ไส้เลื่อน (Hernia)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 4 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน?
- ไส้เลื่อนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไส้เลื่อนได้อย่างไร?
- รักษาไส้เลื่อนอย่างไร?
- โรคไส้เลื่อนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองและป้องกันไส้เลื่อนได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- ท้องผูก (Constipation)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
- กะบังลม (Thoracic diaphragm)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ โรคที่อวัยวะภายใน (บางส่วน) เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิม ผ่านรู หรือ ดันตัว ผ่านบริเวณกล้ามเนื้อ หรือ พังผืด ที่เกิดความหย่อนยานสูญเสียความแข็งแรง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งหนึ่ง และมักปรากฏเป็นก้อนตุงออกมา โดยส่วนที่เคลื่อนตัวออกไป จะยังคงถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเดิมของมัน, อวัยวะที่เกิดไส้เลื่อนได้บ่อย คือ ‘ลำไส้เล็ก’
อนึ่ง: ไส้เลื่อน หรือ เฮอร์เนีย (Hernia) มาจากภาษาลาตินแปลว่า Rupture (แตก) เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก แต่สถิติเกิดในภาพรวมทั่วโลกยังไม่ทราบแน่ชัด มีรายงานพบประมาณ 27% ในเพศชาย และประมาณ 3% ในเพศหญิง พบทุกวัย พบน้อยในเด็ก แต่พบสูงขึ้นตามอายุ เพศชายพบสูงกว่าเพศหญิง โดยมีรายงานสูงกว่าได้ถึง 6-9 เท่า
ชนิดของไส้เลื่อน:
โรคไส้เลื่อน แบ่งออกเป็นหลายชนิดตามตำแหน่งอวัยวะที่เกิดโรค และตามสาเหตุการเกิด โดยการรักษาส่วนใหญ่ต้องอาศัย การผ่าตัด
ไส้เลื่อนแต่ละชนิดจะพบได้ในเพศและวัยที่แตกต่างกันไป แต่พบทุกเชื้อชาติ:
- ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia): พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 7 เท่า ส่วนมากพบในวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือประมาณ 75% ของไส้เลื่อนทั้งหมด พบเกิดด้านขวามากกว่าด้านซ้าย
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia): หรือที่เรียกกันว่า 'สะดือจุ่น' มักพบตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโอกาสพบมากขึ้น เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายในสัดส่วน 3:1 ส่วนใหญ่จะหายได้เองก่อนอายุ 2 ขวบ พบทารกชาวผิวดำเกิดเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้มากกว่าทารกชาวผิวขาวถึง 8 เท่า
- ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia): พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย พบมากในวัยสูงอายุ
- ไส้เลื่อนบริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernia):เป็นตำแหน่งของช่องที่อยู่หลอดเลือดดำขนาดใหญ่ของขาร่วมกับระบบน้ำเหลือง, พบได้ค่อนข้างน้อย เกือบทั้งหมดพบในเพศหญิง
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ (Epigastric hernia): พบในเพศชายมากกว่า เพศหญิงในสัดส่วน 3:1, พบน้อยเช่นกัน
- ไส้เลื่อนตรงข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia): พบในเพศหญิงมากกว่า เพศชายเล็กน้อย ส่วนมากพบตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia): พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในสัดส่วน 6:1 แต่เป็นชนิดพบน้อยมาก
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia): โดยเกิดในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาแล้ว พบได้ในทุกเพศทุกวัยที่เคยมีการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน?
