มะเร็งเต้านมชาย (Male breast cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ มะเร็งเต้านมชายต่างจากมะเร็งเต้านมหญิงอย่างไร?

มะเร็งเต้านมชาย(Male breast cancer)คือ โรคจากเซลล์เต้านมของผู้ชายเกิดการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งขึ้น คือเป็นเซลล์ /ก้อนเนื้อที่มีการรุนราน/ลุกลามเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงโดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านมีก้อนเนื้อ และในที่สุดจะแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆ และ/หรือเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่างๆทั่วร่างกาย

มะเร็งเต้านมชาย พบน้อย ประมาณ 1ใน100 หรือ 1%ของมะเร็งเต้านมหญิง/มะเร็งเต้านมทั้งหมด ในประเทศไทยมีรายงานอัตราเกิดคือ 0.5รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน ส่วนในสหรัฐอเมริกา รายงานพบอัตราเกิด 1รายต่อประชากรชาย 1แสนคน

มะเร็งเต้านมชาย พบทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆๆในเด็ก มีรายงานพบได้ตั้งแต่อายุ5-93ปี พบสูงขึ้นในอายุที่มากขึ้น อายุที่พบได้บ่อยคือ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

มะเร็งเต้านมชาย ทั่วไป พบเกิดข้างเดียว ข้างซ้ายและขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่ก็พบเกิด 2 ข้างได้ แต่พบน้อยมาก ประมาณ 1-2%ของผู้ป่วยโดยมักพบในชายที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้/มีประวัติญาติสายตรง(พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)ทั้งหญิงและชายเป็นมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมชายเปรียบเทียบกับมะเร็งเต้านมหญิง

มะเร็งเต้านมชาย

มะเร็งเต้านมชาย มีธรรมชาติของโรค อาการ วิธีวินิจฉัย ระยะโรค วิธีรักษา การพยากรณ์โรค เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง

แต่เนื่องจากเป็นโรคพบน้อยมาก จนคนทั่วไปรวมถึงผู้ชายเอง ไม่ตระหนักว่า ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยทฤษฎี มะเร็งเต้านมชาย ควรตรวจพบได้ ง่าย/เร็วกว่ามะเร็งเต้านมหญิง เพราะจะคลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายกว่าจากเนื้อเยื่อเต้านมที่มีน้อยกว่ามาก แต่ในความเป็นจริง จากการที่ไม่คิดว่าผู้ชายจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ส่งผลให้ ผู้ป่วยชายมักมาพบแพทย์ในระยะโรครุนแรง คือ โรคระยะ3ขึ้นไป ส่งผล

นอกจากนั้น เนื่องจากเป็นโรคพบน้อยมาก การศึกษาต่างๆโดยเฉพาะวิธีรักษา จึงใช้ตามที่ศึกษาได้จากเพศหญิง ดังนั้น การรักษาโดยเฉพาะในเรื่องของยาฮอร์โมน และ/หรือยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยชาย จึงมีข้อจำกัด ยังไม่เป็นมาตรฐานเหมือนในกรณีของผู้ป่วยหญิง

มะเร็งเต้านมชายเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง สาเหตุเกิดที่แน่ชัดของมะเร็งเต้านมชาย ยังไม่ทราบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พบปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้

ก. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูง คือ

1. ผู้ที่มีฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสูงกว่าปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น

  • เป็นผู้ป่วยที่มีโครโมโซมเพศหญิง(X-chromosome)มากผิดปกติ เช่น XXY ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ Klinefelter syndrome (ผู้ชายปกติจะมี Xเพียง1ตัว มีY1ตัว คือ XY) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ชายทั่วไป ประมาณ 50เท่า
  • มีประวัติอัณฑะค้างในท้อง
  • อนึ่ง ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า การได้รับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงวัยผู้ใหญ่ เช่น ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และในการแปลงเพศ เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมชาย

2. มีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ที่เป็นพันธุกรรมทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้สูงทั้งในหญิงและชาย คือ มีจีน/ยีนที่ชื่อว่า BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งผู้ชายที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงทั้งหญิงชายเป็นมะเร็งเต้านม(30%ของมะเร็งเต้านมชายจะมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม) โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบมีจีนBRCA2 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าชายทั่วไปถึงประมาณ 100 เท่า

ข. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่

  • เคยมีโรคผิดปกติของเต้านมมาก่อน(พบเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้น้อย) เช่น ผู้ชายมีเต้านม
  • มีประวัติโรคของอัณฑะที่ส่งผลให้มีฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดลง เช่น อัณฑะอักเสบ
  • โรค/ภาวะต่างๆที่ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสูงขึ้นต่อเนื่อง เรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ติดสุรา/โรคตับแข็ง
  • อนึ่ง การสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมผู้หญิง แต่ในผู้ชาย ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้

มะเร็งเต้านมชายมีกี่ชนิด?

ชนิดมะเร็งเต้านมชายมีได้หลากหลายชนิดและเป็นชนิดเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง ทั้งมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น มะเร็งคาร์ซิโนมาเช่นกัน ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งเต้านมชาย’ จะหมายถึงชนิด ‘คาร์ซิโนมา’ ที่รวมถึงในบทความนี้ด้วย

มะเร็งเต้านมชายกลุ่มคาร์ซิโนมา ชนิดย่อยที่พบบ่อยเกือบ90-95%คือ มะเร็งที่เกิดกับเซลล์เยื่อบุผิวของท่อน้ำนม ชนิดที่เรียกว่า Ductal carcinoma ส่วนมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมน้ำนม ที่เรียกว่า Lobular carcinoma พบเพียงประมาณ 1.5% นอกนั้นเป็นชนิดอื่นๆที่พบได้น้อยมากๆ เช่น Mucinous carcinoma, Adenocarcinoma

นอกจากนั้น ยังแบ่งมะเร็งเต้านมชายเป็น ‘ชนิด/กลุ่มที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนเพศหญิง(Hormone ย่อว่า H)หรือไม่ คือมีตัวรับ(Receptor ย่อว่า R)ฮอร์โมนหรือไม่’ และกลุ่มที่’เซลล์มะเร็งมีตัวรับ จีน/ยีน/Geneที่เรียกว่า Her2 (Her 2 receptor)หรือไม่’ ซึ่งเช่นเดียวกับในมะเร็งเต้านมผู้หญิงเช่นกัน โดยได้แก่

ก. กลุ่มจับฮอร์โมนฯ/มีตัวรับฮอร์โมนฯ: โดย

  • กลุ่มที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนฯ จะเรียกว่า Hormone receptor positive(HR+) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยยาฮอร์โมนฯ/ยาต้านฮอร์โมนฯ
  • กลุ่มที่เซลล์มะเร็งไม่จับฮอร์โมนฯ จะเรียกว่า Hormone receptor negative (HR-) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะไม่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมน

    ทั้งนี้ฮอร์โมนเพศหญิงนี้จะมี2ชนิดคือ เอสโตรเจน/Estrogen ย่อว่า ‘E’ และโพรเจสเทอโรน/Progesterone ย่อว่า ‘P’ ดังนั้น การที่เซลล์จับฮอร์โมนฯหรือไม่ จึงแยกย่อยเป็น

  • กลุ่มเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนเอสโตรเจน/มีตัวรับเอสโตรเจน เรียกว่า ER+(พบได้ประมาณ 80-85%ของผู้ป่วย) ถ้าไม่มีตัวรับนี้ เรียกว่า ER-
  • กลุ่มเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน /มีตัวรับโพรเจสเทอโรน เรียกว่า PR+(พบได้ประมาณ 70%ของผู้ป่วย) ถ้าไม่มีตัวรับนี้ เรียกว่า PR-

