ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในชั้นหนังแท้ (Dermis) โดยมีความรุนแรงของอาการหลายระดับ ตั้งแต่เป็นไม่มาก รักษาเพียงยาปฏิชีวนะ รับประทานก็หาย, ไปจนถึง อาการที่เป็น ลุกลามจนมีไข้สูง ถึงมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ได้

อะไรเป็นสาเหตุและกลไกการเกิดโรคไฟลามทุ่ง?

ไฟลามทุ่ง

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคไฟลามทุ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งที่พบบ่อยคือ จากแบคทีเรียชนิด สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) โดยเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่ผิวหนังทางรอยแยกแตกของผิวหนัง ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • มีการบาดเจ็บ/แผลที่บางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตเห็น
  • ทางรอยแยกของผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา
  • รอยแมลงกัด
  • แผลผ่าตัด
  • บริเวณผิวหนังที่บวมเรื้อรัง (เช่น มือ เท้า แขน ขา ที่บวม)
  • บริเวณผิวหนังที่มีเนื้อตายอยู่เดิม (เช่น แผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน) ฯลฯ

ซึ่งเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามขึ้น แต่มีบางครั้งที่เมื่อเกิดการติดเชื้อชั้นหนังแท้/ไฟลามทุ่ง รอยแตกของผิวหนังภายนอกเหล่านี้ได้หายไปแล้ว เมื่อเกิดไฟลามทุ่งขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไฟลามทุ่ง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไฟลามทุ่ง ได้แก่

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว (เช่น โรคเบาหวาน)
  • ผู้ป่วยที่มีการการอุดตันของหลอดเลือดดำจากลิ่มเลือด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
  • มีท่อน้ำเหลืองอุดตัน เช่น แขนบวมจากฉายรังสีรักษาและ/หรือจากผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  • การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน (เช่น ผ่าตัดรักษามะเร็งปากมดลูก)
  • เคยผ่าตัดหลอดเลือดดำขา (เช่น โรคหลอดเลือดดำขอด)
  • และ/หรือ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ (เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังของขา)

โรคไฟลามทุ่งมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้ในโรคไฟลามทุ่ง ได้แก่

  • ผิวหนังที่เกิดโรค มีลักษณะเป็นผื่นใหญ่ แดงสด บวม เจ็บ คลำดูที่ผื่นจะร้อน ขอบผื่นยกนูนจากผิวหนังปกติชัดเจน
  • อาจพบเป็นตุ่มพอง(Blister) ร่วมด้วย
  • โดยผื่นฯที่เกิด มักลุกลามอย่างรวดเร็ว และผิวหนังที่แดงอักเสบบวม จะตึงมีลักษณะคล้ายเปลือกส้มหรือหนังหมู (Peau d' orange)
  • นอกจากนั้น อาการที่มักพบเกิดร่วมด้วย คือ
    • อาการไข้ ที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และในรายรุนแรง มักเป็นไข้สูง หนาวสั่น
  • และประมาณ 90% ของผู้ป่วยไฟลามทุ่ง พบการติดเชื้อที่บริเวณ ขา เท้า, ส่วนประมาณ 2.5-10% มีการติดเชื้อที่บริเวณใบหน้า หรือ ที่ผิวหนังส่วนอื่นๆ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมี ผื่นขึ้น ปวด บวมแดง ร้อน ขอบเขตชัด และ/หรือร่วมกับมีไข้ ชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคไฟลามทุ่ง โดยเฉพาะที่เกิดบริวณ ขาและเท้า ที่พบได้บ่อย ควรมารับพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อทำการวินิจฉัยและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการติดเชื้อลักษณะนี้สามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และ/หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะที่มีภาวะขา แขน บวมเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว

แพทย์วินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้จาก

ก. กรณีอาการไม่รุนแรง: แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการมีแผล ประวัติการใช้ยาต่างๆ โรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจลักษณะผื่น
  • อาจร่วมกับ การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) ซึ่งจะพบภาวะ เม็ดเลือดขาวสูง(Leukocytosis ) ซึ่งช่วยบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย

ข. กรณีที่ิอาการรุนแรง: ในการวินิจฉัยโรคฯนอกจากเช่นเดียวกับดังกล่าวใน “ข้อ ก.” แพทย์อาจต้องทำการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ทำการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากแผล และจากเลือด เพื่อระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรีย

แพทย์รักษาโรคไฟลามทุ่งอย่างไร?

