กาฬโรค (Plague)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กาฬโรค (Plague) คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (โรครับจากสัตว์/Zoonotic disease) โดยพาหะโรคที่สำคัญ คือ สัตว์จำพวกหนู และ มีแบคทีเรียชื่อ Yersinia pestis เป็นสาเหตุของการเกิดโรค, ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและอาจถึงตายได้อย่างรวดเร็ว, ซึ่งกาฬโรค ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย(หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว), โดยอาการหลักเริ่มต้นจะเช่นเดียวกับโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันทั่วไป เช่น มีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/เนื้อตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย (อ่านรายละเอียดใน’หัวข้อ อาการฯ’)

ในอดีตกาล การระบาดของกาฬโรคเกิดขึ้นหลายครั้งในหลายทวีป และทำให้ผู้ป่วยหลายล้านคนเสียชีวิต จึงจัดเป็นโรคติดต่อที่อันตรายร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่ง แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยเพียงประปรายเฉพาะพื้นที่แถบชนบทของบางประเทศเท่านั้น และในประเทศไทยก็ไม่พบผู้ป่วยมากว่า 60 ปีแล้ว

 การระบาดใหญ่ของกาฬโรคเกิดขึ้น 3 ครั้ง

  • ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 หรือในปี พ.ศ. 1085 โดยเริ่มจากประเทศอียิปต์และระบาดต่อไปยังประเทศในทวีปยุโรปที่อยู่โดยรอบทะเลเมอดิเตอเรเนียน โดยเฉพาะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ซึ่งปัจจุบันคือประเทศตุรกี) มีคนตายวันละหลายหมื่นคน รวมระยะเวลาการระบาดนานประมาณ 200 กว่าปี มีผู้เสียชี วิตทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน เนื่องจากการระบาดในครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ซึ่งกษัตริย์ที่ปกครองชื่อ The Justinian จึงเรียกการระบาดครั้งนั้นว่า The Justinian pandemic
  • การระบาดในครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 14 หรือในปี พ.ศ. 1880 เป็นครั้งที่ยาวนานที่ สุด เรียกการระบาดในครั้งนี้ว่า The Black Death (กาฬมรณะ) โดยโรคเริ่มจากประเทศอินเดียและจีน ระบาดต่อไปยังประเทศรัสเซียและประเทศในทวีปยุโรปทั้งหมด รวมระยะเวลาการระ บาดเกือบ 500 ปี โดยเกิดขึ้นเป็นรอบๆ ทุก 10 ปี มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 25 ล้านคน
  • การระบาดในครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในเขตยูนนาน ประเทศจีน และได้แพร่ต่อไปยังฮ่องกงในปี พ.ศ. 2437 ก่อนที่จะระบาดต่อไปยังเขตท่าเรือต่างๆในทุกทวีปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยผ่านทางเรือสินค้าที่เดินทางค้าขาย การระบาดในครั้งนี้กินระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆประมาณ 25 ปี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 ล้านคน
  • และเมื่อได้มีการค้นพบชนิดของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ และพบว่ามีหนูเป็นพาหะของโรคนี้ ก็ได้มีการตรวจสอบและกำจัดหนูที่มากับเรือจากประเทศต่างๆ รวมทั้งการควบคุมหนูในเขตที่อยู่อาศัยของคน ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา  ก็ไม่พบการระบาดเป็นบริเวณกว้างอีกต่อไป พบผู้ป่วยเพียงประปรายโดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกลเท่านั้น

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีรายงานกาฬโรคในแต่ละปีประมาณ 600 ราย แต่เชื่อว่าควรจะมากกว่านี้, องค์การอนามัยโลกรายงานพบโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นสำคัญใน3ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สาธารณรัฐมาดากัสการ์, และประเทศเปรู, โรคนี้พบได้ทุกเพศใกล้เคียงกัน และพบทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ, มีรายงานมากกว่า50%ของผู้ป่วยพบในช่วงอายุ 12-45 ปี

* ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2495 เป็นปีสุดท้ายที่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ หลังจากนั้นไม่มีรายงานการเกิดกาฬโรคขึ้นในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้

อะไรเป็นสาเหตุเสี่ยงของกาฬโรค?