ข. กลุ่มมี และไม่มีตัวรับ Her2 (เฮอร์ทู)โดย

  • ถ้ามีตัวรับHer2 เรียกว่า กลุ่มมี Her2+ ซึ่งแบ่งเป็น3กลุ่มย่อยขึ้นกับว่ามีตัวรับนี้มากหรือน้อย เรียงจากน้อยไปหามาก คือ Her1+, Her2+, และHer2 3+(พบได้ประมาณ 15%ของผู้ป่วย) โดยผู้ป่วยกลุ่มHer2 3+ ในมะเร็งเต้านมผู้หญิงจะตอบสนองต่อยารักษาตรงเป้าชนิดที่ต้านตัวรับจีนนี้ คือ ยา ‘Trastuzumab (ชื่อการค้าคือ Herceptin)’ แต่ในมะเร็งเต้านมผู้ชายผลการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้ายังไม่ชัดเจน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมีน้อยมากจึงยากต่อการศึกษา
  • ถ้าไม่มีตัวรับ Her2 เรียกว่ากลุ่ม Her2- ที่ผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อยารักษาตรงเป้า ชนิดต้านตัวรับHer2

อนึ่ง

  • Her2 หรือ Her2/neu (Human epidermal growth factor receptor 2) คือ จีนที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตและหยุดยั้งการตายของเซลล์มะเร็ง พบได้ในมะเร็งหลายชนิด ที่นำมาผลิตเป็นยาต้านตัวรับนี้และได้นำมาใช้ทางคลินิกแล้ว ที่ให้ผลการรักษาที่ดี คือในมะเร็งเต้านม โดยจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง
  • ค่าER, PR, และHer2 ตรวจจากก้อนเนื้อมะเร็งฯด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

มะเร็งเต้านมชายมีอาการอย่างไร?

อาการหลักที่พบในมะเร็งเต้านมชายทุกคน คือ

  • มีก้อนที่เต้านม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ใต้ต่อหัวนม ก้อนจะแข็ง ติดกับหัวนม มักไม่เคลื่อนเวลาจับโยก อาจมีเลือด หรือสารคัดหลั่งสีอื่นออกทางหัวนม แต่พบน้อยเช่นกัน ก้อนจะไม่เจ็บ/ปวด และเป็นก้อนที่โตเร็ว
  • ก้อนในตำแหน่งอื่นๆของเต้านม(เช่น ในตัวเต้านม) พบได้บ้าง แต่พบน้อย
  • กรณีโรคเป็นมาก/ระยะลุกลาม อาการที่พบได้ เช่น
    • จะมีแผลแตกที่หัวนม
    • เต้านมจะใหญ่ขึ้นจาก้อนเนื้อที่ใหญ่ขึ้น ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของเต้า นม
    • ก้อนจะยึดติดกับผนังหน้าอก/กล้ามเนื้อใต้เต้านม ส่งผลให้ก้อนขยับเคลื่อนไม่ได้
    • มีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ด้านเดียวกับกล้ามเนื้อโต คลำได้
    • มีต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าด้านเดียวกับรอยโรคในเต้านม โต คลำได้

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมชายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายได้ด้วยวิธีเหมือนๆกัน คือจาก อาการโดยเฉพาะการมีก้อนในเต้านม ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติกินยา/ใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม/mammogram) อาจร่วมกับตรวจอัลตราซาวด์เต้านม แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ เจาะ/ดูดเซลล์หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งตรวจทางเซลล์วิทยาหรือ ตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นคือ การตรวจชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาตัวรับ ER, PR, และHer2(ดังกล่าวในหัวข้อ ‘ชนิดของมะเร็งเต้านมฯ’)เพื่อแพทย์ใช้ช่วยเลือกวิธีรักษาแก่ผู้ป่วย

มะเร็งเต้านมชายมีกี่ระยะ?

มะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายมีการจัดระยะโรคเหมือนกัน แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วไป โดยระยะศูนย์(ระยะ0)ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริงเพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non-invasive) ซึ่งระยะต่างๆจะ แยกย่อยเป็น A,B,Cตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้นเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเลือกวิธีรักษาและเพื่อการศึกษาวิจัย

มะเร็งเต้านมชายระยะต่างๆ ได้แก่

  • ระยะ 0: ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่มีการรุนรานนอกเยื่อบุผิว/เยื่อเมือก เซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อเต้านม คือระยะ Non-invasive ที่ยังไม่จัดเป็นมะเร็งที่แท้จริงที่เกือบทั้งหมดเป็นเซลล์เกิดจากท่อน้ำนม เรียกโรคระยะนี้ได้อีกชื่อว่า Ductal carcinoma in situ ย่อว่า ดีซีไอเอส(DCIS)
  • ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน2 ซม.และ/หรือมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ขนาดไม่เกิน 0.2 มม.โดยไม่เกิน3ต่อม และแยกย่อยตามความรุนแรงโรคที่มากขึ้นเป็นลำดับ คือ ระยะ1A และระยะ1B
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขนาดโตมากกว่า2ซม. –5ซม. และ/หรือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ไม่เกิน3ต่อม และแยกย่อยตามความรุนแรงโรคที่มากขึ้นเป็นลำดับโดยดูจากจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลาม คือ ระยะ2A และระยะ2B
  • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5ซม. และ/หรือแตกเป็นแผล และ/หรือจับโยกไม่ได้เพราะก้อนเนื้อยึดติดกับกล้ามเนื้อหน้าอก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ตั้งแต่ 4 ต่อมขึ้นไป และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองใต้กระดูกอก และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า ด้านเดียวกับโรค และแยกย่อยตามความรุนแรงโรคที่มากขึ้นตามลำดับของจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลาม คือ ระยะ3A, ระยะ3B, และระยะ3C
  • ระยะที่ 4: โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) สู่อวัยวะอื่นๆที่พบบ่อยคือ ปอด กระดูก ตับ สมอง ผิวหนัง และไขกระดูก และ/หรือแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองนอกเหนือจากที่ได้กล่าวในโรคระยะ1-3(ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลเต้านมด้านเกิดโรค) เช่น ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า แต่เป็นด้านตรงข้ามรอยโรค ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง

มะเร็งเต้านมชายมีวิธีรักษาอย่างไร?

มะเร็งเต้านมชายมีวิธีการรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง โดยการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และยาฮอร์โมน/ต้านฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

ก. การผ่าตัด ทั่วไปมักเป็นการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกัน ส่วนการผ่าตัดรักษาแบบเก็บเต้านมไว้กำลังอยู่ในการศึกษาว่าจะให้ผลควบคุมโรคได้ดีเหมือนในการรักษามะเร็งเต้านมหญิงหรือไม่

ข. ยาเคมีบำบัด เป็นอีกการรักษาหลัก โดยยาเคมีบำบัดจะเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง และมีทั้งชนิด กิน และชนิด ฉีด ซึ่งแพทย์มักใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งยาเคมีบำบัดที่ใช้ จะมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับ ระยะโรค และการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อฮอร์โมนฯเป็นหลัก

ค. รังสีรักษา เป็นการรักษาหลักเช่นกัน มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือยาฮอร์โมนฯ เทคนิคการฉายรังสี ก็จะเช่นเดียวกับในมะเร็งเต้านมหญิง

ง. ยาฮอร์โมน/ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งข้อบ่งชี้การรักษา และชนิดยาจะเช่นเดียวกับในมะเร็งเต้านมหญิง โดยเซลล์มะเร็งต้องเป็นชนิดมีตัวรับ/จับฮอร์โมน(ดังกล่าวในหัวข้อ’ชนิดเซลล์มะเร็งฯ’) ซึ่งยาฮอร์โมนที่ใช้เป็นหลักในการรักษาคือ ยาTamoxifen ส่วนยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส(AI)แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไปตามดุลพินิจของแพทย์ เพราะผลการศึกษายังไม่ชัดเจนถึงประโยชน์เหมือนในมะเร็งเต้านมหญิง

