ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ฟีโนไทอาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไทอาซีนอย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟีโนไทอาซีนอย่างไร?
- ฟีโนไทอาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคจิต (Psychosis)
- สะอึก (Hiccup)
- บาดทะยัก (Tetanus)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
บทนำ
ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาความผิดปกติของจิตใจ อารมณ์ ซึ่งบางคนมีอาการถึงขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังนำมารักษาอาการ คลื่นไส้ อาเจียน อาการสะอึก อีกด้วย
ยาฟีโนไทอาซีน มีอนุพันธุ์หรือจำแนกเป็นกลุ่มย่อยๆได้อีกหลายตัว เช่น Chlorpromazine, Fluphenazine, Levomepromazine, Mesoridazine, Methotrimeprazine, Perphenazine, Promazine, Prochlorperazine, Triflupromazine, Trifluoperazine, และ Thioridazine การใช้ยากลุ่มฟีโนไทอาซีนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ (ผลข้าง เคียง/อาการข้างเคียง) ที่เด่นๆติดตามมาหลังจากหยุดการใช้ยาอยู่อย่างหนึ่ง คือ การควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า หรือการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป ก่อนการใช้ยาแพทย์ควรต้องแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดตามมาหลังการใช้ยาทุกครั้ง จะเป็นการดีถ้าผู้ป่วยแจ้งแพทย์ถึงโรคที่ตนเองเป็นอยู่ทั้งหมดในขณะเข้ารับการรักษา เพราะบางอาการของโรคเมื่อมีการใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมด้วย จะก่อให้เกิดผลเสียและทำให้อาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างโรคเหล่านั้น เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด เป็นต้น ฟีโนไทอาซีน อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้อีกมากมาย ทั้งมีข้อห้ามใช้และเงื่อนไขของการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นขนาดและวิธีการการบริหารยา/การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
ฟีโนไทอาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาอาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์
- รักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียน (เช่น จากการให้ยาเคมีบำบัด) และอาการสะอึก
- ทำให้ผู้ป่วยสงบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- รักษาอาการโรค Porphyria (โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่อาจก่ออาการทางระบบประสาทได้ เช่น มีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง) หรือใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาอาการโรคบาดทะยัก เพื่อช่วยให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ
ฟีโนไทอาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งหน่วยรับ/ตัวรับในสมองที่เรียกว่า โพสไซแน็ปติก มีโซลิมบิก โดปามิเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ (Postsynaptic mesolimbic dopaminergic recep tors) อีกทั้งยังกดการหลั่งไฮโปทาลามิก และไฮโปไฟเซียล ฮอร์โมน (Hypothalamic and hypophyseal hormones: ฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมถึงด้านอารมณ์ /จิตใจ) ดัวยกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ฟีโนไทอาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- รูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 2, 4, 5, 8 และ 16 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาฉีดขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 25 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ฟีโนไทอาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับรักษาอาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 4 ครั้ง
- เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
ข. สำหรับอาการคลื่นไส้ อาเจียน:
- ผู้ใหญ่และวัยรุ่น: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
- เด็กอายุ 6 เดือน - 12 ปี: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
ค. สำหรับสงบประสาทก่อนรับการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม 2 - 3 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
- เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 2 - 3 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
ง. สำหรับรักษาอาการสะอึก:
- ผู้ใหญ่และวัยรุ่น: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง หากอาการสะอึกไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน ต้องเปลี่ยนเป็นการใช้ยาฉีดในการรักษาแทน
- เด็ก: ขนาดยาและระยะเวลาการใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก และการใช้ยานี้ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง: เพื่อลดอาการระคายเคืองจากยานี้ต่อกระเพาะอาหาร ควรกินยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีโนไทอาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนไทอาซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีโนไทอาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟีโนไทอาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดยานี้ การควบคุมปาก ลิ้น แก้ม กราม ร่างกายรวมถึง แขน ขา ไม่เป็นปกติ
- มีไข้
- ชีพจรเต้นเร็ว
- หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- กลืนลำบาก
- พูดติดขัด
- ปัสสาวะอาจมีสีคล้ำ เป็นต้น
ซึ่ง ผลข้างเคียงที่เกิดจากการหยุดใช้ยานี้ ต้องให้ร่างกายค่อยๆปรับตัว โดยระยะเวลาของอาการจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการใช้ยาว่านานมากน้อยเพียงใด
มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไทอาซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไทอาซีนดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา ฟีโนไทอาซีน
- ห้ามหยุดยาเองก่อนได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของฟีโนไทอาซีนด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานในเวลาที่ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- ก่อนเข้ารับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัด หรือ ถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ ทราบว่าใช้ยากลุ่มฟีโนไทอาซีนอยู่หรือไม่ด้วย การได้รับยาฟีโนไทอาซีนเพิ่มจากเดิมสามารถกดการทำงานในสมองของผู้ป่วยหรือทำให้ความดันโลหิตต่ำ
- ระหว่างการใช้ยานี้ไม่ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ด้วยในผู้ป่วยบางรายอาจมีอา การง่วงนอนจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
- ยานี้ก่อให้เกิดภาวะผิวหนังไว/ตอบสนองมากเกินปกติต่อแสงแดด ดังนั้นระหว่างการใช้ยาควรเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เพราะผิวหนังอาจไหม้ได้
- การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ๋หรือให้นมบุตร ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฟีโนไทอาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟีโนไทอาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีโนไทอาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจก่อให้เกิดภาวะกดการทำงานของสมองจนทำให้ถึงขั้นหมดสติ จึงห้ามการใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Guanethidine อาจทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เช่น Metoclopramide สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของฟีโนไทอาซีนด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาฟีโนไทอาซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟีโนไทอาซีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ฟีโนไทอาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีโนไทอาซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ammipam (แอมมิปาม) | MacroPhar |
Chlopazine (คลอพาซีน) | Condrugs |
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) | GPO |
Chlorpromed (คลอโพรเมด) | Medifive |
Matcine (แมทซีน) | Atlantic Lab |
Plegomazine (เพลโกมาซีน) | Chew Brothers |
Pogetol (โพจีทอล) | Pharmasant Lab |
Prozine (โพรซีน) | Utopian |
Deca (เดกา) | Atlantic Lab |
Fluzine-P (ฟลูซีน-พี) | P P Lab |
Pharnazine (ฟาร์นาซีน) | Pharmaland |
Conazine (โคนาซีน) | Condrugs |
Pernamed (เพอร์นาเมด) | Medifive |
Pernazine (เพอร์นาซีน) | Atlantic Lab |
Perzine-P (เพอร์ซีน-พี) | P P Lab |
Porazine (โพราซีน) | Pharmasant Lab |
Prochlorperazine Sriprasit Pharma (โพรคลอเพอราซีน ศรีประสิทธิ์ ฟาร์มา) | Sriprasit Pharma |
Proclozine (โพรโคลซีน) | Pharmasant Lab |
Stemetil (สเตเมทิล) | sanofi-aventis |
Dazine-P (ดาซีน-พี) | P P Lab |
Ridazine (ไรดาซีน) | Atlantic Lab |
Thiomed (ไทโอเมด) | Medifive |
Thiosia (ไทโอเซีย) | Asian Pharm |
Psyrazine (ไซราซีน) | Condrugs |
Triflumed (ไทรฟลูเมด) | Medifive |
Triozine (ไทรโอซีน) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Phenothiazine [2020,Jan4]
2 http://www.drugs.com/cons/phenothiazine-oral-parenteral-rectal.html [2020,Jan4]
3 http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=8111 [2020,Jan4]
4 http://ar.iiarjournals.org/content/37/11/5983.full [2020,Jan4]