กาฬโรค-01

 

กาฬโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Yersinia pestis ที่มีอยู่ในทางเดินอาหารของตัวหมัด (Flea) ซึ่งหมัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนตัวของสัตว์จำพวกหนู ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า และหนูชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด รวมไปถึง กระรอก กระแต  กระต่ายบ้าน กระต่ายป่า และสัตว์ป่าอื่นๆอีกหลายชนิด รวมถึงแมวบ้านด้วย สัตว์ที่ติดเชื้อชนิดนี้ก็จะมีอาการป่วยและตายได้ สำหรับสุนัขมีโอกาสที่จะติดเชื้อชนิดนี้ได้ แต่จะไม่ป่วยเป็นโรคและโอกาสที่แพร่มาสู่คนจึงแทบจะไม่มี

การติดเชื้อกาฬโรคในคน: เกิดขึ้นได้โดย

  • ถูกหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กัด ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงคือคนที่อยู่ใกล้ชิดสัตว์ที่มีหมัด เช่น ในเขตชนบท หรือในเขตที่มีหนูมาก การออกค่ายอยู่ป่า การไปปิกนิกตามทุ่งหญ้า ป่าเขา หรือเป็นสัตว์แพทย์ เป็นต้น
  • การสัมผัสเนื้อเยื่อหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ จากสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรคเช่น การแล่เนื้อหรือลอกหนังสัตว์
  • การหายใจเอาละอองเสมหะน้ำลายของสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรคปอดเข้าไป โดยเฉพาะจากแมว
  • ติดต่อระหว่างคนสู่คน ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดเข้าไป
    ทั้งนี้ ในทางกลับกันสัตว์ก็สามารถติดกาฬโรคจากคนได้ด้วยวิธีการเดียวกัน

เชื้อกาฬโรคก่อโรคได้อย่างไร?

เมื่อถูกหมัดที่มีเชื้อกาฬโรคกัด เชื้อจะเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเดินทางต่อไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เม็ดเลือดขาวก็จะจับกินเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ แต่เชื้อจะไม่ตายและยังคงแบ่งตัวต่อไปเรื่อยๆ เม็ดเลือดขาวจำนวนมากขึ้นก็จะเข้ามาเพื่อจับเชื้อกิน จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโต และปรากฏเป็น 'กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic plague)'

บางครั้งการถูกหมัดกัด เชื้ออาจเดินทางเข้าสู่กระแสเลือดและแบ่งตัวเจริญในกระแสเลือด โดยที่เชื้อไม่ได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิด 'ภาวะติดเชื้อกาฬโรคในกระแสเลือด (Septicemic plague)' ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต, นอกจากนี้ การสัมผัสซากสัตว์หรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ เชื้ออาจเดินทางเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเนื้อเยื่อบุผิวต่างๆได้ เช่น ทางผิวหนัง เป็นต้น

แต่หากรับเชื้อกาฬโรคจากการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรคปอดอยู่ เชื้อก็จะเดินทางเข้าสู่ถุงลมในปอดและแบ่งตัวเจริญเติบโต เกิดเป็น 'กาฬโรคปอดขึ้น (Pneumonic plague)’

กาฬโรคมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของกาฬโรค (ระยะตั้งแต่ติดเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ)จะประมาณ 2-6 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

ก. กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง:  อาการ คือ จะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส  ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหัว อ่อนเพลีย

  • ภายใน 24 ชั่วโมงต่อมา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้ๆกับที่โดนหมัดกัดจะเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองบวม/โต คลำพบได้  แดง ร้อน และจะปวดรุนแรงมากจนผู้ป่วยพยายามไม่ขยับบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวมโตนี้ เช่น หากมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้บวมโต ผู้ป่วยก็จะไม่ขยับแขน เป็นต้น
  • ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบนี้ อาจกลายเป็นฝีหนองได้
  • นอกจากนี้ เนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณรอบๆต่อมน้ำเหลืองที่บวม จะบวม,แดง, และ ร้อนไปด้วย
  • และถ้าสังเกตให้ดีจะพบร่องรอยที่หมัดกัด โดยจะเห็นตุ่มนูนเล็กๆ หรือเป็นตุ่มหนอง หรือเป็นแผลตื้นๆ ก็ได้
  • ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา, ไข้จะขึ้นสูงมาก หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเปลี้ยเพลียแรง สับสน อาจมีชักและประสาทหลอน, และเชื้ออาจลุกลามจากต่อมน้ำเหลืองเข้าสู่กระแสเลือด และแบ่งตัวเจริญเติบโต ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เรียกว่า ‘Secondary plague sepsis’

ข. กาฬโรคปอด: เป็นกาฬโรคชนิดที่อาการเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรง และอัตราตายสูงที่สุด, โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/เนื้อตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย

  • 1 วันต่อมาจะมีอาการไอ มีเสมหะค่อนข้างใส และอาจมีเลือดปน ผู้ป่วยบางรายอาจมีไอเป็นเลือดสดได้ ร่วมกับ
  • เจ็บหน้าอก  หายใจเร็ว หอบเหนื่อย จนกระทั่งเกิดภาวะหายใจล้มเหลว และระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวในที่สุด
  • แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองที่เชื้ออาจแพร่ไปตามกระแสเลือดและกระจายเข้าสู่ปอดได้ ทำให้เกิดเป็นกาฬโรคปอดตามมาได้ด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘Secondary plague pneumonia’

ค. ภาวะติดเชื้อกาฬโรคในกระแสเลือด:  เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร คือ คลื่นไสอาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง

  • แล้วตามด้วยอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่เหมือนกับจากเชื้ออื่นๆทั่วไป คือ มีไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว  หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ
  • ซึ่งอาการอาจรุนแรง เรียกว่า ‘Severe sepsis หรือ septic shock,’  เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดเล็กๆทั่วร่างกาย (Disseminated intravascular coagulationย่อว่า DIC/ดีไอซี), เลือดไม่แข็งตัว, เลือดออกง่าย, มีจุดเลือดออก หรือจ้ำเลือดตามผิวหนัง, และอวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลวจนถึงตายในที่สุด

*อนึ่ง: เชื้อกาฬโรคอาจทำเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, และคออักเสบได้ แต่พบได้น้อยมากๆ

แพทย์วินิจฉัยกาฬโรคได้อย่างไร?

การจะวินิจฉัยโรคกาฬโรค แพทย์จะอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยามาประกอบกับอาการของผู้ป่วยที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นกาฬโรค และใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการมายืนยันการวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองบวมโต: จะสงสัยว่าเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หากต่อมน้ำเหลืองที่บวมโตนั้น มีอาการปวดที่รุนแรง, และไม่มีการอักเสบของท่อน้ำเหลืองร่วมด้วย, นอกจากนี้ ประวัติการถูกหมัดกัด, ประวัติการเที่ยวป่า เที่ยวเขา, หรือการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคนี้ ก็จะมีส่วนช่วยในการนึกถึงโรคนี้

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอด หรือ มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด: การจะสงสัยว่าเกิดจากเชื้อกาฬโรคนั้นต้องอาศัยข้อมูลว่า เคยมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่หรือในประเทศนั้นๆ, หรือมีประวัติชัดเจนว่าสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรค, หรือมีประวัติว่ามีการสัมผัสสัตว์ที่มีอาการป่วย, รวมทั้งข้อมูลว่า อาจมีการระบาดของเชื้อกาฬโรคขึ้นในกลุ่มสัตว์ เช่น มีหนูตายเป็นจำนวนมากในพื้นที่นั้นๆ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการในเบื้องต้นที่มีความรวดเร็วในการวินิจฉัย เพื่อประโยชน์ในการเริ่มให้ยารักษา คือ การเจาะเลือด หรือการใช้เข็มเจาะดูดต่อมน้ำเหลืองที่บวมโต หรือ นำเสมหะ มาย้อมสีเพื่อดูชนิดแบคทีเรียคร่าวๆ โดยหากเป็นเชื้อกาฬโรคจะเห็นเป็นแบคทีเรียรูปแท่ง ดูคล้ายเข็มกลัด

*ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะใช้ 'ยืนยัน' ในการวินิจฉัยว่าติดเชื้อฯนี้ ทั่วไปได้แก่ 

  • การเพาะเชื้อจากเลือด, จากต่อมน้ำเหลือง, และ/หรือจากเสมหะ
  • ตรวจเลือดหาสารแอนติบอดี (Antibody / สารภูมิต้านทาน) ของเชื้อ และ
  • ตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reaction)

รักษากาฬโรคอย่างไร?

เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นกาฬโรค จะแยกผู้ป่วยด้วยมาตรการสูงสุดเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ และให้การรักษาโดยรวดเร็วที่สุด, ซึ่งการรักษาหลักคือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ  โดยยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อกาฬโรค เช่นยา  Streptomycin,  Gentamicin, Tetracycline และ/หรือ Chloramphenicol,   ส่วนยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) พบว่า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาโรคนี้

ระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะ คือ อย่างน้อยประมาณ 10 วัน หรือให้ต่อไปอีก 3 วันหลังจากที่ไม่มีไข้และอาการต่างๆดีขึ้นแล้ว, ชนิดของยาที่ให้จะให้ในรูปแบบฉีด และอาจจะเปลี่ยนมาใช้แบบกินเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

 ส่วนการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ จะทำควบคู่ไปกับการให้ยาปฏิชีวนะ  เช่น

  • ให้ยาลดไข้, ยาแก้ปวด
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • การผ่าระบายหนองในผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองอักเสบจนเป็นฝีหนอง
  • หากความดันโลหิตต่ำ หรือ เกิดภาวะช็อกที่เกิดจากการติดเชื้อที่เรียกว่า Septic shock จะให้สารน้ำปริมาณมาก, ให้ยากระตุ้นหลอดเลือดและการบีบตัวของหัวใจ
  • หากผู้ป่วยเกิดมีระบบการหายใจล้มเหลว ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

กาฬโรคมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคอย่างไร?

หากไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา: ผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมีโอกาสถึงตาย 40-60%, แต่ถ้าเป็นกาฬโรคปอด หรือเกิดภาวะติดเชื้อกาฬโรคในกระแสเลือด จะมีโอกาสถึงตายเกือบ 100%

การได้รับยาปฏิชีวนะรักษาที่รวดเร็ว และการรักษาร่วมอื่นๆที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะช่วยลดอัตราการตายลงได้มาก โดยในผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง อัตราตายจะอยู่ที่ประมาณ 1-15%, กาฬโรคปอดประมาณ 40%, ส่วนกาฬโรคในกระแสเลือดประมาณ 27% (ข้อมูลจากผู้ป่วยในประเทศสหรัฐอเมริกา)

ดูแลตนเอง และป้องกันกาฬโรคอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันกาฬโรค ทั่วไป คือ

  • หลักการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของกาฬโรคที่สำคัญ คือ การควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย รวมทั้งให้ความรู้ด้านสุขศึกษากับประชาชน และการเฝ้าระวังการเกิดขึ้นของโรค
  • การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม: เช่น กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง ไม่ให้มีกองขยะที่จะเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์หนูได้, อาคารต่างๆต้องมีระบบป้องกันการเข้าถึงของหนูและการกำจัดหนูที่ถูกวิธี, ตามบ้านเรือนก็ควรเก็บอาหารให้มิดชิด ไม่ให้หนูเข้าถึง รอบๆบ้านไม่ควรมีกองขยะ กองไม้,  ควรเก็บอาหารของสัตว์เลี้ยงและกองฟืนให้มิดชิด
  • หากพบซากหนู หรือสัตว์อื่นๆตาย: ควรกำจัดให้ถูกวิธี โดยการสวมถุงมือยาง, สวมหน้ากากปิดปากปิดจมูกก่อนการสัมผัสซากสัตว์นั้นๆ, และอาจใช้วิธีฝังกลบซึ่งต้องลึกพอ, ห้ามทิ้งลงถังขยะธรรมดาทั่วไป หรือท่อระบายน้ำหรือคูคลองต่างๆ  
  • สำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ: ควรต้องใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันการถูกหมัดกัด สวมถุงมือ และหน้ากากอนามัยเสมอ
  • สัตว์ที่เลี้ยงไว้: เช่น หมา แมว กระต่าย หนูพันธุ์ต่างๆ กระรอก กระแต ควรกำจัดหมัดให้อย่างสม่ำเสมอ
  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่าชนิดต่างๆ หากไปเที่ยวป่า เที่ยวเขา ควรป้องกันตัวเองจากการถูกหมัดกัด เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าแขน/ขายาว
  • หากคนหรือสัตว์เลี้ยงในบ้านไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรค จะต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกัน (โดยการปรึกษาแพทย์)
  • ในอดีต มีวัคซีนสำหรับป้องกันกาฬโรค แต่ป้องกันได้เฉพาะการเกิดกาฬโรคของต่อมน้ำเหลือง และปัจจุบันได้หยุดการผลิตไปแล้ว, ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่ป้องกันโรคได้ดีขึ้น แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เพื่อให้ใช้ในประชากรทั่วๆไป โดยจำกัดการใช้เฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อกาฬโรคเท่านั้น รวมถึงในกรณีที่เกิดสงครามที่มีการใช้อาวุธเชื้อโรค/อาวุธชีวภาพจากเชื้อกาฬโรค

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากสัมผัสกับซากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน หรือถูกหมัดกัด ควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะมีไข้ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Grant L. Campbell, David T. Dennis, Plague and other Yersinia infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Plague_(disease) [2023,Feb25]
  3. https://www.cdc.gov/plague/index.html [2023,Feb25]
  4. https://www.emedicinehealth.com/plague/article_em.htm [2023,Feb25]
  5. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/plague [2023,Feb25]
  6. http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/64/nihfactsheet64-9.pdf [2023,Feb25]
  7. https://ddc.moph.go.th/law.php?law=1 [2023,Feb25]
  8. https://www.cdc.gov/plague/faq/index.html#cases [2023,Feb25]