จ. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เช่น ยา Trastuzumab หรือยาHerceptin ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องผลการรักษาเช่นกัน แพทย์จึงจะพิจารณาใช้เฉพาะผู้ป่วยเป็นกรณีไปตามดุลพินิจของแพทย์

มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งเต้านมชายอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านมชายเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง คือขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/เต้านม การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเต้านม (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีเต้านม)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยาฮอร์โมนฯ: เช่น หิวบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ยารักษาตรงเป้า: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งเต้านมชายขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งเต้านมชายรักษาหายไหม/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เมื่อเทียบระยะโรคที่เหมือนกัน มะเร็งเต้านมชายมีการพยากรณ์โรค/ความรุนแรง/อัตรารอดที่5ปี เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมหญิง ได้แก่

  • ระยะ0 ประมาณ 95-100%
  • ระยะ1 ประมาณ 90-100%
  • ระยะ2 ประมาณ 80-85%
  • ระยะ3 ประมาณ 70-75%
  • ระยะ4 ประมาณ 0-25%

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในโรคมะเร็งทุกชนิดรวม ถึงมะเร็งเต้านมชาย จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

การพบแพทย์ก่อนนัด:

เมื่อเป็นมะเร็งเต้านมชาย ควรพบแพทย์ก่อนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆผิดไปจากเดิม เช่น กลับมามีก้อนผิดปกติที่ผนังอกด้านผ่าตัด หรือคลำต่อมน้ำเหลืองในส่วนต่างๆได้ เช่น รักแร้ เหนือกระดูกไหปลาร้า หรือ แขนด้านผ่าตัดเต้านมบวม
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก บวมเนื้อตัว แขน ขา
  • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมชายไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมชาย เพราะเป็นโรคที่พบยาก ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง และมะเร็งเต้านมชายสามารถตรวจพบด้วยตนเองได้ง่ายมากตั้งแต่เริ่มเป็น จากการคลำเต้านมตนเอง เพราะเต้านมชายมีเนื้อเยื่อเต้านมน้อย เมื่อมีก้อนเนื้อผิดปกติจึงคลำพบได้ง่าย และเมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 สัปดาห์

อนึ่งในความเห็นของผู้เขียน ชายที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง(ดังได้กล่าวในหัวข้อง’ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ควรตรวจคลำเต้านมตนเองเดือนละครั้งสม่ำเสมอตลอดไป และเมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ โดยเฉพาะในอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 7-10วัน

มะเร็งเต้านมชายป้องกันได้ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งเต้านมทั้งชายและหญิง แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ดังได้กล่าวในหัวข้อง’ปัจจัยเสี่ยงฯ’)ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน การไม่ดื่มสุรา การไม่สูบบุหรี่ ก็ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งเต้านมชาย?

ปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานคำแนะนำ ให้ผู้ชายพบแพทย์เพื่อตรวจหา/คัดกรองมะเร็งมะเร็งเต้านมชาย ดังนั้น ผู้ชายทุกคนควรตระหนักว่า ตนเองสามารถเกิดมะเร็งเต้านมชายได้ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม เพื่อการดูแลตรวจคลำเต้านมตนเอง บ่อยประมาณเดือนละครั้ง และเมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติ หรือกังวลว่าจะผิดปกติ ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เป็นแพทย์ทั่วไปได้ หรือถ้าแพทย์เฉพาะทาง คือ แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. M. Yalaza. et al. J Breast Health 2016; 12: 1-8
  2. O. Uslukaya. Et al. J Breast Health 2016;12:165-170
  3. S.H. Giordano. The Oncologist 2005;10:471-479
  4. W. Imsamran. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Male_breast_cancer [2018,Oct20]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/1954174-overview#showall [2018,Oct20]
  7. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer-in-men/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Oct20]
  8. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/stages-of-breast-cancer.html [2018,Oct20]