เอฟีดรีน (Ephedrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เอฟีดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เอฟีดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เอฟีดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เอฟีดรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เอฟีดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เอฟีดรีนอย่างไร?
- เอฟีดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเอฟีดรีนอย่างไร?
- เอฟีดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)
- โรคหืด (Asthma)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาหยอดจมูก (Nasal Drops)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
เอฟีดรีน (Ephedrine) ตามบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยจัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 นำมาใช้ในสถานพยาบาลด้วยวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ
- เพื่อรักษาความดันโลหิตต่ำ โดยใช้เป็นลักษณะของยาฉีดและยารับประทาน
- ลดอาการคั่งของน้ำมูก โดยใช้ในลักษณะยาหยอดจมูก
ยาเอฟีดรีน ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) โดยนักเคมีชาวญี่ปุ่น โดยยานี้มีคุณสมบัติเป็นสารประเภท Sympathomimetic amine จึงสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นให้สาร Noradrenaline หลั่งออกมามากและมีการทำงานดียิ่งขึ้นโดยมีการออกฤทธิ์ในบริเวณปลายประสาท ยาเอฟีดรีนยังถูกนำไปใช้รักษา อาการโรคหืด, ช่วยขยายหลอดลม, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สามารถใช้เป็นยาลดน้ำหนักได้อีกด้วย, โดยแพทย์จะให้รับประทานเพียงระยะสั้นๆ บางประเทศนำยานี้ไปผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยมีวัตถุประสงค์ทำให้ผู้รับประทานมีหุ่นและรูปทรงดีขึ้น
ด้วยยานี้ เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง หากใช้ผิดวิธีก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียกับตัวผู้ป่วยได้ เช่น มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก กระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ รวมถึงขยายรูม่านตา เหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น เราจึงมักพบเห็นการใช้ยาแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องมีคำสั่งจากแพทย์มาประกอบกับการจ่ายยาให้ผู้ป่วยอีกด้วย
เอฟีดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเอฟีดรีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาความดันโลหิตต่ำ
- ใช้บำบัดรักษาอาการโรคหืดชนิดเฉียบพลัน
- ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- รักษาอาการ Adams-stokes syndrome (ภาวะเป็นลมจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ)
เอฟีดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาเอฟีดรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ, ประกอบกับทำให้หลอดเลือดหดตัว, มีผลต่อทางเดินหายใจโดยทำให้หลอดลมขยายตัว, มีผลต่อทางเดินอาหารโดยจะลดการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของลำไส้เล็ก, กระเพาะอาหารคลายตัวในขณะที่หูรูดของกระเพาะอาหารหดตัว, นอกจากนี้ยังทำให้รูม่านตาเปิดกว้าง จะเห็นได้ว่ายานี้สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของร่างกายได้มากมาย และเป็นเหตุให้เกิดสรรพคุณการรักษาดังกล่าว
เอฟีดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอฟีดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ยาน้ำ, ที่เป็นชนิดรับประทานโดยมีตัวยาอื่นผสมร่วมด้วย เช่น Phenobarbitone/Phenobarbital, Theophylline, Ammoium chloride (ยาขับเสมหะ)
- ยาฉีด ขนาด 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15 และ 48 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาหยอดจมูก ขนาดความเข้มข้น 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เอฟีดรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ยาเอฟีดรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทานที่ 25 - 50 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
*กรณียาฉีด: ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดใต้ผิวหนัง: ขนาด 25 - 50 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 2 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่ง รับประทานเป็น 4 - 6 ครั้ง/วัน
*กรณียาฉีด: ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/ใต้ผิวหนัง 2 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดเป็น 4 - 6 ครั้ง/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลขนาดยาในเด็กช่วงอายุนี้ ดังนั้นการใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง สำหรับยานี้ชนิดรับประทานสามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอฟีดรีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเอฟีดรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เอฟีดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเอฟีดรีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิตกกังวล
- หัวใจเต้นเร็ว
- ตัวสั่น
- ปากคอแห้ง
- ความดันโลหิตสูง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หงุดหงิด
- นอนไม่หลับ
- กรณีที่เป็นยาหยอดจมูก อาจก่อให้เกิด
- อาการระคายเคืองบริเวณที่หยอดยา
- หากใช้ไปนานๆสามารถทำให้เกิดอาการคัดจมูกกลับคืนมา (Rebound nasal congestion), เยื่อจมูกอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้เอฟีดรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอฟีดรีน ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
- ห้ามใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต, ผู้ป่วยโรคต้อหิน (Angle-closure glaucoma)
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอฟีดรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เอฟีดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอฟีดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา Theophyl line ได้มากขึ้น การจะใช้ยาร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Bethanidine และ Guanethidine อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันฯด้อยประสิทธิภาพลงไปจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เกิดภาวะชักกับผู้ป่วยโดยเฉพาะการใช้ยาในขนาดสูงหรือใช้ยากับผู้สูงอายุ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอฟีดรีน ร่วมกับ ยาต้านเศร้า เช่นยา Imipramine ด้วยจะก่อให้เกิดความผิดปกติของความดันโลหิต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์ผู้รักษาจะปรับขนาดการใช้เป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเอฟีดรีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเอฟีดรีน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เอฟีดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอฟีดรีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alergin (อะเลอจิน) | Cipla Limited |
Asthimo (แอสทิโม) | Jagsonpal Pharmaceuticals Ltd |
Binkof (บินคอฟ) | Bini Laboratories Pvt. Ltd |
Ephedrine Nasal Drops (เอฟีดรีน นาซอลดร็อป) | Thornton and Ross Ltd. |
Efipres (อีฟิเพรส) | Neon Laboratories Ltd |
Ephedrine (อีฟีดรีน) | Unicure(India) Pvt.Ltd. |
Ephedrine Hydrochloride (อีฟีดรีน ไฮโดรคลอไรด์) | Cyper Pharma |
Sulfidrin (ซัลไฟดริน) | Samarth Pharma Pvt.Ltd. |
Tedral SA (เทดรัล เอสเอ) | Pfizer Limited |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Ephedrine [2021,Dec25]
2 https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ephedrine%20GPO/ [2021,Dec25]
3 https://www.mims.com/thailand/drug/info/ephedrine?mtype=generic [2021,Dec25]
4 https://www.drugs.com/ephedrine.html [2021,Dec25]
5 https://www.drugs.com/cdi/ephedrine-injection.html [2021,Dec25]
6 https://www.medindia.net/drug-price/ephedrine-combination.htm [2021,Dec25]
7 https://www.medindia.net/drug-price/ephedrine.htm [2021,Dec25]
8 https://patient.info/medicine/ephedrine-for-nasal-congestion [2021,Dec25]
9 https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.4865.pdf [2021,Dec25]