เบนซ์โทรปีน (Benztropine) หรือ เบนซาโทรปีน (Benzatropine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เบนซ์โทรปีน (Benztropine  หรือ เบนซาโทรปีน  Benzatropine)  คือ ยารักษาโรคพาร์กินสัน, มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันทั้งยารับประทานและยาฉีด,และสามารถใช้ร่วมกับยาอื่นที่รักษาโรคนี้ได้, โดยเป็นยาออกฤทธิ์ทั้งในด้านแอนไทโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic อีกชื่อคือ Antimuscarinic) และแอนไทฮิสตามีน/ยาแก้แพ้(Antihistamine), ตัวยาในสูตรตำรับ คือ เบนซ์โทรปีน มีไซเลท (Benztropine mesylate)    

ธรรมชาติของยาเบนซ์โทรปีนสามารถซึมผ่านหลอดเลือดและออกฤทธิ์ที่สมองของผู้ป่วยโดยปิดกั้นสารสื่อประสาทบางตัว และก่อให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้ลดอาการสั่นและลดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ

เมื่อตัวยาเบนซ์โทรปีนเข้าสู่กระแสเลือด จะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 95%, กรณีของยารับประทาน ตัวยาจะออกฤทธิ์ภายในประมาณ 1 ชั่วโมงหลังรับประทาน,หรือประมาณ 15 นาทีกรณีที่เป็นยาฉีด, โดยที่ฤทธิ์ของการรักษาอาจอยู่ได้นานประมาณ 6 - 48 ชั่วโมง ขึ้นกับร่างกายของผู้ป่วยที่แต่ละคนมีความสามารถกำจัดยาออกจากร่างกายได้ไม่เท่ากัน

ข้อห้ามและข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ยาเบนซ์โทรปีน เช่น

  • ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาเบนซ์โทรปีนหรือไม่
  • เป็นผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน, มีภาวะเลือดออกง่าย, มีการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ,  เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง,  มีทางเดินลำไส้อุดตัน, มีทางเดินปัสสาวะอุดตัน, มีลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเป็นแผลหรือไม่, โรคต่างๆเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มห้ามใช้ยาเบนซ์โทรปีน
  • ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ผู้ป่วยโรคจิต, ผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia),   ผู้ที่ติดสุรา, เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากจำเป็นต้องใช้ยาเบนซ์โทรปีน
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภท รวมถึงยาเบนซ์โทรปีน
  • การใช้ยาบางก็กลุ่ม สามารถรบกวนการออกฤทธิ์ของยาเบนซ์โทรปีนได้ เช่นยา Phenothiazine,  ยารักษาโรคซึมเศร้าTCAs, กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยาเหล่านี้อยู่ ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้ง
  • การใช้ยานี้อาจทำให้เกิด ภาวะตาพร่า วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หากเกิดอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ยาเบนซ์โทรปีนใช้ควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน  ไม่ได้เป็นยารักษาให้อาการป่วยหายขาด การใช้ยานี้เป็นเวลานานเท่าใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

*สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเบนซ์โทรปีนเกินขนาด อาจสังเกตได้จาก  มีอาการวิงเวียน, การทรงตัวไม่เหมือนปกติ, ใบหน้าแดง, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีอาการรู้สึกร้อนวูบวาบ, ปวดหัว, หายใจลำบาก, และอาจหมดสติ, ซึ่งหากพบอาการต่างๆ เหล่านี้ ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือ ทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยาเบนซ์โทรปีน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน อบอ้าว ด้วยฤทธิ์การรักษาของยานี้สามารถทำให้ผู้ป่วยทนต่ออุณหภูมิสูงของอากาศได้ไม่เท่าเดิม จึงอาจเกิด โรคลมแดดได้ง่าย, อาการโรคลมแดดมักเกิดกับผู้ป่วยที่ชอบดื่มสุรา, ผู้ที่ใช้ยากลุ่มแอนไท โคลิเนอร์จิก, หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง,  ดังนั้นจึงถือเป็นข้อปฏิบัติที่แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ที่ได้รับยานี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาเบนซ์โทรปีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีเงื่อนไขการใช้เพื่อบำบัดภาวะเสื่อมของกล้ามเนื้อ/ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)

ทั้งนี้ เราจะพบเห็นการใช้ยาเบนซ์โทรปีนแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และผู้ป่วยจะต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

เบนซ์โทรปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เบนซ์โทรปีน

 

