โคลโดรเนต (Clodronate)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 27 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาโคลโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาโคลโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลโดรเนตอย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโคลโดรเนตอย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- มัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)
- โรคลักปิดลักเปิด โรคขาดวิตามิน-ซี (Scurvy)
- แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
โคลโดรเนต (Clodronate) คือ ยากลุ่ม บิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง (Hypercalcemia of malignancy) และภาวะโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกชนิดที่ทำให้กระดูกเกิดการสลายตัว (Osteolytic bone metastases) รวมถึงยังมีการนำยาโคลโดรเนตมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไขกระดูกชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma)
กลไกที่ใช้ในการยับยั้งการสลายกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ายาโคลโดรเนตยับ ยั้งการทำงานของเซลล์กระดูกที่ชื่อ ออสติโอคลาส (Osteoclast: เซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก) ทำให้ไม่เกิดการสลายตัวของกระดูกจึงส่งผลต่อการลดระดับแคลเซียมในเลือด
อนึ่ง ยานี้มียาชื่อการค้าที่แพร่หลายในต่างประเทศคือ Clasteon และ Loron 520
ยาโคลโดรเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโคลโดรเนตจัดอยู่ในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonate) มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันมีสาเหตุจากมะเร็ง (Hypercalcemia of malignancy)
- รักษาภาวะโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกชนิดที่ทำให้กระดูกเกิดการสลายตัว(Osteolytic bone metastases)
- ร่วมรักษาในโรคมะเร็งไขกระดูกชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma)
ยาโคลโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโคลโดรเนตเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) และมีโครงสร้างคล้ายกับสารไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate) ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตจะจับตัวได้ดีกับเนื้อเยื่อที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบเช่น กระดูก โดยกลไกสำคัญของยาโคลโดรเนตคือ ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorption)
ทั้งนี้กลไกที่ใช้ในการยับยั้งการสลายกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าโคลโดรเนต กดการทำงานของเซลล์ออสติโอคลาส (Osteoclast: เซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก) ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดและการขับออกของแคลเซียมและสารไฮดรอกซีโพรลีน (*Hydroxyproline) ในปัสสาวะลดลง
*อนึ่ง Hydroxyproline เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของโปรตีนชนิดคอลลาเจน (Collagen) และชนิดเจลาติน (Gelatin, โปรตีนที่มีประโยชน์น้อย) การสังเคราะห์ไฮดรอกซีโพรลีนขึ้น กับวิตามินซี ดังนั้นการขาดวิตามีนซีจะทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอทำให้เกิดแผลได้ง่าย อาจเป็นลักษณะหนึ่งของโรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) อีกทั้งยังพบว่าไฮดรอกซีโพรลีนที่เพิ่มขึ้นในปัสสาวะเกี่ยวข้องกับโรคที่มีชื่อว่า Paget’s disease of bone ซึ่งคือโรคที่เกี่ยวข้องกับการพรุนของกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง กระดูกต้นขา และกะโหลกศีรษะ)
ยาโคลโดรเนตป้องกันการสูญเสียของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังที่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายสู่กระดูกของโรคมะเร็งเต้านมในสตรีก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน เมื่อใช้รักษาด้วยยาโคลโดรเนตเป็นยาเดี่ยวในขนาดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก
อนึ่ง ยาโคลโดรเนตไม่มีผลต่อการสะสมแร่ธาตุตามปกติของกระดูกในคน และเมื่อใช้ยานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยจะลดลง
ยาโคลโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาโคลโดรเนตมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นนยารับประทาน:
- ยาเม็ดแคปซูล (Capsules) ขนาด 400 มิลลิกรัม และ
- ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) ขนาด 800 มิลลิกรัม
ยาโคลโดรเนตมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโคลโดรเนตมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น
- วิธีการรับประทานยา:
