ 'แต่ไม่หายขาด' การรักษาจึงต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดฟันว่ามาจากสาเหตุใด

  • ถ้าปวดเนื่องจากฟันผุ ทันตแพทย์จะอุดฟันให้
  • หากเนื้อเยื่อส่วนในของฟันได้รับความเสียหาย การรักษาคลองรากฟันเป็นสิ่งจำเป็น ทันตแพทย์จะทำการรักษาครองรากฟันก่อน
  • ถ้าเป็นการอักเสบของเหงือกและการสูญเสียของกระดูกที่ล้อมรอบฟัน ทันตแพทย์จะรักษาโดย การขูดหินปูน, การเกลารากฟัน, อาจทำศัลยกรรมร่วมด้วย
  • ฟันคุดรักษาโดยการถอนฟัน
  • ฟันสึกที่ทำให้เสียวฟัน อาจแนะนำชนิดแปรงสีฟันและยาสีฟันแก่ผู้ป่วย หรือใช้ยาทาลดอาการเสียวฟัน หรือ ทำการอุดฟัน
  • การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่5 จะรักษาโดยการให้ยารับประทานหรือส่งต่อไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญ
  • ผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน ทันตแพทย์มีวิธีการรักษาโดยใส่เครื่องมือไว้ป้องกันการกัดฟันเวลานอน
  • ความปวดร้าวที่มีเหตุมาจากอวัยวะอื่น ต้องส่งต่อไปพบแพทย์สาขาอื่นที่เชี่ยวชาญเพื่อรักษาต่อไป

ทั้งนี้ :

  • การรักษาทางทันตกรรมที่ทันเวลาในขณะที่เริ่มรู้สึกว่าปวดฟันกรณีที่ไม่มีการติดเชื้อ การรักษาด้วย การอุดฟัน, รักษาคลองรากฟัน, หรือรักษาเหงือก, จะได้ผลดี
  • แต่ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรง และ/หรือ เชื้อแพร่กระจายไปยังไซนัสหรือกระดูกขากรรไกร หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การรักษาจะยากขึ้น อาจต้องถอนฟัน สูญเสียฟันไป

การป้องกันไม่ให้ปวดฟันทำได้อย่างไร?

การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการปวดฟัน วิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ คือ

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ2ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมื้ออาหารและขนมขบเคี้ยว
  • ใช้ไหมขัดฟันวันละ1ครั้ง ช่วยป้องกันโรคเหงือก โดยการเอาเศษอาหารและแบคทีเรียที่ติดค้างด้านล่างแนวเหงือกระหว่างซี่ฟันออก,และเป็นการป้องกันฟันผุระหว่างซี่ฟันที่ดีมาก

นอกจากนี้:

  • ควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยทุก6เดือน หรือ ตามทันตแพทย์แนะนำเพื่อตรวจช่องปากและฟัน หากไม่พบความผิดปกติในช่องปากและฟัน ทันตแพทย์จะช่วยทำความสะอาดฟัน
  • ในเด็ก: เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดฟันผุและการปวดฟันได้เป็นอย่างดี และ ยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการดูแลฟันและการพบทันตแพทย์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควร
    • พาเด็กเล็กไปพบทันตแพทย์เป็นครั้งแรกก่อนที่เด็กจะมีอาการปวดฟัน ควรไปพบตั้งแต่เด็กเริ่มมีฟันขึ้น
    • ควรช่วยเด็กแปรงฟันเพื่อช่วยให้เด็กรู้จักการดูแลฟันและการพบทันตแพทย์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
  • การใช้ยาสีฟันที่มี’ฟลูออไรด์’จะป้องกันฟันผุได้ผลดีกว่ายาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์

ปวดฟันแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบทันตแพทย์เมื่อไร? มีผลข้างเคียงจากปวดฟันไหม?

หากมีอาการปวดฟัน ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที อย่าเข้าใจว่าปวดฟันไม่ทำให้ถึงตาย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะมากขึ้นจากการอักเสบติดเชื้อจนอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น  

  • อาการปวดรุนแรงมากขึ้น, มีไข้, เหงือก/ช่องปากบวม, ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้น หรือ
  • ต้องถอนฟัน, หรือ
  • การอักเสบติดเชื้ออาจส่งผลต่อการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะอื่นๆจากเชื้อโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

ปวดฟันมีสาเหตุส่วนใหญ่จาก’โรคฟันผุ’ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที เชื้อจะแพร่กระจายไปยังปลายรากฟันเข้าไซนัสก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ และแพร่กระจายไปในกระแสเลือดที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าวแล้ว ทำให้การรักษาลำบาก

*ดังนั้น เมื่อเริ่มปวดฟันจึงควรต้องรีบไปพบทันตแพทย์เสมอภายใน 1 - 2 วัน ควรระลึกไว้เสมอว่าการหายาแก้ปวดมารับประทานเองสามารถช่วยบรรเทาได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้รักษาสาเหตุ

บรรณานุกรม

  1. Bagley, Katie. Brush Well: A Look at Dental Care. Decatur, IL: Capstone Press Inc., 2001.
  2. Diamond, Richard. Dental First Aid for Families. Ravensdale, WA: Idyll Arbor Inc., 2000.
  3. Keller, Laurie. Open Wide: Tooth School Inside. New York: Henry Holt & Co., 2003.
  4. McDonald, Ralph E., et al. Dentistry for the Child and Adolescent. St. Louis, MO: Mosby, 2004.
  5. https://www.nhs.uk/conditions/toothache/  [2023,Jan28]