สาเหตุของการเกิดไส้เลื่อนแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป เช่น
- ไส้เลื่อนขาหนีบ(Inguinal hernia): แบ่งย่อยออกได้อีก 2 ชนิดคือ
- Indirect inguinal hernia: ไส้เลื่อนชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่ตอนเป็นตัวอ่อนในครรภ์โดยขณะที่อายุครรภ์อยู่ในช่วง 21 - 25 สัปดาห์ อัณฑะซึ่งอยู่ในช่องท้องจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในช่องที่บริเวณขาหนีบและเคลื่อนตัวลงไปที่ถุงอัณฑะก่อนที่จะคลอดออกมา และช่องที่บริเวณขาหนีบก็จะปิดไป หากเกิดความผิดปกติคือช่องไม่ปิด ลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวมาอยู่ในช่องนี้และบางครั้งอาจเคลื่อนลงไปจนถึงถุงอัณฑะได้ แม้ความผิดปกติจะเป็นมาแต่กำเนิด แต่การเกิดเป็นไส้เลื่อนมักพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป แต่เด็กก็สามารถพบได้ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้มากกว่าเด็กที่คลอดครบกำหนด
- Direct inguinal hernia: ไส้เลื่อนชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติเหมือนข้างต้น แต่เกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดชื่อ Transversalis fascia ซึ่งอยู่บริเวณขาหนีบในตำแหน่งเฉพาะที่เรียกว่า Hesselbach triangle เกิดความหย่อนยานไม่แข็งแรงลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวดันพังผืดเหล่านี้จนปรากฏออกมาเป็นถุงบริเวณขาหนีบได้ แต่จะไม่ลงไปอยู่ในถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนชนิดนี้จะพบแต่เฉพาะในผู้ใหญ่โดยเฉพาะวัยสูงอายุ
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia): เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ผนังหน้าท้องตรงสะดือก็จะปิดไปตั้งแต่ชั้นของผิวหนัง, ชั้นของกล้ามเนื้อ, และมีชั้นพังผืดเข้ามาปกคลุม แต่หากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ต่อชั้นของผิวหนังปิดไม่สนิท บางส่วนของลำไส้ก็จะเคลื่อนออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งได้
- ไส้เลื่อนบริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ(Femoral hernia): เกิดจากบางส่วนของสำไส้เคลื่อนที่ผ่านรูที่เรียกว่า Femoral canal ซึ่งอยู่ตรงบริเวณต่ำกว่าขาหนีบลงมา ทำให้ลำไส้ลงมากองเป็นก้อนตุงบริเวณที่ต่ำต่อขาหนีบ ปัจจัยเสี่ยงคือความดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia): เกิดจากบางส่วนของสำไส้เคลื่อนที่ผ่านรูที่เรียกว่า Obturator foramen ซึ่งอยู่ตรงกระดูกเชิงกรานส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิงเพราะลักษณะของกายวิภาคบริเวณเชิงกรานเอื้อต่อการเกิดมากกว่าในเพศชาย
- ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia): แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ
- Sliding hiatal hernia: คือการที่บางส่วนของกระเพาะอาหารนับตั้งแต่ส่วนต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกะบังลม (ซึ่งเป็นทางที่หลอดอาหารลอดเข้าสู่ช่องท้อง) เข้าไปอยู่ในช่องอก
- Paraesophageal hernia: คือการที่บางส่วนของกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกะบังลมซึ่งอยู่ข้างๆ รูที่เป็นทางผ่านของหลอดอาหาร
- ทั้งนี้สาเหตุของทั้ง 2 ชนิดย่อย เกิดจากกล้ามเนื้อและพังผืดของกะบังลมมีการหย่อนยานและเสียความยืดหยุ่น ซึ่งมักจะเกิดในคนสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงร่วม คือ 'ความดันในช่องท้อง' ที่มากกว่าปกติ
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ (Epigastric hernia): เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อและพังผืดของผนังหน้าท้องส่วนบนเหนือสะดือไม่แข็งแรง เมื่อปัจจัยเสี่ยงคือความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้องเคลื่อนตัวผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ ดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่งที่บริเวณหน้าท้องได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อไขมันภายในช่องท้อง, น้อยมากที่จะมีส่วนของลำไส้ตามมาด้วย
- ไส้เลื่อนตรงข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia): เกิดจากชั้นพังผืดชื่อ Spigelian fascia ซึ่งอยู่บริเวณข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้องชื่อ Rectus abdominis เกิด หย่อนยานไม่แข็งแรง เมื่อปัจจัยเสี่ยงคือความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวดันออกมาปรากฏเป็นก้อนโป่ง
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia): หลังได้รับการผ่าตัดช่องท้องเมื่อแผลหายแล้ว แต่กล้ามเนื้อและพังผืดของหน้าท้องในบริเวณผ่าตัดอาจเกิดการหย่อนยานกว่าปกติ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่งได้ โดยจะเกิดขึ้นประมาณ 2-10%ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดภายในช่องท้อง
สาเหตุความดันในช่องท้องเพิ่ม:
การมี 'ความดันในช่องท้อง' เพิ่มขึ้น และ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนต่างๆดังที่กล่าวไปแล้ว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- มีน้ำหนักตัวมาก โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ยกของหนักบ่อยๆ
- ไอเรื้อรัง
- เป็นโรคถุงลมโป่งพอง/โรคซีโอพีดี
- เบ่งอุจจาระ และ/หรือ ปัสสาวะเป็นประจำ
- ภาวะมีน้ำในช่องท้องปริมาณมาก
- หญิงตั้งครรภ์
*นอกจากนี้:
- การที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไส้เลื่อน คนคนนั้นจะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
ไส้เลื่อนมีอาการอย่างไร?