การรักษาโรคไฟลามทุ่ง คือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาประคับ ประคองตามอาการ

ก. การใช้ยาปฏิชีวนะ: ระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะ ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์

โดยชนิดของยาปฏิชีวนะที่ใช้มีได้หลากหลายชนิด ขึ้นกับชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์

  • ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง: สามารถรักษาโดยรับประทานยาปฏิชีวนะ และรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้
  • ส่วนในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง: มีอาการไข้ร่วมด้วย อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ

ข. ส่วนการรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • การให้ ยาแก้ปวด ยาลดไข้
  • และ/หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ กรณีดื่มน้ำได้น้อย และ/หรือ กินอาหารได้น้อย

โรคไฟลามทุ่งก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากโรคไฟลามทุ่ง คือ

  • การติดเชื้อลุกลามจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง กลายเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • การติดเชื้อจากผิวหนังลุกลามไปตามระบบน้ำเหลืองสู่ ต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เช่น บวม เจ็บ
  • การติดเชื้อที่ผิวหนังเองที่ลุกลามรุนแรง เกิดเป็น แผล หนอง และ หลอดเลือดอักเสบ

โรคไฟลามทุ่งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคไฟลามทุ่ง มีการพยากรณ์โรคที่ดี แผล/ผื่นมักหายภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์หลังได้รับยาปฏิชีวนะ ซึ่งผื่นจะค่อยๆยุบลง โดยผิวหนังส่วนที่เคยติดโรคจะลอกเป็นขุย และไม่มีแผลเป็นเกิดตามมา

อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการบวมร่วมด้วย เช่น ขาบวมเรื้อรัง พบการกลับเป็นซ้ำตำแหน่งเดิมได้ประมาณ 20%

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไฟลามทุ่ง ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ โดยเฉพาะในการดูแลแผล/ผื่น
  • กินยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น ต้องกินยาให้หมดตามแพทย์สั่ง
  • เพื่อให้การบวมของผื่นยุบเร็วขึ้น ควรนอนยกขาสูง และเดินให้น้อยลง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความรุน แรงของโรค
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

กรณีที่ผู้ป่วยโรคไฟลามทุ่ง ไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว (กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล) ให้สังเกต อาการไข้ และขนาดของผื่น

หากหลังรับการรักษา ผื่นยังลามขึ้น หรือยังคงมีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์ประเมินอาการและปรับแนวทางการรักษาใหม่

ป้องกันโรคไฟลามทุ่งอย่างไร?

การป้องกันโรคไฟลามทุ่ง คือ การสังเกตและระวังการเกิดแผลอันเป็นทางเข้าสู่ผิวหนังของเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะ เด็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว (โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหรือทางเดินน้ำเหลืองอุดตัน ที่มักมีอาการขาหรือแขนบวมเรื้อรัง) เพราะอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่โรคไฟลามทุ่งได้ง่าย

ซึ่งถ้าพบมีแผล ต้องรีบรักษาความสะอาด และ/หรือรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลถ้าแผลไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการดูแลตนเอง

บรรณานุกรม

  1. Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest,Amy S.Paller ,David J. Leffell,Klaus Wolff,Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eighth edition ; Mc Grawhill medical
  2. Erysepelas : medscape ; https://emedicine.medscape.com/article/1052445-overview#showall [2020,June6]
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2020 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2555