โคบาลามิน/วิตามิน บี12 (Cobalamin/Vitamin B12)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โคบาลามินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โคบาลามินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคบาลามินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคบาลามินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โคบาลามินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคบาลามินอย่างไร?
- โคบาลามินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคบาลามินอย่างไร?
- โคบาลามินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- วิตามินบี (Vitamin B)
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- ภาวะขาดวิตามินบี-12 (Vitamin B-12 deficiency)
บทนำ: คือยาอะไร?
โคบาลามิน/วิตามินบี 12 (Cobalamin/VitaminB-12) คือ ยาใช้รักษาภาวะขาดวิตามินบี 12, ซึ่งโคบาลามินสามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 ชนิดย่อย คือ Cyanocobalamin, Hydroxocobalamin, Adenosyl cobalamin และ Methylcobalamin โดยทั้ง 4 ชนิดมีคุณสมบัติการเป็นวิตามินที่เหมือนกัน ต่างกันที่โครงสร้างเคมีที่ต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น
ทั่วไปวิตามินบีทุกชนิดรวมถึงวิตามิน บี 12 มีหน้าที่โดยรวมคือ ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยน แปลงสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้วิตามินบีรวมถึง บี 12 ยังทำให้ร่างกายใช้สารอาหารประเภทไขมันและโปรตีนให้เกิดประโยชน์อีกด้วย วิตามินบีรวมถึง บี 12 เป็นสารอาหารที่ละลายน้ำได้ดี จึงเป็น เหตุผลที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถสะสมวิตามินบีรวมถึง บี 12 ได้มากเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักๆของยาโคบาลามิน/วิตามิน บี 12 เช่น
- ช่วยให้เซลล์ระบบประสาทแข็งแรงและทำงานได้เป็นปกติ
- ช่วยในการสังเคราะห์และพัฒนาสารพันธุกรรมของมนุษย์ที่เรียกว่า DNA และ RNA
- ช่วยทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นไปอย่างปกติและสนับสนุนการใช้ธาตุเหล็กของร่างกายได้อย่างเต็มที่
- โคบาลามินจะทำงานร่วมกับวิตามิน บี9 หรือกรดโฟลิก (Folic acid) ในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย รวมถึงช่วยปรับสภาพของอารมณ์อีกด้วย
- โคบาลามิน, กรดโฟลิก, และวิตามินบี 6/ไพริดอกซีน ทั้ง 3 ตัวนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยควบคุมระดับกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า Homocysteine (สารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานต่างๆของเซลล์) ที่ในทางคลินิกมีเหตุผลสนับสนุนว่า ระดับ Homocysteine ที่สูงมากเกินไปสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจได้
สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับสารโคบาลามินน้อยเกินไปจะแสดงออกโดยมีอาการอ่อน เพลีย หายใจลำบาก ท้องเสีย กระสับกระส่าย มีอาการชา เจ็บเหมือนมีหนามแทงที่ปลายนิ้ว หากร่างกายขาดโคบาลามินขั้นรุนแรงจะเป็นเหตุให้เส้นประสาทเสียหายมากยิ่งขึ้น
อาจจัดกลุ่มประชาชนและผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงต่อการขาดโคบาลามิน/ ภาวะขาดวิตามินบี 12 เช่น
- กลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ได้รับประทานนมหรือไข่ ด้วยสารอาหารประเภทวิตามิน บี 12 จะพบได้เฉพาะในสัตว์เท่านั้น
- ผู้บริโภคที่ป่วยด้วยภาวะการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ผู้ป่วยด้วยโรคตับอ่อน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาบางชนิดที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับโคบาลามิน เช่น ยา Chloramphenical
- ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ Helicobactor pylori/โรคติดเชื้อเอชไพโลไรในช่องทางเดินอาหารที่ทำให้ผนังเซลล์ของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมโคบาลามินได้เต็มที่
- ผู้ป่วยกลุ่มเอชไอวี ผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน ล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ทำให้ขาดวิตามินบี 12
- ผู้สูงอายุด้วยมีสภาพร่างกายที่ถดถอยและเสื่อมไปตามอายุ การดูดซึมสารอาหารต่างๆจึงลดลง
ในทางคลินิก ได้นำยาโคบาลามินมาใช้ทางการแพทย์ เช่น
- รักษาอาการโรคซีดจากภาวะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลีย ผิวซีด ท้องเสีย น้ำหนักลด เป็นไข้ ชาหรือไม่ก็เจ็บเหมือนโดนเข็มทิ่มที่มือหรือเท้า มีความจำถดถอย และหงุดหงิด แพทย์จะรักษาอาการเหล่านี้โดยให้วิตามินบี 12 ในปริมาณสูงทั้งประเภทยารับประทานและยาฉีด
- ป้องกันอาการโรคของหลอดเลือดแดงซึ่งมีสาเหตุจากสาร Homocysteine ในร่างกายมี ระดับสูงจนส่งผลให้เกิดโรคหัวใจติดตามมา
- บำบัดรักษาอาการโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
- รักษาอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- ช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิในบุรุษเพศ
- นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเชิงทางคลินิกเพื่อที่จะนำยาโคบาลามินมาลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย
อนึ่ง: มีแหล่งอาหารที่สามารถพบวิตามินบี 12 ได้อย่างมากมาย เช่น เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อวัว หอย ไข่ นม เครื่องในสัตว์เช่น ตับ ไต เป็นต้น
ความต้องการวิตามิน บี 12 จะขึ้นกับช่วงอายุของแต่ละบุคคล รวมถึงเพศ สถานะทางสุขภาพ เช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆที่ร่างกายจะต้องการวิตามินบี 12 เพิ่มสูงขึ้น
การใช้ยาโคบาลามิน/บี 12 ถือเป็นเรื่องปลายทาง ที่จริงเราควรใช้การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ห้าหมู่เพื่อให้ร่างกายได้วิตามินนี้อย่างพอเพียง แต่หากจำเป็นผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติและใช้ยานี้/ยาวิตามินบี 12 ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
โคบาลามินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโคบาลามินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการโลหิตจาง/ โรคซีด อันเนื่องมาจากภาวะขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia)
- บำบัดภาวะขาดวิตามินบี 12 (B12 Nutritional Deficiency)
โคบาลามินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
โคบาลามินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการชีวะสังเคราะห์ และระบบเผาผลาญสารอาหารต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดการสังเคราะห์ DNA และ RNA ช่วยให้เซลล์ระบบประสาทพัฒนาและเจริญแข็งแรง นอกจากนี้โคบาลามินยังทำให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดแดงและทำให้ระบบการทำงานของหลอดเลือดเป็นไปอย่างปกติ ด้วยหน้าที่และกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยาโคบาลามินมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
โคบาลามินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคบาลามินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 500 และ 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 ไมโครกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับวิตามิน บี 1 และ บี 6
โคบาลามินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโคบาลามินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
- สำหรับโรคซีดจากภาวะขาดวิตามินบี 12: เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1,000 ไมโครกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน เมื่ออาการดีขึ้น ให้ฉีดยา 1,000 ไมโครกรัมวันเว้นวันเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นให้เว้นระยะเวลาการให้ยาเป็นทุกๆ 3 - 4 วันเป็นเวลาอีก 2 - 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากมักจะได้รับยานี้ต่ออีกเดือนละครั้งขนาด 100 - 1,000 ไมโครกรัม
- เด็กแรกเกิด/เด็กอ่อน(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 0.2 ไมโครกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นฉีดยาขนาด 1,000 ไมโครกรัมเป็นเวลา 2 - 7 วัน ขนาดยาที่คงระดับการรักษาให้ฉีด 100 ไมโครกรัม/เดือน
- เด็กเล็กจนถึงเด็กโต: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 30 - 50 ไมโคร กรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ขนาดยาที่คงระดับการรักษาให้ฉีดยา 100 ไม โครกรัม/เดือน
ข. สำหรับรักษาภาวะขาดวิตามินบี 12: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานขนาด 25 - 250 ไมโครกรัมวันละครั้งโดยควรรับประทานหลังอาหาร
- เด็ก: ใช้เป็นยาฉีดโดยฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.2 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นให้ฉีดยาขนาด 1,000 ไมโครกรัม/วันเป็นเวลา 2 - 7 วัน แล้วฉีดยาขนาด 100 ไมโครกรัม/สัปดาห์เป็นเวลา 1 เดือน และแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยานี้ต่อไปอีก โดยพิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ:
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโคบาลามิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโคบาลามินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอา หารเสริมอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคบาลามินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโคบาลามินตรงเวลา
โคบาลามินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคบาลามินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดท้อง
- มีเลือดออกจากเหงือกหรือจากจมูก
- ปากและเล็บมือมีสีคล้ำ
- เจ็บหน้าอก /แน่นหน้าอก
- ไอ
- ปัสสาวะน้อยลง
- หายใจเร็ว
- แน่น/อึดอัด
- หลอดเลือดในบริเวณลำคอขยายตัวทำให้มองเห็นได้ชัด
- วิงเวียน
- อ่อนเพลีย
- ปวดตา
- ปวดหัว
- มีผื่นคัน
- เหงื่อออกมาก
- มีการหายใจและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผิวซีด
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
มีข้อควรระวังการใช้โคบาลามินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โคบาลามิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์เสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคบาลามินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โคบาลามินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคบาลามิน/บี 12 มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้วิตามินบี 12 ในรูป Cyanocobalamine ร่วมกับ Arsenic trioxide (ยารักษามะเร็ง) จะเป็นเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
การใช้ยาบี 12/Cyanocobalamine ร่วมกับยา Chloramphenical อาจทำให้ประสิทธิภาพของ Cyanocobalamine ในการรักษาภาวะโลหิตจางด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโคบาลามินอย่างไร
ควรเก็บยาโคบาลามิน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โคบาลามินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคบาลามิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ampavit (แอมพาวิต) | ANB |
B Twelve P (บี ทเวลฟ์ พี) | PP Lab |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ampavit/ [2022,Aug27]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/B%20Twelve%20P/ [2022,Aug27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/arsenic-trioxide-with-cyanocobalamin-236-0-754-0.html [2022,Aug27]
- https://www.sharecare.com/health/vitamin-b12/how-cyanocobalamin-vitamin-b12-stored [2022,Aug27]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyanocobalamin?mtype=generic [2022,Aug27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_B12 [2022,Aug27]