โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี (Epilepsy in HIV Patient)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทั่วไปเกือบร้อยละ 1 (1%) และพบบ่อยมากขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี การรักษาโรคลมชักในคนทั่วไป ใช้เวลานานหลายปีติดต่อกัน และยิ่งในผู้ป่วยเอชไอวีที่เป็นโรคลมชัก อาจต้องใช้เวลารักษานานกว่าปกติ สาเหตุและการรักษาโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี(Epilepsy in HIV patient) แตกต่างกับคนทั่วไปอย่างไร ลองติดตามบทความนี้ครับ

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคลมชักในคนทั่วไปได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก

โรคลมชักพบบ่อยในผู้ป่วยเอชไอวีเพราะอะไร?

โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี

โรคลมชักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเอชไอวีเพราะ ผู้ป่วยเอชไอวี มีโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาสในสมอง (ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอขไอวี)ได้สูง และยังมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด/ในร่างกายได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัย เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ดังนั้นผู้ป่วยเอชไอวีจึงมีโอกาสเกิดโรคลมชักได้สูงกว่าคนทั่วไป

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีคืออะไร?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี ได้แก่

  • ภาวะติดเชื้อฉวยโอกาสในสมอง เช่น วัณโรค, เชื้อรา, เชื้อปรสิตชนิดToxoplasma, เชื้อไวรัสCMV (Cytomegalovirus) , เชื้อไวรัส JCV(John Cunningham virus), และ เชื้อไวรัส EBV/อีบีวี (Epstein–Barr virus)
  • ภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ จึงส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ เช่น เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ แมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี)
  • ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสเอชไอวี
  • จำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีสูงในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospind fluid : CSF)

ลักษณะอาการโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีต่างกับในคนทั่วไปไหม?

ลักษณะอาการชักไม่แตกต่างกันทั้งโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี และในคนทั่วไป ซึ่งลักษณะการชักมีได้หลายแบบ เช่น ชักกระตุกทั้งตัว, ชักเฉพาะอวัยวะบางส่วน(เช่น แขน หรือขา), หรือ ชักแบบนั่งเหม่อลอย ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติม ได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยเอชไอวี ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลกรณีเกิดอาการชัก เมื่อ

ก. กรณีมีอาการชักครั้งแรก/ไม่เคยมีอาการชักมาก่อน: ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

ข. กรณีเป็นโรคลมชักและมีการชักเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว: ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

  • เมื่อมีการชักหลายๆครั้งในเวลา 1 วัน หรือ
  • เกิดอุบัติเหตุจากการชัก หรือ
  • ชักนานต่อเนื่องไม่หยุด

การวินิจฉัยโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีมีแนวทางอย่างไร?

แนวทางการวินิจฉัยโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี คือ

  • พิจารณาจากประวัติอาการ ประวัติการติดเชื้อเอชไอวี
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • การเจาะหลังตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง และ
  • การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ เพื่อแยกจากโรคทางสมองอื่นๆ เช่น เนื้องอกสมอง และ/หรือการติดเชื้อฉวยโอกาสในสมอง (ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสในเอชไอวี)

รักษาโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีอย่างไร?

การรักษาโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี จะด้วยการกินยากันชักเหมือนกับในคนทั่วไปเป็นวิธีหลัก แต่การเลือกยากันชัก แพทย์ต้องระวังเรื่อง ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างยาของยากันชักกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และกับยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส

นอกจากนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว การรักษาต้องใช้ยากันชักนานตลอดชีวิต เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี มักรักษาแก้ไขไม่ได้ การควบคุมการชัก จึงยุ่งยาก ลำบาก มากกว่าในคนทั่วไปที่เป็นโรคลมชักทั่วไป

โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวีก่อผลข้างเคียงเช่นเดียวกับโรคลมชักในคนทั่วไป คือ

  • เกิดอุบัติเหตุจากการชัก: เช่น ฟกซ้ำ แผลถลอก กระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุด ตกน้ำ จมน้ำ เกิดอุบัติเหตุทางการจราจร
  • ภาวะแพ้ยากันชัก
  • ซึมเศร้า และ
  • การพยายามฆ่าตัวตาย

โรคลมชักในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยเอชไอวีที่เกิดโรคลมชัก คือ เป็นโรคที่รุนแรง ผลการรักษาไม่ดี การควบคุมการชักทำได้ยากกว่า เพราะ

  • มักเกิดจากรอยโรคในสมองที่รักษายาก
  • การควบคุมระดับยากันชักทำได้ยาก เพราะมีการทำปฏิกิริยาระหว่างยาต่างๆที่ใช้ เช่น ระหว่างยากันชักและยาที่ใช้รักษาโรคเอชไอวี/ยาต้านไวรัสเอชไอวี
  • รวมทั้งมีการเสียชีวิตจากโรคเอชไอวีเอง และจากที่ผู้ป่วยติดเชื้อฉวยโอกาสร่วมด้วย

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของผู้ป่วยเอชไอวีที่เป็นโรคลมชัก คือ

  • ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ไม่อดนอน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ดื่มเหล้า
  • ไม่ดื่มน้ำสมุนไพร
  • ไม่ใช้อาหารเสริมโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • มีอาการชักบ่อยมากขึ้น
    • มีอาการแพ้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง
    • เกิดอุบัติเหตุจากการชัก และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคลมชักในผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร?

การป้องกันโรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี คือ

  • ดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายละจิตใจ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษา ควบคุมโรคต่างๆของตนเองให้ดี ด้วยการปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ทานยาต่างๆที่แพทย์สั่ง สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา เพื่อควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกาย และเพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส เพราะทั้ง 2 ปัจจัย เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคลมชักในผู้ติดเชื้อเอชไอวี