ไขมันพอกตับ (Fatty liver)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

          ไขมันพอกตับ(Fatty liver หรือ Fatty liver disease ย่อว่า FDL)คือ โรคที่มีไขมันในเลือดเข้าไปจับสะสมอยู่ในตับเกินปกติ คือ ประมาณ 5-10% ของน้ำหนักตับ   ทั่วไปมักเป็นไขมันชนิด’ไตรกลีเซรายด์ /Triglyceride   

         ไขมันพอกตับเป็นโรคพบบ่อย คือ ประมาณ 10-35% ของประชากร โดยแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามพบถึงประมาณ 75% ในคนเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และมักเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้เมื่อตรวจเลือดจากตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่า มีการทำงานผิดปกติของตับ

         ไขมันพอกตับ พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ โดยบางการศึกษาพบเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่บางการศึกษา อัตราเกิดใกล้เคียงกันทั้งสองเพศ

         อนึ่ง: ชื่ออื่นของไขมันพอกตับ เช่น  ไขมันเกาะตับ,  ไขมันจับตับ,  กรดไขมันพอกตับ,  ไขมันจุกตับ, Hepatic steatosis

 

โรคไขมันพอกตับเกิดได้อย่างไร?

ไขมันพอกตับ

กลไกเกิดโรคไขมันพอกตับ อาจจากมีการผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย ส่งผลให้มีปริมาณไขมันในร่างกายสูง เช่น  จากอาหาร, จากร่างกายสร้างไขมันมากขึ้น, หรือ จากร่างกายนำไขมันไปใช้ได้น้อยลง, จึงส่งผลให้มีไขมันสะสมในตับสูงขึ้น, หรือมีความผิดปกติอื่นๆที่ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันไปสะสมที่ตับสูงขึ้น, หรือมีการผิดปกติในการสันดาปอาหารคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ด้วยฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin)จากตับอ่อน ส่งผลให้ร่างกายนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ไม่หมด คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินเหล่านี้จึงเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายนำไปเก็บสะสมไว้ในตับ ทั้งนี้เพราะพบโรคนี้ได้สูงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน  

โรคไขมันพอกตับมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันพอกตับแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับทั้งปริมาณแอลกอฮอล์, ประเภท, และระยะเวลาสะสมในการดื่มต่อเนื่อง เรียกว่า ‘Alcoholic fatty liver’, และสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ เรียกว่า ‘Non alcoholic fatty liver disease (ย่อว่า เอนเอเอฟแอลดี/NAFLD)’

ทั้งนี้  กลุ่มที่’ไม่ดื่ม’สุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้หลากหลาย เช่น 

  • มีโรคเกี่ยวกับการสันดาป/การใช้พลังงานของร่างกาย ที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการเมตาโบลิก(Metabolic syndrome)’ เช่น โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง,  โรคไขมันในเลือดสูง
  • ภาวะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือภาวะทุพโภชนา เช่น  โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ จากการได้รับอาหารทางหลอดเลือดต่อเนื่อง
  • เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาในกลุ่มสเตียรอยด์  ยาต้านไวรัสบางชนิด  ยาต้านฮอร์โมนบางชนิดในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม   ยาพาราเซตามอลในปริมาณสูงต่อเนื่อง
  • ได้รับสารพิษบางชนิด เช่น การบริโภคเห็ดมีพิษ  ยาฆ่าแมลง
  • สูบบุหรี่: มีหลายการศึกษาในปัจจุบันพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสียงเกิดไขมันพอกตับจากร่างกายได้รับสารพิษจากควันบุหรี่
  • ติดเชื้อต่างๆบางชนิด เช่น  เอชไอวี,  โรคไวรัสตับอักเสบซี
  • กินอาหารให้พลังงานสูงเป็นประจำ รวมทั้ง ไขมัน โปรตีน และ/หรือ คาร์โบไฮเดรต
  • ลดน้ำหนักอย่างหักโหม
  • ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery)
  • อาจจากพันธุกรรม

 

โรคไขมันพอกตับมีอาการอย่างไร?

ทั่วไป โรคไขมันพอกตับมักไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดดูการทำงานของตับในการตรวจสุขภาพทั่วไป, หรือจากการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ในการตรวจวินิจฉัยโรคอื่นของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคอื่นๆของตับ, ถุงน้ำดี,ตับอ่อน,ไต  

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดไขมันพอกตับต่อเนื่องโดยไม่มี การรักษา ควบคุม หรือหยุดสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, โรคไขมันพอกตับอาจค่อยๆรุนแรงขึ้น เปลี่ยนเป็นการอักเสบของตับ  มีพังผืดเกิดในตับ และลุกลามเป็นโรคตับแข็งในที่สุด ซึ่งมักพบเกิดจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง,  แต่ในกลุ่มที่ไขมันพอกตับไม่ได้เกิดจากการดื่ม แอลกอฮอล์ โอกาสเกิดการรุนแรงของโรคจะน้อยกว่า เช่น

  • ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่’ไม่ดื่ม’สุราและ’ไม่มี’การอักเสบและพังผืดของตับพบเป็นมะเร็งตับน้อยมาก แต่ยังไม่มีการศึกษาที่รายงานสถิติเกิดมะเร็งตับที่ชัดเจน
  • คนอ้วนมีโอกาสเกิดการอักเสบและพังผืดของตับจากไขมันพอกตับโดยที่’ไม่ดื่ม’แอลกอฮอล์ได้ประมาณ 23%  เรียกว่า ‘โรค Non alcoholic steatohepatitis (เอนเอเอสเอช/NASH)’ 
  • ประมาณ20%ของผู้ป่วยโรคNASH/ตับอักเสบจากไขมันพอกตับชนิด’ไม่ได้เกิด’จากแอลกอฮอล์ โรคจะรุนแรงและกลายเป็นโรคตับแข็ง,และมีโอกาสตายจากตับแข็งได้ประมาณ10%
  • ประมาณ3%ของ’โรคNASH’นี้มีโอกาสเกิดมะเร็งตับ
  • ในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการศึกษารายงานว่ามะเร็งตับสาเหตุจาก’*ดื่มแอลกอฮอล์’สูงถึงประมาณ30-45%(ขึ้นกับปริมาณแอลกอฮอล์และระยะเวลาที่ดื่ม)          

         *ทั้งนี้ เมื่อมีอาการในโรคไขมันพอกตับ อาการที่พบได้ เช่น

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • อาจเจ็บใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่งที่อยู่ของตับ)
  • แน่น อึดอัดท้อง จากตับโตขึ้น
  • อาจมีตับโต คลำพบได้ ปกติจะคลำตับไม่ได้
  • อาจผอมลงโดยไม่ได้เกิดจากการอดอาหารหรือจากลดน้ำหนัก(น้ำหนักลดผิดปกติ)

แพทย์วินิจฉัยโรคไขมันพอกตับอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไขมันพอกตับได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย  
  • ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ  
  • ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพตับด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ และ/หรือ
    • ตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา  

 

รักษาโรคไขมันพอกตับอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไขมันพอกตับ คือ

  • ปรับพฤติกรรม: เช่น
    • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์/สุรา,  เลิกสุรา,  เลิก หรือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’   
    • จำกัดอาหารไขมัน และ คาร์โบไฮเดรต
    • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • เลิกบุหรี่, ไม่สูบบุหรี่
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • ให้ยาลดไขมันในเลือด
  • ให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ยาเบาหวาน  ฯลฯ
  • นอกจากนั้น อาจให้ยาบางชนิดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ เช่น
    • ยาช่วยการทำงานของตับ
    • ยาเพิ่มการไหลเวียนเลือดในตับ
    • วิตามินอี

 

โรคไขมันพอกตับรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

         โดยทั่วไป ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีอาการ ภายหลังการดูแลรักษา โรคไขมันพอกตับมักกลับเป็นปกติ, แต่ถ้ามีอาการแล้ว การรักษาโรคให้กลับเป็นปกติจะอยากกว่ามาก อาจเพียงช่วยไม่ให้โรครุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคตับแข็ง ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’

         ส่วนผลข้างเคียงจากโรคไขมันพอกตับที่สำคัญ คือ  การที่โรครุนแรงกลายเป็นโรคตับแข็ง, หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับโดยเฉพาะกรณีไขมันพอกตับที่เกิดจาก ’ดื่มแอลกอฮอล์’  

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไขมันพอกตับ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไขมันพอกตับ และ การพบแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกบุหรี่
  • ใช้ยาต่างๆเฉพาะแต่ที่จำเป็น และควรเป็นยาที่แพทย์แนะนำ ถ้าจำเป็นต้องซื้อยากินเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน ไม่ให้เกิด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • จำกัดอาหารให้พลังงาน โดยเฉพาะ คาร์โบไฮเดรตและไขมัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ มีอาการต่างๆผิดไปจากเดิม, หรืออาการต่างๆแย่ลง, หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไขมันพอกตับอย่างไร?

โรคไขมันพอกตับสามารถป้องกันได้โดย ‘ปรับพฤติกรรม’ ที่สำคัญคือ

  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • จำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรต และไขมัน
  • ป้องกัน และควบคุมรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ, ใช้ยาเฉพาะแต่ที่แพทย์แนะนำและที่จำเป็น, และ ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยากินเองเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Bayard, M. et al. (2006). Nonalcoholic fatty liver disease. Am Fam Physician. 73, 1961-1968.
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001).  Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  3. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15831-fatty-liver-disease   [2022,June18]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Fatty_liver_disease  [2022,June18]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/175472-overview#showall  [2022,June18]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Non-alcoholic_fatty_liver_disease  [2022,June18]
  7. https://www.bmj.com/content/343/bmj.d6891  [2022,June18]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Triglyceride   [2022,June18]
  9. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26907206/  [2022,June18]
  10. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4239482/  [2022,June18]