ไรซีโดรเนต (Risedronate)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 19 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไรซีโดรเนตอย่างไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไรซีโดรเนตอย่างไร?
- ยาไรซีโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)
- กระดูกพรุน
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- ความหนาแน่นมวลกระดูก (BONE MINERAL DENSITY)
- การสะแกนกระดูก โบนสะแกน โบนสแกน (Bone scan)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
- หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไรซีโดรเนต (Risedronate) คือ ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonate) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorpion) โดไรซีโดรเนตเป็นยารับประทานที่มีหลายความแรง รูปแบบวิธีการรับประทานขึ้นกับความแรงของยาที่แพทย์พิจารณาแก่ผู้ป่วย
ยาไรซีโดรเนต มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในหญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ชายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแตกหรือการหักของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกตำแหน่งอื่นๆ รวมทั้งใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนจากการได้รับยาสเตรียรอยด์ (Steroid induced osteoporosis) ชนิด กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) เป็นเวลานาน
เนื่องจากยาไรซีโดรเนตเป็นยารับประทาน จึงสามารถถูกรบกวนการดูดซึมยาได้จากอาหาร ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามวิธีการรับประทานยาที่แพทย์/เภสัชกรแนะนำอย่างเคร่ง ครัดเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาของยานี้และลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)
ยาไรซีโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไรซีโดรเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรค/ภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ชายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแตกหรือหักของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกตำแหน่งอื่นๆ
- รวมทั้งใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนจากการได้รับยาสเตรียรอยด์ชนิดกลูโคคอร์ติคอยด์เป็นเวลานาน
ยาไรซีโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไรซีโดรเนตเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต และมีโครงสร้างคล้ายกับสารไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate)ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยาไรซีโดรเนตจะเข้าจับกับเนื้อเยื่อกระดูกและออกฤทธิ์ลดอัตราการสลายตัวของกระดูก(Osteoclas tic bone resorpion) ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มมากขึ้น จึงใช้ยาไรซีโดรเนตเพื่อการรักษาภาวะกระดูกพรุนตามสรรพคุณ
ยาไรซีโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไรซีโดรเนต:
- ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม(Film-coated tablet) ขนาดยา 5, 35 และ 150 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาไรซีโดรเนตมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาไรซีโดรเนตมีขนาดหรือวิธีใช้ยา เช่น
- ขนาดยาไรซีโดรเนตที่แนะนำในผู้ใหญ่: คือ 5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง หรือ 35 มิลลิกรัมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ควรรับประทานยาในเวลาและในวันเดียวกันของแต่ละสัปดาห์ หรือ 150 มิลลิกรัมเดือนละ 1 ครั้งควรรับประทานยาในเวลาและในวันเดียวกันของแต่ละเดือน ทั้งนี้ขนาดยาและวิธีการรับประทานยาของผู้ป่วยจะแตกต่างกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- วิธีการรับประทานยาไรซีโดรเนต: แนะนำผู้ป่วยรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาทีก่อนรับประทานอาหารมื้อแรก (ก่อนอาหารเช้า) หรือก่อนยาอื่นๆโดยรับประทานยานี้พร้อมน้ำเปล่าเท่า นั้น (น้ำแร่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน) ประมาณ 1 - 2 แก้ว (ประมาณ 200 มิลลิลิตร) หลีกเลี่ยงรับประ ทานยานี้คู่กับผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่มีส่วนประกอบของไอออนบวกหลายประจุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก เนื่องจากการดูดซึมยาไรซีโดรเนตจะถูกรบกวนโดยผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวรวมทั้งจากอาหารด้วย ดังนั้นเพื่อให้การดูดซึมยาไรซีโดรเนตเพียงพอ ควรปฏิบัติตามวิธีการรับประ ทานยาที่แนะนำอย่างเคร่งครัด
กรณีที่ไม่สามารถรับประทานยาก่อนอาหารเช้าได้ สามารถรับประทานยาเป็นเวลาอื่นได้ เช่น เที่ยง, เย็น หรือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที โดยควรรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน แต่จำเป็น ต้องรับประทานยาในช่วงท้องว่างคือ ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาทีหรือหลังอาหารมื้อใดก็ได้ที่หลัง จากรับประทานเสร็จไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงจึงค่อยรับประทานยานี้
การรับประทานยาไรซีโดรเนตให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยวเม็ดยา หัก บด แบ่งยาโดยเด็ดขาด โดยรับประทานยาในท่านั่งตัวตรงหรือท่ายืนเท่านั้นเพื่อให้เม็ดยาเดินทางสู่กระเพาะอาหารได้สะดวก ผู้ป่วยห้ามนอนราบหรือเอนตัวมากๆในระยะเวลาประมาณ 30 นาทีหลังรับประทานยานี้ เพราะมีราย งานการเกิดหลอดอาหารอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการรับประทานยาในกลุ่มนี้ที่ผู้รับประทานจัดท่าทางไม่ถูกต้อง
- ขนาดยาและการปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตบก พร่องเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ห้ามใช้ยาไรซีโดรเนตในผู้ป่วยที่มีไตบกพร่องรุนแรง (ค่าการทำงาน ของไตน้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที)
- ขนาดยานี้และการปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยตับบกพร่อง
