เนื้องอกฟิลโลดิส หรือ เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม (Breast phyllodes tumor)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
- เนื้องอกฟิลโลดิสเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- เนื้องอกฟิลโลดิสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกฟิลโลดิสได้อย่างไร?
- เนื้องอกฟิลโลดิสมีกี่ระยะ?
- เนื้องอกฟิลโลดิสมีวิธีรักษาอย่างไร?
- มีการพยากรณ์โรคของเนื้องอกฟิลโลดิสอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกฟิลโลดิสไหม?
- เนื้องอกฟิลโลดิสป้องกันได้ไหม?
- เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ผู้ชายมีนม ผู้ชายมีเต้านม เต้านมโตในผู้ชาย หรือ ไกเนโคมาสเตีย (Gynecomastia)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
- ไฟโบรแอดีโนมา หรือ ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม (Breast fibroadenoma)
- มะเร็งเต้านมชาย (Male breast cancer)
- มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma) / มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
เนื้องอกฟิลโลดิส (Breast phyllodes tumor หรือ Phylloides tumor) คือ เนื้องอกชนิดหนึ่งของเต้านม เป็นเนื้องอกพบน้อย, ประมาณ 1% ของเนื้องอกและมะเร็งเต้านมทั้งหมด, พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย, แต่เกือบทั้งหมดเป็นเพศหญิง, พบในเพศชายน้อยมากๆเป็นเพียงรายงานผู้ป่วยเท่านั้น
เนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านมพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบน้อยมากในเด็ก, ช่วงอายุที่พบบ่อย คือ 40-50 ปี, เป็นโรคเกิดได้กับเต้านมทั้ง 2 ข้าง, แต่โดยทั่วไปพบได้ข้างเดียว โอกาสเกิดข้างขวาหรือข้างซ้ายใกล้เคียงกัน
ชนิดย่อยของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม:
เนื้องอกฟิลโลดิส/ เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม แบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยาได้เป็น 3 กลุ่ม/ชนิด คือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumor), เนื้องอกกึ่งมะเร็ง (Borderline tumor), และเนื้องอกมะเร็ง (Malignant tumor)
ก. เนื้องอกฟิลโลดิสชนิด ’ไม่ใช่มะเร็ง’: เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด ประมาณ 60%-75% ของโรคนี้
ข. ชนิดกึ่งมะเร็ง: คือ โรคอาจลุกลามและ/หรือแพร่กระจายภายหลังรักษาได้, พบประมาณ7%-40%
ค. ชนิด’เป็นมะเร็งตั้งแต่แรก’: พบประมาณ 30%, จัดอยู่ในกลุ่ม’มะเร็งซาร์โคมา’, ธรรมชาติของโรคจึงไม่เหมือนมะเร็งเต้านมทั่วไป (มะเร็งเต้านมทั่วไป เกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม ‘มะเร็งคาร์ซิโนมา’), แต่จะเหมือนมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน)ซึ่งมะเร็งชนิดนี้จะไม่กล่าวในบทความนี้
อนึ่ง: ชื่ออื่นของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม เช่น Cystosarcoma phyllodes หรือ Cystosarcoma phylloides
เนื้องอกฟิลโลดิสเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกฟิลโลดิส /เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม ‘ยังไม่ทราบ’ แต่พบว่า ผู้ป่วยมักมีประวัติมีก้อนเนื้อเต้านมชนิด ไฟโบรแอดีโนมา (Fibroadenoma)นำมาก่อน
นอกจากนี้ บางการศึกษาที่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอน พบว่า ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดได้จาก
- มีการบาดเจ็บของเซลล์เต้านมจากสาเหตุต่างๆ เช่น การกระแทกรุนแรงที่เต้านม
- มีภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสมดุลฮอร์โมนเพศ เช่น การเปลี่ยนแปลงเซลล์เต้านมจากการตั้งครรภ์, การให้นมบุตร, หรือการที่ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผิดปกติ, ในเพศชาย เช่น ภาวะผู้ชายมีนม
เนื้องอกฟิลโลดิสมีอาการอย่างไร?
อาการของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม ไม่ต่างจากการมีเนื้องอก หรือ มะเร็งเต้านม เช่น
- มี ก้อนในเต้านม, แต่ที่แตกต่างจากมะเร็งเต้านม คือ
- ก้อนเนื้อฟิลโลดิสจะโตเร็วกว่า ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักพบแพทย์ด้วยก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 2 เซนติเมตร (ซม.) ขึ้นไป อาจมากกว่า 10 ซม.ได้, ทั่วไปจะตั้งแต่ 4 ซม. ขึ้นไป
- ทั่วไป มักไม่มีอาการอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บ บวม แดง
- แต่ถ้าก้อนใหญ่มาก อาจพบมีหลอดเลือดดำขยายใหญ่ที่ผิวเต้านม ส่งผลให้เต้านมมีสีคล้ำ
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรค บวม/โต คลำได้ประมาณ 1-5%ของผู้ป่วย คือพบน้อยมากที่จะมีต่อมน้ำเหลืองรักแร้โตร่วมด้วย
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกฟิลโลดิสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกฟิลลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม ได้จาก
- ซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจคลำเต้านมและต่อมน้ำเหลืองรักแร้และลำคอ
- การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม /Mammogram)และ/หรือ ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม
- แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ทั้งนี้ ดังได้กล่าวแล้ว ส่วนใหญ่ของเนื้องอกนี้เป็น’ชนิดไม่ใช่มะเร็ง’ ดังนั้นเมื่อทราบผลจากการตัดชิ้นเนื้อ แพทย์จึงมักให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
หลังจากผ่าตัด จึงตรวจก้อนเนื้อทั้งก้อนที่ตัดออกด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาอีกครั้งเพื่อวินิจฉัยให้ได้แน่ชัดว่า ใช่ก้อนเนื้อที่มีลักษณะเป็นมะเร็งหรือไม่
ซึ่งถ้าผลการตรวจพบว่า ‘ไม่ใช่ก้อนเนื้อมะเร็ง’ แพทย์จะไม่มีการตรวจสืบค้นเพื่อหาระยะโรคมะเร็ง แต่ถ้าผลตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัด ‘พบเป็นเป็นมะเร็ง’ แพทย์จะมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อดูการลุกลามแพร่กระจายของโรค เช่น เอกซเรย์ปอด (ดูการแพร่กระจายสู่ปอด) และตรวจสะแกนกระดูก (ดูโรคแพร่กระจายสู่กระดูก) เป็นต้น
เนื้องอกฟิลโลดิสมีกี่ระยะ?
ปัจจุบันยังไม่มีการแบ่งระยะโรคในเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม แต่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษา ทั่วไปแบ่งโรคนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มเป็นเนื้องอกชนิด ‘ไม่ใช่มะเร็ง’
- กลุ่มเนื้องอกชนิด ‘กึ่งมะเร็ง’ และ
- กลุ่มเนื้องอกที่ ‘เป็นมะเร็ง’ โดยจัดเป็นมะเร็งในกลุ่ม ‘มะเร็งซาร์โคมา’ (Cystosarcoma phyllodes)ซึ่งก็ยังไม่มีการจัดระยะโรค เพราะพบน้อยมาก, ทั่วไปแบ่งตามลักษณะทางคลินิกเป็น
- ระยะผ่าตัดได้ทั้งก้อน
- ระยะผ่าตัดไม่ได้
- ระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะโรคกลับเป็นซ้ำที่เต้านมหลังรักษาด้วยผ่าตัด
- ระยะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ซึ่งพบแพร่ไปปอดบ่อยที่สุด, ส่วนอวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง กระดูก และต่อมหมวกไต, ซึ่งระยะนี้จะจัดเป็นระยะสุดท้าย (โรคระยะที่ 4)
เนื้องอกฟิลโลดิสมีวิธีรักษาอย่างไร?
การรักษาหลักของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม คือ การผ่าตัด ซึ่ง
- ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก อาจผ่าตัดออกเฉพาะก้อนเพื่อเก็บเต้านมไว้
- แต่ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ทั้งนี้ ถ้าไม่มีต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต, คลำได้
- แพทย์มักไม่ผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรคออก เพราะโรคนี้มีโอกาสลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก ประมาณ 1-5% ของผู้ป่วยทั้งหมด, แม้ว่าจะคลำได้ต่อมน้ำเหลือง ก็มีเพียงประมาณ 1-5% เท่านั้นที่พบว่า การโตของต่อมน้ำเหลืองเกิดจากโรคมะเร็งลุกลาม ส่วนใหญ่จะโตจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง
- บางครั้ง แพทย์อาจผ่าต่อมน้ำเหลืองออกเฉพาะกลุ่มแรก (Sentinel node) เพียงประมาณ 1-5ต่อม เพื่อประเมินการลุกลามและเพื่อป้องกันผลข้างเคียง (แขนบวม) จากผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ โดยการรักษาขึ้นกับดุลพินิจของศัลยแพทย์
หลังผ่าตัด: แพทย์จะตรวจก้อนเนื้อทั้งหมดที่ได้จากการผ่าตัดทางพยาธิวิทยาอีกครั้ง เพื่อดูลักษณะความรุนแรง/การแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก,และดูการลุกลามของเซลล์เนื้องอกเข้าเนื้องอกข้างเคียงให้แน่นอน ชัดเจน
ก. ถ้าผลตรวจทางพยาธิ: พบเป็นเนื้องอกฟิลโลดิสชนิด ‘ไม่ใช่มะเร็ง’ หรือ ‘ชนิดกึ่งมะเร็ง’ ที่ผ่าตัดออกเนื้องอกได้หมด
- การรักษามักเป็นเพียงการผ่าตัดวิธีการเดียว
- หลังผ่าตัด:
- แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยเป็นระยะๆเพราะ เนื้องอกทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นเนื้องอกมีธรรมชาติของโรคเกิดเป็นซ้ำบ่อย *ซึ่งโอกาสเกิดเป็นซ้ำจะสูงขึ้นเมื่อ
- เป็นเนื้องอก‘ชนิดกึ่งมะเร็ง’ และ/หรือ
- เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตมาก
- กรณีมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูง วิธีรักษาเพิ่มเติมต่อเนื่องอาจเป็น
- ผ่าตัดเต้านมอีกครั้งเพื่อตัดให้กว้างขึ้น, หรือ ตัดออกทั้งเต้านมกรณีครั้งแรกผ่าตัดเพียงก้อนเนื้อ หรือ
- มีการฉายรังสีรักษาร่วมด้วย
- ตรวจทางคลินิกเพื่อติดตามโรคเป็นระยะๆ
- แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยเป็นระยะๆเพราะ เนื้องอกทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นเนื้องอกมีธรรมชาติของโรคเกิดเป็นซ้ำบ่อย *ซึ่งโอกาสเกิดเป็นซ้ำจะสูงขึ้นเมื่อ
ข. ถ้าผลตรวจพบเป็นเนื้องอกฟิลโลดิสชนิดเป็นมะเร็ง: แพทย์จะพิจารณารักษาต่อเนื่องหลังจากผ่าตัดด้วย รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด, แต่ยังไม่มีการรักษาด้วย ยาต้านฮอร์โมน หรือ ยารักษาตรงเป้า
เนื้องอกฟิลโลดิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม คือ ธรรมชาติของโรคมี ‘การเกิดเป็นซ้ำค่อนข้างสูง
การเกิดเป็นซ้ำ:
ก. เนื้องอกฟิลโลดิสเป็นโรคมีธรรมชาติของโรคเกิดเป็นซ้ำสูง มีรายงานประมาณ 0%-60%, ส่วนใหญ่มักเกิดภายใน2ปีหลังผ่าตัด, โดยโอกาสเกิดเป็นซ้ำขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ
- ขนาดก้อนเนื้อ: ยิ่งขนาดใหญ่โอกาสเกิดเป็นซ้ำยิ่งสูง
- การผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่: ถ้าผ่าออกได้ ’ไม่หมด’ โอกาสเกิดเป็นซ้ำยิ่งสูง
- ลักษณะทางพยาธิของเซลล์เนื้องอกมีความผิดปกติสูง
ข. เมื่อเกิดเป็นซ้ำ: โรคมักแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดสูงขึ้นโดยไม่ขึ้นกับว่าเป็นเนื้องอกนี้ชนิดใด, ซึ่งเมื่อมีการแพร่กระจาย โรคมักแพร่กระจายไป ปอด รองลงไป คือ กระดูก และสมอง ตามลำดับ พบแพร่สู่ตับได้น้อย อย่างไรก็ตามพบมีแพร่กระจายไปหัวใจได้
การแพร่กระจาย:
ธรรมชาติการแพร่กระจายของเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม:
- ชนิด ‘ไม่ใช่มะเร็งและชนิดกึ่งมะเร็ง’ มีการแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดได้ตั้งแต่แรกโดยไม่จำเป็นต้องมีโรคกลับเป็นซ้ำหรือเป็นมะเร็ง พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย โดยชนิด ‘กึ่งมะเร็ง’ มีโอกาสแพร่กระจายสูงกว่าชนิด ‘ไม่ใช่มะเร็ง’
