ไบโอติน (Biotin)/วิตามินบี 7 (Vitamin B7)/วิตามินเอช (Vitamin H)/โคเอนไซม์ อาร์ (Coenzyme R)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไบโอตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไบโอตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไบโอตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไบโอตินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไบโอตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไบโอตินอย่างไร?
- ไบโอตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไบโอตินอย่างไร?
- ไบโอตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามินบี (Vitamin B)
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- ผมร่วง (Alopecia)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไบโอติน (Biotin)/ วิตามินบี 7/ Vitamin B7 คือ วิตามินบีที่ทำหน้าที่ เช่น
- ช่วยให้เซลล์มีการเจริญเติบโต
- ทำให้ร่างกายสร้างกรดไขมันรวมถึงช่วยให้กระบวนการเผาผลาญไขมันและกรดอะมิโนให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอและเป็นปกติ
- ช่วยในกระบวนการลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของร่างกาย
- ช่วยคงระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
- เป็นวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างเส้นผมและเล็บ
อนึ่ง: ชื่ออื่นของไบโอติน เช่น วิตามินเอช, Vitamin H, โคเอนไซม์ อาร์, Coenzyme R
ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างไบโอติน/วิตามินบี 7 ได้จากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลให้บางประเทศไม่มีการจ่ายยาไบโอตินให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้เรายังสามารถรับไบโอตินได้จาก อาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น ผักใบเขียว ไข่แดง ถั่วลิสง และตับ
หากขาดสารไบโอติน/วิตามินบี 7 จะก่อให้เกิดอาการกับร่างกาย เช่น เยื่อตาอักเสบ ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ อาจพบอาการซึมเศร้า ประสาทหลอน รวมถึงเกิดอาการชาตามร่างกาย แขน ขา มือ เท้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไบโอติน/วิตามินบี 7 เป็นองค์ประกอบ ควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ และ*หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์นี้หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ หรือเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือเป็นผู้ที่ติดบุหรี่, ซึ่งหากได้รับยาไบโอตินจากแพทย์สั่ง ผู้ป่วยก็ต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
ทั่วไป การใช้ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 ในการรักษาอาการผมร่วงและฟื้นฟูสภาพเล็บให้แข็งแรง อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 6 เดือนเป็นอย่างต่ำจึงจะเห็นผล
ด้านผลข้างเคียงต่างๆของยาไบโอติน/วิตามินบี 7 นั้นพบได้ แต่พบน้อย อาจจะมาจากเหตุผลที่ว่าไบโอตินเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในน้ำ จึงไม่มีการสะสมในเนื้อเยื่อชั้นไขมันเหมือน วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งละลายในไขมัน, ประกอบกับร่างกายสามารถกำจัดสารไบโอตินออกไปกับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี, อย่างไรก็ตามมีรายงานทางคลินิกอยู่บ้างว่ายาไบโอติน อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร และก่อให้เกิดผื่นคันได้บ้างเล็กน้อย
นอกจากนี้ การใช้ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 ร่วมกับ ยาบางประเภทก็สามารถลดระดับยาไบโอตินในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เช่น การรับประทานยาไบโอติน ร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, หรือ Primidone, และ*หากมีการใช้ยาไบโอตินไปแล้วในระยะเวลาพอสมควร แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือในทางตรงกันข้ามก่อให้เกิดอาการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยาไบโอติน แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
ไบโอตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการผมร่วง
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นประสาทของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน)
ไบโอตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของสาร/ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 คือ ตัวสาร/ยาจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการช่วยการทำงานของเอนไซม์ต่างๆในร่างกายมนุษย์ที่เรียกว่าเป็น โคเอนไซม์/ Coenzyme เช่น กระบวนการเผาผลาญ ไขมัน แป้ง และสารชีวโมเลกุลชนิดอื่นๆ, ช่วยทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติและมีสมดุล
ไบโอตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 5,000 ไมโครกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10,000 ไมโครกรัม/เม็ด
- ยาผสมร่วมกับวิตามินรวมชนิดรับประทาน
ไบโอตินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยสารไบโอติน/วิตามินบี 7 จัดเป็นสารอาหารประเภทวิตามินที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง ขนาดรับประทานที่เหมาะสมเพี่อรักษาอาการโรคต่างๆ เช่น ผมร่วง ขนาดยาไบโอตินจึงต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไปเพราะอาจมียาอื่นหรือวิธีปฏิบัติตัวอย่างอื่นร่วมในการรักษาด้วย
อนึ่ง: ขนาดสาร/วิตามินไบโอตินที่ร่างกายควรได้รับจากสารอาหารต่อวัน(จะได้รับปริมาณสารไบโอตินเพียงพอเมื่อบริโภคอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบถ้วนในทุกวัน) คือ
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 7 ปี: รับประทาน 30 - 100 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 7 - 10 ปี : รับประทาน 30 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4 - 6 ปี: รับประทาน 25 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กแรกเกิด - 3 ปี: รับประทาน 10 - 20 ไมโครกรัม/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไบโอติน/วิตามินบี 7 ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไบโอตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไบโอตินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไบโอตินตรงเวลา
ไบโอตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ทั่วไป มักไม่พบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ใดๆ ถึงแม้จะใช้ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 ถึง 10 มิลลิกรัม/วัน อย่างไรก็ตาม *หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยานี้ ควรต้องรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้ไบโอตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 : เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- *หากพบอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไบโอติน/วิตามินบึ7ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไบโอตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
การรับประทานยาไบโอติน ร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, หรือ Primidone อาจทำให้ระดับยาไบโอตินในร่างกายลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไบโอตินอย่างไร?
ควรเก็บยาไบโอติน/วิตามินบี 7 : เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยา ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไบโอตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไบโอติน/วิตามินบี 7 มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
BIOMET (ไบโอเมท) | Dermis |
BIONID FORTE (ไบโอนิด ฟอร์ท) | Nidus |
BIOTIN FORTE (ไบโอติน ฟอร์ท) | Zydus |
BIOZEX (ไบโอเซก) | Wonder |
BTN (บีทีเอน) | Zydus |
บรรณานุกรม
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-313/biotin [2022,Sept10]
- https://www.drugs.com/sfx/biotin-side-effects.html [2022,Sept10]
- https://www.drugs.com/mtm/biotin.html [2022,Sept10]
- https://www.drugs.com/cons/biotin.html [2022,Sept10]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/biotin-oral-route/before-using/drg-20062359 [2022,Sept10]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/biotin.html [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Biotin#Use_in_biotechnology [2022,Sept10]
- https://www.everydayhealth.com/drugs/biotin [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/India/drug/info/BIOTIN%20FORTE%20(LIVA)/BIOTIN%20FORTE%20(LIVA)%20tab [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/India/drug/info/BIOZEX/BIOZEX%20ta [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/India/drug/info/BTN%20FORTE/BTN%20FORTE%20tab [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/India/drug/search?q=biotin&page=6 [2022,Sept10]