*อนึ่งในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของยานี้ในผู้ป่วยเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไรซีโดรเนต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรซีโดรเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลด้านความปลอดภัยของยานี้ในภาวะตั้งครรภ์หรือการขับออกของยาทางน้ำนมของยาแน่ชัด ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯรุนแรงแก่บุตรได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงการใช้ยานี้อยู่
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไรซีโดรเนต ควรปฏิบัติ ดังนี้
- สำหรับยาไรซีโดรเนตขนาด 5 มิลลิกรัมรับประทานวันละ 1 ครั้ง: หากลืมรับประทานยาไรซีโดรเนตขนาดดังกล่าว สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยควรรับประทานตามวิธีการรับประ ทานยาที่แนะนำไว้ แต่หากนึกขึ้นได้ใกล้กับเวลารับประทานยามื้อถัดไปคือ นึกขึ้นได้ช่วงที่เกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลาที่รับประทานยาปกติ ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมและให้รับประทานยามื้อต่อไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า
- สำหรับยาไรซีโดรเนตขนาด 35 มิลลิกรัมรับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง: หากลืมรับประทานยาไรซีโดรเนตขนาดดังกล่าวในวันที่กำหนด สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้วันใดๆก็ตามในช่วงสัปดาห์นั้น โดยควรรับประทานตามวิธีการรับประทานยาที่แนะนำไว้ และรับประทานยามื้อต่อไปในวันที่เคยรับประทานยาตามเดิมของสัปดาห์ ห้ามรับประทานยา 2 เม็ดในวันในสัปดาห์เดียวกันโดยเด็ดขาด
- สำหรับยาไรซีโดรเนตขนาด 150 มิลลิกรัมรับประทานเดือนละ 1 ครั้ง: หากลืมรับประทานยาไรซีโดรเนตขนาดดังกล่าว รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยควรรับประทานตามวิธีการรับประทานยาที่แนะนำไว้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงภายใน 7 วันข้างหน้าจะถึงวันที่ต้องรับประทานยาครั้งถัดไป ให้รอรับประทานยาครั้งถัดไปตามวันเดิมของเดือนถัดไป โดยไม่ต้องนำยาไรซีโดรเนตเม็ดที่ลืมของเดือนเก่ามารับประทานอีก ห้ามรับประทานยา 2 เม็ดในวันและในช่วงเวลาภายใน 7 วันโดยเด็ดขาด
ยาไรซีโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไรซีโดรเนตมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
ก: ผลไม่พึงประสงค์ของยาไรซีโดรเนตที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรง: เช่น อาการท้องผูก, อาหารย่อยไม่สมบูรณ์/อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ปวดกล้ามเนื้อ, ผื่นแพ้บริเวณผิวหนังทั่วไป
ข: ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรงของยานี้: เช่น หลอดอาหารอักเสบ, แผลในหลอดอาหาร, หลอดอาหารตีบ, กลืนลำบาก, ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ, กระดูกขากรรไกรตาย, อาการบวมตามร่างกาย, และเกิดตุ่มพองตามผิวหนัง ซึ่งถ้าพบอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาล
มีข้อควรระวังการใช้ยาไรซีโดรเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไรซีโดรเนต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของยาในผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยเด็กที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวายและผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติความผิดปกติของหลอดอาหารซึ่งทำให้การขับเคลื่อน หรือการบีบตัวไล่อาหารช้าลงเช่น หลอดอาหารตีบ (Stricture) หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย(Achalasia) หรือผู้ที่ไม่สามารถจัดท่าทางของร่างกายหลังรับประทานยาให้อยู่ในท่าตรงโดยไม่นอนรอบหรือเอนตัวมากๆได้ในเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- มีรายงานพบการตายของกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw) ได้ ซึ่งโดยทั่วไป มักเกิดจากการถอนฟันและ/หรือจากการติดเชื้อเฉพาะที่ที่เหงือก รวมถึงภาวการณ์อักเสบของกระดูก /กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดการตายของกระดูกขากรรไกรจากยาไรซีโดรเนตเช่น ผู้ป่วย โรคมะเร็ง การได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับรังสีรักษาบริเวณช่องปาก รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) มีปัญหาสุขอนามัยในช่องปากไม่ดี ควรพิจารณาทำทันตกรรมเพื่อป้องกัน (Preventive dentistry) ก่อนให้การรักษาด้วยยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต และควรหลีกเลี่ยงวิธีการทางทันตกรรมที่รุนแรง (Invasive procedure เช่น ถอนฟัน) ขณะได้รับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ดังนั้นควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อการประเมินทางทันตกรรมก่อนเริ่มใช้ยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาไรซีโดรเนต) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไรซีโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องปฏิกิริยาระหว่างยาไรซีโดรเนตกับยาชนิดอื่นอย่าง เป็นทางการ แต่มีรายงานอุบัติการณ์อาการไม่พึงประสงค์ฯต่อทางเดินอาหารส่วนบน (หลอดอาหาร)เพิ่มขึ้นกรณีการใช้ยาไรซีโดรเนตร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(เอ็นเสด: NSAIDs) เนื่องจากยาทั้งสองชนิดมีผลระคายเคืองทางเดินอาหารส่วนบนได้เช่นเดียวกัน
ควรเก็บรักษายาไรซีโดรเนตอย่างไร?
แนะนำเก็บยาไรซีโดรเนต:
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไรซีโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไรซีโดรเนต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actonel (Risedronate 5 mg) | Sanofi |
Actonel once a week (Risedronate 35 mg) | Sanofi |
Actonel once a month (Risedronate 150 mg) | Sanofi |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Product Information: , Risedronate, Sanofi, Thailand.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
- ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. Bisphosphonatesใน: ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล., บรรณาธิการ. ตำราโรคกระดูกพรุน 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2552
- https://reference.medscape.com/drug/actonel-risedronate-342835 [2022,June18]