1.1 เนื่องจากยานี้ถูกกำจัดออกทางไตเป็นส่วนใหญ่ จึงควรดื่มน้ำให้มากพอในระหว่างผู้ป่วยได้รับยาโคลโดรเนตเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นพิษต่อไต
1.2 ยาโคลโดรเนตชนิดแคปซูล 400 มิลลิกรัม: ควรรับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือ ละลายเม็ดยาก่อนรับประทาน
1.3 ยาโคลโดรเนตชนิดเม็ด 800 มิลลิกรัม: สามารถแบ่งครึ่งเม็ดยาได้แต่ต้องกลืนยาพร้อมกันทั้งสองส่วนที่แบ่งออกจากกัน ห้ามบดหรือละลายเม็ดยาก่อนรับประทาน
1.4 วิธีการรับประทานยานี้: ให้รับประทานยานี้พร้อมกับน้ำเปล่าหนึ่งแก้วในตอนเช้าขณะท้องว่าง การใช้ยานี้ในขนาดวันละ 1,600 มิลลิกรัมควรรับประทานยาให้หมดเพียงครั้งเดียว แต่หากใช้ยาในขนาดสูงกว่านี้แนะนำให้ผู้ป่วยแบ่งยารับประทาน 2 ครั้ง โดยให้รับประทานยาในขนาดที่เกินจาก 1,600 มิลลิกรัมแยกต่างหากกล่าวคือ รับประทานยาขนาด 1,600 มิลลิกรัมแรกพร้อมน้ำเปล่าหนึ่งแก้วตอนเช้าขณะท้องว่างเสียก่อน หลังรับประทานยาไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงจึงรับ ประทานอาหารมื้อเช้า หลังจากมื้ออาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาท้องว่างจึงรับประทานยาที่เหลือจากครั้งแรกอีกครั้งหนึ่ง (นับเป็นครั้งที่ 2)
1.5 ห้ามรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับ นม อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาอื่นๆที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม หรือยาอื่นๆที่มีส่วนประกอบของไดวาเลนท์ แคทอิออน (Divalent cation, คือสารประ กอบที่มีแร่ธาตุที่มีประจุบวก 2 ตัวเป็นองค์ประกอบ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม, เหล็ก) ที่มีแร่ธาตุเหล็ก (Ferrous) เป็นส่วนประกอบเพราะการดูดซึมยาโคลโดรเนตจะลดลง และไม่ควรรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) เนื่องจากมีส่วนประกอบของไดวาเลนท์ แคทอิออน (Divalent cation) เช่น อลูมิเนียม แมกนีเซียม และแคลเซียม เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ยาโคลโดรเนตจับกับแร่ธาตุต่างๆเหล่านั้นทำให้การดูดซึมยาโคลโดรเนตจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาลดกรดชนิดน้ำห่างจากยาโคลโดรเนตอย่างน้อยประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงโดยควรรับประทานยาโคลโดรเนตก่อน
- ขนาดยาโคลโดรเนตในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ไม่มีรายงานความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในผู้ ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ขนาดยาโคลโดรเนตในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง: ขนาดยาขึ้นกับอาการทางคลินิกและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ขนาดยาโคลโดรเนตในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาภาวะที่มีการสลายตัวของกระดูกที่มีสา เหตุมาจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก: ขนาดยาขึ้นกับอาการทางคลินิกและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง: แพทย์จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่องเนื่องจากยาถูกกำจัดออกทางไตเป็นส่วนใหญ่ และแพทย์จะใช้ยานี้อย่างระมัดระวังเช่น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันในขนาดยาเกินกว่าวันละ 1,600 มิลลิกรัมต่อวัน
- ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่อง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาโคลโดรเนตผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลโดรเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรเนื่องจากยังไม่มีราย งานการใช้ยาโคลโดรเนตในหญิงตั้งครรภ์จึงแนะนำหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ นอกจากแพทย์ประเมินแล้วพบว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรเพราะยังไม่ทราบข้อมูลการขับออกทางน้ำนมของยานี้แน่ชัดและยานี้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงการใช้ยานี้อยู่
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโคลโดรเนตมีวิธีรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวันกรณีขนาดยาต่อวันไม่เกิน 1,600 มิลลิกรัม
- อาจแบ่งยาโคลโดรเนตรับประทานเป็น 2 ครั้ง หากขนาดยาเกินกว่า 1,600 มิลลิกรัมทั้งนี้ตามแพทย์สั่ง
- โดยควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง คือ ก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง
- กรณีลืมรับประทานโคลโดรเนต ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับ ประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไปรอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องรับประทานในช่วงท้องว่าง แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 7.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง ไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