อาการของไส้เลื่อน:
ก. อาการหลักของไส้เลื่อน คือ คลำได้ก้อนโป่งค่อนข้างนิ่ม โดยตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เลื่อน เช่น
- ไส้เลื่อนตรงขาหนีบ: จะคลำได้ก้อนบริเวณขาหนีบมักพบข้างขวามากกว่าข้างซ้าย
- ไส้เลื่อนที่สะดือ: จะปรากฏเป็นก้อนที่สะดือหรือสะดือจุ่นนั่นเอง
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบจะคลำได้ก้อนที่บริเวณติดชิดกับขาหนีบแต่อยู่ต่ำใต้ต่อขาหนีบ
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ: จะคลำได้ก้อนตรงกลางของหน้าท้องเหนือต่อสะดือ ประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนชนิดนี้จะคลำก้อนได้หลายก้อน
- ไส้เลื่อนตรงข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง: จะคลำได้ก้อนตรงข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด: จะคลำได้เป็นก้อนตรงตำแหน่งแผลที่เคยผ่าตัดมาก่อน
ข. อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย เช่น
- ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกปวดหน่วงๆ ที่ก้อนเหล่านี้ได้
- ส่วนใหญ่แล้วหากผู้ป่วยอยู่ในท่านอน ส่วนของลำไส้มักเคลื่อนที่กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมและจะมองไม่เห็นก้อนแต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในท่ายืน ส่วนของลำไส้ก็จะเคลื่อนที่ออกมาดันให้เห็นเป็นก้อนได้
- เมื่อออกแรงเบ่งเพิ่มความดันในช่องท้องเหมือนกับการเบ่งถ่ายอุจจาระหรือการร้องไห้ในเด็ก จะทำให้ยิ่งเห็นก้อนได้ชัดเจนขึ้น และ
- หากใช้นิ้วมือดันก้อนเหล่านี้ลำไส้ก็จะสามารถเคลื่อนตัวกลับเข้าสู่ช่องท้องได้
- ***ในกรณีที่ไม่สามารถดันส่วนของลำไส้ให้เคลื่อนที่กลับได้และเมื่ออยู่ในท่านอนผ่อนคลายแล้วลำไส้ไม่เคลื่อนตัวกลับหมายความว่าลำไส้เกิดภาวะติดคาขึ้น เรียกว่า Incarcerated hernia ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บตรงก้อนไส้เลื่อนนี้และอาจทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยก็จะมีอาการของลำไส้อุดตันคือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวบอกว่า *ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล
- กรณีปล่อยลำไส้ที่เกิดการติดค้างไว้โดยไม่รักษาลำไส้อาจเกิดการบิดตัวอยู่ภายในถุงไส้เลื่อน หรือถูกบีบรัดจากถุงไส้เลื่อน ทำให้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ถูกบีบรัดไปด้วย ลำไส้ก็จะขาดเลือดไปเลี้ยง และเกิดลำไส้เน่าตายตามมา เรียกภาวะนี้ว่า Strangulated hernia ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บไส้เลื่อนมาก อาจมีไข้ และมีอาการของลำไส้อุดตันดังกล่าว *หากให้การผ่าตัดรักษาไม่ทัน ลำไส้ที่เน่าตายก็จะทะลุในที่สุด เชื้อโรคจากภายในลำไส้ก็จะกระจายไปทั่วท้องและเข้าสู่กระแสเลือดเกิดเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ซึ่งจะมีโอกาสถึงตายได้สูง
- ในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน มักจะมีอาการของลำไส้อุดตันเกิดขึ้นเฉียบพลัน แล้วหายไปได้เอง โดยจะเกิดขึ้นเป็นๆหายๆ ส่วนน้อยที่จะคลำได้เป็นก้อนภายในช่องท้องน้อย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านในได้ซึ่งเกิดจากการที่ไส้เลื่อนไปกดเส้นประสาทชื่อ Obturator nerve หากงอต้นขา อาการปวดจะบรรเทาลง ในทางตรงข้ามหากยืดต้นขาออกไปด้านหลังหรือจับต้นขาแบะออก อาการปวดจะมากขึ้น
- สำหรับผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Sliding hernia ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการส่วนน้อยจะมีอาการของโรคกรดไหลย้อนได้แก่ อาการแสบร้อนกลางอก จุกแน่นในหน้าอก เรอบ่อย มีรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะในคอ มีอาการระคายคอเป็นประจำ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากหูรูดที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารซึ่งปกติอยู่ในช่องท้องจะเคลื่อนที่ขึ้นไปในช่องอกที่ซึ่งมีความดันน้อยกว่า ทำให้หูรูดเกิดการคลายตัว กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารส่วนปลายได้และทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบตามมา
- ส่วนผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Paraesophageal hernia จะไม่มีอาการ และเนื่องจากส่วนที่ขึ้นไปอยู่ในช่องอกไม่ใช่ส่วนของหูรูดซึ่งอยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงไม่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยไส้เลื่อนชนิดนี้มีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาและภาวะขาดเลือดมาเลี้ยงได้
