อีโน (Eno)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อีโนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อีโนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีโนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีโนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีโนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีโนอย่างไร?
- อีโนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีโนอย่างไร?
- อีโนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- วิธีใช้ ยาลดกรด ยาแก้โรคกระเพาะ (Guide to safe use of antacid)
- ยาลดกรด (Antacids)
บทนำ: คือยาอะไร?
อีโน เป็นชื่อการค้าของยาลดกรดและบรรเทาอาการท้องอืดของบริษัทแกล็กโซ สมิทไคล์น (GSK, GlaxoSmithKline) ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) โดย James Crossley Eno นักเคมีชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมามีการวางตลาดยาอีโนในหลายประเทศเช่น สเปน อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ มาเลเซีย และประเทศไทย
รูปแบบลักษณะผลิตภัณฑ์ของยาอีโนจะเป็นยาผง เมื่อละลายน้ำจะปลดปล่อยก๊าซที่มีชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ออกมา ส่วนประกอบหลักของยานี้ต่อปริมาณยา 5 กรัมได้แก่
- Sodium bicarbonate 32 กรัม
- Citric acid (กรดมะนาว) 18 กรัม
- Anhydrous sodium carbonate (สารเคมีที่ให้ความเป็นด่างอ่อนเมื่อโดนน้ำจะเกิดเป็นฟองอากาศ) 5 กรัม
ที่ประเทศอินเดีย ยาอีโนถูกนำเข้าสู่กลุ่มยาสมุนไพร (Ayurvedic medicine) ภายใต้ชื่อการค้า Svarjiksara ขนาด 2.94 กรัม และ Nimbukamlam 2.06 กรัม และจัดเป็นหมวดยาที่ปลอดภาษี
ด้านกลไกของการออกฤทธิ์ของยาอีโนจะขึ้นกับส่วนประกอบสำคัญคือ เกลือของด่างที่เป็นตัวยาหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Baking powder ที่จะเข้าทำปฏิกิริยากับกรดส่วนเกินในกระเพาะอาหารทำให้เจือจางฤทธิ์ของกรด
การใช้ยานี้ที่ถูกวิธีคือ ต้องละลายน้ำในปริมาณที่เพียงพอก่อนรับประทาน ห้ามกลืนยาในลักษณะที่เป็นผงแล้วดื่มน้ำตามโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้การออกฤทธิ์ได้ไม่ดีแล้วยังก่อ ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยผงยาจะดึงน้ำในกระเพาะอาหาร-ลำไส้มาช่วยละลายตัวยา เกิดการปลดปล่อยแก๊ซในกระเพาะอาหารเพิ่มมากผิดปกติ ทำให้เกิดแรงดันจนรู้สึกปวด จุก เสียดขึ้นทันที แพทย์/เภสัชกรจะแจ้งเตือนในเรื่องนี้ก่อนจ่ายยาให้ผู้ป่วย พร้อมกับกำกับมิให้ผู้ป่วยรับประทานยาเกิน 6 ซอง (30 กรัม)/วัน
สำหรับข้อควรระวังก่อนการใช้ยาทุกชนิดเห็นจะเป็นเรื่องการแพ้ยาของตัวผู้ป่วยเอง หากเคยมีประวัติแพ้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้และถือเป็นข้อห้ามใช้ยาอีโน
ยาอีโน เป็นยาประเภทเกลือด่างซึ่งปกติจะถูกขับออกจากร่างกายโดยไต ยานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ ที่มีไตทำงานผิดปกติรวมไปถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่แพทย์จำกัดการบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็มก็เข้าข่ายห้ามใช้ยาอีโนเช่นเดียวกัน
ยานี้ห้ามรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ และผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาอีโนเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้านได้ทั่วไป
อีโนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอีโนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- เพื่อบรรเทาอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อันมีสาเหตุ จากกรดในกระเพาะอาหารมีมากเกินไป
อีโนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีโนคือ ส่วนประกอบของยาอีโนที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะเข้าทำปฏิกิริยากับกรดส่วนเกินในกระเพาะอาหาร ทำให้ฤทธิ์ของกรดลดน้อยลงและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายในท้อง ส่วนกลไกการเกิดฟองเมื่อละลายยาลงในน้ำก่อนรับประทาน จะเป็นกลไกของเกลือโซเดียมไบคาร์บอเนต และโซเดียมคาร์บอเนต เข้าทำปฏิกิริยากับกรดซิตริกซึ่งจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จึงเห็นยามีฟองดูน่าสนใจ แต่ฟองก๊าซเหล่านี้มิได้ออกฤทธิ์ในการรักษาแต่อย่างใด
อีโนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีโนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- บรรจุขวด ขนาด 100 และ 200 กรัม/ขวด
- บรรจุซอง ขนาด 5 กรัม/ซอง
อีโนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีโนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: เช่น ละลายผงยา 5 กรัมลงในน้ำปริมาณเพียงพอ (150 มิลลิลิตร) รอจนยาทำปฏิกิริยาในน้ำสักครู่แล้วดื่มทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมงตามความจำเป็น และห้ามรับประทานเกิน 30 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยานี้ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีด้วยยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีโน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีโน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตามการลืมรับประทาน ยาอีโนไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใดด้วยเป็นยาที่ใช้ตามอาการเท่านั้น
อีโนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีโนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆ แต่ไม่ทุกคนที่จะมีอาการข้างเคียง การรับประทานยาอีโนในขนาดปกติจะไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด แต่หากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้อีโนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้เกิน 6 ซอง (30 กรัม) ต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพทย์จำกัดอาหารประเภทรสเค็มหรือที่มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบ
- ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 14 วัน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เพิ่มด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพชื้น มีกลิ่นเหม็น หรือลักษณะผงยามีสีเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามรับประทานยานี้ที่เป็นผงโดยไม่ได้ละลายน้ำก่อน
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ยาอีโนมีฤทธิ์เป็นด่างทำให้สภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนไป จึงอาจส่งผลต่อการดูดซึมอาหารและสารต่างๆที่รวมถึงยาต่างๆของกระเพาะอาหาร จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาอีโนพร้อมกับยาชนิดอื่น
- หากใช้ยานี้ไปแล้วเป็นเวลา 2 - 3 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรง พยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยาหลังรับประทานยาอีโนเช่น ตัวบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก /หายใจลำบาก ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การรับประทานยานี้เกินขนาดจะทำให้ร่างกายมีเกลือโซเดียมในเลือดสูง อาจพบอาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ วิงเวียน ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว บางกรณีจะพบความดันโลหิตสูงร่วมด้วย หากพบอาการดังกล่าวให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีโนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อีโนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีโนอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ด้วยยาอีโนทำให้สภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนไปจึงอาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาต่างๆในกระเพาะอาหาร จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาอีโนพร้อมกับยาอื่น ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
ควรเก็บรักษาอีโนอย่างไร?
โดยเฉลี่ยอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ยาอีโนที่ยังมิได้เปิดภาชนะบรรจุออกให้ดูจากรายละเอียดที่ระบุในฉลากของผลิตภัณฑ์/ฉลากยา
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปสามารถเก็บยาอีโน: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อีโนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีโน เป็นยาชื่อการค้า มีบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Eno (อีโน) | Glaxo Smith Kline |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Eno_(drug) [2021,Dec25]
2 https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Eno/ [2021,Dec25]
3 https://drsircus.com/sodium-bicarbonate-baking-soda/side-effects-contraindications/ [2021,Dec25]
4 https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21528 [2021,Dec25]
5 https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.6481.pdf [2021,Dec25]