โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท หรือ โรคหัวใจในวันหยุด (Holiday heart syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- โรคหัวใจในวันหยุดคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคหัวใจในวันหยุดมีสาเหตุ/ปัจจัยจากอะไร?
- โรคหัวใจในวันหยุดมีอาการอย่างไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจในวันหยุดได้อย่างไร?
- รักษาโรคหัวใจในวันหยุดอย่างไร?
- โรคหัวใจในวันหยุดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคหัวใจในวันหยุดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy)
- หัวใจโต (Cardiomegaly)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- อาหารป้องกันโรคหัวใจ (Healthy heart diet)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
โรคหัวใจในวันหยุดคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคหัวใจในวันหยุด หรือ โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท(Holiday heart syndrome) คือ โรค/กลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันซึ่งมักเกิดกับหัวใจห้องขวาบน สาเหตุหลักคือ ดื่มสุราอย่างหนักในเวลาสั้นๆที่ไม่ได้ดื่มเป็นเป็นประจำ มักเกิดช่วงฉลองวันหยุดเทศกาลสำคัญ เช่น ขึ้นปีใหม่, คริสต์มาส, โรคนี้เกิดได้ทั้งกับ คนทั่วไป, คนมีโรคหัวใจ, คนไม่เคยดื่มสุรา, หรือ เคยดื่มสุราเป็นประจำ ซึ่งจากที่โรคมักเกิดช่วงวันหยุดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้
โรคหัวใจในวันหยุด/กลุ่มอาการฮอลิเดย์ฮาร์ท หรือบางคนเรียกสั้นๆว่า ‘โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท’ พบบ่อยทั่วโลกแต่สถิติเกิดแท้จริงยังไม่ทราบเพราะมักรายงานรวมอยู่ในโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบได้ตั้งแต่ 5-65%ในผู้ดื่มสุราเพื่อการฉลองต่างๆ มักพบในวัยต่ำกว่า65ปีโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว พบเพศชายสูงกว่าเพศหญิง
โรคหัวใจในวันหยุดมีสาเหตุ/ปัจจัยจากอะไร?
โรคหัวใจในวันหยุด/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท/กลุ่มอาการฮอลิเดย์ฮาร์ท มีสาเหตุหลักจากพิษของสุรา/เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล(Ethyl alcohol/ Ethanal)ที่ดื่มในปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อร่างกายกำจัดออกไม่ทันจึงส่งผลเกิดอันตรายต่อการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะการส่งกระแสไฟฟ้าควบคุมการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจ จึงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ/เต้นผิดจังหวะ คือ เต้นรัว เร็ว เหมือนเมื่อออกกำลังกายหักโหม รวมทั้งอาการแน่น/เจ็บหน้าอก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
ปัจจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดเป็นโรค/กลุ่มอาการนี้ เช่น
- ภาวะขาดน้ำ
- ความเครียด
- กินอาหารปริมาณเกินปกติมากในประเภทที่ไม่ได้กินเป็นประจำ โดยกินในระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีเกลือ/อาหารเค็มสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ
- เคยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว
โรคหัวใจในวันหยุดมีอาการอย่างไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
อาการของโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท คือ อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดอย่างเฉียบพลันระหว่างหรือหลังดื่มสุราและบริโภคอาหารอย่างหนักที่ไม่ใช่เป็นการบริโภคเป็นประจำ มักเกิดในการฉลองต่างๆ ซึ่งอาการพบบ่อย ได้แก่
- รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติ คือ เร็ว รัว แรง เหมือนหลังออกกกำลังกายหักโหม และเต้นไม่เป็นจังหวะ
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดได้ทั้งขณะเคลื่อนไหว หรือขณะพัก
- วิงเวียน เหมือนจะเป็นลม
- หมดแรง
***อาจมีอาการระยะหนึ่ง ที่หลังพักอาการจะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้ามีอาการนานเป็นชั่วโมงขึ้นไปหรืออาการแย่ตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเร่งด่วน/ฉุกเฉิน/ทันที เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจนอาจถึงตายได้
แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจในวันหยุดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ทได้จาก
- ประวัติอาการต่างๆ อายุ เพศ อาการเกิดเมื่อไหร่ มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง/กระตุ้น โรคประจำตัวต่างๆ
- การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจฟังเสียงหัวใจด้วยหูฟัง
- แต่การวินิจฉัยที่แน่นอน คือ จากประวัติทางการแพทย์ดังกล่าวร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดดู ค่าเกลือแร่ในเลือด, ค่าการทำงานของตับ
- ตรวจเอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ
- ฯลฯ
รักษาโรคหัวใจในวันหยุดอย่างไร?
แนวทางการรักษาหลักในโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท ได้แก่
- รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ com บทความเรื่อง หัวใจเต้นผิดจังวะ ที่รวมถึงวิธีรักษา)
- ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุด แต่ที่ดีที่สุดคือเลิกดื่ม, อย่างไรก็ตามควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
โรคหัวใจในวันหยุดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ทขึ้นกับ สุขภาพเดิมของผู้ป่วย, และความรุนแรงของอาการ, โดยถ้าสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยมีโรคหัวใจ ไม่ติดสุรา อาการโรคจะหายกลับเป็นภาวะปกติได้
แต่ถ้าอาการเกิดนานเกินชั่วโมง และ/หรือ สุขภาพเดิมไม่ดี มีโรคหัวใจ ติดสุรา อาการโรคอาจรุนแรงจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นทันที หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุถึงตายได้
*นอกจากนั้น โรคนี้กลับเป็นซ้ำได้เสมอเมื่อมีพฤติกรรมบริโภคสุราและอาหารเหมือนเดิม
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ท ได้แก่
ก. กรณีอาการกลับเป็นปกติโดยไม่ได้พบแพทย์: การดูแลตนเองทั่วไป เช่น
- ปรับพฤติกรรมการดื่มกินในงานฉลองต่างๆให้พอดี ไม่มากเกินไป
- แพทย์หลายท่านแนะนำให้ เลิกสุรา หรือพยายามลดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำสำหรับคนทั่วไป คือ 1 ดริงค์(drink)ต่อวัน คือ ประมาณ10กรัม/วัน
- ควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี โดยแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการที่เคยเกิดขึ้นเพื่อปรึกษาว่าสมควรตรวจโรคหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ หลังจากนั้นตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจโรคหัวใจเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์
ข. กรณีได้พบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว: การดูแลตนเอง ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะหายดีแล้ว
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อกลับมามีอาการอีก
ป้องกันโรคหัวใจในวันหยุดได้อย่างไร?
การป้องกันโรคหัวใจในวันหยุด/ฮอลิเดย์ฮาร์ทซินโดรม/โรคฮอลิเดย์ฮาร์ทที่สำคัญคือ
- หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคนี้ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลิกดื่มเมื่อดื่มอยู่ หรือปรับลดปริมาณลงเหลือไม่เกิน 2 ดริงค์/วันในเพศชาย และ1ดริงค์/วันในเพศหญิงตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจ สหรัฐอเมริกา
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและเพื่อลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ ทั่วไปได้แก่
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน โดยจำกัดปริมาณอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน จำกัดอาหาร แป้ง น้ำตาล ไขมัน เค็มเนื้อแดง (เนื้อแดง-เนื้อขาว-เนื้อดำ)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- ไม่สูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ตรวจสุขภาพกับแพทย์ทุกปีที่รวมถึงสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์