คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ข้อเข่าเสื่อม
ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและทางชีวกลศาสตร์ภายในข้อและภายในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการถูกทำลาย อาการปวดข้อเรื้อรังที่มักร่วมกับมีการติดขัดเมื่อใช้ข้อ บางครั้งจะกดเจ็บเนื้อเยื่อบริเวณข้อร่วมด้วย อาการเจ็บปวดข้อจะมากขึ้นเมื่อใช้ข้อนั้นๆ ซึ่งพบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น หรือเคยมีประวัติอุบัติเหตุที่ข้อนั้นๆ พบบ่อยที่ ข้อเข่า ข้อมือ และข้อสะโพก พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย
ทั้งนี้ การเสื่อมของข้อจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เพราะกระดูกอ่อนผิวข้อนอกจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อยแล้วยังไม่มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด ผู้ที่มีข้อเสื่อมในระยะแรกจึงไม่เกิดอาการปวดจนกว่าข้อที่เสื่อมจะเกิดกระบวนการในการอักเสบ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทงอกเข้าไป หรือผิวข้อสึกรุนแรงมากจนถึงเนื้อกระดูกใต้กระดูกอ่อนผิวข้อ ผู้ป่วยจึงจะเกิดอาการปวด
- อายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมาก
- เพศหญิง มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย
- ระดับการทำกิจกรรมในแต่ละวันสูง การเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมาก
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆ มาก่อน
- แนวกระดูกที่ประกอบเป็นข้อผิดรูป เช่น มีเข่าโก่ง
- กรรมพันธุ์
- เยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงท่าทางที่ส่งเสริมให้มีการเสียดสีของข้อเข่ามากขึ้น เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ ควรนั่งบนเก้าอี้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการยืนเดินนานๆ ถ้าจำเป็นอาจจะต้องใช้อุปกรณ์พยุง เช่น ไม้เท้าหรือผ้ารัดข้อเข่าเพื่อลดแรงกระทำที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า
- เลือกการออกกกำลังกายให้เหมาะสม งดการวิ่งหรือออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกเยอะๆ การออกกำลังกายที่แนะนำ เช่น การเดินในน้ำ การเดินช้าๆ บนบก หรือการปั่นจักรยานฟิตเนสเบาๆ เพื่อคงช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อไว้ไม่ให้ติดขัดมากขึ้น นอกจากนี้ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า เพื่อให้ช่วยประคองข้อเข่าให้มั่นคงก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งทำได้โดย
- การนั่งบนเก้าอี้
- ใช้ถุงทรายสำหรับออกกำลังกายรัดไว้ที่ข้อเท้าข้างที่ต้องการออกกำลังกาย
- ออกแรงงอ-เหยียดข้อเข่า ขณะเหยียดข้อเข่าขึ้นตึง ให้ค้างไว้ ร่วมกับค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้น แล้วค่อยผ่อนข้อเท้าลง งอเข่ากลับลงวางที่พื้น
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต ทำได้วันละ 2 รอบ
- ถ้ามีอาการปวดเพิ่มขึ้นให้หยุดทำทันที
- หากมีอาการปวดเข่าร่วมกับมีอาการอักเสบ ซึ่งสังเกตได้จากการมีอาการบวมแดงร้อนร่วมด้วย แนะนำให้ประคบด้วยความเย็น โดยใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าขนหนูประคบไว้ 15-20 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- หากมีเพียงอาการปวดเข่าเท่านั้น แนะนำให้ประคบด้วยความร้อน อาจจะใช้แผ่นประคบร้อนไฟฟ้าหรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นอุณหภูมิ 43.5-45.5 องศาสเซลเซียส ประคบไว้ประมาณ 20 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสมจะสามารถช่วยลดแรงกระทำที่จะเกิดขึ้นกับเข่าได้ อาการปวดและการสึกหรอที่มากขึ้นของผิวข้อก็จะลดน้อยลงด้วย โดยรองเท้าที่ดีควรมีพื้นนุ่มสบาย รองรับอุ้งเท้าได้พอดี ไม่รัดหรือหลวมจนเกินไป