เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ :คือยาอะไร?

นักวิทยาศาสตร์เรียกยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)ที่มีส่วนประกอบทางเคมีของสารที่ใช้ฆ่าแบคทีเรียที่เรียกว่า เบต้า-แลคแทม (Beta –lactam) ว่า “ยาปฏิชีวนะ เบต้า- แลคแทม หรือยาเบต้า-แลค แทม หรือยาเบต้า-แลคแทม แอนไทไบโอติก (Beta-lactam antibiotic)” ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า “เบต้า-แลคแทม”

ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และจัดเป็นยาที่มีจำหน่ายในแทบทุกพื้น ที่ของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย อาจแบ่งกลุ่มยาเบต้า-แลคแทม แอนไท ไบโอติคออกเป็นหมวดหมู่ย่อยได้อีกดังนี้

  1. Penams: เป็นกลุ่มของยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Penicillin ที่มีการออกฤทธิ์แคบ (Narrow spectrum antibiotic รักษาได้เฉพาะโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางชนิด) ไปจนกระทั่งออกฤทธิ์กว้าง (Broad spectrum antibiotic รักษาได้ครอบคลุมโรคที่เกิดจากแบคทีเรียหลากหลายชนิด) ประกอบด้วยตัวยา ดังนี้เช่น Benzathine penicillin, Benzyl penicillin, Phenoxymethyl penicillin,  Procaine penicillin, Cloxacillin, Dicloxacillin, Flucloxacillin, Methicillin, Nafcillin, Oxacillin, Temocillin, Amoxicillin, Ampicillin, Co-amoxiclav (Amoxicillin & clavulanic acid), Mecillinam, Carbenicillin, Ticarcillin, Azlocillin, Mezlocillin, และ Piperacillin
  2. Cephems: เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่มักจะรู้จักกันในชื่อ Cephalosporin, Cephamycin, และ Cephem โดยจะมีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ยากลุ่มนี้สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ในระดับกลางๆจนถึงระดับกว้าง ประกอบด้วยตัวยาดังนี้เช่น Cefazolin, Cephalexin, Cephalosporin C, Cephalothin, Cefaclor, Cefamandole, Cefuroxime, Cefotetan, Cefoxitin, Cefixime, Cefotaxime, Cefpodoxime, Ceftazidime, Ceftriaxone, Cefepime, Cefpirome, Ceftobiprole เป็นต้น
    3. Carbapenems และ Penems: จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในระดับกว้างที่สุด ประกอบด้วยตัวยาดังนี้เช่น Biapenem, Doripenem, Ertapenem, Faropenem, Imipenem, Meropenem, Panipenem, Razupenem, Tebipenem, Thienamycin 
  3. Monobactams: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบหรือที่เรียกว่า Aerobic gram negative bacteria ประกอบด้วยตัวยาดังนี้เช่น Aztreonam, Tigemonam, Nocardicin A, Tabtoxinine β-lactam 
  4. Beta-Lactamase inhibitors จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ขยายผลในการต่อต้านแบคทีเรีย กล่าวคือ ยา กลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า เบต้า-แลคแทมเมส (Beta lactamase) ซึ่งเป็นเอน ไซม์ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ ตัวยาในหมวดนี้ประกอบด้วย Clavulanic acid, Tazobactam, และ Sulbactam

 

ยาเบต้า-แลคแทมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เบต้า-แลคแทม

ยาเบต้า-แลคแทมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • ใช้ป้องกันและบำบัดรักษาอาการป่วยเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกเป็นหลัก และปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงขั้นต่อต้านแบคทีเรียที่เป็นชนิดแกรมลบได้แล้ว

ยาเบต้า-แลคแทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มเบต้า-แลคแทมจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด จึงเป็นเหตุผลของฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาเบต้า-แลคแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 375, 625, 1000 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 250, 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำ ขนาด 125,25, 228.5, 312.5, 457 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่มีลักษณะเป็นผงแห้งขนาด 1,2 และ 5 ล้านยูนิต/ขวด(ใช้ละลายในน้ำกลั่นปริมาณตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา)
  • ยาฉีดที่มีลักษณะเป็นผงแห้งขนาด 1,2 กรัม/ขวด