แพทย์วินิจฉัยไส้เลื่อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไส้เลื่อนจาก
- อาการผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย โดยจะตรวจทั้งใน ท่านอน ท่ายืน และให้ผู้ป่วยออกแรงเบ่ง ซึ่งการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก สิ่งที่สำคัญคือการให้การวินิจฉัยว่าไส้เลื่อน ที่ตรวจพบเกิดภาวะติดคาขึ้นหรือไม่ รวมทั้งไส้เลื่อนที่ติดคาเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงหรือยัง โดยอาศัยจากอาการและการตรวจร่างกายร่วมกัน
- ในกรณีที่ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์ช่วยในการตรวจวินิจฉัย
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนภายในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ซึ่งมักคลำไม่ได้ก้อนแต่จะมีอาการของ 'ลำไส้อุดตัน' เป็นๆหายๆ การวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจช่องท้อง/ช่องท้องน้อยด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)ช่วยยืนยัน
- สำหรับโรคไส้เลื่อนกะบังลม:
- เนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการการวินิจฉัยบางครั้งจึงเป็นการบังเอิญตรวจพบ
- โดยเฉพาะจากภาพเอกซเรย์ปอดซึ่งจะเห็นเงาผิดปกติในช่องอก การตรวจยืนยันการวินิจฉัยอาจใช้การกลืนแป้งแล้วเอกซเรย์ หรือ การส่องกล้องตรวจก็ได้
- บางครั้งอาจเผอิญตรวจพบจากการส่องกล้องเพื่อตรวจโรคกระเพาะอาหาร
- ส่วนผู้ที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน แพทย์ก็จะส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัย
- เนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการการวินิจฉัยบางครั้งจึงเป็นการบังเอิญตรวจพบ
รักษาไส้เลื่อนอย่างไร?
การรักษาไส้เลื่อนต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆที่อยู่ผิดที่ ให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเย็บปิดรูร่วมกับเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เป็นจุดอ่อนให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก
ก. ผู้ป่วยไส้เลื่อนที่ยังไม่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา: ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อนแล้วจะต้องนัดมาผ่าตัดยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ระยะเวลาตั้งแต่ตรวจพบจนกระทั่งนัดมาผ่าตัดขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเกิดไส้เลื่อนติดคา หากมีความเสี่ยงสูง เช่นไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นทันที, ไส้เลื่อนเคลื่อนกลับที่เดิมยาก, หรือรูที่ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกมามีขนาดเล็ก, แพทย์จะรีบผ่าตัดให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เนื่องจากไส้เลื่อนมีโอกาสเกิดภาวะติดคาได้ทุกเมื่อ
ข. ผู้ป่วยที่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา: การรักษาในขั้นแรกคือการพยายามนำไส้เลื่อนที่ติดคาให้เคลื่อนที่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิม ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ป่วยนอนราบ, ให้ยาแก้ปวด, ยาคลายกล้ามเนื้อ, และยานอนหลับ, แล้วใช้นิ้วมือพยายามดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ช่องท้อง
- หากทำได้สำเร็จ ก็จะนัดผู้ป่วยมาผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนให้เร็วที่สุดเนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดการติดคาซ้ำได้อีกทุกเมื่อ
- แต่หากทำไม่สำเร็จ ต้องรีบผ่าตัดโดยฉุกเฉินเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงและลำไส้เน่าตายตามมาได้
ค. ผู้ป่วยไส้เลื่อนที่เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง: ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยเวลานับตั้งแต่ลำไส้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงจนกระทั่งลำไส้เน่าตายและทำให้ต้องตัดลำไส้ทิ้งไปคือประมาณ 6 ชั่วโมง
อนึ่ง:
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกรานซึ่งปกติจะคลำก้อนไม่ได้ แต่หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นไส้เลื่อน ก็ต้องนัดมารับการผ่าตัดโดยเร็วเช่นกัน
- ในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิดParaesophageal hernia เมื่อตรวจวินิจฉัยพบก็ควรทำการผ่าตัดรักษา เนื่องจากมีโอกาสเกิดกระเพาะอาหารติดคาและขาดเลือดไปเลี้ยงเหมือนกับลำไส้ที่เกิดไส้เลื่อนเช่นกัน
- ในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Sliding hiatal hernia:
- ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อย จะอาศัยการรักษาด้วยยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- กินยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
- ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
- ไม่กินอาหารแต่ละมื้อหนักเกินไป
- ไม่กินแล้วนอนทันที
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
- แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง รักษาด้วยยาอาการไม่ดีขึ้น หรือ ไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อย จะอาศัยการรักษาด้วยยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบแล้วค่อยผ่าตัดรักษาเนื่องจากสามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
โรคไส้เลื่อนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ผลข้างเคียงจากไส้เลื่อน คือ การติดคาและการขาดเลือดของลำไส้หรือของเนื้อเยื่อที่เลื่อนลงมาอยู่ผิดที่ ทั้งนี้
- โอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาและลำไส้ขาดเลือด จะแตกต่างกันไปในไส้เลื่อนแต่ละชนิด รวมทั้งในแต่ละบุคคลด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วไส้เลื่อนที่มีรูเปิดขนาดกว้างใหญ่จะมีโอกาสเกิดภาวะติดคาได้น้อยกว่า นอกจากนี้ไส้เลื่อนที่เป็นมานานก็มีโอกาสเกิดภาวะติดคาได้น้อยกว่าไส้เลื่อนที่เกิดอย่างรวดเร็วหรือทันที
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนมาแล้ว มีโอกาสกลับเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้อีกซึ่งก็ต้องผ่าตัดรักษาซ้ำ
ดูแลตนเองและป้องกันไส้เลื่อนได้อย่างไร?
การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไส้เลื่อน ทั่วไป คือ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อนแล้วและอยู่ในระหว่างรอรับการผ่าตัดรักษา หรือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจขั้นรุนแรง ควรระวังป้องกันไม่ให้ไส้เลื่อนเกิดภาวะติดคา เช่น
- ไม่ยกของหนัก
- ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
- ใส่อุปกรณ์ประเภทสายรัดหรือกางเกงที่ช่วยกระชับไม่ให้ไส้เลื่อนโป่งตุงออกมา
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้วก็ต้องระวังไม่ให้ไส้เลื่อนกลับมาเป็นอีกเช่น
- ลดน้ำหนักในผู้ที่มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
- ไม่ยกของหนัก
- ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นประจำ
- ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกะบังลมที่มีอาการของกรดไหลย้อนควรป้องกันการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึง ช็อกโกแลต
- ไม่กินอาหารรสจัด
- ไม่กินอาหารที่มีไขมันมาก
- ไม่กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ
- งดอาหารก่อนที่จะนอนอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ทั่วไป ควรพบแพทย์ เมื่อ
- คลำได้เป็นก้อนตุงบริเวณหน้าท้องตำแหน่งต่างๆหรือบริเวณขาหนีบดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุฯ และ หัวข้อ อาการฯ’ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย
- ผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด หากมีอาการปวดอย่างเฉียบพลันบริเวณตำแหน่งที่เป็นไส้เลื่อน อาจร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ก็ควรรีบด่วนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ที่รวมถึงผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยฯแต่มีอาการเหล่านี้ร่วมกับการมีก้อนตุงที่บริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบ
บรรณานุกรม
- https://www.doctor.or.th/article/detail/7516 [2023,Feb4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hernia [2023,Feb4]
- https://www.emedicinehealth.com/hernia/article_em.htm [2023,Feb4]
- https://emedicine.medscape.com/article/189563-overview#showall [2023,Feb4]
- https://www.wikidoc.org/index.php/Inguinal_hernia_epidemiology_and_demographics [2023,Feb4]
- https://www.uptodate.com/contents/classification-clinical-features-and-diagnosis-of-inguinal-and-femoral-hernias-in-adults/print [2023,Feb4]