เมทีนามีน (Methenamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เมทีนามีน (Methenamine) คือ ยารักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะด้วยการปลดปล่อยสารที่มีโครงสร้างคล้ายสารประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะได้, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน 

ยาเมทีนามีน ถูกสังเคราะห์ได้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1859 (พ.ศ.2402) โดย Aleksandr Butlerov นักเคมีชาวรัสเซีย แต่ใช้เวลาอีก 40 ปีต่อมา  ถึงได้ถูกนำมาใช้เป็นยาดังกล่าว, ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของยานี้ คือ ‘เฮกซะเมทิลลีนเตตรามีน (Hexamethylenetetramine)’

ยาเมทีนามีน แบ่งย่อยตามโครงสร้างเคมีได้อีก 2 แบบ คือ  Methenamine hippurate, กับ Methenamine mandelate,  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้หลักๆ เป็นการรักษาการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ/กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, รวมถึงใช้เป็นยาป้องกัน หรือรักษาภาวะกรวยไตอักเสบซึ่งเป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยังครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอีกด้วย 

กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสุขภาพหรือโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูงหากต้องใช้ยาเมทีนามีน เช่น

  • ไม่ใช้ยาเมทีนามีนกับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ที่มีปัญหาด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • ไม่ใช้ยานี้ ร่วมกับยากลุ่ม Sulfonamide ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเมทีนามีนลดน้อยลงไป
  • กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ ไม่ว่าการใช้ยาใดๆก็ตามรวมถึงยาเมทีนามีน ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสีย,  มีการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร/กระเพาะอาหารอักเสบ, ผู้ป่วยโรคเกาต์,  หรือผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำระดับรุนแรงด้วยยาเมทีนามีนจะถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้มากยิ่งขึ้น

การใช้ยาเมทีนามีน อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร-ลำไส้  แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยานี้พร้อมอาหาร, ยาเมทีนามีนเป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดจึงไม่สมควรใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นเบส (Base) /หรือด่าง ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ของการรักษาของเมทีนามีนลดลง

การรับประทานยาเมทีนามีนควร ตรงเวลา  ตรงขนาดที่แพทย์สั่งจ่ายจึงจะก่อให้เกิด ประสิทธิภาพในการรักษา

*อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) โดยทั่วไปที่ผู้ป่วยอาจได้รับจากยาเมทีนามีน เช่น  คลื่นไส้ และรู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร, *หากระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงในระดับรุนแรงหรือแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/แน่นในหน้าอก  บวมตามริมฝีปาก–ใบหน้า และลิ้น  รวมถึงการมีเลือดปนมากับปัสสาวะ  กรณีดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้อย่างมากมาย  *แนะนำให้หยุดใช้ยานี้ทันที และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

เมทีนามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาเมทีนามีน สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้  เช่น

  • ป้องกันและบำบัดรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาภาวะกรวยไตอักเสบ
  • บำบัดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

เมทีนามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมทีนามีน คือ เมื่อตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะทำปฏิกิริยากับน้ำซึ่งได้สารประเภทฟอร์มัลดีไฮด์ถูกปลดปล่อยออกมา, และยังทำให้ปัสสาวะมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น, ด้วยสภาวะดังกล่าว ก่อให้มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย, ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

เมทีนามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทีนามีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • Methenamine mandelate: ขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด                             
  • Methenamine hippurate: ขนาด 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทีนามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทีนามีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา Methenamine hippurate ขนาด 1,000 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง, เช้า และก่อนนอน, หรือรับประทานยา Methenamine mandelate ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม, วันละ 4 ครั้ง, เช้า – กลางวัน – เย็น – ก่อนนอน
  • เด็กอายุ 6–12 ปี: รับประทานยา Methenamine hippurate ขนาด 500 – 1,000 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน, หรือ รับประทานยา Methenamine mandelate ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง, เช้า – กลางวัน – เย็น – ก่อนนอน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยา Methenamine hippurate ขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, เช้าและก่อนนอน, หรือ รับประทานยา Methenamine mandelate ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม, วันละ 4 ครั้ง, เช้า – กลางวัน – เย็น – ก่อนนอน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร

****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทีนามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย                                                                                                                                   
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทีนามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                              
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทีนามีน  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า 

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเมทีนามีน ตรงเวลา

เมทีนามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทีนามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร  และสามารถพบอาการดังต่อไปนี้  แต่ไม่บ่อยมากนัก เช่น  คลื่นไส้อาเจียน  กระเพาะอาหารอักเสบ  ท้องเสีย  เกิดตะคริวที่ท้อง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย การตรวจปัสสาวะจะพบมีโปรตีนในปัสสาวะ

มีข้อควรระวังการใช้เมทีนามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทีนามีน: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ยานี้สามารถขับออกมากับน้ำนมมารดา และยังไม่มีการศึกษาการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์  จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้หากไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • *กรณีมีอาการข้างเคียงรุนแรง หรือเกิดอาการแพ้ยาหลังรับประทานยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามรับประทานยานี้ ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง, หรือยาที่ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง เช่น ยา Potassium citrate ด้วยจะส่งผลลดประสิทธิภาพการรักษาของยาเมทีนามีน
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทีนามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทีนามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทีนามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามรับประทานยาเมทีนามีน ร่วมกับยาในกลุ่ม Sulfa/Sulfonamide เช่น Sulfisoxazole,  Sulfamethoxazole,  Sulfadoxine,  Sulfamethiazole, ด้วยจะทำให้ยาเมทีนามีนตกตะกอนเกิดเป็นผลึกในปัสสาวะได้
  • การใช้ยาเมทีนามีน ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเมทีนามีนลดน้อยลง  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การรับประทานยาเมทีนามีน ร่วมกับยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Aluminium hydroxide หรือ Magnesium carbonate  สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาเมทีนามีน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเมทีนามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทีนามีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือเก็บในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์  
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมทีนามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทีนามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hiprex (ฮิปเปร็กซ์) Aventis Pharmaceuticals
Urex (ยูเร็กซ์) Vatring Pharmaceuticals
Mandelamine (แมนเดลามีน) Warner Chilcott Laboratories

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hexamethylenetetramine  [2022,Sept24]
  2. https://www.drugs.com/pro/methenamine.html  [2022,Sept24]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/methenamine?mtype=generic  [2022,Sept24 ]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/methenamine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Sept24]
  5. https://www.drugs.com/pro/methenamine.html  [2022,Sept24]