ยาเบต้า-แลคแทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

 ด้วยในกลุ่มยาเบต้า-แลคแทมมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ป่วย (เช่น อาการ อายุ โรคประจำตัว ชนิดของเชื้อแบคทีเรีย) รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและให้มีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งที่สำคัญต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งจนครบถึงแม้อาการจะดีขึ้น (ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น) ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบต้า-แลคแทม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบต้า-แลคแทมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบต้า-แลคแทม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 

ยาเบต้า-แลคแทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มเบต้า-แลคแทม สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีอาการท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • ผื่นคัน
  • อาจทำให้เกิดโรคเชื้อรากลุ่มแคนดิดา(Candida/โรคแคนดิไดอะซิส)ในผู้ป่วยได้
  • อาจมี
    • ไข้
    • ลมพิษ
    • อาเจียน
    • ผื่นผิวหนังอักเสบ
    • ลำไส้ใหญ่อักเสบ  
    • ชัก
  • หากเป็นพวกยาฉีด อาจทำให้เกิด อาการปวด และอักเสบในบริเวณที่มีการฉีดยา

*นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยา โดยแพ้ข้ามกลุ่มยาได้ด้วย เช่น เคยแพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ก็อาจแพ้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ได้เช่นกัน ด้วยยากลุ่มเบต้า-แลคแทม มีโครงสร้างทางเคมีที่ใกล้เคียงกัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า-แลคแทมอย่างไร?

 มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า-แลคแทม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ก่อนการจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย ควรต้องสอบถามผู้ป่วยว่ามีประวัติการแพ้ยากลุ่มเบต้า-แลคแทมหรือไม่
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
  • การใช้ยากลุ่มนี้ไปนานๆ ควรต้องระวังเรื่องลำไส้ใหญ่อักเสบ อันเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น ชนิด Clostridium difficile ที่อาจมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินปกติจนสามารถก่อโรคได้
  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบตามแพทย์สั่ง เพราะการหยุดยาเองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

         ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบต้า-แลคแทมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบต้า-แลคแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Penicillin ร่วมกับยา Methotrexate สามารถเพิ่มระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดให้สูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปากเป็นแผล หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Cefazolin ร่วมกับยา Amikacin สามารถทำให้เกิดอันตรายกับไตของผู้ป่วยรวมถึงมีอาการบวม น้ำหนักเพิ่ม  การหายใจผิดปกติ  คลื่นไส้-อาเจียน ควรเลี่ยงและไม่ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยา Cephalexin ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดเช่นยา Metformin อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือด จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Meropenam ร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Tramadol ซึ่งยาทั้ง 2 ตัวสามารถกระตุ้นอาการชักในผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Aztreonam ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลง ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นเช่น ถุงยางอนามัยชาย   การใส่ห่วงคุมกำเนิด  ร่วมในการคุมกำเนิดในด้วย 

ควรเก็บรักษายาเบต้า-แลคแทมอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเบต้า-แลคแทม  เช่น

  • กรณีเป็น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำชนิดแขวนตะกอน (ที่เป็นผง ยังไม่ได้ละลายน้ำ) ยาฉีด

 ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)

