โปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปรคลอเปอราซีนอย่างไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปรคลอเปอราซีนอย่างไร?
- โปรคลอเปอราซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine)
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonists)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคจิต (Psychosis)
บทนำ: คือยาอะไร?
โปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) คือ ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน, อาการวิงเวียน, นอกจากนี้ยังนำมารักษาอาการไมเกรนได้อีกด้วย, และรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน ยาเหน็บทวารหนัก ยาฉีด
โปรคลอเปอราซีนเป็นยาในกลุ่ม Phenothiazine, การออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานี้มีลักษณะที่เรียกว่า Dopamine (D2) receptor antagonist, ยานี้มีฤทธิ์แรงกว่ายา Chlorperazine ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันประมาณ 10 - 20 เท่า
ผู้ป่วยที่ได้รับยาโปรคลอเปอราซีน อาจมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้นต่อระบบการทำงานที่สำคัญๆของร่างกาย เช่น ส่งผลต่อระบบประสาทให้มีอาการง่วงนอนหรือวิงเวียน, มีผลต่อการทำงานของลำไส้โดยกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสีย, ผลต่อตับทำให้ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน, กระตุ้นให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, หรือทำให้มีความดันโลหิตต่ำ, หรือบางครั้งยานี้ก็ทำให้ริมฝีปากลอกได้, มีข้อสันนิษฐานว่ายานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว, และอาจเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุหลังใช้ยาโปรคลอเปอราซีน
ทางคลินิก แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาโปรคลอเปอราซีนกับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่น แพทย์มักจะสอบถามและใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนการสั่งจ่ายยาโปรคลอเปอราซีน, ด้วยการใช้ยาโปรคลอเปอราซีนกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้อาการโรคดังกล่าวกำเริบขึ้นได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคซีด, โรคเบาหวาน, โรคตับแข็ง, โรคความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็ โรคความดันโลหิตต่ำ, โรคต่อมลูกหมากโต, โรคความจำเสื่อม/สมองเสื่อม, โรคพาร์กินสัน, หรือแม้แต่การใช้ยานี้กับผู้ที่ติดสุราก็ต้องระมัดระวังเรื่องการติดยาที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อตัวยาโปรคลอเปอราซีนเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91 - 99%, จากนั้นตัวยาจะถูกส่งไปที่ตับ, และเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุล ก่อนที่จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
มีข้อมูลของการใช้ยาโปรคลอเปอราซีนอีกมากมายที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรทั้งในสถานพยาบาลและที่ประจำร้านขายยาได้โดยทั่วไป
อนึ่ง: ชื่ออื่นของยาโปรคลอเปอราซีน เช่น Compazine, Stemzine, Buccastem, Stemetil, Phenotil
โปรคลอเปอราซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโปรคลอเปอราซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- บำบัดอาการวิตกกังวล
- รักษาอาการทางจิตประสาท/โรคจิต
โปรคลอเปอราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโปรคลอเปอราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์:
- ปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า D2 Somatodendritic autore ceptor ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทที่ชื่อ Dopamine จนเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องและส่งผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine
- ปิดกั้นการกระจายตัวของสาร Dopamine ในส่วนของสมองที่ถูกเรียกว่า Chemoreceptor trigger zone/ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ปิดกั้นการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Anticholinergic, รวมถึงปิดกั้นตัวรับ ประเภท Alpha-adrenergic receptors ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประสาทอัตโนมัติ มีผลให้รู้สึกง่วงนอน และเกิดภาวะคลายตัวของกล้ามเนื้อ รวมถึงมีความดันโลหิตต่ำ
จากกลไกที่กล่าวมาทั้งหมด จึงส่งผลให้ยาโปรคลอเปอราซีน มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
โปรคลอเปอราซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโปรคลอเปอราซีน มีขนาดรับประทานขึ้นกับอาการของแต่ละโรค การใช้ยานี้และขนาดยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับบำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาการทางจิต:เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 5 - 10 มิลลิกรัม, วันละ 3 - 4 ครั้ง
ข. สำหรับบำบัดอาการวิตกกังวล: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม, วันละ 3 - 4 ครั้ง
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโปรคลอเปอราซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยา โปรคลอเปอราซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ /หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปรคลอเปอราซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น2เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโปรคลอเปอราซีนตรงเวลา
โปรคลอเปอราซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปรคลอเปอราซีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจพบอาการตัวเหลือง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีภาวะของเม็ดเลือดผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- อาจพบอาการ
- ปากคอแห้ง
- ตาพร่า
- ต้อหิน
- ปัสสาวะคั่ง/ ปัสสาวะไม่ออก
- เต้านมโต
- ภาวะกดไขกระดูก
มีข้อควรระวังการใช้โปรคลอเปอราซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรคลอเปอราซีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีภาวะไขกระดูกไม่ทำงาน ผู้ป่วยโรคเนื้องอก ฟีโอโครโมไซโตมา/ Pheochromocytoma, และเนื้องอกสมองชนิด โปรแลคติโนมา/ Prolactinoma
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต ผู้ป่วยโรคต้อหิน
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือทำงานกับเครื่องจักรในระหว่างที่ใช้ยานี้ด้วยตัวยาทำให้เกิดอาการวิงเวียน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด/ ปัสสาวะไม่ออก
- *หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการแพ้ยา เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ใบหน้า-ลิ้น-คอ มีอาการบวม แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- *หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาพอสมควรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรคลอเปอราซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โปรคลอเปอราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปรคลอเปอราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาโปรคลอเปอราซีน ร่วมกับยา Tramadol อาจเกิดความเสี่ยงของการเกิดลมชัก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโปรคลอเปอราซีน ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ชนิดเพิ่มขึ้น เช่น เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การใช้ยาโปรคลอเปอราซีน ร่วมกับยา Sotalol, Droperidol, อาจก่อให้เกิดอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อเป็นการป้องกันอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามรับประทานยาโปรคลอเปอราซีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้เกิด อาการเดินเซ ลมชัก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรืออาจถึงเกิดภาวะโคม่าได้
ควรเก็บรักษาโปรคลอเปอราซีนอย่างไร?
ควรเก็บยาโปรคลอเปอราซีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โปรคลอเปอราซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรคลอเปอราซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Prochlorperazine Sriprasit Pharma (โปรคลอเปอราซีน ศรีประสิทธิ์ ฟาร์มา) | Sriprasit Pharma |
Proclozine (โปรโคลซีน) | Central Poly Trading |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prochlorperazine [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/pro/prochlorperazine.html [2022,Sept17]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00433 [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/prochlorperazine?mtype=generic [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/India/drug/info/prochlorperazine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/prochlorperazine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Sept17]