โฟรวาทริปแทน (Frovatriptan)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 โฟรวาทริปแทน (Frovatriptan) คือ หนึ่งในสมาชิกของยากลุ่มทริปแทน (Triptan drug) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน และใช้ป้องกันไมเกรนอันมีเหตุ จากประจำเดือนของสตรีโดยใช้ยาเพียงระยะสั้นๆ กลไกหลักของยาโฟรวาทริปแทนจะทำให้หลอดเลือดแดงภายในสมองลดการขยายตัวซึ่งการขยายตัวของหลอดเลือดดังกล่าวเป็นเหตุและปัจจัยของการปวดศีรษะไมเกรน

รูปแบบของยาโฟรวาทริปแทนจะเป็นยาชนิดรับประทาน มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และมีการกระจายตัวของยาเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 20% ในเพศชายและประมาณ 30% ใน       เพศหญิง ในกระแสเลือดตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 15% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลาย/เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 26 ชั่ว โมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีข้อพึงระวังบางประการที่แพทย์นำมาพิจารณาประกอบก่อนการจ่ายยาโฟรวาทริปแทนให้กับผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
  • อยู่ในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเคยมีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)   โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ หรือไม่
  • แพทย์จะไม่ใช้ยาโฟรวาทริปแทนในการรักษาอาการไมเกรนบางประเภทเช่น Hemiplegic migraine และ Basilar migraine

 นอกจากนี้แพทย์จะชี้แจงถึงวิธีการรับประทานยานี้เมื่อมีอาการไมเกรน หรือหลังรับประทานยา นี้แล้วอาการทุเลาลงแต่ยังไม่หาย ผู้ป่วยจะรับประทานยาต่ออย่างไร รวมถึงอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดจากยานี้ หรือแม้แต่มีอาการปวดหัวที่ผู้ป่วยรู้สึกแตกต่างจากการปวดศีรษะไมเกรน แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยาโฟรวาทริปแทนแต่ต้องกลับมาปรึกษาแพทย์จะปลอดภัยกว่า

สิ่งที่ต้องระวังไม่แพ้ข้ออื่นคือ การรับประทานยานี้ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs หรือ SNRIs จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน  โดยอาจจะมีอาการหนาวสั่น สับสน ประสาทหลอน อาจมีอาการโคม่า มีไข้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เหงื่อออกมาก สูญเสียการทรงตัว ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงได้มาก และไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ที่อายุ ต่ำกว่า 18 ปีลงมาด้วยยังไม่มีการประเมินผลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้

 เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาโฟรวาทริปแทนผู้ป่วย/ผู้บริโภคจะต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น     

โฟรวาทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โฟรวาทริปแทน

 ยาโฟรวาทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  •  รักษาและบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน

โฟรวาทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโฟรวาทริปแทนคือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์เป็นสาร 5HT1 agonist (5-hydroxytryptamine 1 agonist) โดยจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า 5-HT receptors (5-hydroxytryptamine receptors) ส่งผลให้หลอดเลือดในบริเวณสมองหดตัวและทำให้อาการปวดศีรษะเบาบางลง

โฟรวาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโฟรวาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด

โฟรวาทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโฟรวาทริปแทนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: รับประทานเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ หลังจาก 2 ชั่วโมง แรกที่รับประทานแล้วอาการปวดศีรษะไมเกรนยังไม่หายขาดหรือกลับมาเป็นใหม่ให้รับประทานยาได้อีก 2.5 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานสูงสุดต้องไม่เกิน 7.5 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

  • ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีการประเมินผลทางคลินิกที่แน่ชัดของการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มอายุนี้ ดังนั้นการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโฟรวาทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น      

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโฟรวาทริปแทน อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโฟรวาทริปแทนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโฟรวาทริปแทนตรงตามคำ แนะนำของแพทย์ผู้รักษา ไม่ควรลืมรับประทานยาโดยเฉพาะการลืมเสมอๆ

โฟรวาทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโฟรวาทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่พบได้น้อย: เช่น  ตาพร่า  เจ็บหน้าอก  ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ  เหงื่อออกมาก

ข. อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถอธิบายกลไกได้: เช่น ปวดท้อง มีภาวะตัวสั่น ถ่าย/อุจจาระเป็นเลือด นิ้วมือ-นิ้วเท้าเย็น รู้สึกสับสน  ไอ ท้องเสีย  กลืนลำบาก วิงเวียน เป็นลม มีไข้  การทรงตัวผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้โฟรวาทริปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโฟรวาทริปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยไมเกรนประเภท Hemiplegic migraine และ Basilar migraine
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม Ergotamine ภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา         
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามนำไปใช้รักษาอาการปวดหัวที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากไมเกรนโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • หากพบอาการแพ้ยา เช่น ใบหน้าบวม ผื่นขึ้นทั้งตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโฟรวาทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โฟรวาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโฟรวาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น   

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโฟรวาทริปแทน ร่วมกับยากลุ่ม MAOI, ยากลุ่ม SSRI และยากลุ่ม SNRI ด้วยจะก่อให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน
  • การใช้ยาโฟรวาทริปแทน ร่วมกับยา Ergot alkaloids เช่น Ergotamine หรือยาต้านไมเกรนกลุ่มทริปแทน (Triptan drug) ตัวอื่นๆอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาโฟรวาทริปแทนมากยิ่งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโฟรวาทริปแทน ร่วมกับยา Hydroxyprogesterone อาจทำให้ระดับของยาโฟรวา ทริปแทนในกระแสเลือดลดต่ำจนอาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโฟรวาทริปแทน ร่วมกับยา Droxidopa  อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Supine hypertension โดยจะมีอาการความดันโลหิตสูงขณะนอนราบ หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันและหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโฟรวาทริปแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาโฟรวาทริปแทน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โฟรวาทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโฟรวาทริปแทน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Frova (โฟรวา) Endo Pharmaceuticals Inc

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Triptan  [2022,Jan22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Frovatriptan  [2022,Jan22]
  3. https://www.drugs.com/mtm/frovatriptan.html  [2022,Jan22]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/frovatriptan-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Jan22]
  5. https://www.rxlist.com/frova-drug.htm  [2022,Jan22]
  6. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/frovatriptan-oral-route/before-using/drg-20063959  [2022,Jan22]