โบรโมคริปทีน (Bromocriptine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 30 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาโบรโมคริปทีนมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยาโบรโมคริปทีนออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโบรโมคริปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโบรโมคริปทีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาโบรโมคริปทีนอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโบรโมคริปทีนอย่างไร?
- ยาโบรโมคริปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- ยาโรคจิต ยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers)
- กลุ่มอาการนิวโรเล็ปติกร้ายแรง หรือกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome : NMS)
- โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
- สภาพโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly) สภาพร่างยักษ์ (Gigantism)
บทนำ: คือยาอะไร?
โบรโมคริปทีน (Bromocriptine) คือ ยาที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ในร่างกายโดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ของโดพามีน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำยานี้มาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของฮอร์โมนโดพามีนเช่น นำมาใช้ในการลดระดับของฮอร์โมนโพรแลกติน/โปรแลกติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำนม) ในผู้ป่วย ที่มีระดับฮอร์โมนโพรแลกตินสูงเนื่องจากโดพามีนจะทำหน้าที่ในการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโพรแลกติน รวมถึงการนำมาใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันเนื่องจากพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับโดพามีนต่ำกว่าคนทั่วไป
ปัจจุบันยาโบรโมคริปทีนจัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ยานี้มียาชื่อการค้าที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Parlodel, Cycloset, Brotin
ยาโบรโมคริปทีนมีสรรพคุณอย่างไร?
ยาโบรโมคริปทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษา:
ก. ภาวะมีระดับฮอร์โมนโพรแลกตินสูง/โปรแลคตินสูงในเลือด(Hyperprolactinemia)
ข. ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
ค. สภาพโตเกินไม่สมส่วน หรือ อะโครเมกาลี (Acromegaly, โรคจากผิดปกติของการหลั่ง ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองบางชนิด)
ง. Neuroleptic malignant syndrome (NMS) ซึ่งเป็นภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาโรคจิตบางชนิดที่มีผลในการลดระดับฮอร์โมนโดพามีนในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม มีไข้สูง ตัวแข็ง เหงื่ออกมาก ชีพจรและความดันโลหิตไม่คงที่
จ. โรคพาร์กินสัน (Parkinsonism)
ฉ. โรคเบาหวานชนิดที่สอง (Type 2 Diabetes) หรือเบาหวานที่เกิดจากร่างกายสร้างอินซูลินได้น้อยลงหรือประสิทธิภาพในการใช้อินซูลินของเซลล์ในร่างกายลดลง
ยาโบรโมคริปทีนออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโบรโมคริปทีนออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับโดพามีน-2 (Dopamine -2 Receptor) ทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน ระดับฮอร์โมนโดพามีนที่สูงขึ้นจะยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนโพรแลกติน และยังช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันอีกด้วย
สำหรับการใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สอง พบว่ายาโบรโมคริปทีนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด
ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 2.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาโบรโมคริปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโบรโมคริปทีนมีขนาดยาเริ่มต้นโดยทั่วไป 1.25 - 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับโรคและอาการของผู้ป่วย แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจพิจารณาปรับขนาดยาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ตามผล ลัพธ์ทางคลินิกจากการใช้ยากล่าวคือ อาการของโรคที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเทียบกับอาการจากผลข้างเคียงของยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้หัวข้อ ยาโบรโมคริปทีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?)
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาโบรโมคริปทีนควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับยาที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกัน (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ในหัวข้อ ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?)