ยาเบนซ์โทรปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  เช่น   

  • บำบัดอาการโรคพาร์กินสัน
  • บำบัดกลุ่มอาการที่เกิดจากการใช้ยาจิตเวช ที่เรียกว่า  Extrapyramidal reaction (อาการทีร่างกายควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ได้ เช่น มือสั้น กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก)

เบนซ์โทรปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบนซ์โทรปีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองกลุ่มโคลิเนอร์จิก (Cholinergic, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ) และยับยั้งการดูดกลับเข้าเซลล์สมองของสารสื่อประสาทประเภทโดพามีน (Dopamine) จนเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทดังกล่าวในสมองเสียใหม่ จึงมีผลให้การทรงตัวของร่างกายกลับมาเหมือนปกติ, อีกทั้งยังนำกลไกนี้มาช่วยบำบัดอาการที่เรียกว่า Extrapyramidal symptoms/ reaction  ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากที่ผู้ป่วยได้รับยารักษาทางจิตเวชอีกด้วย

เบนซ์โทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนซ์โทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 2 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด

เบนซ์โทรปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบนซ์โทรปีนมีขนาดรับประทาน: เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการ Extrapyramidal reaction: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 1 - 2 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าหลอดเลือดดำ, จากนั้นให้ยารับประทานขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม วันละ 1 - 2 ครั้ง, ทั้งนี้การใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
  • เด็กอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป: ให้รับประทานหรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.02 -05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. สำหรับบำบัดอาการโรคพาร์กินสัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานหรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.5 - 2 มิลลิกรัม วันละครั้ง และทุกๆ 5 - 6 วัน, แพทย์สามารถเพิ่มขนาดการให้ยาอีก 0.5 มิลลิกรัม ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย, ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: พาร์กินสันเป็นโรคของผู้ใหญ่ จึงยังไม่มีการจัดทำขนาดยานี้ในเด็ก

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนซ์โทรปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนซ์โทรปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบนซ์โทรปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเบนซ์โทรปีนตรงเวลา

เบนซ์โทรปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบนซ์โทรปีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ปากคอแห้ง กลืนลำบาก เบื่ออาหาร ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ง่วงนอน ชาปลายนิ้ว อาจนอนละเมอ
  • ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น รู้สึกสับสน เกิดภาวะประสาทหลอน มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง อาการข้างเคียงนี้สามารถหายได้เมื่อหยุดใช้ยานี้ประมาน 2 - 3 วันขึ้นไป
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้าก็ได้
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ยานี้มีกลไกยับยั้งการหลั่งเหงื่อของร่างกาย จึงทำให้ร่างกายทนต่ออุณหภูมิสูงๆได้ไม่ดีเท่าเดิม

มีข้อควรระวังการใช้เบนซ์โทรปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซ์โทรปีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • *หากใช้ยานี้แล้วพบ อาการอ่อนแรง การทรงตัวทำได้ไม่ดี ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาล/ก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยา
  • *หลังได้รับยานี้ แล้วผู้ป่วยมีอาการอยากทำร้ายตัวเอง ญาติจะต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • รับประทานยานี้ ปฏิบัติตัว พักผ่อน ออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาล
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนซ์โทรปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบนซ์โทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบนซ์โทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนซ์โทรปีน ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทาน ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างมาก
  • การใช้ยาเบนซ์โทรปีน ร่วมกับยา Topiramate เพราะจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นด้วยมีการหลั่งเหงื่อน้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป, รวมถึงควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอหากต้องอยู่ในสภาพ แวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
  • ห้ามรับประทานยาเบนซ์โทรปีนพร้อมสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก
  • การใช้ยาเบนซ์โทรปีน ร่วมกับยา Amantadine อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ปากคอแห้ง  ท้องผูก  ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด  โรคลมแดด รู้สึกสับสน ตาพร่า ชัก ประสาทหลอน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเบนซ์โทรปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเบนซ์โทรปีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบนซ์โทรปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนซ์โทรปีน  มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cogentin (โคเจนติน) MSD

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/benztropine.html  [2022,Dec3]
  2. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national/drugs_current?p=%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99&name=%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99&g1=16&g2=9&g3=&g4=  [2022,Dec3]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cogentin/  [2022,Dec3]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/benzatropine?mtype=generic   [2022,Dec3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzatropine  [2022,Dec3]
  6. https://www.drugs.com/pro/benztropine.html  [2022,Dec3]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/benztropine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Dec3]