- *ผู้ป่วยที่มีการแบ่งยาโคลโดรเนตเพื่อรับประทาน 2 ครั้ง ให้รับประทานยาครั้งที่ 2 ตามเวลาปกติ
ยาโคลโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาโคลโดรเนต
ก. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเดิน/ท้องเสีย รวมถึงอาการคลื่นไส้ ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรงและเกิดได้บ่อยเมื่อใช้ยานี้ในขนาดสูง
ข. ผลข้างเคียงอื่นๆ: เช่น
- ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำโดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง
- ระดับฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone) ในเลือดสูงร่วมกับระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง
- ระดับเอนไซม์ทรานอะมิเนส(Tramsaminase)ของตับสูงเกินกว่า 2 เท่าของปกติโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพของตับ
ค. ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงเป็นเหตุให้ตายได้: เช่น
- อาการแพ้ยาอย่างรุนแรงเฉียบพลันที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylactic shock/Anaphylaxis)โดยจะมีผื่นคันเกิดขึ้นตามร่างกาย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ใบหน้าบวม ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลโดรเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลโดรเนต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวายซึ่งแพทย์จะปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
- มีรายงานพบการตายของเนื้อเยื่อกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw) ได้จากการใช้ยานี้ซึ่ง
- โดยทั่วไปมักเกิดจากการถอนฟันและ/หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่เหงือก และฟัน
- รวมถึงภาวการณ์อักเสบของกระดูก/ กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- ในผู้ป่วยกลุ่มนี้หลายรายได้รับยาเคมีบำบัดและการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ร่วมด้วย
- *ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับ ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปาก, ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์, ปัญหาสุขอนามัยในช่องปาก, แพทย์จะพิจารณาทำทันตกรรมเพื่อป้องกัน (Preventive dentistry) ก่อนให้การรักษาด้วยยากลุ่มบิสฟอสฟาเนต และแพทย์จะหลีกเลี่ยงวิธีการทางทันตกรรมที่รุนแรง (Invasive procedure)ขณะได้รับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ดังนั้นจึงอาจมีการปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลโดรเนตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโคลโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโคลโดรเนต ร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate)อื่นๆ เช่น อะเลนโดรเนต (Alendronate), ริสซิโดรเนต (Risedronate), ปาล์มมิโดรเนต (Pamidronate), โซลีโดรนิก แอซิด (Zoledronic acid) เนื่องจากจะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยาในกลุ่มเดียวกันได้
- มีรายงานว่าอาจเกิดการทำงานของไตผิดปกติได้กรณีการใช้ยาโคลโดรเนตร่วมกับยากลุ่มต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเรียกว่ายากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) เนื่องจากยาทั้งสองชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายทางไตและมีผลพิษต่อไต
- ระมัดระวังการใช้ยาโคลโดรเนตร่วมกับการใช้ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่นยา เจนต้ามัยซิน (Gentamicin), อะมิไกซิน (Amikacin) เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำและมีผลพิษต่อไต
- ไม่ควรรับประทานยาโคลโดรเนตร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) ที่มีส่วนประกอบของ อลูมิเนียม แมกนีเซียม และแคลเซียม เพราะยาโคลโดรเนตสามารถจับกับแร่ธาตุต่างๆดังกล่าวที่เป็นส่วนประกอบในยาลดกรดซึ่งส่งผลทำให้การดูดซึมยาโคลโดรเนตเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานรับประทานยาโคลโดรเนตก่อนยาลดกรดชนิดน้ำห่างจากยาโคลโดรเนตอย่าง น้อยประมาณ 2 - 4 ชั่วโมง
ควรเก็บรักษายาโคลโดรเนตอย่างไร?
แนะนำเก็บยาโคลโดเนต:
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้อง น้ำหรือห้องครัว
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโคลโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลโดเนต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bonefos 400 mg capsule | Bayer |
Bonefos 800 mg tablets | Bayer |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Product Information, Clodronate, Bonefos: Bayer, Thailand.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013