โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี (Stroke in HIV Patient)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 24 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ผู้ป่วยเอชไอวีมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกต่างกับคนทั่วไปหรือไม่? อย่างไร?
- ผู้ป่วยเอชไอวีกลุ่มใดที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง?
- กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีแตกต่างจากในคนทั่วไปหรือไม่?
- ชนิดของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างกับในคนทั่วไปหรือไม่?
- อาการผิดปกติทางระบบประสาทต่างกันหรือไม่?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีมีแนวทางอย่างไร?
- การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างกับในคนทั่วไปอย่างไร?
- โรคหลอดเลือดสมองในเอชไอวีก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?
- การพยากรณ์โรคในโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างจากในคนทั่วไปหรือไม่?
- ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- ความผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี (HIV associated neurological disorders)
- ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี (HIV-associated opportunistic infections of the CNS)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neurologic Complications of HIV Infection)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
บทนำ
ผู้ป่วยเอชไอวี นอกจากมีปัญหาการติดเชื้อฉวยโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปแล้ว ยังมีโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพาต (Stroke)ได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่ง เป็นเพราะอะไร และการรักษาแตกต่างกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรทราบจากบทความนี้ครับ
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องของหลอดเลือดสมองของคนทั่วไปได้ในเว็บ haamor.com ในบทความ เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง, โรคอัมพาต, และเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก
ผู้ป่วยเอชไอวีมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองต่างกับคนทั่วไปหรือไม่? อย่างไร?
จากหลายการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเอชไอวี มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไป โดยพบร้อยละ 1- 5 (1-5%) ของผู้ป่วยเอชไอวี แต่จากการตรวจศพผู้ป่วยเอชไอวี พบโรคนี้สูงถึงร้อยละ 4-34 (4-34%, ต่างกันในแต่ละรายงาน)
อนึ่ง รายงานจากสหรัฐอเมริกา พบโรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไปได้ประมาณ 1.5%-4.4% ของประชากร ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ เพศ และการมีโรคประจำตัว
โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี มีความแตกต่างจาก โรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไป เพราะ
- กลไกการเกิดต่างกัน ดังจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อ กลไกการเกิด
- พบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า เนื่องจากกลไกการเกิดที่แตกต่างกัน
- เกิดจากผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสที่ผู้ป่วยเอชไอวีได้รับ ที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
ผู้ป่วยเอชไอวีกลุ่มใดที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง?
ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- ผู้ป่วยที่ควบคุมโรคเอชไอวีได้ไม่ดี
- ผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาเอชไอวี
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้มีพยาธิสภาพของหลอดเลือด ( เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน )
- ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่
- และ/หรือผู้ป่วยที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่?
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดสมองขาดเลือด และชนิดเลือดออกในสมอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก)
ก. กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด: จะแตกต่างกัน โดยคนทั่วไปมักเกิดจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งเป็นส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยเอชไอวีมีกลไกการเกิดหลัก ดังนี้
- ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี เช่น หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm), หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis), หลอดเลือดแดงแข็งในอายุน้อยสาเหตุจากเอชไอวีเองและจากผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสที่รักษาเอชไอวี (Accelerated atherosclerosis)
- ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองจากติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค, ซิฟิลิส, ไวรัส EBV/อีบีวี
- ความผิดปกติของหัวใจเหตุจากเอชไอวี เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจตีบ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (Coagulopathy), ภาวะเลือดหนืด (Hyperviscosity) ที่พบเกิดได้ในผู้ป่วยเอชไอวี
ข. กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง: ก็ แตกต่างเช่นกัน โดยคนทั่วไปมักเกิดจาก ภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือจากการทานยาละลายลิ่มเลือด แต่ในผู้ป่วยเอชไอวี มักเกิดจาก
- ความผิดปกติของหลอดเลือด ทั้งเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือด และหลอดเลือดโป่งพอง (Vasculitis and Aneurysm)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากเอชไอวี
- หลอดเลือดโป่งพองจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจแล้วมีลิ่มเลือดกระจายไปสมอง
ชนิดของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างกับในคนทั่วไปหรือไม่?
โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี เกือบร้อยละ 90 (90%) เป็นชนิดสมองขาดเลือด เพียงร้อยละ 10 (10%) เป็นชนิดเลือดออกในสมอง ซึ่งต่างกับคนทั่วไปที่พบสมองขาดเลือดประมาณร้อยละ 70 (70%) และเลือดออกในสมองประมาณร้อยละ 30(30%)
อาการผิดปกติทางระบบประสาทต่างกันหรือไม่?
อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้น ก็แตกต่างกัน คือ
ก.ในผู้ป่วยเอชไอวีที่มีโรคหลอดเลือดสมอง: มักมีอาการ
- สับสน
- อาจมีไข้
- หมดสติ
- โดยอาการมักค่อยๆเป็น และพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า
- ร่วมกับผู้ป่วยมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี
ข. ส่วนในคนทั่วไป: อาการของโรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นทันที คือ
- แขน ขา อ่อนแรง
- วิงเวียน
- ใบหน้าเบี้ยว
- พูดไม่ชัด
- อาจร่วมกับ ปวดศีรษะรุนแรง
- มักเกิดในผู้สูงอายุ
- และไม่มีประวัติติดเชื้อเอชไอวี
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวในหัวข้อ อาการ
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีมีแนวทางอย่างไร?
แนวทางการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี ที่สำคัญ คือ
- การพิจารณาข้อมูลจากประวัติการติดเชื้อเอชไอวี ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการกินยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- ผลการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน ภาพสมอง หรือ เอมอาร์ไอสมอง
- และจะต้องพิจารณาว่าไม่มีสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อในสมอง(สมองอักเสบ) ที่จะก่อให้เกิดอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างกับในคนทั่วไปอย่างไร?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองคล้ายกันทั้งในผู้ป่วยเอชไอวีและในคนทั่วไป คือ การรักษาสาเหตุของการเกิดโรคฯ และให้ยาป้องกันการเกิดโรคฯกลับเป็นซ้ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง, เรื่อง อัมพาต, และเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก)
นอกจากนั้น ในผู้ป่วยเอชวี คือ การปรับยาต้านไวรัสเอชไอวีให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
โรคหลอดเลือดสมองในเอชไอวีก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบในโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี เหมือนกับที่พบในโรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไป ได้แก่
- แผลกดทับ
- ชัก
- ปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- และภาวะซึมเศร้า
การพยากรณ์โรคในโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีต่างจากในคนทั่วไปหรือไม่?
การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวีแตกต่างจากในคนทั่วไป คือ
- ผลการรักษาเลวกว่ามาก เนื่องจาก มักไม่สามารถแก้ไข รักษา ควบคุม สาเหตุได้
ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย ควรดูแลตนเองโดย
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ทานยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพ พยาบาล แนะนำ
- ดูแลตนเองตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
- ไม่ควรใช้สมุนไพร หรือ อาหารเสริม เพราะไม่ได้ประโยชน์ และอาจก่อผลข้างเคียงทำให้อาการต่างๆเลวลง
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติเพิ่มมากขึ้น
- ปวดศีรษะรุนแรง
- มีไข้
- และ/หรือชัก
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ที่ทำได้ คือ
- การตรวจภาวะเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง) เพื่อป้องกัน หรือ รักษาและควบคุมโรคให้ได้ดีตั้งแต่เริ่มเป็น
- งดการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ และ
- ถ้าต้องใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ต้องพบแพทย์ตามนัด เพื่อประเมินผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของยาที่จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง