แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์ (Catechol-O-methyl transferase (COMT) inhibitors)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส-ซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ (Catechol-O-methyl transferase inhibitors, ย่อว่า COMT inhibitor) คือ ยารักษาโรคพาร์กินสันที่อยู่ในกลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อ ‘แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส’, มีรูปแบบเป็นยารับประทาน ทั้งที่เป็นยาเดี่ยว และยาที่ผสมร่วมกับยาอื่น   

เอนไซม์แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรสดังกล่าว จะทำหน้าที่ย่อยสลาย หรือทำลายสารสื่อประสาทต่างๆของร่างกาย เช่น  โดพามีน (Dopamine),  อิพิเนฟริน (Epinephrine),  และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine),  ซึ่งหากสารสื่อประสาทดังกล่าวถูกทำลายมากเกินไป  จะทำให้เสียสมดุลในการทำงานของสารสื่อประสาทเหล่านี้, ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย,  การทรงตัว,  การเต้นของหัวใจ,  การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งคืออาการโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)   

ทางคลินิก อาจจำแนกยาในกลุ่มซีโอเอ็มที (COMT) อินฮิบิเตอร์ได้หลายชนิด: เช่น

ก. Entacapone: เป็นยาที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคพาร์กินสัน อาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นด้วย เช่นยา  Levodopa  และ Carbidopa  ที่จะส่งผลให้การทำลายสารสื่อประสาทน้อยลง และเป็นการเพิ่มสารสื่อประสาทอย่าง Levodopa ในสมองและในร่างกายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Entacapone นี้กับ สตรีตั้งครรภ์  สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก), ผลข้างเคียงของยานี้เท่าที่พบเห็น เช่น   ปวดท้อง  คลื่นไส้  อาเจียน  อ่อนเพลีย  ปากคอแห้ง  ปวดหลัง    

ข. Tolcapone: เป็นยาออกฤทธิ์บำบัดโรคพาร์กินสันอีกหนึ่งตัว ซึ่งมีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่คอยทำลายสารสื่อประสาทของร่างกาย,ยา Tolcapone จะแสดงฤทธิ์ที่สมองได้มากกว่ายา Entacapone  และยา Nitecapone,   รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน, ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลโดยตับ,  แต่ภายหลังการจัดจำหน่าย พบว่า ยานี้อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ จึงเป็นเหตุให้ยา Tolcapone ถูกระงับการใช้ในบางประเทศของทวีปยุโรป รวมถึงออสเตรเลียเป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี, ยานี้จึงได้รับอนุญาตให้นำกลับมาใช้ใหม่ภายในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)

 ค. Nitecapone: เป็นยาใช้บำบัดอาการโรคพาร์กินสันซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับ   ยา  Entacapone  และ Tolcapone,  แต่มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ยานี้ ไม่มีการจัดจำหน่ายในท้องตลาด

สำหรับประเทศไทย  จัดยากลุ่ม แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส-ซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์  อยู่ในหมวดยาอันตราย,   ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยากลุ่มนี้ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส

 

ยา แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส-ซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ (ซีโอเอ็มทีอินฮิบิเตอร์) มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • บำบัดรักษาอาการโรคพาร์กินสัน

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Catechol-O-methyl transferase (COMT) ที่คอยทำลายสารสื่อประสาทในสมองและตามเซลล์ประสาทส่วนปลาย  เช่น  Dopamine  และ Levodopa ที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ส่งผลให้สารสื่อประสาทดังกล่าวมีปริมาณมากขึ้นและเกิดสมดุลใหม่ จึงเป็นเหตุให้บำบัดอาการโรคพาร์กินสันได้ตามสรรพคุณ

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส-อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น   

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานในรูปแบบยาเดี่ยว
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยา Levodopa และ Carbidopa

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์กับผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับ อาการ, ความรุนแรงของโรค,  รวมถึงอายุของผู้ป่วย, ขนาดรับประทานจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) - อินฮิบิเตอร์  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น                   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป  ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์ ตรงเวลา

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน นอนไม่หลับ ปวดหัว สับสน ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ปากคอแห้ง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก ส่งผลให้มีฮีโมโกลบินในเลือดต่ำ
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น  ทำให้ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้ ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ระวังการเกิด ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะประสาทหลอน  การเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก  และ/หรือ  ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้  "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยา Entacapone หรือ Tolcapone ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นตามมา เช่น  วิงเวียน  ง่วงนอน  รู้สึกสับสน  ขาดสมาธิ  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยากลุ่มซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ ร่วมกับยา Methylene blue ด้วยจะเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะที่เรียกว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน ติดตามมา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มซีโอเอ็มที-อินฮิบิเตอร์ ร่วมกับ ยาวิตามินรวม ที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ  ด้วยจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง

ควรเก็บรักษาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที)-อินฮิบิเตอร์   มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Comtan (คอมแทน) Novartis
Stalevo (สตาลีโว) Novartis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Catechol-O-methyltransferase_inhibitor   [2022,Nov12]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Entacapone  [2022,Nov12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Tolcapone  [2022,Nov12]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitecapone  [2022,Nov12]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/tolcapone?mtype=generic  [2022,Nov12]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Comtan/?type=full#Indications  [2022,Nov12]