- ส่วนชนิดเป็น ‘มะเร็งตั้งแต่แรก’: มีโอกาสโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดโดยไม่ได้เกิดเป็นซ้ำประมาณ 25% ของผู้ป่วย
อัตรารอดชีวิต:
จากเป็นโรคที่พบได้น้อย การรายงานอัตรารอดที่ห้าปี จึงเป็นรายงานที่รวมทุกชนิด/ทุกกลุ่มของเนื้องอกฟิลโลดิส ซึ่งทั่วไป เนื้องอกฟิลโลดิสมีการพยากรณ์โรคดีกว่ามะเร็งเต้านม
- อัตรารอดที่ห้าปีของเนื้องอกฟิลโลดิสจะประมาณ 90%, และโอกาสที่อยู่ได้นานถึง 10 ปีหลังการรักษาประมาณ 80-85%
- เมื่อมีโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด ผู้ป่วยมักเสียชีวิตทั้งหมดในระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ปี เพราะเป็นมะเร็งชนิดเซลล์ไม่ขึ้นกับฮอร์โมนเพศ และเซลล์ยังดื้อต่อทั้งยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม และการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ จะเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยใน’โรคมะเร็ง’ทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ เพราะธรรมชาติของโรคนี้จะคล้ายโรคมะเร็งจากที่มีการกลับเป็นซ้ำสูง, และมีโอกาสแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆได้ถึงแม้จะเป็นเนื้องอกในกลุ่มไม่ใช่มะเร็งหรือในกลุ่มกึ่งมะเร็งก็ตาม
อนึ่ง: ในเรื่องการดูแลฯ อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com ใน 2 บทความ คือ เรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ
- เรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกฟิลโลดิสไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเฉพาะเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม มีเพียงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั่วไปซึ่งคือ การตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม (อ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com หัวข้อเรื่อง ‘วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง’)
เนื้องอกฟิลโลดิส ป้องกันได้ไหม?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง จึงยังไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกฟิลโลดิส/เนื้องอกฟิลโลดิสเต้านม
เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจเนื้องอกฟิลโลดิส ?
ทุกคน ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
- เมื่อคลำได้ก้อนในเต้านม หรือ พบความผิดปกติของเต้านม ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 สัปดาห์
- ในเพศหญิง: เมื่อไม่มีความผิดปกติใดๆที่เต้านม ควรพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม, ทั่วไปเริ่มเมื่ออายุ 45-50 ปี, หรือ ในอายุ 30-40 ปี เมื่อมีประวัติคนในครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)เป็นมะเร็งเต้านม
- ส่วนเพศชาย: โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมชายน้อยกว่าในเพศหญิงประมาณ 100 เท่า จึงไม่มีการแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม, เพียงแต่ให้คอยสังเกต, เมื่อพบเต้านมผิดปกติที่รวมถึงหัวนมล หรือคลำได้ก้อนในเต้านมหรือใต้หัวนม, *ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Macdonald,K . et al (2006). Malignant phyllodes tumor of female breast. Cancer. 107, 2127-2133.
- Spitaleri, G. et al. (2013). Breast phyllodes. Clinical Reviews in Oncology/Hematology. 88, 427-436.
- https://www.hindawi.com/journals/isrn/2013/361469/ [2022,Aug 6]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7478785/ [2022,Aug 6]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK541138/ [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phyllodes_tumor [2022,Aug 6]
- https://emedicine.medscape.com/article/188728-overview#showall [2022,Aug 6]