  • แต่กรณียาน้ำชนิดแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้วให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • และยาทุกรูปแบบตัวยาควรเก็บ เช่น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้น มือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
    • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเบต้า-แลคแทมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบต้า-แลคแทม  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amacin (อะมาซิน) Asian Pharm
Amoxi T.O. (อะม็อกซี ที.โอ.) T. O. Chemicals
Amoxycillin Community Pharm (อะม็อกซีซิลลิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Coamox (คาวม็อกซ์) Community Pharm PCL
Ibiamox (ไอเบียม็อกซ์) Siam Bheasach
Meixil (เมซิล) Meiji
Moxcin (ม็อกซ์ซิน) General Drugs House
Ranoxyl (ราน็อกซิล) Ranbaxy
Servamox (เซอร์วาม็อกซ์) Sandoz
Ammimox (แอมมิม็อกซ์) MacroPhar
Amoxil (อะม็อกซิล) GlaxoSmithKline
Asiamox (เอเซียม็อกซ์) Asian Pharm
Dymoxin (ไดม็อกซิน) Community Pharm PCL
Manmox (แมนม็อกซ์) T. Man Pharma
Moxcillin Charoen Bhaesaj (ม็อกซิลลิน เจริญเภสัช) Charoen Bhaesaj Lab
Moximed (ม็อกซิเมด) Unison
S M Amox (เอส เอ็ม อะม็อกซ์) S M Pharma
Ampicillin General Drugs House (แอมพิซิลลิน เจเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์) General Drugs House
Picillin (พิซิลลิน) MacroPhar
Ampicillin T.O. (แอมพิซิลลิน ที.โอ.) T. O. Chemicals
Amicilin (อะมิซิลิน) Inpac Pharma
Ampi Frx (แอมพิ เอฟอาร์เอ็กซ์) The United Drug (1996)
Ampicillin Asian Union (แอมพิซิลลิน เอเซียน ยูเนียน) Asian Union
Ampicillin GPO (แอมพิซิลลิน จีพีโอ) GPO
Ampicillin The Forty-Two (แอมพิซิลลิน เดอะ โฟร์ตี้-ทู) The Forty-Two
Ampicyn (แอมพิซิน) Siam Bheasach
Sia-Mox (ซาย-ม็อกซ์) Siam Bheasach
Ampac (แอมแพค) Inpac Pharma
Ampi T Man (แอมพิ ที แมน) T. Man Pharma
Ampicillin Community Pharm (แอมพิซิลลิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Ampicillin Paediatric (แอมพิซิลลิน พีไดเอทริก) Utopian
Ampicin (แอมพิซิน) The Forty-Two
Cefclor T P (เซฟคลอร์ ที พี) T P Drug
Sifaclor (ซิฟาคลอร์) Siam Bheasach
Distaclor (ดิสทาคลอร์) DKSH
Vercef (เวอร์เซฟ) Ranbaxy
Celco (เซลโค) Unison
Hofclor/Hofclor Forte (ฮอฟคลอร์/ฮอฟคลอร์ ฟอร์ท) Pharmahof
Clorotir (คลอโรเทีย) Sandoz
Tefaclor (เทฟาคลอร์) T. O. Chemicals
Cefute Forte (เซฟุท ฟอร์ท) T P Drug
Cephalexyl (เซฟาเลซิล) Bangkok Lab & Cosmetic
Celex (เซเล็กซ์) Millimed
Cephin (เซฟิน) General Drugs House
Farmalex (ฟาร์มาเล็กซ์) Farmaline
Keflex (เคเฟล็กซ์) DKSH
Sialexin (ซายเล็กซิน) Siam Bheasach
Sporidin (สปอริดิน) Ranbaxy
Ibilex (ไอบีเล็กซ์) Siam Bheasach
Mycef (มายเซฟ) Unique
Sporicef (สปอริเซฟ) Ranbaxy
Toflex (โทเฟล็กซ์) T. O. Chemicals

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/%CE%92-lactam_antibiotic   [2022,Jan8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_%CE%B2-lactam_antibiotics   [2022,Jan8]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ampicillin%20t-o-   [2022,Jan8]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Dicloxacillin%20Medicpharma/  [2022,Jan8]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ranclav/?type=brief   [2022,Jan8]
  6. https://www.mims.com/myanmar/drug/search?q=retarpen+1.2   [2022,Jan8]
  7. https://www.mims.com/thailand/drug/info/benzathine%20benzylpenicillin?mtype=generic   [2022,Jan8]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Moxiclav/?type=brief   [2022,Jan8]
  9. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cefalexin?mtype=generic   [2022,Jan8]
  10. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cef-Dime/?type=brief  [2022,Jan8]
  11. https://www.medicinenet.com/cephalosporins-injection/article.htm   [2022,Jan8]
  12. https://www.drugs.com/drug-interactions/folex-pfs-with-penicillin-v-potassium-1590-3015-3610-0.html  [2022,Jan8]
  13. https://www.drugs.com/drug-interactions/amikin-with-cefazolin-153-63-541-0.html  [2022,Jan8]
  14. https://www.drugs.com/drug-interactions/alesse-with-aztreonam-1042-1715-303-0.html   [2022,Jan8]