- ประวัติโรคประจำตัวทั้งโรคที่เป็นอยู่และโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะหากมีประวัติโรคความดันโลหิตสูง หรือมีอาการปวดศีรษะไมเกรน ประวัติการเป็นลม หมดสติ โรคหัวใจรวมถึง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะทางจิต(เช่น โรคจิตเภท) มีแผลในกระเพาะอาหารหรือในระบบทางเดินอาหาร โรคเรเนาด์ (Raynaud's syndrome, ภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือชาบริเวณมือและเท้าเมื่อสัมผัสอากาศเย็นจัด) โรคไต และโรคตับ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเพิ่งมีการคลอดบุตร กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโบรโมคริปทีน ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามมื้อยานั้นไป และรับประทานยาในมือถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ยาโบรโมคริปทีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาโบรโมครปทีนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น วิงเวียน คลื่นไส้-อาเจียน อาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหารซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง มีอาการแสบร้อนกลางอก ความอยากอาหารและการรับรสทำงานแย่ลง เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
โดยทั่วไปอาการไม่พึงประสงค์ฯเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้และควรมีอาการดีขึ้นหรือทุเลาลงเมื่อใช้ยาไปแล้วระยะหนึ่ง แต่ถ้าหากพบว่าอาการเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องหรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
*ยาโบรโมคริปทีนยังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น เป็นลม หมดสติ มีของเหลว/สารคัดหลั่งไหลจากจมูก มีอาการปวดแสบหรือชาบริเวณนิ้วมือหากสัมผัสกับอากาศเย็น อุจจาระมีสีดำและเหนียว อาเจียนเป็นเลือด มีอาการบวมของเท้า ข้อเท้า และน่องขา ปวดหัวรุนแรง การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า สับสน มองเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงแว่ว( ประสาทหลอน) มีอาการปวดบริเวณขา หลัง คอ หรือขากรรไกร ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
หากรับประทานยาโบรโมคริปทีนแล้วมีอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมที่บริเวณริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาหรือใบหน้า มีผื่นคันขึ้นตามบริเวณผิวหนัง หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน
*อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วน มากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาโบรโมคริปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้ แพทย์อาจต้องปรับระดับยาเหล่า นี้หรือตัวยาโบรโมคริปทีนเอง รวมถึงการเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาเหล่านี้หากมีการใช้ร่วมกันกับยาโบรโมคริปทีน ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาที่ผู้ ป่วยใช้อยู่เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา ตัวอย่างยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโบรโมคริปทีน เช่น
- ยาต้านเศร้า, ยาคลายเครียด หรือวิตกกังวล เช่น ยาอิมิทริปทีลีน (Amytriptyline), ยาอิมิพรามีน (Imipramine), ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ยานีฟาโซโดน (Nefazodone)
- ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาอิทราโคนาโซล (Itraconazole) และยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลอแรมฟีนิคอล (Chloramphenicol), ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin), ยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยากระตุ้นการหลั่งโดพามีนหรือยาที่มีส่วนประกอบของโดพามีน เช่น ยาคาเบอร์โกลีน (Cabergoline), ยาเลโวโดพา (Levodopa), ยารักษาโรคพาร์กินสัน, ยาเพอร์โกไลด์ (Per golide), และยาโรพินิโรล (Ropinirole)
- ยาที่มีส่วนผสมของสารเออร์ก็อต (Ergot drug) เช่น ยาคาร์เฟอร์ก็อต (Cafergot®) ที่ใช้ในการรักษาโรคไมเกรน และยารักษาโรคไมเกรนชนิดอื่น เช่น ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan)
- ยาต้านไวรัสเอดส์หรือเอชไอวี /ยาต้านเอชไอวี (AIDS/ HIV)
- ยาโรคเกาต์ เช่น ยาโพรเบนิซิด (Probenecid)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ยาดอมเพอริโดน (Domperidone)
มีข้อควรระวังในการใช้ยาโบรโมคริปทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาโบรโมคริปทีน เช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
- สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ในข้อบ่งใช้การรักษาภาวะมีบุตรยากหรือประจำเดือนขาดจากภาวะฮอร์โมนโพรแลกตินสูง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หาวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วยอีกหนึ่งวิธีนอกเหนือไปจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดอย่างเดียว (เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย) และควรตรวจการตั้งครรภ์ทุกๆ 4 สัปดาห์ตราบเท่าที่ประจำเดือนยังขาด เมื่อประจำเดือนกลับมาเป็นปกติแล้วควรตรวจการตั้งครรภ์หากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ 3 วันหรือตามการแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้หากจำเป็นต้องมีการผ่าตัด
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานเครื่องจักรหรืองานใดๆที่มีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุระหว่างการใช้ยานี้ หรือจนกว่าจะรู้ว่ายานี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงนี้ต่อผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
- ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน หรือเป็นลมได้หากผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วเช่น จากนอนเป็นยืน เป็นต้น ผู้ป่วยควรลุกขึ้นหรือเปลี่ยนท่าทางช้าๆ ระหว่างการเริ่มต้นการใช้ยาและทุกครั้งที่มีการปรับขนาดยาโบรโมคริปทีน
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีไข้ ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการเหมือนมีการติดเชื้อ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโบรโมคริปทีน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาโบรโมคริปทีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโบรโมคริปทีน:
- เก็บรักษายาในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
- ไม่ควรนำยาออกจากแผงยาก่อนการรับประทาน
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง เลือกบริเวณที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโบรโมคริปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโบรโมคริปทีน มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
พาร์โลเดล (Parlodel) | บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
โบรคาเดน (Brocaden) | บริษัท ฟาร์มาสันต์แล็บบอราตอรี่ส์ จำกัด |
โบรโมคริปทีนชนิดเม็ด | ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Bromocriptine, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:286.
- Pijl H, Ohashi S, Matsuda M; et al. Bromocriptine: a novel approach to the treatment of type 2 diabetes. Diabetes Care 2000;23(8):1154–61.
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28129 [2022,Jan29]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/6756 [2022,Jan29]