โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 9 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- โรคสมองอักเสบคืออะไร?
- โรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคไวรัสสมองอักเสบมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดไวรัสสมองอักเสบ?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
- รักษาไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
- ไวรัสสมองอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองเมื่อออกจากโรงพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
บทนำ
โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นโรคที่น่ากลัว เพราะส่งผลต่อพฤติกรรม ความจำได้ มาก และอาจมีอันตรายถึงชีวิต แล้วโรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส/ไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis) มีลักษณะแตกต่างจากสาเหตุอื่นๆอย่างไร รักษาหายและป้องกันได้หรือ ไม่ ต้องติดตามบทความนี้ครับ
โรคสมองอักเสบคืออะไร?
โรคสมองอักเสบ คือโรคที่เนื้อสมองมีความผิดปกติเกิดขึ้นทั่วทั้งสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอา การผิดปกติ คือ ความรู้สึกตัว/การรู้สึกตัวเสียไป อาจมีแขนขาอ่อนแรง หรือชักได้
โรคสมองอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของโรคสมองอักเสบ แบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ
- สาเหตุจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม (Herpes simplex encephalitis) แต่จะเป็นการติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริมที่ริมฝีปาก หรือเริมอวัยวะเพศ, ไวรัสเจแปนนีส-บี (Japanese B encephalitis หรือ Japanese encephalitis), ไวรัสหัด, ไวรัสเอชไอวี, ไวรัสโปลิโอ, ไวรัสเวสต์ไนล์ นอกนั้น ยังพบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น สครับไทฟัส (Scrup typhus encephalitis)
- สาเหตุจากภาวะไม่ติดเชื้อ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ (Autoimmune encephalitis เช่น โรคเอสแอลอี/SLE), ผลข้างเคียงจากโรคมะเร็งที่เรียกว่า Paraneoplastic syndrome
ทั้งนี้ สมองอักเสบจากทุกสาเหตุ จะมี อาการ วิธีวินิจฉัย การพบแพทย์ การดูแลตนเอง เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่สาเหตุ ที่ทำให้วิธีรักษา และความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค ต่างกัน
บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส หรือ “ไวรัสสมองอักเสบ” เท่านั้นเพราะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
โรคไวรัสสมองอักเสบมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ไวรัสสมองอักเสบ พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยนัก พบได้ในทุกเพศ และทุกวัย แต่วัยที่พบได้บ่อยกว่า คือ วัยเด็กและวัยหนุ่มสาว และโรคมักรุนแรงมากในเด็กอ่อน และในผู้สูงอายุ
อาการจากสมองอักเสบทุกสาเหตุที่รวมถึงไวรัสสมองอักเสบด้วย จะคล้ายคลึงกัน ดัง นั้นจึงใช้อาการเป็นตัวแยกสาเหตุได้ยาก แต่จากอาการ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยนั้นน่ามีสมองอักเสบ
อาการพบบ่อยของสมองอักเสบ ที่รวมถึงไวรัสสมองอักเสบ ได้แก่
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น สับสน
- สูญเสียความทรงจำ
- ความรู้สึกตัวลดลง ซึม หมดสติ โคม่า
- แขน ขา อ่อนแรง
- เคลื่อนไหวร่างกาย/กล้ามเนื้อผิดปกติ
- ชัก
- ไข้สูง มักร่วมกับปวดศีรษะอย่างมาก และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียนได้
ทั้งนี้ เมื่อมีอาการเหล่านี้ ที่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ที่สำคัญคือ มีไข้ และร่วมกับมีการอ่อนแรง ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเสมอ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดไวรัสสมองอักเสบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดไวรัสสมองอักเสบ ได้แก่
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- มีถิ่นอาศัย หรือเดินทางท่องเที่ยวในถิ่นที่มีเชื้อก่อโรคเป็นเชื้อประจำถิ่น
- ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น หัด โปลิโอ เป็นต้น
- มีโอกาสถูก ยุง และ/หรือหมัด กัดได้ง่าย เช่น ท่องเที่ยว หรือทำงานในป่า ในท้องทุ่ง เพราะเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุ มักมียุงหรือหมัดเป็นพาหะโรค
แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเป็นไวรัสสมองอักเสบ โดยพิจารณาจาก ประวัติเสี่ยงต่างๆ, อาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ, การตรวจร่างกายพบ ความรู้สึกตัวผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ และมีไข้สูง ซึ่งเมื่อแพทย์สงสัยภาวะ/โรคสมองอักเสบ จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง โดยจะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และความพร้อมของสถานพยาบาล
- ถ้าผลการตรวจพบภาวะเลือดออกบริเวณสมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ก็เข้าได้กับสมองอัก เสบจากไวรัสแจแปนนีส-บี
- ถ้าพบความผิดปกติบริเวณสมองใหญ่ส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe) ก็เข้าได้กับสมองอักเสบจากไวรัสเริม ถ้าพบเพียงสมองบวมทั่วๆไป จะไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากเชื้ออะไร หรือจากสาเหตุอะไร
เมื่อแพทย์ทราบผลการตรวจภาพสมอง และเมื่อไม่มีข้อห้ามในการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองไขสันหลัง (CSF) /การเจาะหลัง ก็จะเจาะหลังตรวจ ซึ่งถ้าพบเม็ดเลือดแดงออกมาในน้ำ CSF จะบ่งชี้ว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสเริม แต่ถ้าไม่พบเม็ดเลือดแดงก็ไม่สามารถระบุเชื้อ หรือสา เหตุก่อโรคสมองอักเสบได้
นอกจากนี้ แพทย์จะนำน้ำ CSF ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสารภูมิคุ้มกัน และเพื่อการเพาะเชื้อด้วย เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอนต่อไป
รักษาไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
การรักษาไวรัสสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเริม จะให้ยาอะซัยโคเวีย (Acyclovir) ทางหลอดเลือดดำ
ส่วนไวรัสแจแปนนีส-บี และไวรัสสมองอักเสบสาเหตุจากไวรัสอื่นๆ ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาที่สำคัญคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ และ ระวังภาวะแทรกซ้อน/ผลข้าง เคียงจากโรค เช่น การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และ/หรือ ถ้ามีอาการชักก็ให้ยากันชัก เป็นต้น
อนึ่ง การรักษาโรคนี้ มักเป็นการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อยๆ 2-4 สัปดาห์โดยขึ้นกับชนิดของไวรัส และความรุนแรงของโรค
แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง เช่น ชัก มักต้องรักษาต่อเนื่องที่บ้าน ด้วยการทานยากันชักนานหลายปี และมีการฝึกความจำ ฝึกพฤติกรรม และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
ไวรัสสมองอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาไวรัสสมองอักเสบ ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยรอดชีวิต และโอกาสเกิดเป็นซ้ำน้อยมากๆ แต่มักจะมีผลข้างเคียงจากโรคที่หลงเหลืออยู่ เช่น ปัญหาด้านความจำ, ปัญหาด้านพฤติกรรม (เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยน อารมณ์แปรปรวน), ปัญหาในการพูด, การได้ยิน, และ/หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง/อัมพฤกษ์/อัมพาต
ดูแลตนเองเมื่อออกจากโรงพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองภายหลังหายจากโรคไวรัสสมองอักเสบ คือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยา บาลแนะนำ ร่วมกับพบแพทย์ตามนัดเสมอ และยังขึ้นกับผลข้างเคียงจากโรคที่หลงเหลืออยู่ด้วย เช่น
- ถ้ามีอาการชัก ก็ต้องทานยากันชักสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ถ้ามีแขนขาอ่อนแรง ก็ต้องขยันทำกายภาพบำบัด
- ถ้ามีปัญหาด้านความจำหรือด้านพฤติกรรม ก็ต้องหมั่นฝึกความจำและฝึกควบคุมพฤติ กรรมต่างๆให้เหมาะสม
- แต่ถ้ามีไข้ หรือชักบ่อยขึ้น หรือซึมลง หรือมีอาการผิดไปจากเดิม หรืออาการต่างๆเลวลง หรือกังวลในอาการ ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
ป้องกันไวรัสสมองอักเสบอย่างไร?
ไวรัสสมองอักเสบบางชนิดมีวัคซีนป้องกันได้ เช่น ไวรัสแจแปนนีส -บี ไวรัสหัด ไวรัสโป ลิโอ แต่หลายชนิดยังไม่มีวัคซีน เช่น ไวรัสเริม
อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และรู้จักป้องกันตนเองจากยุง และหมัดกัด เมื่อต้องอยู่ในถิ่น หรือเดินทางไปยังถิ่นที่อาศัยของเชื้อโรค ก็เป็นวิธีที่ป้องกัน/ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ลงได้